จิตวิวัฒน์ : การทดลองที่ยิ่งใหญ่ : โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู

ตอนนี้ ผมอายุ 65 ปีแล้ว ชีวิตที่ผ่านมาคือการทดลองอันยิ่งใหญ่ หากจะเป็นอะไรไปก็คิดว่าได้ใช้ชีวิตนี้อย่างคุ้มค่าแล้ว

ต้นปี 2561 ผมเริ่มทำชั้นเรียน Inner Transformation หลักสูตร 2 ปี เรียนเดือนละ 2 วัน (ติดกัน) ผมเคยจัดชั้นเรียนคล้ายๆ กันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นหลักสูตรกระบวนกร 2 ปี คราวนั้นเรียนครั้งละหนึ่งวัน เดือนละครั้งต่อเนื่องกัน กว่าจะครบ 2 ปี นักเรียนก็ร่อยหรอไปตามลำดับ แต่ปีนี้ Inner Transformation อยู่ยงคงกระพัน อย่างน้อยอยู่มาครบปีหนึ่งเต็ม อาจจะมีนักเรียนหลุดออกไปบ้าง 1-2 คน ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงาม

การทดลองนี้ทำอะไรบ้าง? ผมได้สั่งสมอะไรมาบ้างจึงเกิดการทดลองอย่างยิ่งใหญ่นี้ขึ้นมาได้

หนึ่ง ผมเป็นคนจัดการศึกษาให้ตนเองโดยแท้

Advertisement

ผมออกจากบ้านและออกจากมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 19 ปี และได้ดำรงอยู่กับคำว่าข้าพเจ้าทดลองความจริง แบบมหาตมะ คานธี อาจไม่ได้สวยงามเท่าท่าน แต่ล้มลุกคลุกคลานมาพอฟัดพอเหวี่ยงเลยทีเดียว

ผมไม่ได้เรียนจากสถาบันที่เป็นทางการ แต่เรียนจากครูที่ผมนับถือ เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, นิโคลัส เบนเน็ต, ไอวาน อิลลิช, ติช นัท ฮันห์ และเชอเกียม ตรุงปะ เป็นต้น

ส่วนหนึ่งของครูเหล่านี้ ผมเรียนจากหนังสือที่พวกท่านเขียน

Advertisement

แต่ผมอ่านได้คุ้มค่าจริงๆ ผมใช้หนังสือเป็นสื่อเพื่อเข้าถึงตัวตนของครู เวลาอ่านหนังสือของครู ผมจะเข้าไปดื่มด่ำกับตัวอักขระและลงลึกไปในระหว่างบรรทัดด้วย ลงลึกเข้าไปในวิญญาณของครู เพราะตัวหนังสือของครูโอบอุ้มบางอย่างเอาไว้ ตรงนั้นจะน่าสนใจที่สุด แล้วผมก็เอาตัวลงไปเป็นอย่างครู หรือเป็นครู ณ ขณะนั้นๆ เลย

ผมเรียนแบบนี้กับใครบ้าง ยกตัวอย่างเช่น อาร์โนลด์ มินเดล, ฮัลและซิดรา สโตน, มาร์กาเร็ต วีตเลย์ ก่อนหน้านั้นในวัยเยาว์ก็มี ไดเซ็ต ไททาโร ซูซูกิ เป็นต้น

ผมพบว่าคนเหล่านั้นก็ทำอะไรคล้ายๆ ผม คือพวกเขามีความกล้าเอาตัวลงไปเล่น กล้าหลอมรวมตัวเองไปเป็นตัวตนครูของเขา และกล้าต่อบทเรียนครูของเขาเพื่อไปข้างหน้า คือกล้าไปไกลกว่าครูอีกด้วย

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะคนเรามักจะแหย และวัฒนธรรมสังคมก็มักจะสะกดเราเอาไว้ ทำให้เราไม่กล้า

ผมไม่ได้พูดอย่างปราศจากการถ่อมตนนะครับ คนละเรื่องกัน เราต้องมีความถ่อมตน การมองตัวเองตามความเป็นจริงแบบไม่เข้าข้างตัวเอง มิฉะนั้นเราจะไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ไม่ได้ ถึงที่สุดเราต้องรับรู้ความเป็นจริงได้อย่างไม่บิดเบือนด้วย เราจึงจะไปไกลได้ตามที่ปรารถนาจริงๆ

สอง การจับประเด็น

คำนี้มาจาก อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และเป็นฐานสำคัญในการจับประเด็นของผม กล่าวได้เลยว่า ครูต้นธารของผมคือท่าน ผมซึมซาบเรื่องหลักๆ และประเด็นปลีกย่อยอันสำคัญต่างๆ หรือเคล็ดวิชาในการจับประเด็นมาจากท่านเอง

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะกล่าวไว้ให้ปรากฏก็คือการที่จะตีประเด็นการศึกษาให้เด็ดขาดได้ ก็มีไอวาน อิลลิช โดยเฉพาะหนังสือ Deschooling Society ของเขาลึกลงไปกว่านั้นก็ลองติดตามความคิดเรื่อง vernacular ของเขา ผมคิดว่านี่คือปัญญาอันสุดยอดของโลกแล้ว ใครอ่านเรื่องนี้แตกหรือสนใจอ่านให้แตกฉานจะมาคุยกับผมก็ยินดีครับ

ยกตัวอย่างการจับประเด็นเรื่องหนึ่งของผมคือ ผมหาหนังสือที่ดีที่สุดเกี่ยวกับทรอม่า (ปมบาดแผล) มาอ่านประมาณ 20 เล่ม และล่าสุดได้เข้าเรียนออนไลน์ของสถาบัน NICABM:Health, Wellness and Fitness เพื่อเข้าไปเรียนเรื่องทรอม่าและวิธีการเยียวยา

น่าสนใจมากว่าผู้คนที่สถาบันแห่งนี้เลือกมาสอน ก็เป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่มที่ผมกำลังอ่านอยู่นั่นเอง เช่น Allan Schore, Bessel van der Kolk, Dan Siegel, Pat Ogden เป็นต้น ที่จริงอ่านหลากหลายกว่านี้ครับ แค่ยกตัวอย่างที่มีตรงกับหลักสูตรเท่านั้น

ผมจับประเด็นการศึกษาด้วยตัวเองอย่างนี้ครับ

ผมค่อยๆ ถามหา สืบค้นและตกผลึกว่าผมจะศึกษาเรื่องอะไร หรืออีกนัยหนึ่ง ผมอยากทำอะไร อยากให้ความหมายกับอะไรในโลกใบนี้แล้วผมก็ค่อยๆ ตกผลึก หลอมรวมเป็นประเด็นหนึ่งเดียว นั่นคือ Inner Transformation หรือการเปลี่ยนแปลงด้านในของมนุษย์ เพื่อไปสู่ศักยภาพที่ดีกว่า ทั้งความสำเร็จและความสุขในชีวิต

เมื่อผมได้ประเด็นแล้ว ผมก็หาคน หรือยอดคนที่รู้เรื่องนี้ในแง่มุมต่างๆ เราไม่ต้องรู้มากมายครับ แต่เราต้องรู้จริง รู้ลึก และนั่นคือการศึกษายอดคนต่างๆ อย่างลึกซึ้งพิสดาร

ผมมีสัมผัสวิเศษอย่างหนึ่งคือ สามารถอ่านอย่างไม่ธรรมดา และบรรดายอดคนเหล่านี้ ก็เขียนอย่างไม่ธรรมดาด้วยเช่นกัน พวกเขาเขียนหนังสือด้วยจิตวิญญาณจริงๆ และเมื่อเราอ่านด้วยจิตวิญญาณ ใจถึงใจ จิตถึงจิต มันถ่ายเทกันได้ เหมือนการดาวน์โหลดภูมิปัญญาอันสุดยอด ณ ขณะนั้นๆ ได้เลยครับ ผมให้การศึกษาตนเองด้วยวิธีเช่นนี้เอง

ท้ายสุด เมื่อผมศึกษา Inner Transformation ก็หนีไม่พ้นเรื่องเยียวยา เพราะเราจะปลดล็อกอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงภายใน ปลดปล่อยอานุภาพที่แท้ของ “จิต” ออกมาได้จะต้องเยียวยาปมหรือทรอม่าให้ได้เสียก่อน

สาม ความกล้าในการคว้าจับสุดยอดวิชาของโลก

วัฒนธรรมหรืออารยธรรมของสังคมใดๆ ณ เวลาใดๆ เดินช้าเหมือนฝูงแกะ ที่ความเร็วของฝูงจะเทียบเท่าแกะตัวที่เดินช้าที่สุด

แต่ลึกลงไปในมนุษย์แต่ละคน คือ จิตเดิมแท้ หรือ จิตประภัสสร มันหลุดพ้นที่สุดอยู่แล้ว โดยไม่ต้องไปทำอะไรเลย เราเพียงแต่หาวิธีเข้าถึงจิตในสุด อันเป็นจิตประภัสสร เราก็ถึงที่หมายที่ต้องการ คือการหลุดไปจาก “ความกลัว” อันส่งทอดต่อกันมาในวัฒนธรรมหรืออารยธรรมของสังคมนั้นๆ

ในที่สุดผมจึงค้นพบจิตประภัสสรนี้

ในวิชาซกเชนหรือจิตประภัสสร (คำหลังนี้ผมเลือกศัพท์มาแทนคำว่า Pristine Mind อันเป็นคำที่พระทิเบตรูปหนึ่งเลือกมาใช้แทนคำว่าซกเชน) กล่าวไว้ว่า จิตสมบูรณ์แบบอยู่แล้วจิตไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง คือเป็นพลวัต และเป็นองค์กรจัดการตัวเองด้วย นอกจากนี้ ยังเป็น non-local ที่จิตของเรากับจิตของจักรวาลหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

จิตจึงกระทำการของเธอเองอย่างชาญฉลาดที่สุดอยู่แล้ว

ที่สำคัญเราต้องศรัทธาและวางใจในจิตนี้

สุดยอดวิชาของโลกต่างๆ ก็มาจากจิตนี้

เราเพียงแต่เสียบปลั๊กเข้าไป ก็ได้มาซึ่งสุดยอดวิชาของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

สี่ การหลอมรวมตกผลึก

ทั้งสามประการสำคัญแห่งการทดลองอันยิ่งใหญ่นี้ ผมได้หลอมรวมมาเป็นหลักสูตรสองปี สองหลักสูตร คือ หนึ่ง Inner Transformation สอง เยียวยาใจด้วยธรรมะ

ทั้งสองหลักสูตรเรียนเดือนละ 2 วันติดกัน 24 เดือน 2 ปี

การเรียนแบบนี้ ไม่ใช่เฉพาะการเรียนเนื้อหาวิชาเท่านั้น หากผสมผสานภาคปฏิบัติด้วย ที่เรียนเดือนละ 2 วันและพักว่าง เพื่อจะให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ นำสิ่งที่เรียนไปทดลองใช้ แล้วจึงกลับมาทบทวนใคร่ครวญปฏิบัติการที่ได้กระทำลงไปในชีวิต ในสังคม ในโลกด้วยกระบวนการไดอะล็อก และเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่เข้าไป ประกอบกันเป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ วนไปมาอย่างนี้ จนชำนิชำนาญ เป็นเนื้อเป็นตัว จึงจะได้ชื่อว่าจบหลักสูตร

นี้แลคือมรดกที่ผมมอบไว้ให้กับสังคมนี้ ประเทศนี้

วิศิษฐ์ วังวิญญู
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image