แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุน อาชีวศึกษาเกษตร : โดย รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นโครงการหลัก
เริ่มดำเนินการอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยการเกษตรกรรมยังคงเป็นอาชีพพื้นฐานของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น การศึกษาทางด้านการเกษตรจึงยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การดำเนินการบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเกษตร ซึ่งเน้นการเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป เพื่อให้ได้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีทักษะและความชำนาญในวิชาชีพ รวมถึงการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในอนาคต

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 มาตรา 6 ซึ่งกำหนดว่า “การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ต้องเป็นการจัดการศึกษาในด้านวิชาชีพที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

และแผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาชีพให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยนำความรู้ในทางทฤษฎีอันเป็นสากลและภูมิปัญญาไทย มาพัฒนาผู้รับการศึกษา ให้มีความรู้ความสามารถในทางปฏิบัติ และมีสมรรถนะจนสามารถนำไปประกอบอาชีพในลักษณะผู้ปฏิบัติหรือผู้ประกอบอาชีพโดยอิสระได้”

Advertisement

และได้จัดตั้งวิทยาลัยด้านการเกษตรและประมงขึ้นเพื่อสร้างเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถและทักษะด้านวิชาชีพเกษตร มีการจัดการเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสาขาต่างๆ เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานของการเกษตรในด้านต่างๆ เช่น พื้นฐานด้านพืช พื้นฐานด้านสัตว์ และพื้นฐานด้านประมง มีการจัดการเรียนการสอนแยกเป็นประเภทวิชาเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาพืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร ช่างกลเกษตร ประเภทวิชาประมง สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สาขาวิชาแปรรูปสัตว์น้ำ สาขาวิชาการจัดการประมง ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

เพื่อปลูกฝังให้ผู้เรียนมีทักษะและความชำนาญในวิชาชีพมากยิ่งขึ้น พร้อมออกไปเป็นเกษตรกรที่มีความชำนาญ

ในด้านต่างๆ ที่ได้ศึกษามา เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานให้ผู้เรียนได้เข้าสู่อาชีพเกษตรกรรมและเป็นเจ้าของธุรกิจได้โดยอิสระ

Advertisement

ปัจจุบันวิทยาลัยด้านการเกษตรและประมงมีการจัดการเรียนการสอนกระจายไปอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 47 แห่ง จัดการศึกษาอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 12 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 แห่ง ภาคกลาง 12 แห่ง และภาคใต้ 13 แห่ง

คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา ในคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนอาชีวศึกษาเกษตร ทั้งพื้นที่ภาคกลาง จ.ชลบุรีและลพบุรี พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา พื้นที่ภาคเหนือ จ.พะเยาและเชียงราย และพื้นที่ภาคใต้ จ.ตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับการสะท้อนปัญหาสำคัญในเรื่องต่างๆ สมควรได้รับการพิจารณาแก้ไข ดังต่อไปนี้

ครูและบุคลากรทางการศึกษา

1) ควรต้องออกกฎหมายที่เป็นมาตรการพิเศษในการจ้างครูอาชีวศึกษาเกษตรที่กำลังเกษียณอายุราชการในช่วง 3 ปี (ระหว่างปี 2561-2563) ให้เป็นข้าราชการต่อไปอีก 3 ปี เป็นกรณีพิเศษ โดยใช้งบประมาณของแผ่นดินเป็นการเฉพาะ และไม่ใช่เป็นการโอนงบประมาณจากส่วนอื่นที่สถานศึกษาได้รับการจัดสรรมาตามปกติ ในลักษณะเดียวกับการจ้างอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา

2) เพื่อให้ได้ครูอาชีวศึกษารุ่นใหม่เข้ามาทดแทนครูที่จะทยอยเกษียณอายุราชการในช่วง 3 ปี (ระหว่างปี 2561-2563) และมีความต่อเนื่อง ควรต้องมีการสรรหาครูให้เพียงพอตามอัตรากำลังที่จะเกษียณอายุราชการไปในแต่ละปี

โดยในระหว่างที่มีการจ้างครูที่จะเกษียณอายุราชการต่อไปอีก 3 ปีนั้น ให้ครูรุ่นใหม่ได้เข้าทำหน้าที่ปฏิบัติการสอนไปพร้อมกับครูที่จะเกษียณอายุราชการ เพื่อฝึกประสบการณ์ เรียนรู้ทักษะ และได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ จากครูที่กำลังจะเกษียณอายุราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้กระบวนการจัดการศึกษาและการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ศิษย์เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพเช่นเดิม

3) กระบวนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาต้องมีการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริงไปพร้อมกับการเรียนรู้ภาคทฤษฎี ดังนั้น ควรเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาออกกฎ ระเบียบ หรือแนวทางต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ครูที่เกษียณอายุราชการไปแล้วสามารถเข้ามาเป็นบุคลากรช่วยการเรียนการสอนต่อไปได้

4) ควรดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง คุณสมบัติ ตลอดจนวาระในการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษาบ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการบริหารสถานศึกษา

งบประมาณและการบริหาร

1) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ควรออกกฎ ระเบียบและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรในพื้นที่ต่างๆ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรในพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนหรือดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งระบบ รวมถึงต้องกระจายอำนาจในส่วนของบุคลากร วิชาการ งบประมาณ และการบริหารจัดการไปสู่สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร

2) การศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรเป็นการจัดการศึกษาที่ครูจำเป็นต้องพักในสถานศึกษา และนักศึกษาต้องอาศัยอยู่ในหอพักของสถานศึกษาเช่นกัน จึงควรได้รับงบประมาณในการสนับสนุน ซ่อมแซม หอพักนักศึกษาและบ้านพักครูที่มีสภาพทรุดโทรมอย่างมากโดยเร่งด่วน

3) รัฐควรให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย และงบประมาณสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษาตามความเป็นจริง ตลอดจนจัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซม หรือจัดซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อทดแทนของเดิมที่หมดอายุการใช้งานแล้ว

4) ควรสนับสนุนให้สถานศึกษาหารายได้เพิ่มเติมในลักษณะของการพัฒนาทางวิชาการ โดยใช้แนวทางดำเนินงานตามมาตรา 20 มาตรา 44 และมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พศ.2551

หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน

1) การพัฒนาหลักสูตรการอาชีวศึกษาเกษตร ต้องพิจารณาจากการประกอบอาชีพจริง ทั้งจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้ครบวงจรทางด้านการเกษตร คือ การผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่าย โดยแบ่งอาชีพเป็นนักปฏิบัติการ นักจัดการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ

2) สถานศึกษาอาชีวเกษตรแต่ละแห่ง ควรสร้างจุดเด่นให้สถานศึกษามีความโดดเด่นเฉพาะด้าน
ผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตรลดลง

1) รัฐควรสนับสนุนให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรจนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และจัดหาแหล่งเงินทุนกู้ยืมสำหรับผู้จบการศึกษาที่ประสงค์จะเป็นผู้ประกอบการทางด้านการเกษตร

2) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ควรดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงภารกิจของสถานศึกษา การจัดการศึกษาด้านการเกษตร ข้อมูลการมีงานทำของผู้จบการศึกษาด้านอาชีวศึกษาเกษตร ตลอดจนความสำเร็จในการประกอบอาชีพของศิษย์เก่า

ความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

1) สถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตร ควรต้องมีการติดต่อ ประสานงานและทำความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และศิษย์เก่า ทั้งในเขตพื้นที่และนอกเขตพื้นที่ในการรับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพในทุกชั้นปี

2) สถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรต้องเป็นที่พึ่งของชุมชนรอบสถานศึกษา และเป็นต้นแบบของการพัฒนางานและโครงการทางด้านการเกษตร เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามาศึกษา สร้างองค์ความรู้ สร้างความสัมพันธ์ และพัฒนาร่วมกัน

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีภูมิอากาศเหมาะสม ซึ่งเป็นที่มาของการที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกรมาช้านาน ทำให้เกิดองค์ความรู้ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้านอย่างมากมาย แต่เกษตรกรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ส่งผลให้จำนวนผู้เข้าศึกษาทางด้านการเกษตรลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาสายวิชาชีพ และจะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงในอนาคต

ควรที่ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ ส่งเสริม และสนับสนุนอาชีวศึกษาเกษตรอย่างจริงจัง

และต่อเนื่อง เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเข้มแข็งทางด้านการเกษตรของประเทศไทยตลอดไป

รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์
คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา
คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image