มนุษยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์

การศึกษาในปัจจุบันถ้าแบ่งการเรียนรู้อย่างเข้าใจง่ายๆ คือ การเรียนรู้ด้านมนุษยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ แม้ขณะนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีความโดดเด่น แต่มนุษยศาสตร์ที่มีมาในอดีตก็ยังคงมีความสำคัญเช่นกัน

ความหมายที่เกี่ยวข้อง

มนุษยศาสตร์ (Humanities) หมายถึง กลุ่มของสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการศึกษาสภาวะของมนุษย์ ได้แก่ การคิด การวิเคราะห์ หรือการใช้วิจารณญาณเพื่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม วิชาการทั่วไป ของมนุษยศาสตร์ คือ ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา ดนตรี นาฏศิลป์ สื่อสารมวลชน ศิลปะและวัฒนธรรมแขนงต่างๆ

วิทยาศาสตร์ (Science) มาจากรากศัพท์ภาษาละติน “Scientia” หมายถึง ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และความรู้ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ ซึ่งมีขั้นตอนและกระบวนการที่พิสูจน์ได้ด้วยเหตุผล อันนำสู่การอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้แก่ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ กลศาสตร์ และวิชาคำนวณ

Advertisement

เทคโนโลยี (Technology) มาจากรากศัพท์ภาษาละติน “technologia” หมายถึง การกระทำอย่างมีระบบ หรือการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์และประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เช่น การนำสารเคมีที่ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์มาผลิตเป็นยารักษาโรค หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

สังคมศาสตร์ “Social sciences” หมายถึง การประยุกต์ใช้วิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จิตวิทยา และสังคมวิทยา เป็นต้น

ประวัติความเป็นมา

Advertisement

มนุษยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์มีความเป็นมาควบคู่กับกำเนิดมนุษย์ โดยปรากฏความเป็นมนุษยศาสตร์กับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตลอด ส่วนวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อมนุษย์มีความเจริญและพัฒนาขึ้นถึงระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่ผ่านมาได้ปรากฏเทคโนโลยีของมนุษย์อยู่แล้วเช่นกัน ได้แก่ การใช้ขวานหิน อาวุธล่าสัตว์ การใช้เหล็กและสำริด และเครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ

เมื่อได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ ประดิษฐ์เครื่องยนต์ เครื่องมือที่ทันสมัย มาถึงเครื่องมือการติดต่อสื่อสารตั้งแต่โทรศัพท์จนถึงมือถือและคอมพิวเตอร์ที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว นับแต่ ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) เป็นต้นมา เรียกกันว่าเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีได้เข้าสู่วิถีชีวิตของมนุษย์จนเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้

อนึ่ง จากความหมายของศาสตร์ทั้งสี่ที่กล่าวมาในการนำมาใช้ประโยชน์มักใช้ควบคู่กัน คือ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การผสมผสานของมนุษย์ศาสตร์กับวิทยาศาสตร์

ถ้าจะแยกทั้งสองออกจากกัน หรือถือว่าศาสตร์ใดสำคัญกว่ากันย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันต้องผสมผสานหรือบูรณาการ (integrate) ความรู้จากมนุษย์ศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยขอยกกรณีศึกษาให้เห็นชัดเจนดังนี้

กรณีศึกษาที่ 1 ในการประกันคุณภาพการศึกษาได้เน้นการบูรณาการ กล่าวคือ ทักษะที่คาดหวังสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่เรียนรู้ผ่านหลักสูตรที่เป็นสหวิทยาการ บูรณาการ ยึดโครงงานเป็นฐาน และอื่นๆ ดังกล่าวจะเน้นเรื่อง 1) ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (learning and innovation skills) 2) ทักษะชีวิตและอาชีพ (life and career skills) ทักษะสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี (information, media and technology skills) ที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ จากความร่วมมือ (collaboration) ในการทำงานเป็นทีม การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ในปัญหาที่ซับซ้อนการนำเสนอด้วยวาจาและด้วยการเขียน การใช้เทคโนโลยี ความเป็นพลเมืองดี การฝึกปฏิบัติ อาชีพ การวิจัย และการปฏิบัติสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

กรณีศึกษาที่ 2 วิชาชีพด้านกฎหมายที่เป็นมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (e-court) มาใช้ในการพิจารณาคดีของศาลถือเป็นมิติใหม่ของการผสมผสานกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย

กรณีศึกษาที่ 3 e-sport ซึ่งเป็นการนำเกมส์คอมพิวเตอร์มาจัดแข่งขันเป็นกีฬาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้น หากใช้การประนีประนอมย่อมเกิดประโยชน์ต่อสังคม กล่าวคือ เปิดให้เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์อย่างเปิดเผยด้วยการเป็นกีฬาที่เป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ต้องสร้างเสริมความรับผิดชอบ ความมีวินัย การจัดการเกี่ยวกับการดำรงชีพการดูแลครอบครัวและสังคมมิให้เกิดปัญหา ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์

กรณีศึกษาที่ 4 การใช้มือถือที่เรียกว่า “สังคมก้มหน้า” เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง แต่มีหลายเรื่องที่กระทบต่อผู้อื่น เช่น ความรับผิดชอบในการใช้มือถือ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การทำผิดกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นๆ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ควรแก้ด้วยความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อให้เกิดความตระหนักในการเคารพสิทธิของผู้อื่น หรือการอยู่ร่วมในสังคมอย่างปกติสุข

กรณีศึกษาที่ 5 การห้ามหาเสียงผ่านออนไลน์ของรัฐบาลในขณะนี้ แม้จะมีข่าวการปลดล็อกเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ตาม ซึ่งจะขัดกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ต่อมาอาจถึง 5.0 ที่เน้นสังคมไทยสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ

แต่เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจำต้องมีมาตรการป้องปรามไว้บางเรื่อง ซึ่งก็เป็นการนำมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาบูรณาการนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป

ความรู้หรือศาสตร์ทั้งหลายล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น คงไม่มีศาสตร์ใดยิ่งใหญ่หรือดีกว่าศาสตร์อื่น การสร้างประโยชน์ต้องมีการบูรณาการให้เหมาะสม ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งได้กล่าวว่า

“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปรียบได้กับร่างกาย แต่มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์เปรียบได้กับจิตวิญญาณ หากมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นได้เพียงคน แต่ไม่ใช่มนุษย์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image