ศึกนี้ไม่ปาหี่ ย้อนอดีต ปชป. เลือก หน.แยกวง

ใครที่ยังคิดอยู่ว่า การเสนอตัวขึ้นมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นเพียงละครฉากหนึ่ง เป็นเพียงการแสดงอย่างหนึ่ง

ถึงวันนี้คงต้องถูกจับปรับทัศนคติ

เพราะยิ่งใกล้เวลาเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่เข้ามาเท่าใด

ปฏิกิริยาที่ทั้งกองเชียร์ของสองฝ่ายแสดงต่อกัน

Advertisement

ยิ่งดุเดือด ยิ่งรุนแรง

2ตุลาคม นายอิสสระ สมชัย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. โพสต์ข้อความในกลุ่มไลน์ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า

“ผมยอมรับว่าหมอวรงค์เป็นคนดี มีความสามารถ มีผลงานที่โดดเด่นคือคดีจำนำข้าว

Advertisement

แต่อยากให้หมอวรงค์เพิ่มพูนประสบการณ์ในอีกหลายด้าน เพราะการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้นคือการเตรียมเป็นนายกรัฐมนตรี

และวันที่ 11 พ.ย.จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จากนั้นอีกเพียง 3 เดือนก็จะเลือกตั้ง ส.ส. หากเปลี่ยนหัวหน้าพรรคตอนนี้คงจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรค (ตามนโยบายกล้าเปลี่ยน) มากพอสมควร

…เรามีข้อจำกัดเรื่องเงื่อนเวลา

ในทางส่วนตัวผมกับหมอวรงค์รักกัน…แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ผมเห็นว่า

สมควรที่จะให้คุณอภิสิทธิ์ ทำหน้าที่เป็นผู้นำพรรคต่อไป”

สวนกลับทันทีในวันเดียวกันจากกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์

นายสมบัติ ยะสินธุ์ อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน ตำหนินายอิสสระว่า หากจริงใจกับ นพ.วรงค์ ควรแนะนำในไลน์ส่วนตัว

ไม่ควรออกมาบลัฟกันในกลุ่มไลน์ ส.ส.ของพรรค

นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร อดีต ส.ส.นครสวรรค์ โพสต์ว่า ทุกคนยอมรับว่านายอภิสิทธิ์เป็นคนดี คนเก่ง

แต่ นพ.วรงค์เหมาะสมกว่า เพราะ

1.ไม่มีคนรอบตัวที่เป็นพิษ และต้องยอมรับความจริงว่าเวลามีความคิดดีๆ ไปเสนอให้นายอภิสิทธิ์ฟังที่ห้องทำงาน มักจะต้องเจอคนคนหนึ่ง

และคนคนนั้นจะไม่ยอมออกจากห้อง

2.หลังการปฏิวัติมาเกือบ 5 ปี ภายในพรรคมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีบ้าง นอกจากความขัดแย้ง เป็นก๊ก เป็นเหล่า

3.นพ.วรงค์พร้อมทำงานได้กับทุกฝ่าย (ยกเว้นแดง) โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้

สวนกลับจาก นายสามารถ มะลูลีม อดีต ส.ส.กทม. โพสต์โต้ว่าปฏิวัติมา 5 ปี คสช.ให้ทำอะไรได้บ้างครับ

หัวหน้าออกงานให้สมาชิกมาโดยตลอด โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

และการที่ให้หยั่งเสียงหัวหน้า ท่านก็ริเริ่ม

ไม่น่าเชื่อว่านายสงกรานต์เป็นได้ถึงเพียงนี้

การตอบโต้ดังกล่าว ไม่ได้อยู่แต่ในไลน์พรรค หากแต่ปรากฏออกในหน้าสื่อ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม

ร้อนถึงระดับ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พรรค ปชป.เป็นประชาธิปไตยในการแสดงความคิดเห็น

การเถียงกันภายในอย่างสุดขั้ว ก็เป็นปกติของพรรค กรณีที่พรรคตัดสินใจจะบอยคอตการเลือกตั้ง ในพรรคเถียงกันยิ่งกว่านี้อีก

แต่คนที่เอาความในไปขายภายนอกนั้นน่าประณาม

วันเดียวกัน นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรค ปชป. แถลงว่า นายอภิสิทธิ์มีคำสั่งแต่งตั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นรักษาการแทนหัวหน้าพรรค

เนื่องจากนายอภิสิทธิ์เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค จึงขอหยุดการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคชั่วคราว

ส่วนข่าวสมาชิกพรรคตอบโต้กันในไลน์ ส.ส.พรรค ตนเห็นว่าการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้เป็นการต่อสู้กันแบบฉันพี่ฉันน้อง

หลังจากเลือกหัวหน้าพรรคแล้วทุกคนยังจะยืนหยัดต่อสู้กับพรรค ปชป.ต่อไป

ความเชื่อของนายราเมศจะเป็นจริงหรือไม่

เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์การ “แตกตัว” ภายหลังการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ตั้งแต่ยุคของ นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายสมัคร สุนทรเวช นายวีระ มุสิกพงศ์

กระทั่ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์

ใครจะกล้ารับประกัน

ว่าครั้งประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image