ทฤษฎีห่านบินของโอกิตะ : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อเดือนที่แล้วหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ พากันลงข่าวความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามและอาจจะรวมถึงกัมพูชา ลาว และพม่าด้วย ที่ฝรั่งใช้ตัวย่อเรียกประเทศกลุ่มนี้รวมกันว่า CLMV ซึ่งทุกประเทศมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยอัตราที่สูงกว่า คือสูงกว่าร้อยละ 6-8 เกือบทุกประเทศ ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน พม่าขยายตัวสูงด้วยเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ในธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจพลังงาน เวียดนามเงินทุนหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในเกือบทุกด้าน ลาวเงินลงทุนในการพัฒนาแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำและถ่านหินลิกไนท์ ส่วนกัมพูชาธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและเกษตรกรรมขยายตัวในอัตราที่สูง

ทำให้นึกถึงประเทศไทยในช่วงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราขยายตัวในอัตราที่สูง เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง พร้อมๆ กับการล่มสลายขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือ OPEC ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่ประธานาธิบดีเรแกนทำสงครามอวกาศกับสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต แข่งขันกันเป็นเจ้าทางอวกาศ จนเศรษฐกิจล่มสลายทั้ง 2 ประเทศ เป็นเหตุให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูดซับปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล และรัฐบาลต้องออกพันธบัตรจำนวนมากเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ แต่ปรากฏว่าเศรษฐกิจของโซเวียตและประเทศบริวารล่มสลายก่อนเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ทำให้ค่ายเสรีประชาธิปไตยต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกาไปทั้งโลกรวมทั้งบ้านเราด้วย

ที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 19-20 สูงเป็นประวัติการณ์ ก็เพื่อชดเชยกับการขาดดุลงบประมาณ ที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างหนัก ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นเหตุให้เศรษฐกิจสหรัฐและพันธมิตรย่ำแย่ไปตามๆ กัน ในขณะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลับรุ่งเรืองและขยายตัวในอัตราที่สูง

จนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ดึงเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้ทะยานขึ้นเป็นกลุ่มๆ ตามต่อจากญี่ปุ่น

Advertisement

ศาสตราจารย์ ดร.โอกิตะได้ให้คำอธิบายว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียตะวันออกนั้นเหมือนกับฝูงห่านบินหรือ Flying Geese โดยมีหัวหน้าคือญี่ปุ่นทะยานขึ้นก่อน เพราะเศรษฐกิจรุ่งเรืองอัตราค่าจ้างแรงงานของญี่ปุ่นก็แพงขึ้น จึงย้ายการลงทุนมาที่เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวันและฮ่องกง ประเทศเหล่านี้คือกลุ่มต่อมาที่ทะยานขึ้นโดยการฉุดของหัวหน้าห่าน โดยเรียกรวมกันว่าประเทศพัฒนาใหม่ หรือประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือ Newly Industrialized Countries หรือ NIC’S เพราะไต้หวันและฮ่องกงไม่ใช่ประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อห่านชุดที่ 2 ทะยานขึ้นจนกลายเป็นประเทศพัฒนา หรือประเทศอุตสาหกรรมใหม่แล้ว ค่าจ้างแรงงาน ฐานะความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตดีขึ้นและแพงขึ้น ไม่อาจจะรักษาอุตสาหกรรมที่ยังใช้แรงงานในอัตราที่สูงไว้ต่อไป จึงเกิดการเคลื่อนย้ายทุนมาที่ฝูงห่านชุดที่ 3 คือประเทศอาเซียนเก่า ได้แก่ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียตามลำดับ ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไนซึ่งพัฒนาไปก่อนแล้ว โดยไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ต่อจากประเทศนิกส์ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย จะเป็นเสือตัวที่ 6 และ 7 ตามลำดับ

แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเงิน หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 ความฝันของไทยที่จะเป็นเสือตัวที่ 5 ก็พังทะลายไป แต่กลับกลายเป็นประเทศตัวอย่างในการเป็นประเทศผู้นำในระบอบประชาธิปไตย อันเป็นรากฐานและเงื่อนไขสำคัญในการที่จะหลุดจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงหรือพัฒนาแล้ว อย่างที่มาเลเซียได้ประกาศไปก่อนหน้านี้แล้ว มาเลเซียเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบพรรคเด่นพรรคเดียว คือพรรค
อัมโน มาตลอดจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่นายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด มหาธีร์ ประกาศตั้งพรรคใหม่ แล้วสามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้

Advertisement

เมื่อประเทศอาเซียนเก่าที่เป็นฝูงห่านชุดที่ 3 ทะยานขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลาที่ห่านชุดที่ 4 จะทะยานขึ้นบ้าง ห่านชุดที่ 4 ก็ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ อันได้แก่ พม่า เวียดนาม ลาวและกัมพูชา อันเป็นห่านชุดสุดท้ายของเอเชียตะวันออก

แต่ระหว่างที่ฝูงห่านชุดต่างๆ ของ ดร.โอกิตะ กำลังทะยานขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเป็นยักษ์หลับ เพราะถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์และจัดระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ปิดประเทศมาตั้งแต่ปี 1949 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดทางเศรษฐกิจ โดยการเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมโดยรัฐมาเป็นทุนนิยมโดยรัฐ พร้อมๆ กับการยกเลิกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้ จีนจึงสามารถตีตลาดสินค้าทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคอื่นๆ จนสามารถสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศอันเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาเป็นเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ

จีนจึงนำทุนสำรองดังกล่าวไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันเก็บไว้มีจำนวนมากที่สุด จีนจึงกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของรัฐบาลอเมริกัน เป็นเหตุให้ค่าเงินดอลลาร์ตกอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลหลักอื่นๆ แต่จีนก็ยังผูกขาดเงินของตนไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ ไม่ยอมปล่อยตัวอย่างเสรีมาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะถูกสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าเอาเปรียบสหรัฐอเมริกาก็ตาม

ความจริงแล้ว การที่จีนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับอเมริกา เป็นการเกินดุลทางการเงิน ถ้ามองกลับกันจีนขาดดุลสินค้าและบริการกับสหรัฐ กล่าวคือเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการให้ประชาชนอเมริกันใช้มากกว่าคนอเมริกันผลิตสินค้าและบริการให้คนจีนใช้ เงินทุนและเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตก็เป็นเงินทุนและเทคโนโลยีของบริษัทอเมริกันและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ เท่ากับคนอเมริกันพิมพ์เงินดอลลาร์ไปซื้อของจีน จีนได้เงินดอลลาร์ก็ย้อนกลับไปให้รัฐบาลอเมริกันกู้ เป็นหนี้จีน แลกกับข้าวของสินค้าจีนที่ตนนำเข้ามาใช้ ทำให้คนอเมริกันมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุขสบายและฟุ่มเฟือย มีเงินได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล ค่านิมิตรสิทธิ์ ลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา มีมากมายมหาศาล

แต่ก็ไม่พอกับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพื่อการนำเข้าสินค้าจากจีนและประเทศอื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้หนักๆ เข้า อเมริกาก็เดือดร้อน เพราะต้องหาเงินชำระต้นและดอกเบี้ยให้กับจีนและชาวโลก แม้ชาวอเมริกันใช้จ่ายมากมายฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ได้เป็นแรงสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกัน แต่ไปสนับสนุนการเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ความจริงข้อนี้จึงกลายเป็นความรู้สึกว่า แม้จีนไม่ใช่คู่แข่งทางด้านแสนยานุภาพทางทหารและทางอวกาศ แต่กลายเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจและการค้า โดยการเป็นหนี้ของคนอเมริกันผู้ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลไปจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้จีน

โดนัลด์ ทรัมป์ รู้ถึงความรู้สึกเช่นว่านี้ของคนอเมริกัน จึงใช้จุดอ่อนข้อนี้ของคนอเมริกันในการหาเสียงจนได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีและประกาศทำสงครามเศรษฐกิจและการค้ากับจีน เป็นสงครามทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐที่จีนจะชนะอเมริกาอย่างราบคาบ

การประกาศลดปริมาณการค้าและการลงทุนกับจีน ย่อมทำให้ปริมาณการค้าและการลงทุนของโลกลดลง เพราะยุคโลกาภิวัตน์ทำให้สินค้าชนิดต่างๆ มีส่วนประกอบจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และกระทบกระเทือนเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลก แม้ว่าในระยะสั้นสหรัฐอเมริกาจะได้ประโยชน์ แต่ในระยะปานกลางและระยะยาว ก็ไม่แน่ว่าสหรัฐอเมริกาจะได้ประโยชน์ จนกลายเป็นประเทศที่เสียประโยชน์มากที่สุดในโลกก็ได้ เพราะมีประธานาธิบดีที่โง่เขลาและเห็นแก่ตัวอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ แทนที่จะลดการขาดดุลงบประมาณด้วยการขึ้นภาษีกับคนอเมริกันและลดงบประมาณรายจ่ายลง

ห่านชุดที่ 4 อันได้แก่ พม่า เวียดนาม กัมพูชาและลาว โชคดีที่ทะยานขึ้นก่อนผลกระทบของนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจจะทำให้ประเทศอาเซียนกลายเป็นประเทศที่จีนต้องเข้ามาลงทุน เพื่อส่งออกไปอเมริกาแทนบริษัทที่อยู่ในจีนก็ได้ และเป็นกลุ่มประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดด้วยเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ นอกจากระบบขนส่งและโทรคมนาคมแล้ว ยังเป็นเงื่อนไขที่สามารถผลิตของได้ในราคาที่ถูก ถูกกว่าประเทศอาเซียนเก่าที่ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น

ขอให้ห่านชุดที่ 4 ของ ดร.โอกิตะ โชคดี

วีรพงษ์ รามางกูร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image