มงคลเมือง 3 : โดย ทวี ผลสมภพ

ในมงคลเมือง 2 ได้กล่าวไว้ก่อนจบว่า ถ้าจะให้เชื่อว่า พระพุทธเจ้า ได้เสด็จมาโปรดน้องชายของพระปุณณะ ชาวเมืองจามปา หรืออาณาจักรจาม ที่คนไทยคุ้นหู ตอนเสด็จกลับได้ประทับรอยพระบาทไว้ที่ เขาสัจพันธ์ คือเขาวงพระจันทร์ ลพบุรีจริงแล้ว จงหาหลักฐานมายืนยันว่า ณ บริเวณที่อ้างว่า เป็นเมือง สุนาปรันตะ และเป็นอาณาจักรจาม ในสมัยพุทธกาล และเป็นเวียดนามในปัจจุบันนี้ มีโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาอยู่บ้างหรือไม่

และก่อนจบบทความมงคลเมือง 2 ได้พูดถึง ความสงสัยของชาวกัมพูชาที่ค้นพบ จารึกเก่าแก่ที่สุดชื่อ
โวคาญ เป็นจารึก ภาษาสันสกฤตในเวียดนามใต้ ระบุว่าพระเจ้าศรีมาระ ทรงนับถือพระพุทธศาสนา ศิลาจารึกโวคาญ นักปราชญ์กัมพูชา สันนิษฐานว่า เป็นจารึกในพุทธศตวรรษที่ 2

ดังนั้น เมื่อทุกวันนี้ นักประวัติศาสตร์ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างเชื่อกันว่า พระพุทธศาสนาในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้นี้ เผยแผ่มาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 3 คือสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อเป็นเช่นนี้ พระพุทธศาสนา ที่พระเจ้าศรีมาระนับถืออยู่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 3 ตาม ศิลาจารึกโวคาญ นั้นมาจากไหน? เมื่อไร?

ความสงสัยที่ชาวกัมพูชาสงสัยว่า พระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองอยู่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 3 เป็นมาอย่างไรนั้น นักปราชญ์ลาวเขาก็สงสัยเช่นกัน ดังข้อความในหนังสือประวัติศาสตร์ลาว ที่เขียนโดย มาร์ติน สจ๊วต ฟอกช์ และแปลโดย จิราภรณ์ วิญญรัตน์ หน้า 11 ว่า “พระเจ้าฟ้างุ้ม ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้นำพระพุทธศาสนา มาสู่ประเทศลาว แม้ตามหลักฐานแล้ว จะมีความชัดเจนอย่างยิ่งว่าไม่ถูกต้องก็ตาม เพราะจากการค้นพบหลักฐานที่หลวงพระบางชี้ให้เห็นอย่างแน่ชัดว่า พุทธศาสนาเป็นที่รู้จักกันอย่างดีก่อนหน้ารัชสมัยของพระเจ้าฟ้างุ้ม”

Advertisement

ความตรงนี้ ได้ความสรุปว่า แม้ประวัติศาสตร์ประเทศลาว จะกล่าวว่า พระเจ้าฟ้างุ้ม เป็นผู้นำพุทธศาสนาจากกัมพูชาสู่ประเทศลาวก็จริง แต่หลักฐานจากหลวงพระบางยืนยันว่าพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองอยู่ในประเทศลาวก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ไม่มีใครรู้ว่าพุทธศาสนาที่มีมาก่อนนั้น มาอย่างไร เมื่อไร

จารึกภาษาสันสกฤต โวคาญ ทำให้กัมพูชาสงสัยว่าพุทธศาสนาตามที่จารึกไว้ว่า พุทธศาสนาที่พระเจ้าศรีมาระ กษัตริย์จาม นับถือนั้นมาอย่างไร เมื่อไร โบราณวัตถุที่เก่าแก่ ในประเทศลาว เช่นที่เวียงจันทน์ หลวงพระบาง สะหวันนะเขต ทำให้นักประวัติศาสตร์ลาว เกิดความสงสัยเช่นกันว่า พุทธศาสนาที่รุ่งเรือง จนเหลือแต่ซากเหล่านั้น เป็นมาอย่างไร ใครเป็นผู้นำมา

ต่อความสงสัยในเรื่องจารึกชื่อ โวคาญ ผู้เขียนขอตอบว่า พุทธศาสนาที่พระเจ้าศรีมาระ กษัตริย์จาม นับถือนั้น เป็นพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดน้องชายของพระปุณณะ ในสมัยที่พระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่ หลักฐานสำคัญคือ จารึกโวคาญค้นพบที่ตำบลโวคันห์ เมืองนาห์ตรัง ซึ่งครั้งหนึ่ง เป็นราชอาณาจักรของจาม ซึ่งพระปุณณะท่านเป็นแขกจามแล้วไปค้าขายประเทศอินเดีย พบพระพุทธเจ้าแล้วขอบวช ตามเรี่องในพระสูตรชื่อ ปุณโณวาทสูตร ที่ได้อ้างมาข้างต้นแล้ว และการเสด็มาโปรดประชาชนคราวนั้น ได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่ แม่น้ำนิมมะทา คือแม่น้ำโขง และประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่ ภูเขาสัจพันธ์ คือเขาวงพระจันทร์ ที่ลพบุรี

Advertisement

ผู้เขียนคิดว่า ในเรื่องนี้ น่าจะแสดงเหตุผล สักนิดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมือง
สุนาปรันตะ คือเวียดนามในปัจจุบันนี้แล้ว ทำให้คำสอนของพระพุทธองค์ ดำรงอยู่ในประเทศเวียดนามนั้นได้หลายร้อยปี

ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้มนุษย์ปุถุชนตื่นเต้น แล้วทำให้เกิดความเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธเจ้า คือ พระปุณณะท่านบอกกับชาวสุนาปรันตะว่า พรุ่งนี้ท่านจะไปอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเสวย และพักค้างคืน ณ เสนาสนะที่ชาวสุนาปรันตะสร้างถวายด้วยไม้แก่นจันทน์ แล้ววันมะรืนนี้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาเสวยและพัก สามราตรี ชาวบ้านฟังแล้ว ก็คงเชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง เพราะพระปุณณะท่านจะไปอย่างไรเร็วปานนั้น แต่เมื่อถึงวันรุ่งขึ้น ผ่านไป พระปุณณะ ท่านมาบอกชาวบ้านว่า พรุ่งนี้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมา และเมื่อรุ่งเช้าของวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าและพระสาวก 500 องค์ ก็เสด็จเข้ามาเสวยและพักอาศัย พร้อมแสดงธรรม มีประชาชนบางส่วนได้บรรลุพระอรหันต์

แล้วนั่นคือที่ในคัมภีร์อรรถกถาของ ปุณโณวาทสูตรกล่าวไว้ในหนังสือพระสูตรและอรรถกถา เล่มที่ 23 หน้า 448 ว่า “ความโกลาหล เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ขนาดใหญ่ได้มีแล้ว”

ความโกลาหลเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าคืออะไร? คือ ความตื่นเต้นที่พระพุทธเจ้าไปมาทางอากาศได้ ตื่นเต้นเพราะมีผู้บรรลุธรรมแล้ว รู้ชัดว่าพระพุทธเจ้าบังเกิดแล้วจริง เหมือนพระโกญฑัญญะ เพียงการบรรลุ พระโสดาบัน ก็รู้ชัดว่าพระพุทธเจ้าเกิดแล้ว แล้วนี่! ดินแดน สุนาปรันตะ มีผู้บรรลุพระอรหันต์ จะไม่ทำให้ถิ่นนี้
ตื่นเต้นได้อย่างไร และเมื่อตื่นเต้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือเลื่อมใส ศรัทธา พากันออกบวชเป็นจำนวนมาก นั่นคือ ทำให้คนในท้องถิ่นนี้ นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ในอรรถกถาของพระสูตรนี้ กล่าวต่อไปว่า พระปุณณะ ท่านได้ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาในพิธีเผาศพของท่านด้วย มหาชนได้ทำการเผาศพของท่านด้วยไม้หอม และนำธาตุของท่านมาทำเจดีย์ไว้ในถิ่นนั้นนั่นเอง ถ้าจะถามว่าพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้า เสด็จมาโปรดชาวสุนาปรันตะคือเวียดนามปัจจุบันนี้ มั่นคงอยู่ในดินแดนนี้ประมาณกี่ร้อยปี คงหาคำตอบไม่ได้ แต่มีประมาณการที่กล่าวไว้ในราชพงศาวดารกัมพูชาหน้า 14 ว่า พระทองผู้ซึ่งชาวกัมพูชาถือว่าเป็นปฐมกษัตริย์และผู้ให้กำเนิดประเทศกัมพูชา ตามเนื้อเพลง พระทอง แลนางนาค ได้กล่าวไว้ว่า ในช่วงที่ พระทองมาสร้างเมืองที่ใกล้ชายแดน อาณาจักรจามนั้น ยังมีพระสงฆ์อยู่ ถามว่าพระสงฆ์ที่ไหน ตอบได้ทันทีว่า คือ พระสงฆ์ที่อาณาจักรจามที่พระปุณณะนำมา ตามที่กล่าวไว้ใน ปุณโณวาทสูตร นั่นเอง

และในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาได้กล่าวไว้ในหน้า 19 ว่า “เมื่อลุถึงพุทธศักราช 600 ปี ปีมะโรง พระทอง ก็สวรรคต” การที่พระทองผู้เป็นลูกหลานชาวจาม ได้ทำการเปลี่ยนหนังสันสกฤต เป็นหนังสือขอม เพราะตัวมาปกครองชาวกัมพุช

และในช่วงนั้น ยังมีพระสงฆ์อยู่ในอาณาจักรจาม จากนั้นพระทองก็มาสวรรคต เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 600 ปี ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนาที่พระองค์เสด็จมาโปรดชาวสุนาปรันตะนั้น อยู่มาได้ถึง 600 ปี ในช่วงที่พระทองให้กำเนิดประเทศกัมพูชา

ต่อคำตอบความสงสัยของนักประวัติศาสตร์ประเทศลาว ที่ว่า โบราณสถานในประเทศลาว เป็นมาอย่างไร? ความจริง ต่อคำถามนี้ มีตำนานแจ้งไว้แล้ว แต่คนไทยและคนลาวไม่ให้ความสำคัญ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องในตำนาน ตำนานดังกล่าวคือ ตำนานพระ
อุรังคธาตุ ที่จังหวัดนครพนม ตำนานพระอุรังคธาตุกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 8 ปี พระมหา
กัสปะ พร้อมพระอรหันต์ 500 องค์ ได้นำพระอุรังคธาตุ (กระดูกไหปลาร้า) มาบรรจุที่ภูกำพร้า คือพระธาตุพนมปัจจุบันนี้ เมื่อพระมหากัสปะบรรจุพระธาตุเรียบร้อยแล้ว ท่านก็กลับพร้อมพระอรหันต์ 500 องค์

พระมหากัสปะ ท่านหวังจะให้มีผู้ดูแลพระธาตุนครพนม ท่านจึงส่งพระอรหันต์ 3 องค์ มาฝึกอบรมพระราชกุมารทั้ง 5 ที่เคยช่วยท่าน บรรจุพระอุรังคธาตุในชาติก่อน (โปรดอ่านรายละเอียดในตำนานพระอุรังคธาตุ) เมื่อพระราชกุมารออกบวช และสำเร็จพระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ 3 องค์ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ ได้นำพระอรหันต์ ทั้ง 5 องค์ ไปสู่เมืองราชคฤห์ แล้วนำพระธาตุมาถวาย พญาจันทบุรี คือเจ้าเมืองเวียงจันทน์ พญาจันทบุรี ได้นำพระธาตุเหล่านั้น ไปบรรจุในเจดีย์ ในบริเวณนั้น

ทุกวันนี้พระเจดีย์เหล่านั้น ยังมีซากเจดีย์ให้เห็นอยู่ ซึ่งพระเจดีย์เหล่านั้น มีชื่อดังต่อไปนี้ พระเจดีย์องค์ที่ 1 พระธาตุบังพวน อยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน หมู่ 3 ตำบลพระธาตุพังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย พระเจดีย์องค์ที่ 2 พระธาตุหล้าหนอง ในเขตตัวเมืองหนองคาย พระเจดีย์องค์ที่ 3 พระธาตุเวียงคุก ตั้งอยู่ที่ บ้านเวียงคุก ตำบลเวียงคุก อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

พระเจดีย์ทั้งสาม เดิมอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง กาลต่อมากระแสแม่น้ำโขงได้กัดเซาะฝั่งจนพระเจดีย์ลงไปอยู่ในแม่น้ำ เมื่อภาพพระเจดีย์ดังกล่าว ปรากฏอยู่ การกล่าวว่าพระเจ้าฟ้างุ้ม นำพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศลาว ประมาณพุทธศตวรรษที่18 แล้วเจดีย์ที่ปรากฏในแม่น้ำโขงนั่นล่ะ มาจากไหน

คำตอบตรงนี้ก็คือ พระมหากัสปะนำมาเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 8 ปี ดังนั้นพระเจดีย์ในแม่น้ำโขงนั้น น่าจะมีอายุประมาณ 2553 ปีแล้ว เขตเมืองหนองคาย ในสมัยพญาจันทบบุรี เป็นเขตของเมืองเวียงจันทน์

สําหรับประเทศไทย มีพุทธสถานที่เก่าแก่ที่สุด และยังไม่รู้ว่า ใครเป็นผู้สร้าง สร้างมาตั้งแต่เมื่อไร โบราณสถานดังกล่าวนั้นคือ พระปฐมเจดีย์ พระแท่นศิลาอาสน์ เมืองทุ่งยั้ง อุตรดิตถ์ พระแท่นดงรัง และพงตึก อยู่อำเภอท่ามะกา กาญจนบุรี โกสินนารยณ์ อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี โบราณสถานเหล่านี้ มีลักษณะเป็น
กลุ่ม จึงสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ประสูติหนึ่ง เป็นสถานที่ตรัสรู้หนึ่ง เป็นสถานที่แสดงธรรมจักรหนึ่ง เป็นสถานที่ปรินิพพานหนึ่ง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ ในวันปรินิพพานว่า สถานที่พระองค์ ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร และสถานที่ปรินิพพาน พุทธบริษัท ควรมาดูจึงเป็นไปได้ว่า ในช่วงที่พระพุทธองค์ปรินิพพานใหม่ๆ ชาวพุทธจะบูชาต้นโพธิ รอยพระพุทธบาท เป็นต้น พระพุทธรูปเพิ่งมาสร้างกันเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 500 ปี

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพระสัจพันธ์ และโปรดชาวเมืองสุนาปรันตะ ตอนเสด็จกลับทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้พระสัจพันธ์ แล้วตรัสบอกให้พระสัจพันธ์อยู่สอนหมู่ชนที่ท่านสอนผิดไว้ และต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ว่าแต่นี้ไปอีกสามเดือน ตถาคตจะปรินิพพาน พระสัจพันธ์ท่านจึงไปชุมนุมเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ศาลวโนทยาน เมืองกุสินาราด้วย แล้วท่านก็ทราบว่า พระองค์ตรัสให้ บริษัท 4 มาดู สังเวชนียสถานแห่งใดแห่งหนึ่ง

ต่อมา เมื่อท่านกลับมาที่เมืองกัมโพช คือลพบุรีแล้ว ท่านจึงแนะนำประชาชน (น่าจะเป็นชาวมอญ) ทางเหนือ สร้างสังเวชนียสถานทั้ง 4 ที่ทุกวันนี้คือ โบราณสถานเมืองทุ่งยั้ง มีพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้เป็นต้น แนะนำชาวมอญ ทางราชบุรี และนครปฐม สร้างสังเวชนียสถาน ไว้ที่เมืองนครปฐม เฉพาะพระปฐมเจดีย์ นั้น คือพระแท่นปรินิพพาน เพราะมีหลักฐานว่าสมัย
ร.4 เรียกเจดีย์องค์นี้ว่า พระแท่นปธม น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า พระแท่นบบรรทมปรินิพพาน ในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า เมื่อพญาพานบูรณะพระปฐมเจดีย์แล้ว ได้ไปซ่อมสถานที่ประสูติ ที่เมืองโกสินนารายณ์ คำว่าโกสินนารายณ์ มาจากคำว่าเมืองกุสินารา

ดังนั้น จึงน่าจะสรุปว่า พระแท่นดงรัง พงตึก และโกสินนารายณ์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันนั้น ท่านสมมุติสร้างเป็น สังเวชนียสถาน คือ ที่ประสูติน่าจะอยู่ที่ สระโกสินนารายณ์ ที่ตรัสรู้และที่แสดงธรรมจักร น่าจะอยู่ที่พงตึก ส่วนที่ปรินิพพาน น่าจะอยู่ที่วัดพระแท่นดงรัง อำเภอท่ามะกา กาญจนบุรี

คนไทยเรายังไม่เคยทราบเลยว่า รอยพระพุทธบาท ที่พรานบุญพบนั้น มีกล่าวอ้างทั้งที่ลพบุรี และสระบุรี แทบทุกคนจะเชื่อว่าอยู่สระบุรี แต่เมื่อผู้เขียนรู้ว่า มีประวัติอยู่ที่ยอดเขาวงพระจันทร์ลพบุรีด้วย จึงไปถ่ายแล้วอัดเป็นภาพมาดู พบความมหัศจรรย์ในรอยพระบาท จึงหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แล้วก็พบศิลาจารึก โวคาญ ที่เวียดนาม อันเคยเป็นอาณาจักรจาม ซึ่งเป็นเมืองพระปุณณะ พบโบราณสถานในเมืองไทย ที่น่าจะสันนิษฐานว่า พระสัจพันธ์เป็นผู้สร้าง ในฐานะที่ท่านถูกพระพุทธองค์ สั่งให้อยู่สั่งสอนมหาชนในบริเวณนี้ต่อไป

ผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่ แล้วแต่จะพิจารณา และขอให้ติดตามอ่านหลักฐาน ในมงคลเมือง 4 ต่อไป

ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image