บทนำ : กม.มั่นคงไซเบอร์ ประจำวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2561

ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ผ่านขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เตรียมส่งเข้า สนช.เพื่อพิจารณา ก่อนใช้เป็นกฎหมาย ถูกสังคมตั้งข้อสังเกตว่าล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของประชาชน ขยายความหมายของคำว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อ้างเหตุอันควรสงสัยกระทบความมั่นคงของประเทศ เข้าไปตรวจสอบโพสต์ แชตผ่านอินเตอร์เน็ต ไอโฟน ไอแพด มือถือ เจาะข้อมูลคนไทยได้ทั้งประเทศ การเข้าค้น ยึดคอมพิวเตอร์และเครื่องมือต่างๆ กำหนดโทษจำคุกและปรับ

หลังเป็นข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งฝ่ายกฎหมายไปดูแล หากมีรายละเอียดตามที่มีกระแสข่าว เช่น แค่อ้างเหตุสงสัยว่าจะกระทบความมั่นคงก็สามารถตรวจค้นข้อมูลส่วนตัวและข้อความสนทนาของประชาชนได้ หรือบุกค้นและยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล รวมถึงห่วงว่าให้อำนาจแก่เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มากเกินไป ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะเห็นแต่บทกำหนดโทษและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องกำหนดขอบเขตและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน

นายกฯยังขอร้องประชาชนอย่าเพิ่งหวั่นวิตก เพราะร่าง พ.ร.บ.ยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีก พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่จะออกกฎหมายใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็น อาจมีผู้เชี่ยวชาญช่วยสร้างความเข้าใจในเนื้อหาของกฎหมายแต่ละข้อแก่ประชาชน เป็นต้น ประเทศไทยจะได้มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองได้ครอบคลุม ทันสมัย เป็นธรรมต่อทุกคน และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

น่าสังเกตว่าที่ผ่านมา รัฐบาลและระบบราชการมีความหวาดหวั่นต่อการขยายตัวของอินเตอร์เน็ตและระบบออนไลน์ และพยายามหาทางควบคุมแบบเหมารวม ซึ่งสวนทางกับกระแสของโลก รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเตรียมจัดเลือกตั้ง ต้องหาทางนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้อย่างกว้างขวาง ถ้ารัฐและระบบราชการมีความโปร่งใส ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องหวาดกลัวเทคโนโลยีใหม่ ส่วนผู้ใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด ก็ต้องลงโทษอย่างจำแนก ไม่กระทบสิทธิของสุจริตชน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image