จิตพอเพียงต้านทุจริต : โดย ดำรงค์ ชลสุข

“จิตพอเพียงต้านทุจริต” เป็นวิชาที่ 4 ในหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่ผู้เขียนจะนำเสนอในที่นี้ ขอท่านได้กรุณาติดตามอ่านบทความนี้ให้จบ

1.ความหมายของ “จิต” และ “พอเพียง”
จิต : คือธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ ทำหน้าที่ เห็น (ตา) ได้ยิน (หู) รู้รส (ลิ้น) และสัมผัสทางกาย และรู้สึกนึกคิดทางใจ จิตนี้ไม่ว่าจะเกิดแก่สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา หรือพรหมก็ตามย่อมมีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะเหมือนกันทั้งนั้น

พอเพียง : หมายถึง มีพอสำหรับการดำรงชีวิต “พอเพียง” ว่า
“ความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอประมาณ และความมีเหตุผล คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรก็ต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง  ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่กันอย่างเป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็         พอเพียง…”

2.องค์ประกอบของจิตพอเพียง : ประกอบด้วย 2.1) ความมีเหตุผล 2.2) การมีภูมิคุ้มกันตน และ 2.3) การรับรู้คุณความดี

Advertisement

3.แนวพระราชดำริ ในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
3.1 ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละการฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
3.2 ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต
3.3 ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
3.4 ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยากด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ
3.5 ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา

กล่าวโดยสรุปแล้ว จิตพอเพียงจึงหมายถึง ความพอเพียงที่อาศัยจิตเป็นเครื่องมือกำหนดการรับรู้ทางอารมณ์ จิตเมื่อรับรู้อารมณ์โดยผ่านทางสัมผัส (ผัสสะ) ทางประสาททั้งหก คือ หู-ตา-จมูก-ลิ้น-กาย และสุดท้ายผ่านเข้าทางใจ ก็เกิดเป็นความรู้ เกิดปัญญาตัดสินว่าอะไรพอเพียง สิ่งใดเกินพอเพียง เพราะฉะนั้น วิชา          “จิตพอเพียงต้านทุจริต” จึงเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับความพอเพียง ซึ่งต้องอาศัยจิตเป็นหลักในการกำหนดความดี-ความชั่ว (ความดี = สุจริต, ความชั่ว = ทุจริต)

4.ทรรศนะ “พอเพียง” ตามแนวพุทธ : ก) ไม่ปล่อยตนให้เป็นทาสของวัตถุ และ ข) ไม่ทำตัวให้ลำบาก เช่น ตระหนี่ไม่ยอมกิน ไม่ยอมจ่าย ไม่ยอมใช้ ไม่ยอมแบ่งปัน ปฏิบัติตัวก่อให้เกิดความลำบากโดยไม่มีเหตุผล  ซึ่งเป็นวิธีหรือแนวทางที่ตึงไป

Advertisement

สําหรับเรื่องสำคัญที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ก็คือ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จ           พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือ

1.ความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตามของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกโลกาภิวัตน์
“…เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีก แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy หมายความว่าประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)

2.หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (โดยรวม)
จากภาพหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วย 3 ห่วง, 2 เงื่อนไข และ 4 มิติ อธิบายได้ว่า 1) 3 ห่วง ได้แก่ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัว 2) 2 เงื่อนไข ได้แก่ ก) เงื่อนไขความรู้ประกอบด้วย ความรู้ทางวิชาการด้านต่างๆ และความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาเชื่อมโยงกัน เพื่อนำไปวางแผนปฏิบัติอย่างระมัดระวังทุกขั้นตอน และ ข) เงื่อนไขคุณธรรม ประกอบด้วย การตระหนักในคุณธรรม สังคม   สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ทั้ง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และ 4 มิติ จะต้องนำไปสู่ความก้าวหน้า สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

3.รายละเอียดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
รายละเอียดของหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 1) หลักของความพอประมาณ 5 ประการ 2) หลักความมีเหตุผล 5 ประการ 3) หลักของความมีภูมิคุ้มกัน มีสาระสำคัญ ดังนี้

3.1 หลักของความพอประมาณ (พอดี) 5 ประการ
3.1.1 พอดีด้านจิตใจ ได้แก่ เข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี เอื้ออาทร ประนีประนอม นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม
3.1.2 พอดีด้านสังคม ได้แก่ ช่วยเหลือเกื้อกูล รู้รักสามัคคี สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชน
3.1.3 พอดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ รู้จักใช้และจัดการอย่างฉลาดและรอบคอบ และเกิดความยั่งยืน
3.1.4 พอดีด้านเทคโนโลยี ได้แก่ รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อความต้องการเป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อม และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และพัฒนาจากภูมิปัญญาชาวบ้านก่อน
3.1.5 พอดีด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ดำรงชีวิตอย่างพอควร พออยู่ พอกิน สมควรตามอัตภาพฐานะของตน

3.2 หลักของความมีเหตุผล 5 ประการ
3.2.1 ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีวิต
3.2.2 ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีวิต
3.2.3 ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันในทางการค้าขายประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
3.2.4 ไม่หยุดนิ่งที่หาหนทางในชีวิต หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก
3.2.5 ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลด เลิก สิ่งยั่วกิเลสให้หมดสิ้นไป ไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัวเองทำลายผู้อื่น พยายามเพิ่มพูนรักษาความดีที่มีอยู่ให้งอกงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
3.3 หลักของความมีภูมิคุ้มกัน 2 ประการ ประกอบด้วย
3.3.1 ภูมิปัญญา : มีความรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง
3.3.2 ภูมิธรรม : ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน และแบ่งปัน

4.การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้
กล่าวโดยสรุปแล้วหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยพื้นฐานแล้ว เป็นการพึ่งตนเองเป็นหลัก ทำงานเป็นขั้นตอน รอบคอบ ระมัดระวัง ทั้งนี้ ต้องพิจารณาถึงความพอดี พอเหมาะ พอควร ด้วยความสมเหตุสมผล และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญจะกระทำสิ่งใดต้องคำนึงถึงคุณธรรม ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตด้วย
พฤติกรรมด้านจริยธรรมของบุคคลที่แสดงออกมีความสัมพันธ์กับ 4 มิติ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังตารางต่อไปนี้

สำหรับตัวอย่างการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว มีตัวอย่างเป็นรูปภาพซึ่งจะนำเสนอดังต่อไปนี้

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image