ขุดรากถอนโคนปัญหาการศึกษาไทย

ความล้มเหลวของการศึกษาไทยปัญหาอยู่ที่ไหน ทำไมกูรูทางการศึกษาไทยค้นหาไม่พบ ทุกรัฐบาลทุกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่างตั้งสมมุติฐานไว้ต่างๆ นานา เห็นแต่ปัญหาทีโผล่พ้นน้ำพ้นดินขึ้นมา แต่รากเหง้าของตัวปัญหาที่ฝังลึกฝังอยู่ใต้น้ำใต้ดินกลับมองไม่เห็น

รากเหง้าปัญหาการศึกษาไทยที่แท้จริงที่ฝังอยู่ใต้ดินคือ “ตัวบทกฎหมายทางการศึกษาที่ได้วางระบบออกแบบโครงสร้างการศึกษาของชาติไว้” เริ่มแต่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษา 2546 พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา 2546 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 2547 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการวัดผลการประถมศึกษา 2521 การมัธยมศึกษาตอนต้น 2521 การมัธยมศึกษาตอนปลาย 2524 ฉบับปรับปรุง 2533 และปรับปรุง 2560 ฯลฯ

ปัจจุบันนี้นักวิชาการ (นักจินตนาการ) ยังออกกฎหมายใหม่ๆ เพิ่มปัญหาเข้ามาอีกเช่น กฎหมายพิเศษ มาตรา 44 ให้ยุบ อ.ก.ค.ศ.ในทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้กำเนิดศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค และเมื่อปลายเทอมการศึกษาต้นปีนี้คือ ระเบียบว่าด้วยมาตรฐานการศึกษาเข้ามาเป็นฝางเส้นสุดท้ายบนหลังลาอีก กฎหมายคือปฐมเหตุแห่งปัญหาที่จะต้องสะสางดังนี้ครับ

ปัญหาที่ 1 คือกฎหมายการวัดผลการศึกษา ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการวัดผลการศึกษาประถมศึกษา 2521 มัธยมศึกษาตอนต้น 2521 มัธยมศึกษาตอนปลาย 2524 ฉบับปรับปรุง 2533 ต่อมามีปรับปรุงแก้ไขบ้างก็เป็นแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ ระเบียบนี้ได้วางรากไว้ลึกและยาวนานในวงการศึกษาไทย ได้ฝากรอยแผลเป็นไว้ในวงการศึกษาไทยว่า “นักเรียนไทยเรียนอย่างไรก็ไม่สอบตก” ครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนทุกคนก็รู้แต่ต้องหลับตาข้างหนึ่งเพื่อไม่ให้เห็น เพราะมันเป็นกฎหมายแก้เองไม่ได้

Advertisement

เด็กไทยเขียนหนังสือไม่เป็นเพราะข้อสอบแบบเลือกตอบ ก ข ค ง 0 ร มส. ครับ คือทั้งเขียนไม่ได้และเขียนไม่ถูกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เด็กบางคนไม่ตั้งใจเรียนหรือเรียนแบบไม่มีเป้าหมาย เพราะถึงปลายปีทำอย่างไรก็สอบผ่าน แม้สอบตกก็สามารถสอบแก้ 0 ร มส. ได้

หันไปดูเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ เวียดนาม จีน อังกฤษ เขาใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบ (Writing Exam) เป็นหลักใหญ่ คนที่เคยไปเรียนต่างประเทศคงรู้ดี เด็กเขาจึงได้รับฝึกการเขียนหนังสือ ฝึกการแสดงความคิดเห็นผ่านการเขียนข้อสอบ ได้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านการสืบค้นข้อมูลหาคำตอบ ได้เขียนบรรยายแสดงขั้นตอนวิธีค้นหาคำตอบ ได้แสดงคำตอบที่ผู้เรียนเห็นว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องของตนเอง

ผู้เขียนมีเพื่อนเป็นครูต่างชาติหลายคนทั้งจากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย แอฟริกา จีน ฟังเขาพูดถึงการศึกษาไทยแล้วมันสั่นสะเทือนไปถึงหัวใจ เขาเล่าว่าเด็กนักเรียนของประเทศเขาเรียนหนักมาก ขยันมากถึงมากที่สุด เด็กที่เรียนอ่อนหรือขี้เกียจจะสอบตกแน่นอน ข้อสอบวัดผลของเขาส่วนมากใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบ (Writing Examination) ข้อสอบแบบเลือกตอบ ก ข ค ง (multiple Choice 100% แทบไม่มี) จะมีข้อสอบเลือกตอบก็จะเป็นข้อสอบแบบ PISA (ท่านผู้อ่านต้องลองสอบหรือไปศึกษาข้อสอบ PISA ดูครับแล้วจะรู้ว่าเป็นอย่างไร)

Advertisement

วิธีการแก้ปัญหาคือ ให้ยกเลิกระเบียบการวัดและประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2521 ประกาศใช้ 2523 ฉบับปรับปรุง 2533 หรือฉบับ 2560 เสียครับ แล้วสร้างระเบียบใหม่ที่เป็นสากล ดูแบบย่างจากประเทศที่เขาประสบผลสำเร็จเช่น สิงคโปร์ เยอรมนี ฟินแลนด์ จีน อื่นๆ ก็ได้

ปัญหาที่ 2 เรื่องโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีคนระดับปลัดกระทรวงถึง 5 คน หรือ 5 แท่ง ปัญหานี้เกิดจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 และ พ.ร.บ.ว่าระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ครับ

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 มาตรา 37 ส่งผลให้ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการอำเภอหายไป สามัญศึกษาจังหวัดหายไป ประถมศึกษาจังหวัดและการประถมศึกษาอำเภอหายไป

มาตรา 49 ทำให้เกิดสำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษา (สมศ.) เกิดขึ้น อันเป็นสาเหตุให้โรงเรียนต้อง เตรียมรับการประเมินล่วงหน้าเป็นเดือนจนไม่มีเวลาเรียนเวลาสอนนักเรียน

มาตรา 54 ทำให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคล (ก.ค.ศ.) และเกิด อ.ก.ค.ศ.ตามมา จนมีข่าวว่า อ.ก.ค.ศ.เกือบทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุจริตในงานบุคลากรจนรัฐบาลนี้ต้องสั่งให้ยุบ อ.ก.ค.ศ.ทั่วประเทศ แล้วประกาศใช้ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

เวลาประชุมสั่งการบุคลากรระดับปลัดกระทรวง รัฐมนตรีก็ไม่รู้ว่าจะสั่งใครเพราะมีแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สูงสุดทั้งสิ้น แต่ซี 11 ทั้ง 5 แท่งเหล่านี้แม้จะมีตำแหน่งสูงสุดก็ไม่สามารถสั่งย้ายผู้ใต้บังคับบัญชาได้แม้แต่คนเดียว ต้องเสนอให้บอร์ดคณะกรรมการบริหารงานบุคคลไปประชุมพิจารณากันก่อนแล้วจึงเสนอเข้ามาให้ท่านผู้ใหญ่ทั้ง 5 แท่นสั่งการ แล้วรัฐมนตรีว่าการจะมีความหมายอะไร

วิธีแก้ปัญหานี้ ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 แล้วยกร่างใหม่ให้มีหน่วยงานเก่าๆ ที่ท่านเห็นว่าดี เหมาะสมกลับคืนมา ให้ยุบ 5 แท่ง ให้เหลือซี 11 ปลัดกระทรวงคนเดียวก็พอ ให้มีศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการอำเภอ ประถมศึกษาจังหวัด ประถมศึกษาอำเภอ สามัญศึกษาจังหวัด ก็ได้ เพราะคนรุ่นเก่าเขายังโหยหาอยู่ ไม่ต้องไปอาศัย ม.44 ให้คนในองค์กรทะเลาะกัน

ปัญหาที่ 3 เรื่องของหลักสูตรการศึกษา 2544 ปรับปรุง 2552 ปรับปรุงอีกครั้ง 2560 สาเหตุของปัญหาคือมันล้าหลัง ไม่ทันวิวัฒนาการของชาวโลกหรือไม่ทันเทคโนโลยีของโลกในยุคดิจิทัลเราก็ต้องแก้ปัญหาโดยการปฏิรูปหลักสูตรให้ทันบริบทของสังคมโลก

โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาไทยและการศึกษาทั่วโลกทุกวันนี้ มีอายุมาไม่น้อยกว่า 200 ปี ไทยก็เริ่มจัดหลักสูตรสถานศึกษาแบบตะวันตกนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีลักษณะการรวบรวมองค์ความรู้เป็น กลุ่มรายวิชา นำมาจัดสอนในห้องเรียน ก็จะมีวิชาแกน (Core Subject) และวิชาเลือก (Elective Subject) และกิจกรรมนักเรียน (Student Activity) ต้นแบบการจัดรายวิชานำมาจากอังกฤษ อเมริกา ยุโรป ลักษณะก็คล้ายๆ กันแทบทุกประเทศ รายวิชาในหลักสูตรไทยปัจจุบันนี้ มี 8 รายวิชา (8 สาระการเรียนรู้) บางประเทศ มี 9 สาระรายวิชา และมีบางประเทศมีถึง 14 สาระรายวิชา

โลกวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้วโลกเปลี่ยนไปรวดเร็วมาก มีมหาวิทยาลัยในหลายประเทศกำลังปรับเปลี่ยนสาระวิชาการเรียน รายวิชาที่เปิดสอนในสถาบันการศึกษามีชื่อแปลกใหม่เข้ามา เป็นรายวิชาเกี่ยวกับทักษะการทำมาหากินเลี้ยงชีวิต ลดรายวิชาที่เป็นสายศิลปะลง เพิ่มสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีบางสถาบันที่เปลี่ยนสาระรายวิชาให้แตกต่างจากอดีตไปเกือบสิ้นเชิง รายวิชาที่นำเข้าสู่ห้องเรียนใหม่คือ รายวิชาเกี่ยวกับทักษะการดำรงชีวิตในโลกยุคดิจิทัล

การศึกษาขั้นพื้นฐานเราใช้หลักสูตรการศึกษา 2544 ปรับปรุง 2552 และปรับปรุง 2560 ได้รูปแบบมา (ก๊อบปี้) จากหลักสูตรการศึกษา ปี 2521 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีลายละเอียดที่ดีเลิศมาก แต่นำไปสู่การปฏิบัติจริงไม่ได้ เพราะระบุรายละเอียดไว้มากเกินไป ระบุวัตถุประสงค์ทั้งต้นทางปลายทางและระหว่างเรียน เด็กไม่ผ่านวัตถุประสงค์ใดเด็กต้องไปเรียนซ่อม เด็กคนใดที่เรียนผ่านไปได้ก็ต้องไปเรียนเสริม จึงเกิดการสอนซ่อมเสริม ซึ่งความเป็นจริงปฏิบัติตามไม่ได้ทำไม่ประสบผลสำเร็จ

ปัญหาการนำหลักสูตรไปใช้ก็คือวิธีการสอนของครูไม่เป็นไปตามที่หลักสูตรกำหนด กิจกรรมการเรียนการสอนนิยมสอบแบบบรรยาย (Lecture) บรรดาความรู้ทั้งหลายที่ถูกต้องต้องอยู่ในตัวครูแต่ผู้เดียว ซึ่งปัจจุบันครูรุ่นเก่าเหล่าตกยุคไปแล้ว เพราะครู Google รู้จริงทุกเรื่อง วิทยาการหรือศาสตร์ต่างๆ ล่องลอยอยู่ในอากาศหรืออยู่ในก้อนเมฆ เด็กแสวงหาเองได้ ครูต้องพัฒนาวิธีการสอนของตนเองให้ทันสมัย

ปัญหาที่ 4 คือ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาและ อ.ก.ค.ศ.ทั่วประเทศตกเป็นจำเลยของสังคมที่ถูกกล่าวหาว่ารับเงินสินบน คอร์รัปชั่นจากการย้ายครู การสอบบรรจุครู การขึ้นเงินเดือนประจำปีของครู มีการคอร์รัปชั่นทั่วประเทศ จนรัฐบาลต้องใช้ ม.44 ยุบ อ.ก.ค.ศ.ทุกเขตพื้นที่การศึกษา จากการที่รัฐบาลใช้ ม.44 ปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้อาการป่วยไม่ได้ต่างจากเมื่อก่อนนี้เลย เพราะบุคคลที่ไปเป็น ก.ศ.จ.บางส่วนไปจาก อ.ก.ค.ศ.เดิม เหลือบฝูงเดิมย้ายถิ่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามามีภาระงานเพิ่มมีอำนาจลงนามสั่งการ จึงเป็นการเพิ่มปัญหาและสร้างปัญหาใหม่เข้ามา

วิธีแก้คือ แก้ไขที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 สร้าง พ.ร.บ.ใหม่ขึ้นมา คืนอำนาจการบริหารงานบุคคลให้กับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อผลสำเร็จขององค์กรโดยตรง เช่น ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือให้ศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชาเพียงคนเดียว คณะกรรมการบริหารงานบุคคลให้เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา ให้เอามาจากการกลุ่มผู้บริหารและครูในเขตพื้นที่การศึกษาจะเรียกว่ากลุ่มโรงเรียนก็ได้ ซึ่งในสมัยก่อนที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหรือสามัญศึกษาจังหวัดก็มีคณะบุคคลทำงานมีอำนาจหน้าที่เช่นนั้นไม่เห็นมีปัญหาอะไรสอบบรรจุครู ย้าย แต่งตั้งผู้บริหารก็ไม่มีปัญหาทุจริตโกงกินใหญ่โตเช่นทุกวันนี้

ปัญหาที่ 5 คือ เรื่องการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นรับผิดชอบจัดการศึกษา เช่น ให้โรงเรียนถ่ายโอนไปสังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลนั้น เห็นว่า อบจ., อบต.และเทศบาล เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (Administration Organization) ซึ่งมีสังกัดอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ประเทศไทยจึงไม่มีรัฐบาลแห่งท้องถิ่น (Province Government) ตามแบบของสาธารณรัฐ เช่นอเมริกาที่ผู้แทนของชาวบ้านเข้ามามีอำนาจในการบริหารท้องถิ่น สามารถกำหนดนโยบายเองได้ มีงบประมาณของตนเองซึ่งของเขาเป็นท้องถิ่นจริงๆ ในอเมริกาการถ่ายโอนการศึกษาไทยไปยังท้องถิ่นจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนคนดูแลจากกระทรวงศึกษาธิการเป็น กระทรวงมหาดไทยเท่านั้น

ปัญหาที่ 6 ก็คือการตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษา ปัญหาที่ 7 คือการตั้งสถาบันประเมินมาตรฐาน ปัญหาต่างๆ ที่ยกมานี้มีรากเหง้ามาจากกฎหมายทั้งนั้นครับ ต้องแก้ที่กฎหมาย

เราแก้ปัญหาการศึกษาโดย “นักจินตนาการ” มานานมากพอแล้วครับ ต่อไปขอนักวิชาการที่มีความรู้ลึกลงไปถึงรากเหง้าของการศึกษาจริงๆ บ้างเถิด คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษาที่จัดทำอยู่ขณะนี้ ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะไปขุดรากถอนโคนไปถึงรากเหง้าของปัญหาใดๆ ได้เลย

ผลงานที่เสนอออกมาแต่ละครั้งมันมีแต่เพิ่มปัญหา คนที่รู้เรื่องเข้าใจปัญหาของการศึกษาที่เข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการแทบไม่มีเห็น พบแต่นักจินตนาการที่เข้าไปลากจูงการศึกษาไทยให้หลงทางไกลออกไปเรื่อยๆ จนลงไปอยู่รั้งท้ายขบวนแล้วครับ วังเวงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image