สมองฉัน สมองเธอ สมองเขา เมื่อสมองเราเชื่อมถึงกัน โดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

จะดีแค่ไหน? ถ้าเราคิดอะไรแล้วอีกฝ่ายรับรู้ถึงอารมณ์ ถึงห้วงความรู้สึก ถึงกระแสสำนึกของเราได้? สันติภาพคงบังเกิด เหตุการณ์ร้ายอย่างการทะเลาะเบาะแว้งหรือสงครามคงกลายเป็นเรื่องวันวาน และเมื่อนั้น มนุษยชาติจะก้าวเข้าสู่ยุคอาริยธรรมใหม่เป็นแน่

หรืออย่างน้อย – การเชื่อมสมองสู่สมองก็อาจทำให้คำว่า Brainstorm หรือ “ระดมสมอง” มีความหมายล้ำหน้าขึ้นไปอีก – แทนที่จะต้องพูดคุยกันเพื่อระดมไอเดียจากหัวของมนุษย์แต่ละคน เราก็ใช้วิธีเชื่อมไอเดียเหล่านั้นเข้าด้วยกันโดยตรงไปเลยไม่ดีกว่าหรือ?

ก็ไม่แน่…

ในช่วงสามสี่ปีหลัง งานวิจัยเรื่องการสื่อสารแบบสมองสู่สมองโดยตรง (Brain-to-brain interface) (ซึ่งอาจเข้าใจง่ายกว่าหากบอกว่ามันคือการ “อ่านใจ” หรือ “ส่งความคิดถึงกัน”) มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น นักวิทยาศาสตร์ทั้งทางประสาทวิทยาและฟิสิกส์เริ่มพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อเข้ามาเสริมงานวิจัยด้านนี้ ตั้งแต่อุปกรณ์ที่สามารถอ่านคลื่นสมองและอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณเหล่านี้ไปยังฝ่าย “ผู้รับ” และอุปกรณ์ฝั่งรับที่สามารถตีความคลื่นสมองที่ประมวลมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน

Advertisement

สามปีที่แล้ว มีการเล่นเกม “ยี่สิบคำถาม” ครั้งสำคัญเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน มันเป็นการถามตอบคำถาม “ใช่หรือไม่” รอบแล้วรอบเล่าที่ผู้เข้าร่วมสองฝ่ายไม่ได้สนทนากัน หรืออย่างน้อย, ก็ไม่ได้สนทนากันผ่านภาษาที่พวกเราเข้าใจ, ศีรษะของพวกเขาทั้งสองเชื่อมกับอุปกรณ์ที่ดูหน้าตาเหมือนหลุดออกมาจากหนังวิทยาศาสตร์ เป็นตาข่ายสีขาวที่มีรอยตะปุ่มตะป่ำหลากสี อุปกรณ์นี้ทำให้พวกเขามีพลังเหนือมนุษย์ – สื่อสารกันได้โดยไม่ต้องพูดคุยกัน

แอนเดรีย สตอกโก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่เป็นหัวหน้าการทดลองนี้บอกว่า “นี่คือการทดลองสื่อสารระหว่างสมองที่ซับซ้อนที่สุดที่เคยมีการทดลองมา มันอาศัยประสบการณ์การรับรู้ (conscious experience) ผ่านสัญญาณที่เห็นได้ด้วยตา และต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย”

ในปี 2015 การเชื่อมสมองระหว่างคนสองคนถือว่าเป็นเรื่องยากแล้ว, มาปีนี้ ในปี 2018 นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่หยุดนิ่ง พวกเขาขอเดินไปข้างหน้าอีกก้าวด้วยการเชื่อมสมองระหว่างคนมากกว่าสองคน

Advertisement

พูดง่ายๆ คือการสร้าง “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” ขนาดย่อมที่เราไม่ต้องสื่อสารกันด้วยการพิมพ์ การถ่ายภาพ หรือการอัพวิดีโอ แต่สามารถสื่อสารกันได้ด้วยใจโดยตรงนั่นเอง

ในงานวิจัยชื่อ BrainNet: A Multi-Person Brain-to-Brain Interface for Direct Collaboration Between Brains แอนเดรีย สตอกโกและทีมวิจัยสร้างเครือข่ายที่ทำให้คนสามคนสามารถส่งและรับข้อมูลเข้าสู่สมองได้โดยตรง พวกเขาระบุว่าการจะขยายขนาดเครือข่ายให้มีผู้เข้าร่วมมากกว่าสามคนนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงเพิ่มอุปกรณ์ EEG (electroencephalograms) และ TMS (transcranial magnetic simulation) เท่านั้น

ในงานวิจัยนี้พวกเขาทดลองให้อาสาสมัครทั้งสามคนเล่นเกมเตตริส (Tetris) กัน อาสาสมัครสามคนจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมีสองคน เรียกว่ากลุ่ม Sender (ผู้ส่งสาร) ทั้งสองคนนี้จะเห็นหน้าจอเกมเตตริสทั้งหมด Sender แต่ละคนจะต้องคิดว่าจะส่งข้อมูลอะไรไปให้อาสาสมัครคนสุดท้าย ที่มีตำแหน่ง Receiver (ผู้รับสาร) ตัวผู้รับสารจะเห็นเฉพาะครึ่งบนของหน้าจอเกมเท่านั้น และเขาจะต้องตัดสินใจว่าจะหมุนบล็อกเตตริสที่ร่วงลงมาหรือไม่ โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้รับจากกลุ่ม Sender

ผลปรากฏว่าอาสาสมัครทั้งทีมสามารถสื่อสารกันและเล่นเกมได้เป็นอย่างดี ถึงแม้กลุ่มนักวิจัยจะพยายามเปลี่ยนแปลงข้อมูลระหว่างทางเพื่อให้ผู้รับสารงงบ้าง แต่ตัวผู้รับสารก็มีความสามารถในการแยกแยะว่าข้อมูลสัญญาณใดเป็นสัญญาณจริงและสัญญาณปลอม

สตอกโกคิดว่างานวิจัยของพวกเขาจะสามารถขยายขนาดจนครอบคลุมทั้งโลกผ่านระบบคลาวด์ได้ และจะไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงการสื่อสารระยะใกล้เท่านั้น เขาชวนให้เราคิดถึงระบบที่เราสามารถสื่อสารแบบ “ใจถึงใจ” กับคนอีกมุมโลกได้โดยไม่ต้องพิมพ์ถึงกัน และยังคิดว่างานวิจัยของตนไม่เพียงมีประโยชน์ในเชิงการสื่อสารเท่านั้น แต่มันยังทำให้เรามีความเข้าใจในการทำงานของสมองของมนุษย์ได้ดีขึ้นด้วย

ถึงแม้นี่จะเป็นงานวิจัยที่อยู่ในช่วงเริ่มแรกเท่านั้น และยังมีช่องว่างให้รอการพัฒนาอีกมาก แต่มันก็เป็นงานวิจัยที่ชวนให้เราคิดถึงการประยุกต์ ประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

มันเป็นหนึ่งในงานวิจัยที่จะพลิกความหมายของการเป็นมนุษย์แบบ 180 องศา ไม่ว่าสิ่งที่พลิกไปเป็นนั้น สุดท้ายจะดีหรือร้ายก็ตาม

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image