ฟิวเจอร์เพอร์เฟ็กต์ : ลืมบ้าง, จำบ้าง

จู่ๆ คุณก็นึกขึ้นมาได้ว่า เคยอ่านเรื่องของมนุษย์ที่จำได้ทุกอย่างไม่เคยหลงลืม พวกเขาจำได้แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบปีก่อน แม่นยำราวกับมันมาแสดงให้เห็นตรงหน้าอีกครั้งและอีกครั้งตามที่จะเรียกดู เหมือนกับแผ่นดิสก์ที่บันทึกเหตุการณ์ไว้คมชัดและไม่เคยเก่า บางคนเรียกสิ่งนี้ว่าพรสวรรค์ แต่บางคนก็เรียกมันว่าคำสาป

พวกเขา เหล่านักจำสมบูรณ์แบบ ไม่ได้มีความสุขเท่าไร ความสามารถนี้ถูกเรียกว่าความทรงจำแบบภาพถ่ายบ้าง หรือความทรงจำแบบ Eidetic บ้างหากพูดถึงในแง่ดี หรือก็อาจถูกเรียกว่าภาวะ Hyperthymesia หากจะพูดกันทางการแพทย์ หญิงคนหนึ่งซึ่งมีนามแฝงว่า AJ มีความสามารถในการจดจำเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ทั้งหมด แต่เธอกลับจดจำอย่างอื่น ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเธอตรงๆ ไม่ได้เลย

ความทรงจำไหลบ่าโถมทับเข้ามาอย่างควบคุมไม่ได้ หยุดยั้งไม่ได้ จนพาให้หมดเรี่ยวแรง, AJ อธิบายความรู้สึกของเธอไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง, เธอไม่คิดว่าความทรงจำของเธอคือความสามารถ, เธอคิดว่ามันเป็นภาระหนักอึ้ง

เช่นเดียวกับผู้มีความทรงจำใกล้สมบูรณ์แบบหลายคน เธอมักจะหลงเข้าไปในเหตุการณ์เก่าๆ ทำให้เธอเข้าใจเหตุการณ์ปัจจุบัน หรือคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ยากเต็มที

Advertisement

พอถึงตรงนี้ คุณก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมมนุษย์จึงหลงลืม?

หนึ่งในคำตอบที่เป็นไปได้ก็คือ เราหลงลืมเพื่อให้เราเข้าใจโลก เราไม่จำเป็นต้องจดจำโลกและประสบการณ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบเพื่อที่จะเข้าใจมัน เราเลือกจดจำเพียงสิ่งที่สำคัญ มีคุณค่า และเกี่ยวข้องหรือจะมีประโยชน์กับเราในอนาคต และสามารถปล่อยเรื่องที่ธรรมดาสามัญหรือมีคุณค่าต่ำกว่าให้ผ่านเลยไปได้

ถึงแม้เราอาจคิดว่าคอมพิวเตอร์นั้นไม่มีวันหลงลืม ความทรงจำของมันถูกเก็บอยู่ในหน่วยเทราไบต์ที่ราคาฮาร์ดดิสก์ก็ถูกลงๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป ความสามารถในการจดจำของมันจึงดูไร้ขีดจำกัด แต่ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ปัจจุบัน แนวคิดเรื่อง ‘การหลงลืม’ ก็มีประโยชน์มากทีเดียว

Advertisement

คริสโตเฟอร์ สแตนตัน นักวิจัยด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น-ซิดนีย์ อธิบายว่าความสามารถในการหลงลืมนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ เพราะ             อัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่องจักรกลนั้น มีความสามารถที่จะเลือกเก็บข้อมูลเก่าบางชิ้นที่ยังสำคัญไว้      ในขณะที่ทิ้งข้อมูลที่ไม่สำคัญไป ได้ไม่เท่ามนุษย์

การเลือกเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ และใช้เป็นตัวแปรในการคิดทุกๆ สิ่งนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาที่วงการปัญญาประดิษฐ์เรียกว่า Overfitting (พอดีเกินไป) ซึ่งคือความไม่ยืดหยุ่นในการตัดสินใจ เพราะว่านำเอาตัวแปรเล็กน้อยทั้งหมดมาคิดคำนวณด้วยนั่นเอง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ที่อาจเรียนรู้วิธีขับรถไม่ได้เลยหากเลือกจำข้อมูลทุกอย่าง เพราะจะต้องเป็นสภาพถนนแบบเดิมเป๊ะๆ คนสัญจรไปมาตรงกับที่เรียนมาเป๊ะๆ จึงจะสามารถตัดสินใจเหยียบคันเร่งหรือเบรกได้ ในขณะที่ความเป็นจริง ไม่มีทางที่สภาพแวดล้อมทุกอย่างจะเหมือนกับตอนที่เรียน

ความสามารถในการลืม ทำให้ปัญญาประดิษฐ์รู้จัก “เรียนรู้” เพราะรู้จักเลือกว่าข้อมูลใดสำคัญหรือไม่สำคัญในการใช้เป็นเงื่อนไขตัดสินใจนั่นเอง เมื่อมันเรียนรู้คอนเซ็ปต์เบื้องใต้ของทุกการตัดสินใจ (ไม่ใช่เพียงว่าตัดสินใจเช่นนั้นเพราะมีเงื่อนไขเช่นนั้นเป๊ะๆ) มันก็จะสามารถนำบทเรียนที่ได้ไปใช้กับสถานการณ์อื่นๆ ได้ในอนาคต

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องความทรงจำของปัญญาประดิษฐ์อื่นๆ อีก เมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตที่สามารถจดจำ(และลืม)ได้ดีกว่าอย่างมนุษย์ เช่นปัญหาชื่อ catastrophic forgetting ซึ่งคือการที่ปัญญาประดิษฐ์จะลืมข้อมูลเก่าๆ ไปทั้งหมดเมื่อได้ข้อมูลใหม่ที่ขัดแย้งกับข้อมูลเดิมมา หรือปัญหาที่ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้คอนเซ็ปต์บางอย่างที่ผิดมา แล้วไม่สามารถทำให้ลืมได้ง่ายๆ ทำให้การเรียนรู้ในอนาคตเป็นไปได้ยาก เป็นต้น

สแตนตันอธิบายว่า ในปัจจุบันที่มนุษย์เราเก็บข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลทางการเงิน แชตล็อกต่างๆ รวมไปถึงข้อมูลของหน่วยงานรัฐและเอกชน ข้อมูลเหล่านี้ไม่อยู่นิ่งๆ รอเรียกใช้เหมือนแต่ก่อน แต่มันถูกใส่เข้าไปในระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้พวกมันเรียนรู้และพัฒนาวิธีการหรือเทคนิคใหม่ๆ ที่จะให้บริการมนุษย์ให้ดีขึ้น-แต่คำถามก็คือ ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจล่ะว่าปัญญาประดิษฐ์ควรจะจำอะไร-เขายกตัวอย่างเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานในรัฐอาร์คันซอว์ ที่ตำรวจขอให้อเมซอนเปิดข้อมูลเสียงที่ Echo-ผู้ช่วยอิเล็กทรอนิกส์-เก็บไว้ทั้งหมด เพราะเจ้าของ Echo รายนี้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในเหตุฆาตกรรม นี่อาจเป็นกรณีที่เราคิดว่า “โชคดีที่มีข้อมูลเก็บไว้” แต่หากข้อมูลดังกล่าว (ซึ่งเป็นเสียงที่เก็บไว้โดยเจ้าของอาจไม่รู้ตัว) ถูกเรียกใช้ด้วยวิธีอื่นๆ ล่ะ จะเป็นอย่างไร?

ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้ข้อมูลจากตัวเราไปเพื่อปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมกับ “เจ้าของ” หรือ “ลูกค้า” หากวันหนึ่ง เราต้องการให้มันลืมทุกสิ่ง หรือเริ่มเรียนรู้ตัวเราใหม่ จะเป็นไปได้ไหม? หรือเป็นไปได้ยากเพราะข้อมูลของเราต่างถูกเก็บกระจัดกระจาย กลายไปเป็นหน่วยตรรกะเล็กๆ นับไม่ถ้วนในระบบไปแล้ว

ภาวะ “ลืมยาก” ของปัญญาประดิษฐ์ จึงอาจเป็นปัญหาด้วยเหตุต่างๆ ที่ว่ามานี้เอง

การลืมก็มีประโยชน์ของมัน

อย่างน้อย การลืมก็ทำให้คุณเป็นมนุษย์

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image