นักท่องเที่ยวจีน มากกว่ามิติด้านการท่องเที่ยว : โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

การที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางข้ามพรมแดนไปท่องโลกยังประเทศต่างๆ มากถึง 130 ล้านคนในปีที่แล้ว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะปรากฏเรื่องราวของนักท่องเที่ยวจีนเป็นประจำๆ ทั้งในฐานะผู้กระทำและผู้ถูก กระทำเป็นข่าวฉาวข่าวดังไปทั่วโลก รวมทั้งกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับรัฐบาลและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนมากที่สุดเกือบหนึ่งในสามของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด

เหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อเดือนกรกฎาคมจนทำให้นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตมากถึง 47 คน ถือเป็นโศกนาฏกรรรมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งจนส่งผลกระทบทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเดือนสิงหาคมลดลงเกือบ 12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน บวกกับเหตุเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าอากาศยานดอนเมือง “เหวี่ยงหมัด” ใส่นักท่องเที่ยวจีนเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้เกิดความวิตกถึงแนวโน้มที่ไม่พึงปรารถนามากยิ่งขึ้น

แนวโน้มและผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจะมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะบริหารจัดการอย่างไรที่จะทำประเทศไทยอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวจีนอย่างยั่งยืนที่สุด ทั้งนี้ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสวีเดน เกาหลีใต้ หมู่เกาะพาลาว รวมทั้งเกาหลีเหนือในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ให้ข้อคิดสำคัญที่เป็นประโยชน์มากๆ สำหรับรัฐบาลไทยและภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในการวางแผนเพื่ออนาคต

เรื่องราวเล็กๆ เกิดขึ้นในสวีเดนเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อปรากฏภาพของตำรวจหญิงใช้กำลังบังคับและอุ้มหามชายสูงอายุชาวจีนออกจากโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงสตอกโฮล์ม แล้ววางลงบนทางเท้าเหมือน “เททิ้ง” ในช่วงดึกดื่นหลังเที่ยงคืน หลังจากนั้น ครอบครัวชาวจีนทั้งสามชีวิตก็ถูกตำรวจนำไป “ปล่อยทิ้ง” ณ สุสานโบราณที่อยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร จนสร้างความไม่พอใจให้กับชาวจีนกว่า 130 ล้านคน ที่มีโอกาสได้เห็นคลิป

Advertisement

จนกระทั่งสถานทูตจีนประจำสวีเดนได้ทำหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการพร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการขอโทษ ลงโทษและชดเชยความเสียหาย

ว่ากันว่า เหตุการณ์นักท่องเที่ยวจีนได้รับการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม (ในภาษาของทางการจีน) อาจจะไม่บานปลายจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการทูตหากไม่มีเรื่องของปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือจีนไม่พอใจสวีเดนเป็นทุนเดิมที่เปิดบ้านเมื่อวันที่ 12 กันยายน ต้อนรับ ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในอินเดีย และการเรียกร้องให้จีนปล่อยตัวเจ้าของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในฮ่องกงซึ่งเป็นพลเมืองสวีเดนเชื้อสายจีนและถูกทางการจีนจับกุมไปตั้งแต่ปี 2558

ถึงแม้ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสวีเดนจะสร้างความไม่พอใจอย่างมากๆ ให้กับจีน แต่เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ไปสวีเดนมีเพียงแค่หลักแสนต้นๆ คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น จีนไม่สามารถตอบโต้และใช้นักท่องเที่ยวจีนเพื่อเป้าหมายทางการเมืองได้ตามที่ต้องการ แตกต่างจากกรณีของเกาหลีใต้และหมู่เกาะพาลาวอย่างชัดเจน

เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าข่ายถูก “เชือดไก่ให้ลิงดู” จนเจ็บหนักหลังจากสร้างความไม่พอใจให้กับจีนในระดับที่เรียกว่า “มากๆ”
ความไม่พอใจของจีนต่อเกาหลีใต้เริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2559 เมื่อเกาหลีใต้ประกาศจะติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ (THAAD) ท่ามกลางการถูกคุกคามจากเกาหลีเหนือและเมื่ออนุญาตให้สหรัฐเริ่มติดตั้งในเดือนมีนาคม 2560 ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับจีนมากขึ้นเพราะถือเป็นภัยคุกคาม

เนื่องจากการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ต้องพึ่งพาจีนเป็นหลัก นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนมากที่สุดเกือบครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น การท่องเที่ยวของเกาหลีใต้จึงกลายเป็นเป้าหมายแรกๆ ของการลงโทษ โดยทางการจีนสั่งห้ามบริษัทนำเที่ยวจัดแพคเกจทัวร์ไปเกาหลีใต้ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ไปเกาหลีใต้ในปี 2560 คนลดลงเกือบ 50%

เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น ประมาณการว่าการติดตั้งระบบป้องกันอาวุธ THAAD ส่งผลทำให้เกาหลีใต้สูญเสียรายได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท (ข้อมูลของภาคเอกชนระบุตัวเลขความเสียหายเกือบ 5 แสนล้านบาท)

เป้าหมายสำคัญหนึ่งในการเดินทางไปเยือนจีนของประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อปลายปี 2560 ก็เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ถึงแม้จีนจะเริ่มผ่อนคลายและอนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวสามารถจัดกรุ๊ปทัวร์ไปเกาหลีใต้ได้ แต่เนื่องจากความไม่พอใจยังไม่จางหายและระบบ THAAD ยังไม่แน่นอน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วงสามเดือนแรกของปี 2561 ลดลง 30.5% (เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2560) ก่อนจะเพิ่มเป็น 51.7% ในช่วงไตรมาสที่สอง ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมซัมมิตระหว่างผู้นำสองเกาหลีในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำจีน

ถึงแม้ตัวเลขในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคมจะเพิ่มขึ้นเป็นบวก แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนล่าสุดนี้ก็ยังน้อยกว่าช่วงปี 2559 (ก่อนติดตั้งระบบ THAAD) เพราะฉะนั้น อนาคตหรือแนวโน้มการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้จึงขึ้นอยู่กับว่าระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD จะถูกระงับ (ชั่วคราว) ยกเลิก (อย่างถาวร) คงไว้หรือเดินหน้าต่อไปอย่างไร

พาลาวเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่กำลังเผชิญปัญหาเหมือนเช่นเกาหลีใต้ พาลาวเป็นประเทศหมู่เกาะใกล้กับฟิลิปปินส์ ที่สำคัญเป็นหนึ่งใน 17 ประเทศที่เลือกมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน จึงตกเป็นเป้าหมายสำคัญของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การที่พาลาวพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากภาคการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนมากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ดังนั้น จีนจึงใช้นักท่องเที่ยวเป็นอาวุธสำคัญเพื่อกดดันให้พาลาวยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันและเปลี่ยนขั้ว โดยห้ามไม่ให้บริษัทท่องเที่ยวจัดกรุ๊ปทัวร์ไปหมู่เกาะพาลาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงินเกือบๆ 2 ล้านบาท ผลของคำสั่งห้ามดังกล่าว ทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างฮวบฮาบจนเหลือสัดส่วนเพียง 13% เท่านั้น ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของพาลาวในทุกๆ ด้าน

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่าผู้นำของพาลาวไม่ยอมอ่อนข้อและยืนหยัดจะคงความสัมพันธ์กับไต้หวันต่อไปในแบบที่เรียกว่า “กูไม่กลัวมึง” กระทั่งล่าสุด กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เรียกร้องให้สมาชิกยูเอ็นรับรองไต้หวัน ยิ่งทำให้จีนไม่พอใจมากยิ่งขึ้น

น่าสนใจว่า ถึงที่สุดแล้ว จีนจะประสบความสำเร็จทำให้พาลาวหันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตหรือไม่ หรือพาลาวจะได้รับการสนับสนุนจากไต้หวันและประเทศตะวันตกอื่นๆ เพิ่มขึ้นจนสามารถยืนหยัดและฉลองครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันในปี 2562 ได้หรือไม่

ไม่ว่าการใช้นักท่องเที่ยวจีนเป็นเครื่องมือทางการเมืองเป็นความตั้งใจและวางแผนของจีนตั้งแต่เริ่มแรกหรือเป็นการค้นพบโดยบังเอิญในภายหลัง แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ นักท่องเที่ยวจีนได้กลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่ทรงพลังอย่างยิ่ง การควบรวมกระทรวงวัฒนธรรมและองค์การบริหารการท่องเที่ยวแห่งชาติเป็นหน่วยงานเดียวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาภายใต้ชื่อ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ถือเป็นก้าวสำคัญที่เหมือนจะส่งสัญญาณบอกกล่าวว่า จีนเอาจริงเอาจังกับการใช้นักท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างอิทธิพลและเป้าหมายทางการเมืองมากขึ้นอย่างแน่นอน รวมทั้งการวางแผนส่ง (เสริม) นักท่องเที่ยวจีนไปประเทศใดให้มากขึ้น เพราะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเท่าไร นักท่องเที่ยวจีนก็จะกลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่ทรงพลังมากขึ้นเท่านั้น จนยากที่ประเทศหนึ่งๆ จะต้านทานได้ หากไม่มีการปรับแผนลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนไม่ให้มีสัดส่วนมากเกินไป เหมือนที่หมู่เกาะพาลาวกำลังปรับเปลี่ยนและ
รีแบรนด์ประเทศใหม่โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและตลาดบนมากขึ้น (แบบเกาะมัลดีฟส์) และลดการท่องเที่ยวแบบเน้นปริมาณเหมือนที่ผ่านๆ มา ซึ่งเป็นข้อคิดสำคัญหนึ่งสำหรับประเทศไทยในอนาคต

ในขณะที่รัฐบาลจีนสามารถควบคุมกรุ๊ปทัวร์ได้ตามที่ต้องการ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนแบบอิสระก็ไม่อาจมองข้ามได้เลย เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้นๆ นั้นจะตัดสินใจเที่ยวประเทศใดประเทศหนึ่งโดยพิจารณาว่าประเทศนั้นๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนมากน้อยแค่ไหน การที่ญี่ปุ่นขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงโกลเดนวีค (1-7 ตุลาคม) ส่วนสำคัญก็อาจเป็นเพราะจีนและญี่ปุ่นเพิ่งฉลองครบรอบ 40 ความสัมพันธ์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่ผู้นำจีนไปเยือนญี่ปุ่น และเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นตั้งแต่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในปี 2013 และเดินทางไปเยือนถึงสองครั้งในรอบปีเดียวซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกที่สุดที่คนจีนรู้สึกได้ ในขณะที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐกำลังมีปัญหาถึงขั้นจะเกิดสงครามการค้าจนทำให้นักท่องเที่ยวจีนไปสหรัฐลดลงถึง 42% นี่คือปัจจัยสำคัญหนึ่งที่รัฐบาลไทยไม่ควรมองข้าม

เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อพิจารณาถึงปัญหาและแนวโน้มของนักท่องเที่ยวจีน จำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องพิจารณาในหลายๆ มิติควบคู่กันโดยเฉพาะมิติทางการเมือง แทนที่จะมองเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเพียงมิติเดียว ข้อคิดสำคัญที่เรียนรู้ได้จากทั้งสามประเทศก็คือ หากสร้างความไม่พอใจให้กับจีนโดยเฉพาะทางการเมืองแล้ว เหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวก็สามารถบานปลายเป็นเรื่องใหญ่หรือหรือถูกตอบโต้จนเสียหายอย่างหนักได้

ในทางกลับกัน หากพยายามไม่ทำให้จีนขุ่นข้องหมองใจ (แม้กระทั่งในเรื่องเล็กๆ) เชื่อว่าปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวจีนก็อยู่ในวิสัยที่ให้อภัยกันได้..

บางที เหตุเรือล่มที่ภูเก็ตอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยมากเกินไป หากผู้นำไทยเรียนรู้เอาแบบอย่างผู้นำเกาหลีเหนือ นั่นคือ หลังเกิดอุบัติเหตุรถบัสตกสะพานเมื่อเดือนเมษายนปีนี้จนทำให้นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตถึง 32 คน ปรากฏว่า
นอกจากคำขอโทษแล้ว ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือถึงกับเดินทางไปเยี่ยมนักท่องเที่ยวจีนที่บาดเจ็บด้วยตัวเองรวมทั้งไปร่วมพิธีส่งศพผู้เสียชีวิตกลับประเทศจีน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยครั้งมากสำหรับผู้นำคนนี้ แต่เชื่อว่าสร้างความประทับใจให้กับผู้นำจีนไม่น้อย

เรื่องเล็กๆ ที่อ่อนไหวเช่นนี้ควรที่ผู้นำไทยจะต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ

ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image