การเปลื้องปลดกฎหมายที่หมายกด (1) : โดย กล้า สมุทวณิช

“คํารับรอง” ว่า “ไม่รับรอง” ของผู้ยิ่งใหญ่ในกองทัพอาจจะทำให้หลายท่านสิ้นหวังไปจนปลงตกว่าระบอบรัฐประหารคงอยู่คู่กับประเทศนี้อีกยาวนาน

ส่วนหนึ่งคือนอกจากที่คณะรัฐประหารจะมี “ความสามารถ” ในการก่อการเช่นนั้นได้ด้วยกองกำลังติดอาวุธซึ่งพวกเขามีแล้ว เขายังมีความชอบธรรมที่ได้รับการยอมรับในทางนิติประเพณีของไทยมาตลอดด้วย ว่าการรัฐประหารนั้นหากทำสำเร็จแล้วก็มี “ความชอบธรรม” เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ตลอดจนการออกกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองทั้งปวง

เรามักนึกโทษไปถึงคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยขององค์กรตุลาการหลายเรื่องที่ให้การยอมรับความชอบธรรมของคำสั่งแห่งรัฏฐาธิปัตย์ดังกล่าวข้างต้น ว่าเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การรัฐประหารได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในวิธีพิเศษในการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง

แต่หากกล่าวกันในทางความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องยอมรับนั่นแหละว่าคณะรัฐประหารนั้นมีอำนาจในทางความเป็นจริงอยู่ในขณะที่เขามีอำนาจอยู่นั้น

Advertisement

คือต่อให้ศาลไม่ยอมรับในการทำรัฐประหารว่ามีความชอบธรรมในทางกฎหมาย แต่ศาลก็ไม่มีอำนาจบังคับตามคำพิพากษานั้นได้เองอยู่ดี ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่าคณะรัฐประหารสั่งให้จับกุมผู้ต่อต้านการยึดอำนาจไปขังไว้ แล้วมีผู้ยื่นคำขอให้ศาลสั่งปล่อยตัว สมมุติศาลท่านเห็นด้วยและพิพากษาว่าการควบคุมตัวเช่นนั้นมิชอบ ให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมคุมขัง แต่เราจะมีวิธีไหน “บังคับตามคำพิพากษา” ให้ค่ายคุกในอำนาจของผู้มีกองกำลังอาวุธนั้นยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา

กระนั้นข้อคัดค้านในเหตุผลข้างต้นก็ยังพอมี กล่าวคือในโลกยุคใหม่ การใช้อำนาจเถื่อนถ้ำเช่นนั้นไม่ได้รับการยอมรับ ต่อให้มีกำลังอาวุธ แต่ผู้ครองอำนาจก็ยังคงต้องการ “ตราประทับ” แสดงความชอบธรรมบางอย่างจากกลไกกระบวนการยุติธรรมอยู่

อย่างน้อยก็เพื่อแสร้งว่าประเทศนั้นยังปกครองอย่างอารยะ สามารถพูดได้เต็มปากไม่ต้องกระดากใจว่า “ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย” (ซึ่งกฎหมายที่ว่าคือคำสั่งของข้าพเจ้าเอง)

Advertisement

อย่างที่เรียกว่าเอากฎหมายมาห่อกำปั้น เวลาทุบโต๊ะจะได้เสียงที่นุ่มนวลไม่แข็งกร้าวราวอันธพาลร้านกาแฟโบราณ ดังนั้น หากกระบวนยุติธรรมจะ “ใจกล้า” ไม่ยอมรับไปหุ้มห่ออำนาจเช่นนั้นให้ หากผู้ครองอำนาจประสงค์จะใช้อำนาจดังว่าอยู่ ก็ต้องทุบโต๊ะอย่างดิบเถื่อนด้วยหมัดลุ่นๆ โดยไม่ต้องสนใจเรื่องความชอบธรรม

กับข้อโต้แย้งว่า หลายครั้งแม้ว่าคณะรัฐประหารจะสิ้นอำนาจไปแล้ว แต่ศาลก็ยังยอมรับใน “ผลพวง” แห่งการใช้อำนาจนั้นว่าชอบธรรมบังคับได้อยู่ดี ข้อโต้แย้งนี้มีน้ำหนักพอดู เพราะต่อให้เรายอมรับได้ว่า เมื่อเสียงปืนดังเสียงกฎหมายต้องเงียบ แต่เมื่อเสียงปืนเงียบ กฎหมายก็ไม่ได้ส่งเสียงดังขึ้นมาแต่อย่างใด

ผู้ถือทฤษฎีและมีอุดมการณ์มองว่า ผลพวงใดๆ ในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารนั้นเป็นผลไม้พิษ หากตกลงดินก็จะงอกกลายเป็นต้นไม้พิษออกลูกเป็นพิษต่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้เมื่อใดที่มีโอกาสโค่นต้นไม้พิษทิ้ง ก็ควรจะขุดรากถอนโคนล้างพืชพิษที่เกิดขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ของต้นไม้นั้นเสียให้สิ้น

หากในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่ายเช่นนั้น

ในแง่มุมของกฎหมาย การเกิดขึ้นของกฎหมายจากการรัฐประหารอาจจะแบ่งเป็นสองช่วง คือช่วงที่คณะรัฐประหารนั้นใช้อำนาจของตนโดยตรงอย่างผู้ครองอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่ไม่ว่าจะเรียกการใช้อำนาจนั้นว่าประกาศ คำสั่ง แถลงการณ์ ระเบียบ หรืออะไรก็ตาม หากมีลักษณะเป็นการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่มุ่งหมายให้ใช้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว นั่นถือเป็น “กฎหมาย” ของฝ่ายรัฐประหาร ที่อย่างน้อยมีผลเทียบเท่ากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ

และถ้าคำสั่งหรือการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารนั้น เป็นการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองขึ้นมาใช้อำนาจต่อ เช่น กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติ มีคณะรัฐมนตรี หรืออนุญาตให้ศาลปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป นั่นก็อาจจะถือเป็นการใช้อำนาจในระดับของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

ซึ่งก็จะนำมาสู่การกำเนิดของกฎหมายของคณะรัฐประหารในระยะที่สอง คือ กฎหมายจากระบอบรัฐประหารผ่านสภานิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น ซึ่งจริงอยู่แม้ในทางรูปแบบ กฎหมายประเภทนี้ถือเป็นกฎหมายจากรัฐสภา ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติแบบย่นย่อ (เพราะมีสภาเดียว) รวมถึงชื่อเรียกก็เป็นเหมือนกฎหมายทั่วไป แต่สภานิติบัญญัติที่ว่านั้น ก็ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารที่ไม่ได้มาจากตัวแทนของประชาชน แต่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ดำรงตำแหน่งในสภานั้นไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

แต่รับผิดชอบต่อคณะรัฐประหารที่แต่งตั้งให้พวกเขาเข้าดำรงตำแหน่ง ปรากฏชัดในทางปฏิบัติว่าการตรากฎหมายของสภานิติบัญญัติในลักษณะนี้ ก็จะเป็นไปตาม “นโยบาย” ที่ได้รับมาจากคณะรัฐประหาร (ซึ่งอาจจะแปรรูปมาเป็นรัฐบาลก็ได้) แม้ว่าจะฝ่าฝืนขืนใจประชาชนก็ไม่ใช่ปัญหา

ในระยะนี้ แม้จะมีสภานิติบัญญัติที่ตัวเองตั้งขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่คณะรัฐประหารก็ยังสงวนอำนาจบางประการของตนที่จะใช้อำนาจออกกฎหมายโดยตรงได้ด้วย ผ่านมาตราพิเศษในรัฐธรรมนูญ เช่นมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

หากพิจารณาในทาง “ที่มา” ด้วยทฤษฎีผลไม้พิษแล้ว กฎหมายใดก็ตามที่ตราขึ้นไม่ว่าจะโดยคณะรัฐประหารเองหรือโดยสภานิติบัญญัติที่ได้รับการแต่งตั้งมาด้วยวิธีดังกล่าวนั้นก็ล้วนปราศจากความชอบธรรมไม่แตกต่างกัน

แต่ถ้าเราพิจารณากันในเชิง “เนื้อหา” แล้ว ก็จะพบความยากของการพิจารณาเรื่องความชอบธรรมของกฎหมายจากการรัฐประหารทันที

หากแบ่งด้วยเกณฑ์เนื้อหาแล้ว เราอาจจะแบ่งกฎหมายที่ออกมาในยุคสมัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้ 5 ระดับ ดังนี้

ระดับที่หนึ่ง คือ กฎหมายที่คณะรัฐประหารออกเพื่อให้การรัฐประหารของตนลุล่วง หรือเพื่อให้การใช้อำนาจของตนเองเกิดประสิทธิผลที่สุด กฎหมายในระดับนี้จะอยู่ในรูปแบบของประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารในระยะแรกที่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงไม่ผ่านสภานิติบัญญัติ เช่น คำสั่งให้คดีบางประเภทต้องไปขึ้นศาลทหาร คำสั่งห้ามประชาชนชุมนุมต่อต้าน และคำสั่งห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และรวมถึงคำสั่งที่เป็นการยุบเลิกหรือก่อตั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารอำนาจของตนเอง กฎหมายเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะกาลและเฉพาะคราว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคณะรัฐประหารเท่านั้น ไม่มีประโยชน์ต่อใครไหนอื่นเลย

ระดับที่สอง คือ กฎหมายที่สนับสนุนการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารโดยทางอ้อม กฎหมายระดับนี้จะแตกต่างจากระดับแรกสองประการ คือ อาจจะออกมาโดยการใช้อำนาจโดยตรงของคณะรัฐประหาร หรือผ่านสภานิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารก่อตั้งขึ้นก็ได้ กฎหมายนี้มีความเข้มข้นลดลงอีกระดับ กล่าวคือเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่หน่วยงานของรัฐในการ “ดำเนินการ” เพื่อประโยชน์ในการค้ำยันหรือรักษาอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่กฎหมายนี้ก็มีลักษณะเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในระดับหนึ่ง ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้อื่นที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐหรือฝ่ายราชการด้วย เช่น กฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายควบคุมการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ของประชาชน กฎหมายในระดับนี้ผู้ที่นำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด คือคณะรัฐประหารและเครือข่าย

แต่ก็เป็นไปได้ว่าคนอื่นไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชนก็อาจจะใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ได้ด้วย ซึ่งกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เพราะแม้แต่ฝ่าย “เสรีนิยม” ก็ยังเรียกร้องมองหากฎหมายนี้หากประสงค์จะเล่นงานฝ่ายตรงข้าม

ระดับที่สาม คือ กฎหมายที่มีผู้ถือโอกาสผลักดันขึ้นในสมัยแห่งการรัฐประหาร เพราะความที่กฎหมายจะออกได้อย่าง “ทันใจ” และ “ตามใจ” ฝ่ายผู้ผลักดัน กฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อหาแล้วมีทั้งดีและแย่ปะปนกันไป ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายเชิงเทคนิค หรือกฎหมายที่จะต้องตราขึ้นตามพลวัตของสังคม ผู้ผลักดันกฎหมายประเภทนี้ มีทั้งฝ่ายราชการที่ต้องการกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการทำงาน หรือภาคเอกชนที่พยายามผลักดันกฎหมายนั้นอยู่หลายปีหลายสมัย รู้กันดีว่าในยุคของสภาที่ไม่มีฝ่ายค้านเช่นนี้ การเสนอกฎหมายในเชิงเทคนิค กฎหมายเชิงก้าวหน้าต่างๆ หากว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ขัดต่อนโยบายรัฐบาลและคณะรัฐประหาร หรือแม้แต่รัฐบาลหรือคณะรัฐประหารสนับสนุนหรือมีนโยบายสอดคล้องกับกฎหมายนั้นๆ แล้ว โอกาสที่จะได้เห็นกฎหมายนั้นออกมาใช้บังคับสมใจอยากก็ไม่ใช่เรื่องยาก กฎหมายในระบอบรัฐประหารในระดับที่สามนี้ก็เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญ กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ กฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศ

มีข้อน่าพิจารณาคือ กฎหมายเหล่านี้แม้ส่วนใหญ่จะมีหลักการที่ดี แต่เพราะเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยสภาที่ไม่มีที่มาจากตัวแทนประชาชน ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง (หรือถ้ามีก็เป็นคน “วงใน” ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันหรือเสนอกฎหมายนั้นๆ)

กฎหมายบางฉบับผลักดันกันออกมาให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว จึงปรากฏหลายกรณีว่า กฎหมายเหล่านี้แม้จะมีหลักการดี แต่เมื่อใช้บังคับจริงก็ซ่อนปัญหาบางอย่างเอาไว้

ในระดับที่สี่ คือ กฎหมายที่ควรมีการตราขึ้นหรือแก้ไขอยู่แล้ว ไม่ว่าจะโดยรัฐสภาในระบอบใด กรณีนี้แตกต่างจากกฎหมายในระดับที่สาม คือเป็นกฎหมายประเภทที่ว่าอย่างไรก็ต้องมี อย่างไรก็ต้องแก้ไข เป็นกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายใดๆ เป็นกฎหมายเชิงหลักการพื้นฐานหรือหลักทั่วไปทางกฎหมาย โดยที่กฎหมายในระดับที่สี่จะมาจากการผลักดันหรือนำเสนอของฝ่ายวิชาการ หรือฝ่ายราชการที่มีหน้าที่ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎหมายในกลุ่มนี้ได้แก่การแก้ไขประมวลกฎหมายต่าง ๆ ทั้งแพ่ง อาญา วิธีพิจารณาความ กฎหมายปกครอง หรือกฎหมายธุรกิจพาณิชย์ต่างๆ กฎหมายกลุ่มที่สี่นี้อาจกล่าวได้ว่าตราขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายที่ผ่านมาศึกษาถกเถียงกันจนตกผลึกแล้ว แต่พอดีว่ามาเสร็จหรือได้โอกาสแก้ไขกันในสมัยสภานิติบัญญัติโดยคณะรัฐประหารเท่านั้นเอง

สุดท้ายในระดับที่ห้า คือ กฎหมายที่จำเป็นจะต้องตราขึ้นอย่างมีรอบประจำเช่นงานรูทีน ได้แก่ กฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี (ที่ไม่ว่าจะระบอบรัฐประหารหรือประชาธิปไตย โรงเรียนหรือโรงพยาบาลก็ต้องมีเงินใช้) หรือกฎหมายเกี่ยวกับภาษี เช่น กฎหมายกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ว่าจะให้คงไว้หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งต้องมีการกำหนดกันทุกปี

เช่นนี้ แม้ในเชิงหลักการแล้วกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงที่มีผลขึ้นมาใช้บังคับในระบอบแห่งการรัฐประหารนั้นจะเป็น “ผลของต้นไม้พิษ” เหมือนกัน แต่ความใกล้ไกลจากพิษนั้นก็ไม่เท่ากัน เช่นนี้ หากเกิดปาฏิหาริย์ใดๆ ที่ประชาชาติมีฉันทามติเห็นตรงกันว่าจะล้างผลพวงแห่งการรัฐประหารนี้ เรื่องนี้ก็เป็นข้อพิจารณาประการหนึ่ง

ขออนุญาตอธิบายรายละเอียดของเรื่องนี้อีกครั้งในตอนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image