สัญญาหยิน-หยาง : โดย เฉลิมพล พลมุข

ชีวิตมนุษย์หรือประชากรในประเทศชาติใดชาติหนึ่งเมื่อมีศักยภาพในการประกอบอาชีพการงานแล้ว ความรับผิดชอบต่อประเทศชาติด้วยการเสียภาษีบำรุงรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่ที่ถูกบังคับด้วยกฎหมายของบ้านเมืองเพื่อที่จะนำรายได้ส่วนหนึ่งไปพัฒนาส่วนต่างๆ ของบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองตามนโยบายของผู้ปกครองรัฐ

ข่าวหรือข้อมูลหนึ่งที่เราท่านได้รับทราบจากสื่อทั้งในเมืองไทยเราและสื่อต่างชาติได้นำเสนอเรื่องราวของฟ่าน ปิงปิง อายุ 36 ปี เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1981 ที่เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ประเทศจีน ซึ่งเป็นทั้งดารา นักแสดง นักร้อง นางแบบ โปรดิวเซอร์ ที่จบการศึกษาจากสถาบันสอนการแสดงเซี่ยจิ้นเหิงทงจากเซี่ยงไฮ้ ได้เข้าสู่วงการบันเทิงเมื่อ ค.ศ.1996 และมีชื่อเสียงจากการรับบทจินสั่ว สาวใช้ผู้ซื่อสัตย์ของจื่อเวย ในซีรีส์ไต้หวันชุด Princess Pearl หรือองค์หญิงกำมะลอ ที่ได้แสดงคู่กับนักแสดงที่มีชื่อเสียงคือเจ้าเวย และหลินซินหยู

ฟ่าน ปิงปิงเป็นดารานักแสดงที่มีค่าตัวเป็นลำดับที่ 1 ทั้งของเมืองจีน ไต้หวันและฮ่องกง ในปี ค.ศ.2010 มีรายได้ 62.5 ล้านหยวน หรือประมาณ 284 ล้านบาท และในกลางปี ค.ศ.2015 มีรายได้สูงสุดอันดับที่ 4 ของโลก 21 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 749 ล้านบาทไทย ผลงานของเขามีทั้งละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในระดับบล็อกบัสเตอร์ รวมไปถึงแฟรนไชส์ X-Men และ Iron Man

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก มีประวัติศาสตร์สำคัญของโลกอยู่ในหลากหลายมิติทั้งการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ สงคราม การค้านานาชาติ หนังหรือละคร หนังสือที่คนไทยเราได้ติดตามเรื่องหนึ่งก็คือสามก๊ก มีทั้งกลยุทธ์ อุบายชั้นเชิงของทั้งผู้ปกครองและประชาชนในรัฐที่ต้องต่อสู้กับในบริบทต่างๆ มายาวนานแม้กระทั่งปัจจุบัน จีนถือว่าเป็นประเทศมหาอำนาจหนึ่งของโลกในการต่อรองกับโลกของตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงมิได้…

Advertisement

กรณีฟ่าน ปิงปิง ถือว่าเป็นกรณีหนึ่งของสังคมโลกที่ใครคนหนึ่งมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยเฉพาะการไม่จ่ายภาษีรายได้ของตนเพื่อเข้ารัฐ ทั้งสำนักข่าวรอยเตอร์และสำนักข่าวซินหัวของจีนให้ข้อมูลที่ว่า ศาลของประเทศจีนได้มีคำตัดสินให้กรมศุลกากรสั่งปรับในการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นเงิน 596 ล้านหยวน หรือประมาณ 2,800 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสั่งให้จ่ายภาษีคืนรัฐกว่า 288 ล้านหยวนหรือประมาณ 1,350 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินรวมกว่า 4,128 ล้านบาท

การหลีกเลี่ยงภาษีของฟ่านปิงปิงเกิดขึ้นจากผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์รายหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาว่าจ้างปลอมเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่เรียกว่าสัญญาหยิน-หยาง เป็นสัญญาสองฉบับ โดยฉบับหนึ่งเป็นสัญญาจริงตามตัวบทกฎหมาย และอีกฉบับหนึ่งเป็นสัญญาที่แสดงตัวเลขค่าจ้างที่น้อยกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี…

ขณะเดียวกันฟ่าน ปิงปิงก็ได้ใช้สื่อออนไลน์ “ขอโทษประชาชนและพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน โดยขอร้องให้ผู้สนับสนุนตนทั้งหลายได้ให้อภัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและขอโทษสังคม เพื่อนๆ ที่คอยเป็นห่วงสาธารณะและหน่วยงานภาษีของประเทศ หากไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนและนโยบายที่ดีของประเทศ หากไม่มีคนที่คอยรัก ก็คงไม่มีฟ่าน ปิงปิง…” (มติชนรายวัน 5 ตุลาคม 2561 หน้า 9)

Advertisement

พฤติกรรมการหลีกเลี่ยงภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐตามกฎหมาย ทั้งกรณีส่วนบุคคล องค์กร ร้านค้าบริษัท หรือหน่วยงานอื่นใด ก็ยังคงมีบริบทหรือความสลับซับซ้อนข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ การมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อตนและองค์กรหรือที่เรียกว่ากำไรส่วนต่างทำให้ตนและองค์กรมีความมั่งคั่งที่แย้งต่อระบบคุณธรรมและกฎหมาย ขณะเดียวกันรัฐเป็นผู้เสียโอกาสตามสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายของบ้านเมือง

ผู้เขียนอาจจะรวมถึงท่านผู้อ่านบางท่านมีความไม่แน่ใจถึงรัฐบาลไทยเรามีระบบในการตรวจสอบ ติดตามการบังคับใช้กฎหมายถึงกระบวนการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในสังคมไทยเรามากน้อยเพียงไร…

หลักการหนึ่งของหยิน-หยางมีที่มาจากปรัชญาเต๋า เป็นแนวคิดที่เกิดก่อนพุทธศักราช 557 ปี โดยมีจักรพรรดิฟูฉี เป็นผู้ริเริ่มให้หลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในคัมภีร์ “อี้จิง” หรือต่อมาเป็นศาสนาเต๋าที่มีผู้นำโดยเล่าจื้อ ซึ่งหมายถึงความเป็นเอกภาวะของสรรพสิ่งหรือความสมดุลของธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่ใช้ในการตัดสินใจในการดำเนินชีวิต โดยมีหยางเป็นตัวแทนของเพศชาย เป็นตัวแทนของพลังงาน แสงสว่าง ความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง มีความแข็งแกร่งมั่นคงยั่งยืน และหยินคือเพศหญิง มีความอ่อนโยน นุ่มนวล หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนมีสิ่งที่เป็นคู่ๆ อาทิ ชาย-หญิง หนาว-ร้อน กลางวัน-กลางคืน ฟ้า-ดิน สูง-ต่ำ ดี-ชั่ว ถูก-ผิด…

ปรัชญาเต๋า (Taoism) หมายถึงสิ่งสมบูรณ์สูงสุด เชื่อในธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งชีวิต สังคม โลก จักรวาลโดยมีคัมภีร์ชื่อ “เต๋าเต็กเก็ง” มีคำสอนที่เป็นปรัชญาทั้งของบุคคลไปจนกระทั่งถึงระดับการเมือง เต๋าหรือเต๋อ หมายถึงระบบคุณธรรมในบทที่ 74 ได้ให้ข้อคิดหนึ่งที่ว่า “ประชาชนต้องหิวโหยเพราะรัฐบาลเก็บภาษีมากเกินไป เป็นมูลเหตุให้เกิดความอดอยากยากไร้ ประชาชนที่ปกครองยากก็เพราะรัฐบาลมายุ่งเกี่ยวกับชีวิตเขามากเกินไป เป็นมูลเหตุให้เกิดความลำบากแก่การปกครอง ประชาชนเห็นความตายเป็นเรื่องเล็กน้อยก็เพราะนักปกครองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่หรูหรา ได้ทรัพย์ที่ผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมายมาปรนเปรอตน ครอบครัว พวกพ้องมากเกินไป…”

การหลีกเลี่ยงภาษีหรือมีสินค้าที่ไม่จ่ายเงินตามกฎหมายที่รัฐพึงได้ในสังคมไทยเราก็พบสภาพปัญหาต่างๆ มีตลอดในหลายๆ ปีติดต่อกัน ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจบางคนมีพฤติกรรมดังกล่าว บางคนมีคดีความที่ศาลออกหมายจับหลบหนีอยู่ต่างประเทศก็หลายคน สังคมไทยเราก็มิได้แตกต่างจากสังคมโลกมากนัก ทั้งบริโภคนิยม ทุนนิยม วัตถุนิยมและเงินนิยม กิเลสความโลภของใครบางคนได้สร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองในภาพรวม เราท่านจะเห็นการเอาจริงเอาจังกับรัฐบาล คสช.ที่มีความเด็ดขาดเด็ดเดี่ยวในหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา อาจจะรวมถึงบรรดาคนที่หลบเลี่ยงภาษีของรัฐรวมอยู่ด้วยหรือไม่…

สัญญาหยิน-หยางของฟ่าน ปิงปิงที่ได้ปรากฏต่อสื่อต่างๆ ก็คือเมื่ออดีตพิธีกรของสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีได้โพสต์ภาพเอกสารสัญญาว่าจ้างในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง โดยฟ่านได้รับค่าจ้าง 10 ล้านหยวน หรือประมาณ 47 ล้านบาทสำหรับการถ่ายทำ 4 วัน แต่สำหรับเงินค่าตัวตามความเป็นจริงซึ่งมีการบวกเพิ่มอีก 50 ล้านหยวน หรือประมาณ 235 ล้านบาท ซึ่งสัญญาฉบับหนึ่งไว้ยื่นสำหรับการเสียภาษี และอีกฉบับหนึ่งเป็นสัญญาฉบับลับ…

สิ่งหนึ่งที่เราท่านจะสังเกตได้ง่ายก็คือการทำงานของสื่อหรือใครบางคนที่จำเป็นจะต้องนำข้อเท็จจริงไปบอกกล่าวให้สังคมและผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อบ้านเมืองได้ดำเนินการในสิ่งที่เป็นการกระทำที่ผิดต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศีลธรรมและกฎหมายของบ้านเมือง ในภาพของความเป็นจริงหนึ่งทั้งสังคมไทยเราและสังคมอีกหลากหลายประเทศก็ยังคงมีบุคคลดังกล่าวที่คงอยู่เรื่องดังกล่าวคงจะไม่ปรากฏกับคนยากจนหรือคนที่หาเช้ากินค่ำ แต่ปรากฏกับคนอีกสถานภาพหนึ่งของสังคมก็คือคนที่มีการศึกษาดี หน้าที่การงานดี ตระกูลดี หรือฐานะร่ำรวย

สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นคำถามไปยังเด็กเยาวชนของชาติก็คือ ระบบศีลธรรมและกฎหมายของบ้านเมืองมีความเข้มแข็งและศักดิ์สิทธิ์แค่ไหนเพียงไร…

ผู้เขียนและท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเข้าใจตรงกันที่ว่าสัญญาหยิน-หยาง คงจะมีการใช้กันในหลากหลายสังคมในโลกนี้ในสังคมไทยเราหากใครบางคนที่อาจจะมีประสบการณ์ตรงในเรื่องใบเสร็จการรับเงินก็อาจจะถูกร้านค้าหรือบริษัทมีคำถามที่ว่า “ต้องการใบเสร็จที่ใช้สำหรับภาษีหรือไม่…” นั่นหมายความว่าการรับเงินมีมาในหลากหลายเส้นทาง และการที่ต้องแสดงหลักฐานในการจ่ายภาษีให้รัฐมีวิธีการเดียวหรือไม่…

การหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษีต่อรัฐอาจจะเป็นกลวิธีหนึ่ง สังคมไทยเรามีข่าวหรือข้อมูลที่ถูกนำเสนอในรอบปีมาอย่างต่อเนื่องก็คือการนำสินค้าเข้าออกโดยเลี่ยงภาษี หรือสินค้าที่ผิดกฎหมายทั้งเหล้า บุหรี่ กระเป๋า เสื้อผ้า รถยนต์หรู นาฬิกา เครื่องประดับ สินค้าอุปโภคบริโภค และวิธีการอื่นใดที่ทำให้รัฐต้องเสียผลประโยชน์ที่พึงได้ เราท่านได้รับรู้ข้อมูลหนึ่งที่รัฐบาล คสช.มีความพยายามจะปฏิรูปประเทศในบริบทต่างๆ ตามคำกล่าวอ้างที่ว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย การปกปิดทรัพย์สินที่อาจจะได้มาอย่างไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนกับใครคนใดคนหนึ่งในรัฐบาลของ คสช. จะมีการป้องกันหรือปรามเพื่อไม่ให้เป็นคดีตัวอย่างในอนาคตด้วยหรือไม่…

เมืองไทยเรามีหน่วยที่เป็นของรัฐได้ทำหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีก็คือกรมสรรพากร ข้อมูลหนึ่งจากอธิบดีกรมสรรพากรที่ว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรมีระเบียบปฏิบัติผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมไม่เกิน 75% ของใบกำกับภาษีทั้งหมด และจะดำเนินคดีอาญาสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม และหากตรวจสอบพบว่าสำนักงานบัญชีให้ความร่วมมือในการกระทำความผิด อาทิ จัดหาใบกำกับภาษีปลอมให้ โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีต่อใบกำกับภาษีปลอม 1 ใบ หากมีใบกำกับภาษีปลอม 10 ใบ ก็จะมีโทษจำคุก 70 ปี…(Posttoday.Com)

เมื่อสองปีที่แล้ว กระทรวงการคลังได้มีการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขประมวลรัษฎากรเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเพิ่มมาตรา 37 ตรี ให้ความผิดหลีกเลี่ยงภาษีและฉ้อโกงภาษีให้อยู่ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเสนอของ Financial Action Task Force (FATF) ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมภาษีได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งใน (2) กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้เป็นการชั่วคราวเมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดฐานหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี ภาษีมูลค่าเพิ่ม การขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จโดยวิธีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นการชั่วคราว ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมสรรพากรกำหนดโดยการอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง…

คนไทยเราได้ชื่อว่าส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมากกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ กิจกรรมหรือพิธีกรรมหนึ่งก็คือการรับศีลจากพระสงฆ์โดยเฉพาะศีลข้อที่สองคืออทินนาทาน การละเว้นหรือไม่กระทำการอันจะลักขโมย ยักยอก ปกปิดซ่อนเร้น ฉ้อโกง หรือได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง ทรัพย์สมบัติอันมิชอบด้วยหลักศีลธรรมและกฎหมาย พฤติกรรมในการละเมิดศีลข้อดังกล่าวเราท่านได้พบเห็นคดีความอยู่ในการพิจารณาของศาลจำนวนมากมาย อย่างไรก็ตามสังคมไทยเรายังมีผู้คนที่มีพฤติกรรมดีๆ อยู่มาก อาทิ เก็บเงินหรือสิ่งของที่ผู้คนได้ทำสูญหายคืนเจ้าของเดิม บางคนช่วยเป็นหูเป็นตาที่แจ้งในสิ่งที่ผิดปกติต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและสื่อมวลชน

การเสียภาษีจำเป็นจะต้องทำหน้าที่ของความเป็นพลเมืองในรัฐอย่างสมบูรณ์ เราท่านจะมีวิธีการปลูกจิตสำนึกใดให้ผู้คนรอบข้างได้กระทำหน้าที่ดังกล่าวที่เห็นถึงการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองในวันข้างหน้าดังเฉกเช่นอารยประเทศ…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image