ไทยพบพม่า : เน วินกับระบอบเผด็จการทหารในพม่า (7) โดย ลลิตา หาญวงษ์

เมื่อเน วินรัฐประหารรัฐบาลของอู นุ ในวันที่ 2 มีนาคม 1962 (พ.ศ.2505) เน วินเองก็ไม่ทราบว่ารูปร่างค่าตาของรัฐบาลใหม่ของตนจะออกมาเป็นอย่างไร และสภาปฏิวัติจะมีนโยบายใดเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ซบเซามาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับเน วิน ปัญหาของชาติที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจหรือการขจัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร แต่เป็นการยึดสหภาพพม่าที่กำลังจะแตกสลายเข้าด้วยกัน โดยใช้กองทัพเป็นกาวเชื่อมสมานบาดแผลที่เรื้อรัง และเน วินเป็นแพทย์มือฉมังผู้รักษาโรคร้ายนี้ เน วินมองว่าการแก้ปัญหาทุกอย่างในพม่าต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เขาเลือกแนวทางแบบสังคมนิยมมาใช้เพื่อฟื้นฟูพม่าให้กลับมาเข้มแข็งดังเดิม

การสร้างประเทศที่เข้มแข็งต้องเริ่มจากการให้ประชาชนตระหนักว่าระบอบสังคมนิยมแบบพม่าที่เน วินจะนำมาใช้เป็นระบบที่ดี อันจะนำมาซึ่งความผาสุกของชาติ หน่วยสงครามจิตวิทยาจึงถูกตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลรักษาการระหว่าง 1958-1960 (พ.ศ.2501-2503) เพื่อบ่มเพาะให้ชาวพม่าเกลียดชังคอมมิวนิสต์ รัฐบาลประกาศว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อพุทธศาสนา และตั้งขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในนามองค์การชาติสามัคคีขึ้น ที่จะเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐบาลรักษาการของเน วินเพื่อจำกัดความเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในพม่า ในทางการเมือง สภาปฏิวัติมุ่งสร้างระบอบพรรคเดียว เพราะมองว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาสร้างความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองแต่ละฝ่ายและสร้างปัญหาให้ประเทศชาติมามากพอแล้ว

นอกจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างขันแข็งแล้ว ภารกิจหลักของเน วินคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่วิธีคิดของเน วินและคนในรัฐบาลสวนทางกับแนวทางเศรษฐกิจโลกในเวลานั้น ที่มุ่งให้ประเทศกำลังพัฒนาพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ในความคิดของผู้นำพม่า ระบอบอาณานิคมได้สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจพม่า นำพาทุนต่างชาติเข้ามาผูกขาดกิจการขนาดใหญ่ อาทิ บริษัทน้ำมัน บริษัทขนส่ง โรงสีข้าว การธนาคาร หรือแม้แต่พ่อค้ารายย่อยที่ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวอินเดีย ชาวจีน หรือชาวตะวันตก คนในรัฐบาลจึงต้องการกำจัดเศษซากของอาณานิคมออกให้หมดเสียก่อน นำไปสู่การออกนโยบายโอนกิจการของเอกชนขนาดใหญ่มาเป็นของรัฐ

เน วินเน้นว่าการโอนกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐไม่ใช่แนวทางแบบคอมมิวนิสต์ เพราะรัฐบาลเน วินไม่ต้องการยึดทรัพย์นักธุรกิจ สังคมนิยมแบบเน วินในช่วงแรกคือการเก็บคนรวยไว้ แต่คนรวยก็ต้องกระจายความร่ำรวยของตนไปสู่คนยากคนจนมากขึ้น คนรวยหรือคนชั้นกลางอาจจะร่ำรวยน้อยลง แต่คนเหล่านี้ “จะไม่มีวันเป็นคนยากจนโดยเด็ดขาด” เน วินอ้างว่าประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีแต่จะทำให้คนรวยรวยขึ้น และเอารัดเอาเปรียบคนจน เน วินไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม แต่สังคมนิยมแบบเน วิน (ว่ากันว่ามีต้นแบบจากประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก) มีเป้าหมายเพียงการสร้างความอยู่ดีกินดีให้ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การถกเถียงระหว่างเน วิน กับสมาชิกสภาปฏิวัติ และการหารือกับนักการเมืองหลายฝ่าย ออกดอกออกผลมาเป็นปรัชญาของพรรคการเมืองพรรคเดียวในนาม BSPP (Burmese Socialist Programme Party) หรือพรรคแผนการสังคมนิยมแบบพม่า ประกอบไปด้วยคณะทำงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการด้านวินัยของพรรค และคณะกรรมการด้านการวางแผนเศรษฐกิจ

Advertisement

นักการเมืองในอดีตรัฐบาลของอู นุมองนโยบายสังคมนิยมของเน วินแบบแบ่งรับแบ่งสู้ แม้สภาปฏิวัติจะหารือกับนักการเมืองหลายฝ่ายหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีใครจะหยุดปณิธานที่มุ่งมั่นของเน วินได้ เมื่อนโยบายของสภาปฏิวัติและการถือกำเนิดขึ้นของ BSPP แพร่กระจายออกไป คนกลุ่มแรกๆ ที่มีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อแนวทางของเน วินคือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบมาร์กซ์และคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ในช่วงแรกๆ ท่าทีของนักศึกษาต่อการเถลิงอำนาจของเน วินยังไม่ชัดเจน เพราะในขณะนั้น เน วินยังเป็นผู้นำที่คนพม่าจำนวนมากให้การยอมรับ และมองว่าจะมาเป็นผู้นำในรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากกว่ารัฐบาลของอู นุได้ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากสหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แต่สภานักศึกษาฝ่ายซ้ายกลับประกาศสนับสนุนเน วิน และต่อมาสหภาพนักศึกษาแห่งพม่า (ABFSU – ที่ครั้งหนึ่งเคยมีออง ซานนั่งเป็นประธาน) ก็ประกาศรับรองรัฐบาลเน วินด้วยเช่นกัน

ระหว่างรัฐประหารของเน วินเป็นช่วงปิดเทอม เป็นช่วงที่นักศึกษาเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง หอพักในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งแทบร้าง แต่ท่าทีของนักศึกษาต่อรัฐบาลเน วินจะเปลี่ยนไปมากตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1962 เมื่อนักศึกษาเปิดเทอม และพบว่ารัฐบาลได้เข้าไปควบคุมกิจการภายในมหาวิทยาลัย และออกกฎเกณฑ์ใหม่ เช่น การควบคุมหอพักนักศึกษาอย่างเข้มงวด มีเคอร์ฟิวหลัง 2 ทุ่ม และยังมีกฎอีกหลายข้อที่ทำให้นักศึกษาเริ่มตระหนักว่าเน วินต้องการควบคุมนักศึกษาอย่างจริงจัง และต้องการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นค่ายทหาร ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นตามลำดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในขณะนั้นถูกบังคับให้ลาออก และมีคนของสภาปฏิวัติเข้าไปนั่งแทน สภาปฏิวัติยังเข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัยแบบเบ็ดเสร็จ ยกเลิกสภามหาวิทยาลัย ที่ก่อนหน้านี้มีสมาชิกที่เป็นนักวิชาการ นักบริหาร และข้าราชการผสมกันไป

การยึดอำนาจในมหาวิทยาลัยสร้างความไม่พอใจให้นักศึกษาอย่างรุนแรง การประท้วงกระจายออกไปและมีคนมาเข้าร่วมถึง 2,000 คน การประท้วงยืดเยื้ออยู่ราว 1 เดือน เน วินจึงออกคำสั่งให้กองทัพหาวิธีสลายการชุมนุม นำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาผู้ประท้วง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 15 คน เน วินยังสั่งให้ระเบิดอาคารที่ทำการสหภาพนักศึกษา ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งมาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 และเป็นแหล่งบ่มเพาะนักชาตินิยมคนสำคัญๆ ของพม่า นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยย่างกุ้งและมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ยังถูกสั่งปิดชั่วคราวเป็นเวลาเดือนเศษ

Advertisement

การปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรงในครั้งนั้นมาจากความเชื่อของรัฐบาลเน วินที่ว่ามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสหภาพนักศึกษา เป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างรอยร้าวระหว่างนักศึกษากับรัฐบาลต่อมาอีก 2 ทศวรรษ และทำให้ทัศนคติระหว่างนักศึกษา ตลอดจนอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยที่มีต่อคนในกองทัพแย่ลงตามลำดับ ครั้งหนึ่งมีทหารขับรถส่วนตัวเข้าไปในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แต่ก็ถูกขับไล่ออกมาโดยนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ที่ต่อมาจะยึดและเผารถของนายทหารผู้นั้น มีเรื่องเล่าอีกว่าเน วินเคยมีเรื่องกับอาจารย์สอนฟิสิกส์ 2 คนจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ที่ถ่มน้ำลายใส่ภรรยาของเน วิน (ในเวลานั้นคือขิ่น เม ตัน) เพราะไม่พอใจทั้งเน วินและ BSPP ด้วย

นับจากนี้ “ความขลัง” ของมหาวิทยาลัยในพม่าจะลดลงไปมาก เพราะกองทัพและสภาปฏิวัติเชื่อว่านักศึกษาสร้างปัญหา และเป็นภัยต่อความอยู่ดีกินดีของสหภาพพม่า แม้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจะยังคงมีต่อไป แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ย และการควบคุมมหาวิทยาลัยอย่างเข้มงวด ทำให้ระบบการศึกษาระดับสูงในพม่า ที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียตกต่ำสุดขีด ในท้ายที่สุด เมื่อมีการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ในปี 1988 (พ.ศ.2531) ก็เป็นนักศึกษานี่แหละที่เป็นหัวหอกนำประชาชนออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลเน วินควรจะทราบดีว่ายิ่งกดขี่และกดดันนักศึกษามากเพียงใด นักศึกษาก็จะยิ่งฮึกเหิม เก็บความโกรธแค้นไว้เป็นแรงบันดาลใจจากรุ่นสู่รุ่น จนในที่สุด พลังเงียบของนักศึกษาและคนหนุ่มสาวก็สามารถโค่นล้มระบอบเน วินได้สำเร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image