มงคลเมือง4 โดย ทวี ผลสมภพ

ในบทความมงคลเมือง 1-3 ได้กล่าวถึงประวัติรอยพระพุทธบาท ทั้งที่เขาวงพระจันทร์ ลพบุรี และที่สระบุรี ว่ามีประวัติมาจากแหล่งเดียวกัน คือ ปุณโณวาทสูตร และอรรถกถา ปุณโณวาทสูตร ซึ่งมาในพระสูตรและอรรถกถา เล่มที่ 23 หน้า 436-449 ซึ่งได้กล่าวถึงพระปุณณะ ซึ่งผู้เขียน สันนิษฐานว่า ท่านเป็นแขกจาม ในเมืองสุนาปรันตะ คืออาณาจักรจามในอดีต และเป็นเวียดนามในปัจจุบัน ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้ามาโปรดชาวสุนาปรันตะ ตอนเสด็จกลับ ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้พระสัจพันธ์บนยอดเขาสัจพันธ์ คือ เขาวงพระจันทร์ ลพบุรี ลักษณะรอยพระพุทธบาทชวนให้เลื่อมใสศรัทธา

ผู้เขียนจึงค้นหาความจริงจากประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาของประเทศกัมพูชา และประเทศลาว จากหลักฐานทางโบราณสถาน และประวัติศาสตร์ในทั้งสองประเทศนั้น ช่างสอดคล้องกับเนื้อหาในคัมภีร์อรรถกถาเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่ารอยพระพุทธบาทบนยอดเขาวงพระจันทร์ ลพบุรีนั้นเป็นองค์จริง ส่วนที่สระบุรีพระเจ้าทรงธรรมทรงจำลองขึ้นมาใหม่

การค้นหาความจริงดังกล่าวข้างบนนั้น เนื่องมาจากความพิรุธในประเด็นที่หนึ่งว่า ทำไมพระบาททั้งสระบุรีและลพบุรีจึงมีประวัติอย่างเดียวกัน และความพิรุธที่ก่อให้เกิดความสงสัยในข้อที่สอง คือ ความพิรุธที่กล่าวไว้ในพงศาวดาร สมัยกรุงศรีอยุธยา! พิรุธอย่างไร? ในพงศาวดารทั้งสามฉบับ คือ ฉบับพระราชหัตถเลขา ฉบับสมเด็จพระพนรัต วัดพระเชตุพน และฉบับพันจันทุมาส กล่าวไว้อย่างเดียวกันว่า “—พรานบุญเป็นมัคคุเทศก์นำลัดตัดตรงไปถึงเชิงเขา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสทอดพระเนตรเห็นแท้เป็นรอยพระบรมพุทธบาทมีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยอัฏฐุตรสตมหามงคล 108 ประการ สมด้วยพระบาลี”

ความผิดพลาดตรงนี้จะได้วิเคราะห์กันต่อไป ในประวัติรอยพระพุทธบาทของประเทศไทยที่วัดเขาดีสลัก อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ระบุไว้ว่า ……..พระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้พบรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี และสร้างรอยพระพุทธบาทเป็นลายมงคล 108 ประการครอบทับ…. ในประวัตินั้นกล่าวไว้ชัดเจนว่า พระเจ้าทรงธรรมสร้างรอยพระพุทธบาทเป็นลายมงคล 108 ประการ ด้วยทองคำ แล้วครอบทับรอยพระพุทธบาท ที่พรานบุญพาไปทอดพระเนตรนั้น

Advertisement

ถามว่า ในเมื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า พระเจ้าทรงธรรมทอดพระเนตรเห็นรอยพระบาทประกอบด้วยลายวิจิตร 108 แล้ว ทำไมต้องไปสร้างหรือจำลองพระพุทธบาทองค์ใหม่ แล้วมาครอบทับอีกล่ะ!

การได้เห็นลายวิจิตรในรอยพระพุทธบาทที่พรานบุญพาไปพบ จะไม่ดีกว่าไปสร้างใหม่หรือ? เพราะการไปสร้างใหม่ มองเห็นวัตถุที่สร้างคือทองคำเป็นต้น

คนรุ่นหลังเขาก็จะเดาออกว่า นี่คือการสร้างใหม่ ความตรงนี้จึงทำให้คิดได้ว่า ความจริงแล้ว รอยพระพุทธบาทที่พรานบุญพาไปดูนั้น ไม่พบลายวิจิตร 108 ทำให้พระเจ้าทรงธรรมสงสัย จึงไปสร้างลายวิจิตรมาครอบทับ ทุกวันนี้คนที่ยังเชื่อรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี ก็ยังอ้างว่ารอยพระพุทธบาทที่เป็นองค์จริงมีรอยวิจิตร 108 ประการ ถูกครอบทับไว้ข้างล่าง

Advertisement

หากเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว ก็จงตั้งคำถามกันว่า การที่พระเจ้าทรงธรรมทอดพระเนตรเห็นลายวิจิตร 108 ประการ ในรอยพระพุทธบาทที่พรานบุญพาไปทอดพระเนตรแล้ว กลับทรงสร้างลายวิจิตรจำลองครอบทับองค์จริงไว้ โดยที่ไม่ให้เห็นองค์จริง ควรหรือไม่ควร?

คําตอบตรงนี้ ผู้มีปัญญาน่าจะตอบได้ว่า ไม่ควรแน่! ความผิดพลาดที่ก่อให้เกิดความสงสัยในประเด็นที่ 2 คือ คำว่า –ลายลักษณ์กงจักร– ประเด็นนี้ผิดอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะความจริง พระพุทธเจ้าไม่ฆ่าสัตว์ มันเป็นไปไม่ได้ที่ในพระกายของพระองค์จะปรากฏสัญลักษณ์ของการฆ่า มีกงจักร เป็นต้น ความเข้าใจผิดนี้น่าจะมาจากคำแปลภาษาบาลี เพราะในอรรถกถาแห่งมหาปทานสูตร ท่านกล่าวว่า จักกานิ ซึ่งศัพท์นี้แปลว่า ล้อหรือกง เข้าใจว่าในสมัยนั้นมีแต่ล้อเกวียน ท่านจะแปลว่า ฝ่าพระบาทมีล้อเกวียนปรากฏ ก็ไม่น่าจะอัศจรรย์ แต่คนในยุคนั้น น่าจะรู้จักกงจักรแล้ว เพราะเป็นอาวุธของพระนารายณ์ คือ ตรี คทา จักร สังข์

คนในสมัยอยุธยาชื่นชมในเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อตั้งชื่อเมืองหลวง ก็นำเอาชื่อเมืองของพระรามมาตั้งเป็นชื่อเมืองหลวง คืออยุธยา ทุกวันนี้ในอยุธยายังมีวัดที่สร้างรอยพระพุทธบาท แล้วมีกงจักรอยู่กลางฝ่าพระบาท โดยเฉพาะที่อำเภอนครหลวง เพราะผู้เขียนได้ไปพบมาแล้ว เพื่อยืนยันว่า กลางฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้านั้นมีจักรแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิปรากฏ มิใช่กงจักรปรากฏตามที่พงศาวดารอยุธยากล่าวอ้าง จึงขอยกข้อความในอรรถกถาแห่งมหาปทานสูตร หน้า 116 ในคัมภีร์ ชื่อ พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม 13
มายืนยัน

ในที่นั้น กล่าวอธิบายไว้ว่า –ท่านกล่าวไว้ในบาลีว่า ณ พื้นพระบาททั้ง 2 ของพระองค์ มีจักรแก้วเกิดขึ้น จักรเหล่านั้น มีซี่ มีกง มีดุม–

ขอให้สังเกตความต่างระหว่างกงจักรและจักรแก้วดังต่อไปนี้ กงจักรมีเฉพาะซี่และดุมเท่านั้น แต่จักรแก้วหรือจักรรัตนะที่ปรากฏที่ฝ่าพระพุทธบาทนั้น มีรูปลักษณะเหมือนล้อเกวียน หรือพูดง่ายๆ ว่า เหมือนตราธรรมจักร คือ มีกงอยู่รอบนอก ถัดไปเรียกว่าซี่ ถัดไปเป็นดุม แต่กงจักรไม่มีกงอยู่รอบนอก มีแต่ซี่แหลมคม เพราะเป็นอาวุธฆ่าคน ส่วนซี่ปักอยู่ในดุม นี่คือความต่างกันของกงจักรและจักรแก้ว จักรแก้วนั้นเป็นสมบัติที่เสริมบารมีของพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งมีแก้วอินทนิลสีเขียวเป็นดุม แก้วประพาฬสีแดงชมพูเป็นกง และมีทองคำสีแดง
เป็นซี่

ดังนั้น การที่พงศาวดารระบุว่า พื้นพระบาทมีกงจักรปรากฏขึ้น จึงผิดอย่างแน่นอน นี่คือความผิดพลาดที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารที่ก่อให้เกิดความสงสัยแล้วชวนให้สงสัยเรื่องอื่นๆ อีก

สิ่งที่น่าสนใจต่อไปก็คือ ในประวัติรอยพระพุทธบาทแห่งประเทศไทยที่ติดตั้งไว้ที่วัดเขาดีสลัก ระบุว่า รอยพระพุทธบาทที่พบในประเทศไทยองค์แรก คือ รอยพระพุทธบาทที่สระมรกต อำเภอศรีมโหสถ ปราจีนบุรี ในประวัตินั้นระบุว่า รอยพระพุทธบาทที่สระมรกต กลางฝ่าพระบาทเป็นตราธรรมจักร คือมีล้อหรือกงอยู่รอบนอก ถัดไปเป็นซี่ ถัดไปเป็นดุม รอยพระพุทธบาทที่ระบุไว้ที่เขาดีสลักสอดคล้องกับเนื้อหาที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ความสอดคล้องต้องกันในพระไตรปิฎกและประวัติรอยพระพุทธบาทในประเทศไทยที่ติดประกาศไว้ที่วัดเขาดีสลักยืนยันได้ว่า ความในพงศาวดารผิดแน่นอน

เราควรจะวิเคราะห์ต่อไปว่า พงศาวดารอยุธยากับประวัติรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย วรรณกรรมฉบับไหนเกิดก่อน ผู้เขียนขอวิเคราะห์ว่า อู่ทองเป็นเมืองที่มีพระราชาปกครองมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ข้าราชสำนักของพระราชาที่ปกครองเมืองอู่ทองที่ตกค้างหรือแก่เฒ่าอยู่ที่เมืองอู่ทอง เขาย่อมใส่ใจข่าวทางเมืองหลวงใหม่ เช่นข่าวศึกสงคราม เป็นต้น และที่สำคัญคือน่าจะสนใจข่าวเรื่องการพบรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี และก็ติดตามข่าวการที่พระเจ้าอู่ทองเสด็จไปทอดพระเนตรรอยพระพุทธบาทที่เขาวงพระจันทร์ที่ลพบุรี โดยการนำของพรานบุญ และที่แน่ๆ ก็คือ พระเจ้าทรงธรรมต้องไม่ขึ้นไปเพียง 2 คนกับพรานบุญแน่ ต้องมีข้าราชบริพารตามเสด็จอีกเป็นจำนวนมาก และเมื่อขึ้นไปพบรอยพระพุทธบาท ที่มีแต่รอยเท้าที่ใหญ่ แถมไม่มีลายจักรรัตนะคือวงล้อพระธรรมจักร ที่กลางฝ่าพระบาท พระเจ้าทรงธรรมคงทรงผิดหวัง และพระองค์ก็ทรงพูดในหมู่บริวารว่า ถ้าเป็นรอยพระพุทธบาทจริงต้องมีลายจักร 108 ประการ

ในเมื่อไม่มีลายจักรก็ไม่ใช่รอยพระพุทธบาท การที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ก็เพราะพระองค์ไม่ทราบความมหัศจรรย์ของรอยพระพุทธบาท ที่กล่าวไว้ในอรรถกถาว่า พระพุทธองค์ต้องการให้ผู้ใดได้เห็นรอยพระบาทของพระองค์ พระองค์จะทรงอธิษฐานให้ผู้นั้นเท่านั้นได้เห็นรอยพระบาทของพระองค์ แล้วพระพุทธองค์จึงจะประทับรอยพระบาทไว้
ณ ที่นั้น

เมื่อพระเจ้าทรงธรรมไม่พบลายจักรบนยอดเขาวงพระจันทร์ ลพบุรี พระองค์จึงไปสร้างขึ้นใหม่ที่อำเภอพระพุทธบาท ซึ่งอำเภอพระพุทธบาทกับอำเภอโคกสำโรงที่เขาวงพระจันทร์ตั้งอยู่มีอาณาเขตติดต่อกัน การไปสร้างใหม่ของพระเจ้าทรงธรรม คนรุ่นนั้นต้องรู้ หรืออาจจะปิดเป็นความลับ แต่ต้องมีคนรู้บ้าง ข้าราชสำนักอู่ทองเก่าแก่ต้องรู้ แล้วก็พูดกันปากต่อปาก ต่อมาการพูดกันปากต่อปากก็ถูกจารึกลง ณ ที่ใดที่หนึ่ง

ต่อมา เมื่อมีการพบรอยพระพุทธบาทที่วัดเขาดีสลัก จึงมีการจารึกประวัติติดไว้ที่ศาลาวัดเขาดีสลักเพื่อบอกความจริงให้คนรุ่นหลังทราบ ว่า พระเจ้าทรงธรรมทรงจำลองรอยพระพุทธบาทที่มีลายจักร 108 ครอบทับรอยพระพุทธบาทที่พรานบุญพบนั้น ซึ่งความจริงตรงนี้ก็ผิด

เพราะพระเจ้าทรงธรรมมิได้นำพระพุทธบาทจำลองครอบทับรอยพระพุทธบาทที่พรานบุญพาพระองค์ไปดูเลย แต่กลับไปสร้างใหม่ที่อำเภอพระพุทธบาทในปัจจุบัน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าวิเคราะห์คือ เมื่อผู้เขียนไปกราบรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำโขง ได้รับการบริการจาก อ.ทองจันทร ครีคำแท้ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดนครแล้วคนที่รู้เหพนม เมื่อท่านผู้นี้เดินทางมากรุงเทพฯ ผู้เขียนจึงเลี้ยงขอบคุณท่านที่โรงแรมแห่งหนึ่ง

ช่วงหนึ่งของงานเลี้ยง ผู้เขียนได้พูดถึงรอยพระพุทธบาทของจริงอยู่ลพบุรี คนหนึ่งกล่าวแย้งว่า สระบุรี มองเห็นลายลักษณ์กงจักรอยู่ชัดๆ องค์จริงอยู่ที่สระบุรี อีกท่านหนึ่งค้านทันควันว่า องค์จริงอยู่ลพบุรี แล้วพูดต่อไปว่า ท่านองคมนตรีท่านบอกอีกว่า พระพุทธบาทสี่รอยที่เชียงใหม่ก็เป็นองค์จริง คำของท่านผู้นี้ทำให้ผู้เขียนนึกได้ว่า เรื่องนี้ต้องมีคนอื่นรู้อีก เพราะอะไร? เพราะว่า ถ้าพระเจ้าทรงธรรมไม่พบลายวิจิตรที่ฝ่าพระบาทที่พรานบุญพาไปทอดพระเนตร พระองค์คงต้องให้คนหลายคนมาจำลองใหม่ที่สระบุรี

ล่านั้นน่าจะเป็นคนชั้นสูง เป็นคนใกล้ชิดพระราชา แล้วคนเหล่านั้นนั่นเองที่จะกระซิบความจริงเรื่องนี้กันปากต่อปาก และนั่นคือความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาจนถึงท่านหนึ่งผู้ใกล้ชิดพระราชาสวนขึ้นทันควันว่า รอยพระบาทองค์จริงอยู่ลพบุรี

ความผิดพลาดที่กล่าวไว้ในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มตั้งแต่กล่าวว่า พระเจ้าทรงธรรมทรงทอดพระเนตรเห็นลายจักร 108 ที่รอยพระพุทธบาทที่พรานบุญพาไปพบ แต่ประวัติรอยพระพุทธบาทในเมืองไทยที่อู่ทองกลับระบุว่า พระเจ้าทรงธรรมทรงจำลองลายจักร 108 ด้วยทองคำ แล้วนำไปครอบทับรอยพระบาทที่พรานบุญพาไปพบ

นี่คือความพิรุธ ชวนสงสัย แล้วจึงได้ข้อสันนิษฐานใหม่ว่า พระองค์ไม่พบลายจักร 108 จึงไปสร้างรอยพระพุทธบาทใหม่ที่สระบุรี ความผิดพลาดข้อต่อไป คือ กล่าวว่า กลางฝ่าพระบาทของพระองค์เป็นกงจักร ซึ่งผิดพลาดอย่างมหันต์ ทั้งๆ ที่รอยพระพุทธบาทที่พบที่สระมรกต ปราจีนบุรี ชาวทวารวดีได้สร้างตราธรรมจักรอยู่กลางฝ่าพระบาทแล้วประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 แต่เหตุไฉนพอมาถึงพุทธศตวรรษที่ 22 กรุงศรีอยุธยาจึงเข้าใจผิด แทนที่จะเขียนจักรแก้วกลับเขียนเป็นกงจักร

ความขาดช่วงดังกล่าวมานี้ น่าจะเป็นเพราะเปลี่ยนชนชาติ กล่าวคือ ชนชาติที่สร้างรอยพระบาทไว้ที่สระมรกตเป็นจักรแก้วหรือวงล้อธรรมจักรอยู่กลางฝ่าพระบาทน่าจะเป็นชนชาติจาม หรือไม่ก็เป็นมอญ หรืออาจเป็นขอม ต่อมาเมื่อไทยมีอำนาจในถิ่นนี้ ความรู้ไม่ได้เรียนสืบต่อกันมา คนไทยคงแปลจากภาษาบาลี จึงแปลคำว่าจักกานิตัวนี้เป็นกงจักร

ความจริงจะเป็นอย่างไร ขอผู้อ่านช่วยกันพิจารณา

ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image