รัฐประหารไม่ได้อยู่ที่กองทัพ : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

อ่านบทความอื่นๆของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ คลิกที่นี่ 

แม่ทัพบกคนใหม่คงเข้าใจผิดว่าการรัฐประหารในประเทศไทยเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของกองทัพ แท้จริงแล้วไม่เคยมีรัฐประหารครั้งใดเลยที่กองทัพตัดสินใจได้เองโดยอิสระ ยิ่งหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา กองทัพยิ่งกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นนำกลุ่มอื่นมากขึ้น ไม่ว่ากองทัพจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ก่อนหน้านั้น แม้กองทัพไม่ได้มีอิสรภาพในการตัดสินใจทำรัฐประหารแต่ผู้เดียว แต่กองทัพหรือผู้นำกองทัพเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ตัดสินใจหลักๆ ทั้งนี้ นับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งแรกคือ รัฐประหารปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา สืบมาจนถึงรัฐประหาร 2501 ของสฤษฎิ์ ธนะรัชต์

ตรงกันข้ามกับความเข้าใจผิดๆ ของแม่ทัพบกด้วยซ้ำ เมื่อไรก็ตามที่กองทัพหรือผู้นำกองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารแต่ลำพัง โดยขาดการตัดสินใจร่วมกับชนชั้นนำกลุ่มอื่น หรือขาดการตัดสินใจร่วมของชนชั้นนำอย่างกว้างขวางและถ้วนทั่วพอ ก็จะประสบความล้มเหลว ยกตัวอย่างจากกรณีไม่ไกลนักก็ได้

Advertisement

เช่นการรัฐประหารตนเองของถนอม กิตติขจรใน พ.ศ.2514, ความพยายามทำรัฐประหารซ้อนของพลเอกฉลาด หิรัญศิริ, และ “เมษาฮาวาย” เป็นต้น

ทําไมจึงเป็นเช่นนี้? เหตุผลง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ กองทัพไทยนั้นไม่อาจนับเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำไทยได้อย่างแท้จริง อย่าลืมว่าส่วนใหญ่ของกองกำลังในกองทัพงอกขึ้นมาจาก “ไพร่” หรือคนไม่มีหัวนอนปลายเท้าทั่วประเทศ

หลังการเกณฑ์ทหารเพื่อสร้างกองทัพแห่งชาติขึ้นแทน “ชนชั้นนักรบ” ของเจ้าศักดินาประเภทต่างๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่ากองทัพของทุกชาติในโลกล้วนงอกขึ้นมาจาก “ไพร่” ทั้งนั้น แต่ในบางประเทศจะรักษากำลังระดับนายทหาร โดยเฉพาะชั้นสูงๆ ไว้กับชนชั้น “ผู้ดี” เท่านั้น เช่นในกองทัพของปรัสเซีย-เยอรมัน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะสิ้นสุดลง นายพลใหญ่ๆ ล้วนมาจากตระกูลเจ้าที่ดินในแคว้นตอนเหนือของประเทศ ในแง่หนึ่งแกนกลางของกองทัพอังกฤษก็สืบเชื้อสายทหารมาหลายชั่วโคตร ทั้งนี้ไม่พูดถึงกองทัพของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย หรือกองทัพของจักรพรรดิแห่งออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งยิ่งรักษาอภิสิทธิ์ของชนชั้นไว้อย่างเหนียวแน่นในกองกำลังบังคับบัญชาของกองทัพเสียยิ่งกว่า

Advertisement

คณะราษฎรอาจไม่สามารถสืบทอดมรดกประชาธิปไตยที่เข้มแข็งยั่งยืนให้แก่ประเทศได้ แต่มรดกที่เข้มแข็งยั่งยืนของคณะราษฎรอยู่ในกองทัพ หลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กองกำลังนายทหารของกองทัพไทยก็เปิดกว้างแก่ทุกคน (หรือเกือบทุกคน) ซึ่งรวมทั้งลูกตาสีตาสาด้วย ไม่มีคณะราษฎร จอมพลทุกคนของกองทัพไทยหลัง 2475 ไม่มีโอกาสเป็นจอมพลได้สักคน อย่าว่าแต่จอมพลเลย แม้แต่นายพันที่ได้คุมกองกำลังซึ่งมีความสำคัญด้านการรบ ก็คงไม่ได้เป็นด้วย หากลูกข้าราชการระดับล่างหรือลูกตาสียายสาคนใดเก่งนัก ก็ไปเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย

“วิชาการ” ไม่ว่าในด้านใด ไม่เคยเป็นคุณสมบัติสำคัญของชนชั้นนำในสังคมใดสักแห่งเดียว ถ้า “นักวิชาการ” อยากงอกเข้าไปในหมู่ชนชั้นนำให้ได้ ก็ไปบวชเสีย แต่นั่นก็ทำให้ไม่อาจสืบทอดสถานะของตนต่อไปในตระกูลได้ เพราะมักจะถูกห้ามไม่ให้มีเมียและด้วยเหตุดังนั้น หลัง 14 ตุลา ผู้นำกองทัพหรือบางส่วนของผู้นำกองทัพซึ่งเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มชนชั้นนำที่ร่วมตัดสินใจทำรัฐประหาร จึงมีส่วนแบ่งในการตัดสินใจน้อยลง จนกลายเป็น “เครื่องมือ” ของชนชั้นนำกลุ่มอื่น เพราะนับตั้งแต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา นอกจากจะมีคนนอกกลุ่มชนชั้นนำ โดยเฉพาะที่เรียกกันอย่างกว้างๆ ว่า “คนชั้นกลาง” เข้ามามีส่วนร่วมบนเวทีการเมืองเพิ่มขึ้นแล้ว ชนชั้นนำบางกลุ่มยังสามารถผนึกกำลังของตนเองกลายเป็นอำนาจนำ ที่ชนชั้นนำกลุ่มอื่น เช่น กระฎุมพีกับคนชั้นกลางระดับบนๆ พากันสนับสนุน และรวมพลังทางการเมือง เพื่อเคลื่อนไหวกำหนดความเป็นไปในการเมืองไทย รวมทั้งการรัฐประหารด้วย

กองทัพเป็นองค์กรเดียวที่เข้าร่วมสนับสนุนการเมืองที่ชนชั้นนำผูกขาด โดยไม่สามารถจัดการภายในองค์กรของตนเองได้อย่างอิสระ ทุนขนาดใหญ่ยังสามารถสืบทอดอำนาจทุนของตนเองในตระกูลได้ แม้แต่จะเลือกซีอีโอคนนอกมาดำเนินงาน ก็มีอำนาจเป็นอิสระของตนเองที่จะตัดสินใจเลือกใคร คนชั้นกลางยังมีอิสระที่จะเลือกเชื่อแพทย์คนไหน หรือจะสยบยอมหรือไม่ต่อองค์กรของแพทย์เช่นองค์กร “ส” ทั้งหลาย มีแต่กองทัพเท่านั้น ที่ไม่มีอิสระจะเลือก “นาย” ของตนเอง และยิ่งนับวันการขึ้นเป็นแม่ทัพก็ยิ่งต้องอาศัยอำนาจจากภายนอกมากขึ้นทุกที

ดังนั้น กองทัพจึงเป็นแค่ “เครื่องมือ” มากกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำจริง ในความเป็นจริง แม่ทัพไม่มีอำนาจที่จะตัดสินใจได้หรอกว่า จะยึดอำนาจภายใต้เงื่อนไขอะไร ความปั่นป่วนวุ่นวายระดับไหน และในเรื่องอะไรจึงควรยึดอำนาจ และระดับไหน เรื่องอะไร ให้ถือว่าเป็นระดับที่ยังพอรับได้ การตัดสินใจไม่ได้มาจากกองทัพ แต่มาจากชนชั้นนำที่ล้วนอยู่นอกกองทัพต่างหาก

 

ตราบเท่าที่การเมืองไทยยังเป็นการแบ่งสรรอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ ตราบนั้นการรัฐประหารก็ยังต้องเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรอำนาจอยู่นั่นเอง เพราะหากชนชั้นนำใช้วิธีอื่นในการจัดสรรแบ่งปันอำนาจกัน ก็หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องเปิดให้ชนชั้นอื่นซึ่งไม่อยู่ในอาณัติของตน ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น (ซึ่งอาจเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยก็ได้)

ในแง่นี้ รัฐประหารในการเมืองไทย แม้จะทำความเสียหายแก่บ้านเมืองตลอดมา แต่ก็มีประโยชน์อยู่บ้าง เพราะการแข่งขันอำนาจในหมู่ชนชั้นนำในหลายสังคม เป็นผลให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันนองเลือด ซ้ำเมื่อฝ่ายใดได้อำนาจแล้ว การฆ่าฟันก็ยังไม่อาจหยุดได้ เพราะระบอบปกครองดำรงอยู่ได้ด้วยความโหดเหี้ยมรุนแรงเท่านั้น แต่ในการเมืองไทย อย่างน้อยชนชั้นนำได้บรรลุฉันทามติกันมาระดับหนึ่งแล้ว ที่จะแข่งขันอำนาจกันภายใต้กติกาใหม่ที่สถาปนาขึ้นในการรัฐประหาร (เช่น “การพัฒนา” หรือ “ประชารัฐ” เป็นต้น) การฆ่าฟันกันจนนองเลือดกลับทำให้ชนชั้นนำ “ขาดทุน” ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วยซ้ำ

ถึงไม่ก่อให้เกิดการนองเลือด แต่รัฐประหารทำให้การเมืองไทยวนเวียนซ้ำซากอยู่อย่างเดิมโดยไม่อาจก้าวต่อไปไหนได้ ดึงให้ด้านอื่นๆ ชะงักงันไปหมด ดังนั้น ความพยายามของคนหลายฝ่ายที่จะทำให้การเมืองไทยปลอดพ้นจากการรัฐประหารเสียทีจึงเป็นความพยายามที่ควรได้รับการสนับสนุน

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะบรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร?

การกำหนดในรัฐธรรมนูญให้เป็นหน้าที่ของพลเมืองในการต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งเริ่มทดลองใช้มาในรัฐธรรมนูญ 2540 พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และคงไม่น่าจะได้ผลในทุกสังคมกระมัง เพราะประชาชนคือฝ่ายที่ขาดการจัดองค์กรหรือการจัดตั้งที่สุดในทุกสังคม ที่ไหนจะสามารถระดมพลังออกมาต่อต้านกองทัพซึ่งมักเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งดีที่สุดในทุกสังคมได้ (ยกเว้นแต่ว่าองค์กรประชาชนสามารถยึดครองพื้นที่สำหรับการจัดองค์กรที่เข้มแข็งได้ เช่น ในป่าหรือในสลัมของเขตเมือง)

ข้อเสนอให้ปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เป็นกองทัพที่ทำงานเฉพาะตามหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยอมอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายพลเรือนที่ต้องรับผิดชอบต่อคนอื่นอย่างเปิดเผย (คืออาจยังไม่ถึงกับเป็นประชาธิปไตยเต็มร้อย แต่มี “ประชาชน” ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างเปิดเผยมากพอสมควร) ลดขนาดของกองทัพ, ย้ายทหารออกจากกรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยทหารสอนวิชาการด้านอื่นเป็นหลักเหนือวิชาทหาร, ฯลฯ ล้วนมีประโยชน์และควรทำทั้งนั้น

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า กองทัพไม่ใช่ผู้ก่อให้เกิดรัฐประหาร กองทัพเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นนำเท่านั้น การระงับมิให้เกิดการรัฐประหารในเมืองไทยจึงต้องมุ่งไปจัดการกับการเมืองของชนชั้นนำเป็นสำคัญก่อนอื่นใด

เป้าหมายคือสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้ชนชั้นนำทุกกลุ่มต้องเล่นการเมืองในพื้นที่สาธารณะของรัฐ ทั้งนี้มิใช่ออกกฎหมายที่ “สั่ง” ให้ชนชั้นนำลงมาเล่นการเมืองในพื้นที่นี้ แต่ต้องสร้างเงื่อนไขด้านอื่นๆ ที่ทำให้การเล่นการเมืองในที่ลับทำให้ “ขาดทุน” หรือไม่ให้ผลกำไรคุ้ม (ในทุกทาง)

เช่นหากรัฐเอาจริงเอาจังกับการปกป้องคุ้มครองฝ่ายที่อ่อนแอกว่าทุน เช่นแรงงานหรือเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบหรือผู้บริโภค ป้องกันมิให้ฝ่ายทุนเอาเปรียบหรือกดขี่ขูดรีด ทุนย่อมค้นหาวิธีทำกำไรในเงื่อนไขใหม่ ที่ฝ่ายซึ่งถูกเอาเปรียบมาก่อนได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดี วิธีใหม่ดังกล่าวต้องอยู่ในพื้นที่เปิดเท่านั้น มิฉะนั้นก็ไม่อาจเกิดการแข่งขันได้จริง

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่ารัฐต้องทำหน้าที่กำกับควบคุมตลาดไปทุกฝีก้าว แต่หมายถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ปกป้องคนอ่อนแออย่างจริงจัง เช่น กฎหมายป้องกันการผูกขาด (ซึ่งแทบไม่เคยใช้บังคับเลยตั้งแต่มีกฎหมายนี้ขึ้น) ควบคุมดูแลว่าสวัสดิการแรงงานซึ่งกฎหมายให้การคุ้มครองไว้ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ ไม่ปล่อยให้เกิดการหลบหลีกกฎหมายด้วยวิธีต่างๆ

ในขณะที่ดูแลให้คนทุกคนเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานซึ่งรัฐจัดให้ เช่น การรักษาพยาบาลและการศึกษา ทั้งต้องกวดขันให้คุณภาพของสวัสดิการเหล่านี้ให้เพิ่มพูนขึ้นจนไม่มีความต่างระหว่างคนรวยและคนจน หากโรงเรียนของลูกชาวบ้านมีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนสวนกุหลาบ หรือเตรียมอุดมศึกษา ลูกเจ้าสัวจะดิ้นรนเข้าเรียนโรงเรียนดัง ก็เป็นสิทธิของเขา แต่ลูกชาวบ้านก็ไม่เสียเปรียบลูกเจ้าสัวในการแข่งขันด้านการเรียน เพียงแต่เข้าไม่ถึง “เส้นสาย” เท่านั้น ซึ่งรัฐก็ควรสอดส่องมิให้ “เส้นสาย” เป็นประตูสำหรับเข้าถึงทุกอย่างมากเกินอีกต่อไป (เช่น ใช้เพื่อหาผัวหาเมียได้ แต่ใช้เพื่อตำแหน่งงานสาธารณะไม่ได้)

กฎหมายกระจายอำนาจต้องทำให้ท้องถิ่นสามารถบริหารกิจการภายในของตนเองได้เกือบทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่เก็บขยะเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการวินิจฉัยการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นในรูปต่างๆ และการควบคุมดูแลกิจการที่กระทบต่อชีวิตสาธารณะ และชีวิตส่วนตัวของคนในท้องถิ่นด้วย (เช่นมีอำนาจสั่งปิดโรงงานได้ทันที หากกระทำผิดด้านสิ่งแวดล้อม หรืออาจลดภาษีท้องถิ่นให้ได้บางส่วน หากรับคนท้องถิ่นเข้าทำงานเกินเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์)

และอื่นๆ อีกมากที่ต้องช่วยกันคิด

จนสามารถทำให้การเมืองที่ให้ผลดีแก่ชนชั้นนำ เหลือพื้นที่สำหรับการดำเนินการได้ในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น หากมีกฎหมายใดที่พวกเขาไม่ชอบ เขาอาจเลี่ยงกฎหมายได้ (ซึ่งเป็นความผิดทางกฎหมาย) หรือยกเลิกกฎหมายก็ได้ แต่ต้องทำเป็นสาธารณะ สื่อ, นักวิชาการ, พรรคการเมือง, และประชาชนทั่วไป ย่อมมีสิทธิตรวจสอบถ่วงดุลความประสงค์ของชนชั้นนำได้

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ องค์กรและการจัดองค์กรเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ในสังคม ซึ่งรัฐไม่ควรได้อำนาจจะแทรกแซงกำกับ เว้นแต่จะกระทบต่อสันติสุขของสังคม ซึ่งต้องพิสูจน์ผลกระทบนั้นอย่างเป็นรูปธรรม (ไม่ใช่วินิจฉัยของ “ผู้ใหญ่”) ทั้งนี้ด้วยความหวังว่าคนไทยจะรู้จักคุ้นเคยกับการจัดองค์กรสมัยใหม่มากขึ้น เพราะนับตั้งแต่องค์กรแบบประเพณีถูกทำลายลง คนทั่วไปในสังคมไทยก็แทบไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรใดอีกเลย นอกจากองค์กรของรัฐและองค์กรของทุน

หากทำได้ตามนี้ นายทุนไทยจะเลิกควักกระเป๋าอุดหนุนการทำรัฐประหารโดยกองทัพ เพื่อเอาทรัพยากรกลางไปอุดหนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สู้ใช้เงินนั้นชดเชยเกษตรกรที่ลงทุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยราคารับซื้อที่เป็นธรรมดีกว่า ส่วนจะทำกำไรกับอาหารสัตว์ที่ต้นทุนสูงขึ้นอย่างไร เป็นเรื่องของ “กึ๋น” หากมีไม่พอก็ต้องเปิดทางให้นายทุนรายอื่นเข้ามาผลิตอาหารสัตว์อย่างไม่ผูกขาดแทน

เราจะป้องกันมิให้เกิดรัฐประหารได้ ก็ต่อเมื่อเราต้องช่วยกันคิดหาทางที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนการเมืองของชนชั้นนำ ให้ไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากเล่นกันบนโต๊ะให้เห็นๆ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image