ข้อมูลของคุณ มีค่าเท่ากับกาแฟกี่แก้ว? โดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ถึงวันนี้คุณคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ถ้าคุณไม่ได้จ่ายเงินเพื่อแลกกับสิ่งของ – คุณก็ไม่ใช่ลูกค้าหรอก คุณเป็นผลิตภัณฑ์ต่างหาก” กันจนชินแล้วใช่ไหมครับ? โมเดลธุรกิจแบบที่ “ให้เราจ่ายข้อมูลเพื่อแลกกับของฟรี” ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร เรื่องตลก ทิปส์เทคนิค ส่วนลดสินค้า (“สมัครสมาชิกแล้วได้ส่วนลดนะคะ”) หรือรูปแมวตลกๆ นั้นมีให้พบเห็นกันได้ทั่วไป

กระทั่งกับร้านกาแฟ!

แถบมหาวิทยาลัยบราวน์ ในย่านโพรวิเดนซ์ รัฐโร้ดไอส์แลนด์ มีร้านกาแฟร้านใหม่ – มันไม่ใช่สตาร์บัคส์ – มันไม่ใช่ร้านกาแฟที่คนอเมริกันจะรู้จักชื่อกันดีนัก – มันชื่อ Shiru Cafe, และมันเดินทางมาจากญี่ปุ่น

ที่ Shiru Cafe, คุณไม่อาจเดินดุ่มๆ เข้าไปซื้อกาแฟหรือสินค้าใดได้หากคุณไม่ได้เป็นนักเรียนหรือเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย ถึงแม้คุณจะกำเงินเข้าไปร้อยบาทสองร้อยบาท คุณก็จะได้รับการปฏิเสธอย่างนิ่มนวล – นี่ไม่ใช่ร้านกาแฟสำหรับคนทั่วไป – และไม่ใช่ร้านกาแฟที่ค้าขายด้วยวิธีทั่วไป แต่มันเป็นร้านกาแฟที่ตั้งขึ้นเพื่อให้นักเรียนเอาข้อมูลมาแลกกับเครื่องดื่มสักแก้ว

Advertisement

Shiru Cafe บอกว่า ตนเองมอบ “กาแฟฟรี” หน้าเว็บไซต์อธิบายว่านี่เป็นธุรกิจที่พยายามสร้างขึ้น “เพื่อเป็นสถานที่ที่นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกการทำงานและอาชีพในอนาคต” ใน Shiru ไม่มีการแลกเปลี่ยนเงินใดๆ มีเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเท่านั้น – หากนักเรียนอยากได้กาแฟฟรีสักแก้วหนึ่ง พวกเขาก็ต้องมอบชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ และสาขาวิชาที่เรียน นอกจากนั้น อาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมอย่างวันเกิด อาชีพที่สนใจหรือประวัติการฝึกงานได้ด้วย

แน่นอน เมื่อ Shiru Cafe ไม่ได้หาเงินจากลูกค้าที่เดินเข้ามาซื้อกาแฟ – มันก็ต้องหาเงินด้วยวิธีอื่น

ไม่ต่างจากเฟซบุ๊กนัก, Shiru Cafe หาเงินด้วยการโฆษณา บริษัทที่ต้องการพุ่งเป้าโฆษณาไปยังนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาเพื่อให้เข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์ หรือโฆษณาหาพนักงาน สามารถเข้าถึงลูกค้าของ Shiru Cafe ได้ผ่านโลโก้ แอพพ์ หรือป้ายโฆษณาดิจิทัลภายในร้านได้ และในบางครั้ง กระทั่งบาริสต้าก็ยังจะทำหน้าที่เป็นโฆษกประชาสัมพันธ์สปอนเซอร์ให้อีกทาง

Advertisement

ผู้จัดการของ Shiru Cafe สาขามหาวิทยาลัยบราวน์ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจาก New Yorker ว่าพวกเขาจะเก็บข้อมูลเฉพาะเท่าที่ถามในแบบฟอร์มเท่านั้น และจะมีการแชร์ข้อมูลดังกล่าวให้กับบริษัทสปอนเซอร์ในรูปแบบนิรนาม แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีอาจารย์ด้านความปลอดภัยคอมพิวเตอร์แสดงความกังวลว่าปัญหาจริงๆ น่าจะมาจากตอนที่นักเรียนหรือครูล็อกอินเข้าไปในระบบไวไฟฟรีของ Shiru ต่างหาก เพราะนั่นจะทำให้ Shiru สามารถเก็บข้อมูลที่ละเอียดลึกซึ้งได้ยิ่งขึ้น และในนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวบนเว็บไซต์ Shiru ยังระบุไว้ด้วยว่า “เราอาจเปิดเผยข้อมูลใดๆ ของผู้ใช้ได้โดยไม่ระบุตัว” ซึ่งถึงแม้จะไม่มีการระบุตัวตนอย่างชื่อนามสกุลลงไปบนข้อมูลตรงๆ แต่หากมีการจับคู่ข้อมูลลักษณะคล้ายคลึงกันแล้ว ไม่นานนัก บริษัทสปอนเซอร์ก็จะสามารถระบุตัวตนเจ้าของข้อมูลนั้นได้อย่างง่ายดาย

ผลตอบรับของนักศึกษามหาวิทยาลัยบราวน์ต่อ “คาเฟ่ของฟรี” อย่าง Shiru นั้นปะปนผสมกันไป มีบางคนที่รู้สึกว่าร้านกาแฟร้านนี้น่ากลัวตรงที่เหมือนกับตั้งมาเพื่อล่อลวงพวกเขาโดยเฉพาะ (ด้วยการที่มันไม่ขายกาแฟให้กับคนทั่วไป) บางคนก็กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือรู้สึกแย่กับการที่ต้องมานั่งดูโฆษณาเพื่อกาแฟฟรีแก้วเดียว บางคนก็เลยใช้วิธีมาเอากาแฟฟรีแล้วก็เดินออก ในขณะที่นักเรียนบางส่วนก็รู้สึกไม่ยินดียินร้ายกับการมอบข้อมูลทำนองนี้เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ และบริษัททั้งหลายก็แทบจะมีข้อมูลของพวกเขาไปครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

แนวคิดของ Shiru ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก – เราในฐานะผู้บริโภคเต็มใจ (และไม่เต็มใจ) แลกข้อมูลส่วนตัวของตนเพื่อรับบริการมานานนมแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น Shiru ก็กำลังส่งสัญญาณว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่
ภูมิทัศน์การบริโภคแบบใหม่อย่างเต็มตัว – แบบที่บริษัทไม่อ้อมค้อม และเดินหน้ามาขอข้อมูลของคุณเพื่อแลกกับบางสิ่งบางอย่าง

ในตอนนี้ร้านกาแฟ Shiru มีสาขาในญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐอเมริกา มีลูกค้า (สปอนเซอร์) ที่เข้ามาซื้อโฆษณาและซื้อการเข้าถึงนักศึกษารายใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ นิสสัน และซูซูกิ โดย Shiru มีแผนว่าจะเปิดสาขาที่อเมริกาเพิ่มเติมในอนาคตบริเวณ
ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ด เยล และปรินซ์ตัน

ในโลกที่หน่วยแลกเปลี่ยนไม่ใช่เงินแต่เป็นข้อมูล อาจถึงเวลาที่คุณต้องหันมาถามตัวเองว่าข้อมูลของฉันมีค่าเท่าไร? เท่ากับบ้านหนึ่งหลัง เท่ากับรถยนต์หนึ่งคัน เท่ากับกาแฟหนึ่งแก้ว หรือเท่ากับส่วนลด 10% ในการนั่งรถโดยสารสักครั้ง?

ไม่แน่นะครับ ในอนาคตเราอาจได้ยินประโยคอย่าง “กาแฟหนึ่งแก้วมีราคาเท่ากับการตอบคำถามหนึ่งข้อ ว่าคุณชอบน้ำยาปรับผ้านุ่มยี่ห้อใดเพราะอะไร” ก็ได้

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image