รื่นร่มรมเยศ : พุทธวิธีเสริมสุขภาพ ตอน 2 : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

องค์แห่งการตรัสรู้และสุขภาพที่สมบูรณ์

ต่อจากนี้ก็ควรจะมาสำรวจกันว่า หลักธรรมที่เป็นองค์ประกอบของการตรัสรู้นั้นมีอะไรบ้าง และมีความหมายอย่างไร โพชฌงค์ 7 เหมือนอย่างที่บอกไว้ในบทสวดมนต์ว่า โพชฌงโค สะติสังขาโต…

โพชฌงค์ เริ่มด้วย

องค์ที่ 1 คือ สติ
องค์ที่ 2 คือ ธัมมวิจยะ
องค์ที่ 3 คือ วิริยะ
องค์ที่ 4 คือ ปีติ
องค์ที่ 5 คือ ปัสสัทธิ
องค์ที่ 6 คือ สมาธิ
องค์ที่ 7 คือ อุเบกขา

Advertisement

รวมเป็นองค์ธรรมที่เรียกว่า โพชฌงค์ 7 ประการ ด้วยกัน ทีนี้ลองมาดูความหมายเป็นรายข้อเสียก่อน

ในหลักธรรมที่เรียกว่า “โพชฌงค์” หรือ องค์แห่งการตรัสรู้ นั้น การตรัสรู้เป็นจุดหมายที่ต้องการองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ ก็เปรียบเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยให้บรรลุจุดหมายที่ต้องการ ก่อนที่จะใช้เครื่องมือก็ต้องทำความรู้จักกับเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ก่อนว่าอุปกรณ์แต่ละอย่างนั้นมีอะไรบ้าง จะใช้สำหรับทำอะไร

องค์ประกอบที่ 1 “สติ” สติเป็นธรรมที่เรารู้จักกันดี แปลว่าความระลึกได้ ระลึกได้อย่างไร ท่านบอกว่าสตินั้นมีลักษณะเป็นเครื่องดึงจิตใจไว้กับสิ่งนั้นๆ ซึ่งภาษาธรรมเรียกว่า “อารมณ์” ดึงจิตหรือกุมจิตไว้กับอารมณ์

Advertisement

อารมณ์ในที่นี้ก็คือ สิ่งที่เราต้องการเกี่ยวข้องทุกอย่าง สิ่งที่เรารับรู้ สิ่งที่ใจเรานึกถึงได้ เรียกว่า “อารมณ์” ไม่ใช่อารมณ์อย่างในภาษาไทย ในที่นี้เพื่อกันความสับสนกับภาษาไทยที่พูดว่า สิ่ง แทนที่จะพูดว่าอารมณ์

สติมีหน้าที่ดึงหรือตรึงจิตไว้กับสิ่งนั้นๆ ถ้าเราจะทำอะไรก็ให้จิตระลึกถึงสิ่งนั้น ดึงเอาไว้เหมือนกับดึงเชือก สมมุติว่ามีหลักปักไว้ และมีสัตว์ตัวหนึ่งเป็นต้นว่าลิงถูกเชือกผูกไว้กับหลักนั้น จิตของเรานี้เปรียบเทียบได้กับลิงเพราะว่าวุ่นวายมาก ดิ้นรนมาก อยู่ไม่สุข ท่านเปรียบว่าต้องผูกลิงไว้กับหลัก มิฉะนั้นลิงก็จะหนีไป ไม่อยู่กับที่ หรือหลุดหายไปเลย สิ่งที่จะผูกลิง ก็คือเชือก เมื่อเอาเชือกมาผูกลิงมัดไว้กับหลัก ลิงไปไหนไม่ได้ ก็วนอยู่กับหลักหรือใกล้ๆ หลัก

ท่านเปรียบในทางธรรมว่า จิตนั้นเหมือนกับลิง หลักที่ผูกไว้นั้น เหมือนกับสิ่งที่เราเกี่ยวข้องต้องทำในขณะนั้น จะเป็นกิจที่ต้องทำ หรือเป็นธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็คือหลักนั้น เชือกที่ผูกก็คือสติ สติเป็นตัวที่ผูกจิตไว้กับหลักหรือสิ่งนั้น ดึงไว้ คุมไว้ กำกับไว้ไม่ให้หลุดหายไป

ถ้าเป็นสิ่งเฉพาะหน้า ซึ่งปรากฏอยู่หรือโผล่เข้ามา ก็เพียงแต่ดึงจิตไว้กับสิ่งนั้นๆ กุมไว้ กำกับไว้ไม่ให้หลุดลอย หรือผ่านหายไปไหน อย่างที่พูดกันว่าเวลาทำอะไรก็ให้ระลึกไว้ คือ คอยนึกถึงสิ่งที่เรากำลังทำนั้น นึกถึงอยู่เรื่อยๆ ให้สิ่งนั้นอยู่ในการรับรู้ หรืออยู่กับจิตของเราไม่ให้คลาด ไม่ให้พลัดกันไป อย่าให้สิ่งนั้นหลุดหาย หรืออย่าให้จิตของเราฟุ้งซ่านล่องลอยไปที่อื่น

แต่ทีนี้ ถ้าสิ่งนั้นอยู่ห่างไกลออกไปไม่ปรากฏอยู่เช่นเป็นเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ธรรมคือคำสอนที่ได้ฟังมาก่อน หรือสิ่งที่เล่าเรียนไว้ เมื่อหลายวันหรือหลายเดือนมาแล้ว สิ่งนั้นอยู่ห่าง สติก็มีหน้าที่ดึงเอามา หรือดึงจิตไปไว้กับสิ่งนั้น ทีนี้ถ้าสิ่งนั้นอยู่ห่างก็ดึงเอามา หรือดึงจิตใจไปไว้กับสิ่งนั้น ให้ไปอยู่ด้วยกัน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าสติ

สติ ดึงเอาจิตมากำกับไว้กับสิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่เราควรจะเกี่ยวข้อง ทำในสิ่งนั้น อยู่ในการรับรู้ของจิต ไม่หลุดลอย ไม่หล่นหาย ไม่พลัดกันไปเสีย นี้คือหน้าที่ของสติ ประโยชน์ของสติก็อยู่ตรงนี้ อันนี้คือเครื่องมือหรืออุปกรณ์ข้อที่ 1 ได้แก่ สติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image