ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : คุณภาพชีวิต : คิดให้ดีกว่าการใช้จีดีพี โดย ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศด้อยพัฒนารวมทั้งประเทศไทยต่างก็มุ่งสู่ความทันสมัยที่มากับลัทธิพัฒนานิยม ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเปรียบเสมือนศาสนาใหม่ ทุกประเทศล้วนมีต้นแบบจากซีกโลกตะวันตกมุ่งลบช่องว่าง ไล่กวดให้ทันเป้าหมายคือ รายได้ต่อหัว แปลกแต่จริง ผ่านมาครึ่งศตวรรษ ธนาคารโลกพบว่ามีเพียงสิบกว่าประเทศเท่านั้น (และหลายประเทศอยู่ในเอเชียตะวันออก) ที่สามารถเขยิบฐานะจากประเทศรายได้ปานกลางไปอยู่ในกลุ่มรายได้สูงต่อหัว การติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางของประเทศเป็นหนามยอกอกสำหรับผู้นำประเทศ ผู้นำของรัฐบาล คสช.จึงถือเป็นวาระสำคัญมุ่งใช้การปฏิรูป 20 ปี เป็นกลไกขับเคลื่อนไปสู่ประเทศรายได้ต่อหัวสูง

นักวิชาการได้เรียนรู้ เห็นความแตกต่างระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนา (development) ความเจริญเติบโตหรือความทันสมัยมักจะขาดพื้นฐานที่ยั่งยืน ไม่มีโครงสร้างที่เข้มแข็ง ความไม่เท่าเทียมกันสูง ขาดการพึ่งพาทรัพยากรภายในหรือทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ รายได้ต่อหัวหรือความมั่งคั่งที่มาจากความเจริญเติบโตจึงเป็นเพียงเครื่องมือ (means) แต่การพัฒนาจะต้องนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตซึ่งรายได้หรือความมั่งคั่งไม่จำเป็นต้องเป็นหลักประกัน ความมั่งคั่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพลเมืองดีขึ้นมันต้องการองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญอีกมาก กว่าสองพันปีมาแล้ว อริสโตเติลดูหมิ่นดูแคลนความมั่งคั่ง กล่าวไว้สองพันปีก่อนมาแล้วว่า “ความมั่งคั่งไม่ควรจะเป็นเป้าหมายของนครรัฐ ความมั่งคั่งมีประโยชน์เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับสิ่งอื่นๆ” ความมั่งคั่ง ไม่ว่าจะมีสักเท่าไหร่ ไม่สามารถทำให้ชีวิตเป็นอมตะ ในที่สุด เราทุกคนต้องตาย

มีตัวอย่างมากมายให้เห็นจากประเทศที่รายได้สูงเมื่อเทียบกับประเทศที่รายได้ต่ำในเรื่องของคุณภาพชีวิต คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเป็นคนจนโดยเปรียบเทียบในสหรัฐ แต่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่าคนจีนหรือคนอินเดียที่เป็นคนจน แต่จริงๆ คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจะมีชีวิตที่แร้นแค้น ลำบากกว่าคนจนในประเทศที่ยากจน ไม่เพียงแต่ว่าเป็นเพราะค่าครองชีพสูงและที่สำคัญ ก็คือบรรทัดฐานทางสังคมด้านคุณค่า ทำให้เขารู้สึกต่ำต้อย โดยเฉพาะการเข้าสมาคม ไม่มีศักดิ์ไม่มีศรี แต่ที่ร้าย
กว่าก็คือ โดยเฉลี่ย พวกเขามีอายุสั้นหรือตายเร็วกว่าวัยอันควรในคนระดับเดียวกัน ในจีน อินเดียในรัฐ Kerala เป็นเพราะการขาดแคลน ขัดสนในปัจจัยพื้นฐานโดยเฉพาะด้านการบริการสุขภาพและการศึกษา คนในมลรัฐ Kerala และจีนทำได้ดีมากแม้รายได้ต่อหัวน้อยกว่าคนในสหรัฐมาก สหรัฐอาจมีชื่อเสียงเป็นประเทศชั้นนำในด้านต่างๆ มีแสนยานุภาพด้านทหารเป็นหนึ่งในโลก มีมหา’ลัยชั้นนำท็อป 10 ของโลกอยู่ที่นี่ แต่ก็แปลกกลับไม่ใส่ใจปัจจัยที่มีต่อคุณภาพชีวิต เช่น ระบบประกันสุขภาพมีต้นทุนแพงมาก อายุขัยเฉลี่ยของคนอเมริกันต่ำกว่าหลายประเทศกลุ่มรายได้สูง อาชญากรรมและการใช้ความรุนแรงมีมาก คนอเมริกันกว่า 40 ล้านคนไม่มีประกันสุขภาพ อัตราคนติดคุกสูงที่สุดในโลก นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างของประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง

ขณะนี้รัฐบาล คสช.กำลังเดินหน้าโครงการ EEC เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 4.0 ผลลัพธ์ต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะ 2 จังหวัดนี้จะขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และพฤติกรรมของผู้นำโดยรวมว่าเป็นอย่างไร ในอีก 20 ปีข้างหน้า

Advertisement

ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นขีดจำกัดข้อด้อยของตัวเลขเฉลี่ย คือ GDP ต่อหัวของจังหวัดระยอง เมื่อเทียบกับจังหวัดนครปฐม และเปรียบเทียบกับเครื่องชี้คุณภาพชีวิตบางอย่าง หลายปีมาแล้ว สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ศึกษาสุขภาพของคนในจังหวัดระยอง เพราะระยองเป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เราพบข้อมูลที่น่าสนใจ

1.แม้จีดีพีต่อหัวของระยองในปี 2547 สูงกว่าของจังหวัดนครปฐมและของประเทศประมาณ 6 เท่า แต่รายได้ต่อครัวเรือนของระยองไม่ได้สูงกว่าของนครปฐมอย่างมีนัยยะสำคัญ ที่สำคัญก็คือ ร้อยละของครัวเรือนในระยองที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษสูงกว่านครปฐมและระดับประเทศถึง 2 เท่าตัว เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจและสังคม สุขภาวะอื่นๆ เช่น ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ อัตราผู้ป่วยเอดส์รายใหม่ อัตราเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง อัตราคดียาเสพติด หรือสัดส่วนประชากรที่ไม่ได้รับการศึกษา ล้วนสูงกว่าจังหวัดนครปฐมและระดับประเทศ

2.ข้อมูลข้างต้นบอกถึงต้นทุนที่สูงทางสังคมและต่อมนุษย์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จังหวัดระยอง อันเกิดจากการขาดวิสัยทัศน์และคุณภาพการบริหารของคนในสังคมทั้งในภาครัฐและเอกชน การให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต มันบ่งชี้ว่า ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ โดยไม่มีต้นทุนของการไต่เต้าสู่ความมั่งคั่ง หรือการพัฒนาอุตสาหกรรม เห็นได้ชัดว่านครปฐมกลับมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่กระจายตัวดีระหว่างเกษตร การค้า อุตสาหกรรม แต่ระยองโครงสร้างเศรษฐกิจร้อยละ 80 เป็นอุตสาหกรรมซึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ปิโตรเคมีในสัดส่วนที่สูง การเกษตรและการประมง (ประมาณร้อยละ 5) ทรงตัวแต่ไม่โต คนนครปฐมกลับมีสุขภาพโดยรวมดีกว่าคนระยอง บอกอะไรได้มากเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต

Advertisement

ปัญหาของการใช้รายได้ต่อหัวหรือความมั่งคั่ง จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้เราเข้าใจว่าคุณภาพและชีวิตของมนุษย์มีมิติที่เกี่ยวข้องกันและกันมากมาย มีความสลับซับซ้อนและที่สำคัญที่สุด เราไม่ควรจะใช้มาตรวัดมาตรเดียว (เช่น รายได้ ความมั่งคั่ง อรรถประโยชน์ที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักใช้มายาวนาน ซึ่งก็มีข้อดีแต่ก็มีข้อเสียมาก) มาใช้กับมนุษย์ที่มีความแตกต่าง มีความหลากหลายในความจำเป็น ในความต้องการที่มีต่อทรัพยากร (คนจนที่ป่วยเรื้อรัง จำเป็นต้องมีเงินมากกว่าคนจนที่ไม่ป่วย หญิงที่มีครรภ์ต้องการอาหารพิเศษ คนแก่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ คนพิการต้องการรถเมล์ชานต่ำ คนจนเมืองใหญ่ต้องแต่งตัวให้เป็นที่ยอมรับมากกว่าอยู่ชนบท เพราะฉะนั้น แจกเงินแก่คนจนเท่าๆ กันหรือแนวคิดเรื่อง basic income ไม่น่าจะใช่)

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการการยอมรับการสมาคม การเคารพนับถือ มีศักดิ์มีศรี มีส่วนร่วมในระบบการปกครอง แต่ไหนแต่ไรมาแม้ในสังคมทาสโบราณ เราเปรียบเทียบเสรีชนกับทาส เราเปรียบเทียบความแตกต่างของความสุขของมนุษย์ที่เกิดจากลัทธิบริโภคนิยมที่มีแต่ละปริมาณ แต่ขาดความนุ่มลึกและความงดงาม ในสังคมสมัยใหม่ ไม่มีใครพอใจในสภาพการดำเนินชีวิต การทำงานที่ขาดเสรีภาพในการเลือก แม้จะกินอาหารครบหมวด มีที่อยู่อาศัยแต่อยู่ในสภาพเหมือนทาสติดที่ดิน นักปรัชญาในอดีตทั้งตะวันตกและตะวันออก เช่น Aristotle และกลุ่ม Stoic หรือ รพินทรนาถ ฐากูร ไม่เคยให้ความสำคัญกับรายได้ และความมั่งคั่ง เป็นหัวใจในการดำรงอยู่เป็นมุนษย์

ในปัจจุบันมีนักคิด เช่น Amarta Sen นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลและ Martha Nussbaum นักปรัชญาและนักกฎหมายที่ฉีกแนวคิดออกจากรายได้ ความมั่งคั่ง และอรรถประโยชน์ Nussbaum ให้ความสำคัญกับเสรีนิยมทางการเมืองโดยต่อยอดความคิดของ John Rawls ซึ่งเป็นอาจารย์ของเธอ เธอตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ 10 ข้อหรือหลักการที่มนุษย์ต้องมีเพื่อที่จะสามารถมี capabilities ดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพที่ตนเองเลือก Sen-Nussbaum ต่อยอดนักคิดในอดีต Sen ให้ความสำคัญกับสังคมหรือรัฐที่ดูแลสุขภาพและการศึกษา แต่แก่นปรัชญาของทั้ง 2 คนมีจุดร่วมกันก็คือ มองการพัฒนามนุษย์เป็นสิ่งเดียวกันกับการส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ ซึ่งก็คือสิ่งเดียวกันกับการพอกพูนเติบโตในเสรีภาพของมนุษย์ (เช่น เสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนทางสังคม เสรีภาพด้านความโปร่งใส เช่น การเข้าถึงข้อมูล เสรีภาพความปลอดภัยในชีวิต และด้านการคุ้มครองสวัสดิการ) ซึ่งจะทำให้มนุษย์งอกงามและเจริญเติบโต Capabilities Approach ของทั้งสองคน มองมนุษย์อย่างมีศักดิ์มีศรี ให้ความเคารพนับถือมนุษย์ (จริงๆ แล้วเช่นเดียวกับสัตว์) ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้ามนุษย์มีเสรีภาพ (ซึ่งก็คือมีสิทธิที่จะเลือก) ในมิติต่างๆ มนุษย์จะสามารถใช้โอกาสที่มีอยู่และความสามารถในตัวของตัวเองแปลงความสามารถให้เป็นสิ่งที่เขาอยากเป็นและอยากทำ (Being and Doing) คนจำนวนมากมีความสามารถแต่อยู่ในสังคมที่กติกาหรือสถาบันปิดกั้นเสรีภาพตั้งแต่การดำเนินเศรษฐกิจหรือปิดกั้นโอกาส เช่น ได้รับการศึกษา แต่สิ่งแวดล้อมไม่เปิดโอกาสให้ได้ใช้หรือแสดงออก คนจำนวนมากเกิดมาในระบบที่ล็อกหรือปิดกั้นเสรีภาพโดยกระบวนการต่างๆ ที่แยบยล คนไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน มีตัวอย่างมากมายในชีวิต

ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เรากำลังจะมีการเลือกตั้ง Sen ให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมือง (Civil liberty) เพราะมันทำให้เกิด “Government by discussion” เขาคิดว่าประชาธิปไตยเป็นค่านิยมที่เป็นสากล เขาไม่เห็นด้วยกับอดีตผู้นำสิงคโปร์ ลี กวน ยิว ที่คิดว่าประชาธิปไตยเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับคนเอเชียหรือประเทศยากจน ที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือรัฐต้องมาก่อนเสรีภาพของปัจเจกชน Sen คิดว่าสิงคโปร์และจีนเป็นตัวอย่างที่ไม่เพียงพอ สำหรับการปฏิเสธความสำคัญของประชาธิปไตย Sen เห็นว่า ข้อมูลเชิงประจักษ์ไม่พบว่า ประชาธิปไตยเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ Sen มองว่าประชาธิปไตยเป็นทั้งเครื่องมือและสำคัญโดยตัวมันเอง ประชาธิปไตยช่วยสร้างฉันทานุมัติร่วมกันในสังคม เช่น ระบบคุณค่า ความเป็นธรรม และมันเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปกครอง ในที่สุดต้องฟังประชาชน โดยเหตุนี้ ทุกพิษภัยหรือ Famine จึงไม่เคยเกิดในรัฐบาลประชาธิปไตยแต่เกิดในรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลของเจ้าอาณานิคม เช่น อังกฤษในอินเดีย

ในอนาคต แผนปฏิรูป 20 ปีของ คสช. ควรเป็นแผนที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกติกาทั้งเล็กทั้งใหญ่ เช่น รัฐธรรมนูญ ในการพัฒนาประชาธิปไตยและเสรีภาพ

สังคมหรือรัฐหรือระบบการเมืองที่ปิดกั้นเสรีภาพในการพัฒนา capabilities ของมนุษย์ อันตรายมากกว่าระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีการเจริญเติบโต และการเจริญเติบโตในด้านความมั่งคั่งก็จะไม่ยั่งยืน ถ้าพลเมืองไม่มีเสรีภาพที่สมบูรณ์ในการพัฒนา capabilities ของตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image