การสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนเรียนอาชีวศึกษา

การจัดการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษา เป็นหนึ่งในการบริหารการศึกษาที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ว่าจะพิจารณาองค์ประกอบด้านใดจะพบว่ามีความไม่สมบูรณ์ไปเสียเกือบทุกด้าน ทั้งนี้ เกิดจากการที่การอาชีวศึกษาไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจังจากรัฐบาลติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับผิดชอบการบริหารประเทศ การอาชีวศึกษาจึงได้รับความสนใจ และมีความพยายามที่จะดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทางด้านอุตสาหกรรม พาณิชย กรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยวและการบริการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสถาบันการอาชีวศึกษา 20 ปี

ซึ่งมุ่งพัฒนาสถาบันการอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพของการอาชีวศึกษาไทยให้ประสบความสำเร็จภายในระยะเวลา 20 ปี คือระหว่าง พ.ศ.2560-2579 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 9 ประการ คือ

1.สร้างภาพลักษณ์สถาบันการอาชีวศึกษาสู่ความเป็นสากล
2.การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่เป็นมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ
3.วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม บริการวิชาการ และวิชาชีพ เพื่อยกระดับการอาชีวศึกษาสู่มาตรฐานสากล
4.บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
5.ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ให้มีความมั่นคง และก้าวหน้าในอาชีพ
6.บูรณาการการใช้ทรัพยากรร่วมกันด้วยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
7.ส่งเสริมภาพลักษณ์ ขยายโอกาสการอาชีวศึกษาให้เป็นที่ยอมรับต่อสังคม
8.ทำนุบำรุงศาสนา ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
9.ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอน

ขณะนี้เวลาได้ผ่านมาประมาณ 2 ปีแล้ว แต่การดำเนินงานตามแผนยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เห็นได้จากจำนวนนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั่วประเทศเข้าศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษามีจำนวนน้อยกว่านักเรียนที่ศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายคิดเป็นอัตราส่วน 40 : 60 โดยประมาณมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน
การที่ผู้ปกครองไม่ต้องการให้บุตรหลานเรียนสายอาชีวศึกษา (รวมถึงมุมมองของนักเรียนด้วย) สืบเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ ภาพลักษณ์ของนักศึกษาอาชีวศึกษาที่มีปัญหาการทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบัน การที่ไม่ได้รับรู้ถึงรายละเอียดของการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ที่มีการศึกษาในระดับต่างๆ ตั้งแต่ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จนถึงระดับปริญญาสายปฏิบัติการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูงมากเนื่องจากมีความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติควบคู่กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้นักศึกษาอาชีวศึกษาที่ผ่านการศึกษาระบบทวิภาคี จะมีความรู้ที่มีประสิทธิภาพผ่านการทำงานจริง (นอกเหนือจากศึกษาทฤษฎีในห้องเรียน) มีรายได้ขณะกำลังศึกษาอยู่ และมีโอกาสได้มีงานทำเมื่อจบการศึกษาแล้ว ซึ่งโอกาสและเส้นทางการเติบโตในอาชีพของผู้จบการศึกษาสายอาชีวศึกษาสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่น้อยกว่าผู้จบการศึกษาสายสามัญ

Advertisement

เพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จตามแผนแม่บทที่วางไว้จึงขอเสนอแนวทางแก้ไข ดังต่อไปนี้

– กระทรวงศึกษาธิการควรจัดให้มีกระบวนการให้ความรู้เกี่ยวกับการอาชีวศึกษาแก่นักเรียน และนักศึกษาเป็นช่วงๆ คือ ป.1 – ป.3 ป.4 – ป.6 ม.1 – ม.3 ม.4

– ม.6 ปวช.1 – ปวช.3 และ ปวส.1 – ปวส.2 เพื่อให้เยาวชนในทุกระดับการศึกษาได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการอาชีวศึกษาของประเทศอย่างสมบูรณ์

Advertisement

– รัฐบาลควรให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาอาชีวศึกษาที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และจัดหาแหล่งเงินทุนกู้ยืมสำหรับผู้จบการศึกษาที่ประสงค์จะเป็นผู้ประกอบการ

– เร่งรัดให้ สอศ. จัดทำแผน และสำรวจจำนวนครูอาชีวศึกษาในสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งหมด
ทุกประเภทที่จะเกษียณอายุราชการในระยะเวลา
5 ปี (พศ.2562-2566) เพื่อวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูอาชีวศึกษาทั้งระบบให้มีความต่อเนื่อง

– รัฐบาลควรกำหนดให้แรงงานทุกระดับการศึกษาได้รับค่าตอบแทนที่แปรผันตามสมรรถนะสำหรับอาชีพต่างๆ ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ

โดยในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย ควรกำหนดค่าตอบแทน ดังนี้
ผู้จบ ปวช.ได้รับเดือนละ 12,000 บาท
ผู้จบ ปวส.ได้รับเดือนละ 13,000 บาท
ผู้จบปริญญาตรีได้รับเดือนละ 15,000 บาท

– รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณให้สถานศึกษาอย่างเพียงพอสำหรับการปรับปรุงสภาพแวดล้อม อาคารเรียน บ้านพักครู หอพักนักศึกษา ตลอดจนจัดซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้ปกครองมีความมั่นใจว่าบุตรหลานจะได้รับการศึกษา และมีความเป็นอยู่ที่ดีภายในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อบรรยากาศการศึกษา

– ยกระดับการบริหารการศึกษาของ สอศ. ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้สถาบันการอาชีวศึกษาทุกแห่งมีขีดความสามารถในการจัดการศึกษาได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551

– สอศ.ควรดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ภารกิจของสถานศึกษา ข้อมูลการมีงานทำของผู้จบการศึกษาในระดับต่างๆ ตลอดจนความสำเร็จในการประกอบอาชีพของศิษย์เก่า

ในช่วงของการเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ วางแผน และเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น สอศ.ได้เริ่มดำเนินการเชิงรุกหลายเรื่อง เช่น โครงการอาชีวะพรีเมียม โครงการอาชีวะพันธุ์ใหม่ โครงการนำหลักสูตรอาชีวศึกษาของประเทศอังกฤษมาใช้สอนคู่ขนานไปกับหลักสูตรอาชีวศึกษาพรีเมียม และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ต่อเนื่อง 5 ปี) มาตรฐานโคเซ็น แต่ สอศ.ควรดำเนินการแก้ไขปัญหา และข้อบกพร่องที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันควบคู่กันไปด้วย เพราะกลวิธีใดๆ ที่สามารถลดความรุนแรงของปัญหาจัดเป็นแรงจูงใจ ที่จะทำให้เยาวชนไทยเลือกเรียนสายอาชีวศึกษามากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image