ข่าวดีเดือนตุลา : คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23 มาพร้อมกับข่าวดีเสมอ

ข่าวดีของสำนักพิมพ์มติชน คือ “วีรพร นิติประภา” นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ เมื่อปี 2558

จากเรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต”

ปี 2561 นี้ วีรพรเพิ่งได้รับรางวัลซีไรต์อีกครั้ง ในนวนิยายชื่อยาวเฟื้อย

Advertisement

“พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ”

บัดนี้ วีรพรเลยกลายเป็น “ดับเบิลซีไรต์” คือได้ซีไรต์ถึง 2 ครั้ง

ข่าวดีไหม ?

Advertisement

ข่าวดีแบบนี้ไม่ได้ดีเฉพาะวีรพร หรือสำนักพิมพ์มติชนเท่านั้น

แต่ยังเป็นข่าวดีของนักอ่านทุกคน

เพราะอย่างน้อยก็จะมีหนังสือดีๆ เอาไว้อ่านเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ ข่าวดีดังกล่าวยังมาพร้อมๆ กับหนังสือดีๆ ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้อีกด้วย

งานมหกรรมหนังสือฯ จัดอยู่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

จัดระหว่างวันที่ 17-28 ตุลาคม

หนังสือดีที่สำนักพิมพ์มติชนตั้งใจนำเสนอมีหลากหลายปก

นอกจากหนังสือรางวัลซีไรต์ล่าสุดแล้ว ยังมีหนังสือหลากหลายแนวให้ได้เลือกหา

หนังสือ เรื่อง “ปักธงอนาคต The Future is Ours” ที่เปิดทุกมิติของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

จะเรียกว่าเป็นหนังสือประวัติบุคคล หรือหนังสือประเภทการเมืองดี

อ่านแล้วลองลงความเห็น

ส่วนหนังสือประเภทการเมืองที่เห็นๆ ก็น่าจะเป็น “การเมืองภาคประชาชน” โดย “อุเชนทร์ เชียงเสน” นักวิชาการที่เกาะติดปรากฏการณ์ทางการเมือง

หรือ “เผด็จการวิทยา” ของ “พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์” ที่อ่านแล้วจะเข้าใจเผด็จการ

เข้าใจว่า ทำไมเผด็จการจึงโมโห ทำไมเผด็จการจึงอยู่ได้เรื่อยมา และอื่นๆ

หนังสือด้านวรรณกรรมแปลปีนี้มีมากไม่แพ้ปีก่อนๆ

“ใต้เวิ้งฟ้า” ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Sheltering Sky แต่งโดย “พอล โบวล์ส” มี อทิมา เป็นผู้แปล

เล่าเรื่องการเดินทางในทวีปแอฟริกาที่มีรสชาติ

อ่านแล้วสัมผัสได้ทั้งความรัก ความใคร่ ความเศร้า และความตาย

เรื่อง “กันและกัน” ชื่อภาษาฝรั่งว่า “Two by Two” ผลงานของ “นิโคลัส สปาร์กส์” นักเขียนโรแมนติก แปลโดย วรางคณา เหมศุกล

นวนิยายจากปลายปากกาของนิโคลัส สปาร์กส์ คงไม่ต้องบรรยายความมาก

เพราะผลงานประพันธ์ของเขา โดนใจผู้อ่านเสมอมา

อีกเล่มที่อ่านเพลินมาก คือ หนังสือชื่อ “Two Years Eight Months & Twenty-Eight Nights” แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล 

จากโลกที่คล้ายๆ เทวตำนานและขยายผลกลายเป็นประวัติศาสตร์ โดยมี “ความเชื่อ” และ “วิทยาศาสตร์” อิงแอบสอดแทรก

หลายคนที่มีโอกาสได้อ่านน่าจะชอบ

นอกจากนี้ ยังมีหนังสืออีกเล่มที่รู้สึกดีที่ผู้เขียนตัดสินใจรวมเล่ม

รวมเล่มบทความของ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่เขียนเรื่อง “อิน-จัน แฝดสยาม”

พล.อ.นิพัทธ์ เป็นอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ปัจจุบันเป็น สนช. มีความสามารถในการเขียน

มีความสนใจในประวัติศาสตร์ มีความอุตสาหะในการค้นข้อมูล

ทำให้ พล.อ.นิพัทธ์มีความรู้มากมาย

ก่อนหน้านี้ หลายคนคงจำได้ พล.อ.นิพัทธ์เคยเขียนเรื่อง “พระยอดเมืองขวาง” มาแล้ว

คราวครั้งนี้ไปค้นคว้า หาข้อมูลแบบเจาะลึก และเขียนเรื่อง “อิน-จัน” แฝดสยามผู้โด่งดังขึ้นมา

เนื้อหาที่ผ่านการค้นคว้า ทำให้ข้อเขียนน่าอ่าน

ผลจากการเขียนงาน ทำให้ก่อเกิดสัมพันธ์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผลของบทความ พล.อ.นิพัทธ์ ทำให้ครอบครัวตระกูลบังเกอร์ ซึ่งเป็นลูกหลานอิน-จัน สนใจมาเมืองไทย

มาดูเมืองที่บรรพบุรุษของเขาเคยอาศัย

มาดูบ้านเกิดของ “อิน” กับ “จัน” ที่จังหวัดสมุทรสงคราม

ผลจากความสัมพันธ์ดังกล่าวนำไปสู่การจุดชนวนความสัมพันธ์ระหว่างเมือง

ระหว่างบ้านเกิดของอิน-จัน ในไทย กับเมืองที่อยู่ของแฝดสยามคู่แรกที่สหรัฐอเมริกา

เห็นไหมว่า งานมหกรรมหนังสือฯปีนี้มีแต่ข่าวดีๆ

สำหรับใครสนใจหนังสือ “อิน-จัน” แฝดสยาม สามารถไปหาซื้อได้ภายในงานมหกรรมหนังสือฯ

ใครที่อยากไปพบกับ พล.อ.นิพัทธ์คนเขียน และได้ลายเซ็นผู้เขียนด้วย

ให้ไปจับจ่ายซื้อหนังสือ “อิน-จัน” พร้อมรับลายเซ็นจาก พล.อ.นิพัทธ์ได้โดยตรงช่วง 4-5 โมงเย็น วันที่ 23 ตุลาคม

ข่าวดีๆ อย่างนี้ ขอนำมาป่าวประกาศ

มิตรรักนักอ่านทั้งหลาย โปรดอย่าพลาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image