‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ปฏิรูปเปิดประเทศ ‘สี จิ้นผิง’ปฏิรูปประเทศเชิงลึก : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

22-25 ตุลาคม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ปฏิบัติภารกิจที่มณฑลกวางตุ้ง เป็นประธานพิธีเปิด “สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า” และตรวจราชการอีก 4 เมือง ก่อนและหลังการไปราชการครั้งนี้ คนจีนต่างได้คาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า “สี จิ้นผิง” จะมีบัญชาหรือแรงบันดาลใจให้พัฒนามณฑลกวางตุ้งตลอดจนเขตปกครองพิเศษฮ่องกงในอนาคตอย่างไร หรือส่งสัญญาณอันเกี่ยวกับการปฏิรูปเชิงลึกประการใด เป็นเรื่องที่รอคอยกันด้วยความระทึก

ก็เพราะเป็นประมุขของประเทศ ทุกอิริยาบถจึงเป็นที่สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โลกวันนี้มากด้วยความผันผวนและปั่นป่วน จึงยิ่งเป็นที่สนใจของโลกภายนอก

“สี จิ้นผิง” บินจากทางเหนือคือปักกิ่งมาปฏิบัติหน้าที่มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นทางใต้ของจีน จึงนิยมเรียกกันว่า “เยือนใต้” เหมือนสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง เดินสาย “ล็อบบี้” การปฏิรูป

คำว่า “เยือนใต้” มีความหมายอันล้ำลึกทางประวัติศาสตร์

Advertisement

ก็เพราะ ปี 1992 “เติ้ง เสี่ยวผิง” ได้เดินทางไปมณฑลกวางตุ้งและเซี่ยงไฮ้เป็นเวลาเดือนเศษ มากด้วยแรงกระทบทางการเมืองอันเกี่ยวกับการปฏิรูป

เขาเดินสายเพื่ออธิบายถึงความจำเป็นและเหตุผลการปฏิรูปเปิดประเทศอย่างเป็นซีรีส์ เพราะขณะนั้นผู้บริหารระดับสูงสงวนข้อมูลอันเกี่ยวกับทิศทางและวิธีการผลักดันการปฏิรูปเปิดประเทศ จึงมีแนวโน้มที่มากด้วยความล้มเหลว การบริหารงานของรัฐบาล
ถ้าปราศจากบัญชาของผู้บริหารระดับสูง ไม่มีโอกาสที่จะเดินหน้าต่อไปได้

ฉะนั้น คำพูดระหว่างการเดินสายของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” จึงถูกนำมาอ้างอิงเป็นประจำเพื่อให้บรรลุการปฏิรูป ปฏิเสธมิได้ว่า การที่จีนมีวันนี้ เพราะได้รับอานิสงส์จากคำพูดที่ว่า

Advertisement

“ไม่ปฏิรูป ไม่เปิดประเทศ ไม่พัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ก็มีอยู่ทางเดียวคือตาย” เป็นอมตะวาจา เป็นการผลักดันการปฏิรูปเปิดประเทศที่ไม่เสียของ

กรรมการบริหารพรรคจึงได้เจริญรอย “เติ้ง เสี่ยวผิง” และต่างได้ทยอยการออกตรวจราชการในมณฑลต่างๆ ทุกปี เพื่อเป็นการสานต่องานการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง

ระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ออกตรวจราชการเฉลี่ยปีละ 6 มณฑล

ถือกันว่ามณฑลกวางตุ้งนั้นเป็นมงคล เพราะเป็น “ปฐมปฐพี” ที่บันดาลให้การปฏิรูปเปิดประเทศสัมฤทธิผล ที่มี “เซินเจิ้น” เขตเศรษฐกิจพิเศษประสบความสำเร็จ

“เซินเจิ้น” เป็นเมืองแรกของมณฑลกวางตุ้งที่ทำการนำร่อง และก็เป็นครั้งแรกที่ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ได้ทำการโน้มน้าวชักจูงให้ประชาชนร่วมกันทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ ซึ่งต่อมาคนรุ่นหลังนิยมเรียกการเดินสายในกวางตุ้งว่า “ปู่เติ้งเยือนใต้”

2012 พลันที่ “สี จิ้นผิง” ขึ้นรับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ เป้าหมายแรกที่ไปเยือนคือ “เซินเจิ้น” มณฑลกวางตุ้ง โดยไปคารวะ “อนุสาวรีย์เติ้ง เสี่ยวผิง” ก่อนการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ขณะนั้นสื่อมวลชนของราชการรายงานว่า
“สี จิ้นผิง” กำลังเจริญรอย “เติ้ง เสี่ยวผิง” เมื่อ 20 ปีก่อนคือ “เยือนใต้”

ภารกิจของ “สี จิ้นผิง” เมื่อ 6 ปีก่อน เป็นการแสดงเจตนาชัดเจนและแน่วแน่ว่าจะเป็นผู้สานต่อนโยบายปฏิรูปเปิดประเทศ

“สี จิ้นผิง” กล่าวว่า เมื่อครบวาระการปฏิรูปเปิดประเทศ 40 ปี จะเยือนมณฑลกวางตุ้ง

และแล้ว “สี จิ้นผิง” ก็กลับมาเยือนมณฑลกวางตุ้งตามคำมั่นสัญญา

“24 ตุลา” เขายืนยัน 2 เรื่องคือ ปฏิรูปประเทศในเชิงลึกและแก้ปัญหาความยากจน

ถือเป็นวาระแห่งชาติ

ไม่ว่าเขาจะไปที่ไหน จะเน้นแต่เนื้องานล้วนๆ ทำเพื่อชาติและประชาชน พูดไหนเป็นนั่น

ไม่ปรากฏมีการ “ยื้อ ถ่วง หน่วง” และก็ไม่มีการ “โล้ชิงช้า พาเซลฟี่” หรือทำเรื่องไร้สาระ

“ลักษณ์” แห่งการเป็นผู้นำของ “สี จิ้นผิง” ภูมิฐาน สง่า ดูมีราคา แม้อายุ 66 แต่เดินตัวตรง ไม่ส่ายไปมาเหมือนกังหันต้องลม หรือชะมดติดจั่น สมศักดิ์ศรีของผู้นำประเทศใหญ่

อุปนิสัยของเขาคือต่อต้านคัดค้านและห้ามเด็ดขาดอันเกี่ยวกับการ “จัดฉากสร้างภาพ” เช่น

ไปตรวจราชการ ณ ที่ใดห้ามมี “ป้ายต้อนรับ” หรือ “ขบวนต้อนรับ” เหมือนอย่าง “ประเทศกูมี” เป็นอันขาด ตรวจงานที่ใดก็สั่งงานที่นั่น มิเคยเห็นเข้าห้องประชุมหรือห้องรับรอง

วิธีการทำงานของ “สี จิ้นผิง” คือตัดทอนเรื่องที่รุ่มร่ามหรือไม่จำเป็นออกหมด ทั้งนี้รวมทั้งการกล่าวสุนทรพจน์ และคำปราศรัย จะเน้นเนื้อหาสาระที่สำคัญเท่านั้น เช่น

พิธีเปิด “สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า” ระยะทาง 55 กิโลเมตร ยาวที่สุดในโลก ก่อสร้าง 9 ปี แต่เมื่อเป็นประธานกล่าวในพิธีเปิดเมื่อ 23 ตุลาคม ใช้อักษรจีนเพียง 12 ตัวเท่านั้น คือ

我宣布,港珠澳大橋正式開通!

(ข้าพเจ้าประกาศเปิดสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าอย่างเป็นทางการ)

มีข่าวจากราชการว่า รัฐบาลจะจัดงานฉลองครบรอบ 40 ปีแห่งการปฏิรูปเปิดประเทศในเดือนธันวาคมที่ปักกิ่ง คาดว่าคงมีการประกาศ “โรดแมป” ในการ “ปฏิรูปเชิงลึก” ทั่วประเทศ เชื่อได้ว่าเป็นของแท้ มิใช่โรดแมปประเภท “น้ำยาบ้วนปาก”
มิใช่มาตรการที่มากด้วย “ปฏิญญา” ที่น่าเอือมระอา หนึ่งเดียวเท่านั้นคือ “ปฏิญญาปักกิ่ง”

การ “เยือนใต้” ของ “สี จิ้นผิง” กับ “เติ้ง เสี่ยวผิง” นั้น มีความหมายทางประวัติศาสตร์แตกต่างกัน เพราะว่า บัดนี้ประเทศจีนได้ก้าวข้ามระดับพื้นฐานการปฏิรูป ก้าวข้ามศตวรรษก่อน ประเด็นสำคัญคือได้เผชิญกับมิติใหม่ของโลก โกอินเตอร์อย่างเต็มรูปแบบ

การให้ความสำคัญมณฑลกวางตุ้งนั้น เพราะเป็นมณฑลใหญ่มีประชากร 60 กว่าล้านคน และ “เซินเจิ้น”เป็นเมืองนำร่องพัฒนาเศรษฐกิจของการปฏิรูปเปิดประเทศได้สำเร็จ

ปีแรกของการก่อตั้ง พื้นที่ “เซินเจิ้น” ส่วนหนึ่งเป็นทะเล ส่วนหนึ่งเป็นที่ว่างเปล่า และอีกส่วนหนึ่งเป็นเรือกสวนไร่นา ที่พักของเกษตรกรคือกระท่อมปลายนา มีแต่ความวิเวก

บัดนี้ “เซินเจิ้น” กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดเมืองหนึ่งของจีน และติดอันดับเมืองเจริญรุ่งเรืองของโลก อีกทั้งเข้าสู่ระบบ “เศรษฐกิจตลาด” อย่างเต็มตัว

ปี 1980 มีประชากรเพียง 8 แสนคน ปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 12.53 ล้านคน

“เซินเจิ้น” มีความเจริญในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม

เสมือนเป็นมรดกที่ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน

“เซินเจิ้น” มีวันนี้ คนจีนปฏิเสธมิได้ว่าเกิดจากสติปัญญาและวิริยภาพของ “เติ้ง เสี่ยวผิง”

ปีแรกที่ก่อตั้งเขตเศรษฐกิจคือ 1980 “เติ้ง เสี่ยวผิง” อายุ 77 เป็นการพลิกฟื้นยืนตนจาก “พิษการเมือง” ครั้งที่ 3 เพราะเขาล้มถึง 3 ครั้งบนเส้นทางการเมืองและลุกขึ้นได้ทุกครั้ง

สมดังที่ปราชญ์กล่าวว่า “ความภูมิใจยิ่งใหญ่ของคนเราไม่ได้อยู่ที่เราไม่เคยล้ม แต่อยู่ที่สามารถลุกขึ้นได้ทุกครั้งที่ล้ม” ประจักษ์แล้วว่าความภูมิใจของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” อยู่ในนัยนี้

ขณะนั้น “เติ้ง เสี่ยวผิง” นอกจากเป็นผู้นำ “ก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น” ยังต้องกำจัดพวกอนุรักษนิยมที่เป็นขวากหนาม และเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจล้าหลังให้เป็นระบบ “เศรษฐกิจตลาด” โดยใช้ “โมเดลสิงคโปร์” มี ลี กวน ยิว นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ “ติวเตอร์”

ตั้งแต่ 1980-1990 “ลี กวน ยิว” ไปเซินเจิ้นอย่างต่ำปีละครั้งเพื่อติดตามผลงาน เมื่อไปจีนครั้งที่ 2 ในปี 1980 ปรากฏว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่พบว่าผู้นำจีนมีความเพียรเรียนรู้การบริหารการเงินการคลัง ตลอดจนมาตรการรักษาพยาบาล

หลังจากนั้น “ลี” ไปตรวจงานที่ “เซินเจิ้น” ทุกปี ทุกครั้งที่ไปพบว่าความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจเอกชน ผู้ค้ารายย่อย ความเจริญทางสังคม ล้วนมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

ปี 1984 จีนเริ่มเปลี่ยนเป็นระบบ “เศรษฐกิจตลาด” และในปีเดียวกัน “เติ้ง เสี่ยวผิง” ไปตรวจราชการที่ “เซินเจิ้น” พร้อมทั้งให้แนวทางการปฏิบัติงาน

ต่อมาปี 1985 “ลี กวน ยิว” ได้มาเยือน “เซินเจิ้น” เพื่อติดตามความคืบหน้าของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เขามีความพอใจกับการทำงานของรัฐบาล

ยุคเริ่มต้นก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นนั้น “เติ้ง เสี่ยวผิง” ให้ความสนใจการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์และเลื่อมใสความเรืองรองแห่งปัญญาของ “ลี กวน ยิว” มากทีเดียว

ขณะนั้น “ลี” อายุ 57 ในขณะที่ “เติ้ง” 77 ซึ่งเป็นอายุคราว “เตี่ย”

ประเด็นที่คุยกันมากที่สุดคือวิธีระดมทุนนอกเข้ามาทำการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างงานและการผลิตบุคลากร ซึ่งหมายความรวมถึงการฝึกอบรมคนงานในโรงงานให้มีประสิทธิภาพ การฟูมฟักระดับหัวหน้าหน่วยงาน ผู้จัดการ วิศวกรตลอดจนบุคลากรสาขาอาชีพต่างๆ

ขณะนั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์อยู่ในเกณฑ์ดีมาก มีความยุติธรรมในสังคม ไม่ต้องรอการ “ปลดล็อก” ประชาชนมีหลักประกันในการรักษาพยาบาล ทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี

“เติ้ง เสี่ยวผิง” จึงได้ลอกเลียนแบบการระดมทุนของ “ลี กวน ยิว” ไปใช้ที่ “เซินเจิ้น” และทั่วประเทศ เพื่อสร้างให้เป็นระบอบ “ทุนนิยม” ในลัทธิ “สังคมนิยม”

ในสมัยนั้น ผู้อาวุโสของจีนที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกันมาแต่เก่าก่อน เกิดมีความเห็นแตกต่างและเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องการปฏิรูป เพราะเขาคิดว่า ถ้าปฏิรูปแล้ว ความเป็นสังคมนิยมก็จะหมดไป “เติ้ง” เกิดความกังวล จึงเป็นสาเหตุที่ต้องไปเดินสายในเมืองทางตอนใต้ของจีน

ถือเป็นงานยากและหนักสำหรับคนชราในวัย 88 เมื่อเดือนมกราคม 1992

งานปฏิรูปเปิดประเทศขั้นมูลฐาน เป็นความสำเร็จของ “เติ้ง เสี่ยวผิง”

แม้ “สี จิ้นผิง” กับ “เติ้ง เสี่ยวผิง” จะมีจุดต่างทางประวัติศาสตร์ มีจุดห่างด้านวัยวุฒิ แต่ก็มี “จุดเหมือน” คือ “สัจจะ” ไม่หุนหันพลันแล่น ไม่มากด้วย “ปฏิญญา” ที่เหลวไหล

อัน “สัจจะ” นั้น คือคำสอนของขงจื๊อนักปราชญ์จีน

ขงจื๊อสอนว่า คนเราถ้าไม่มีสัจจะตั้งตัวมิได้ เพราะสัจจะเป็นรากฐานในการก่อร่างสร้างตัว ผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพจะให้ทหารในกองทัพเคารพนับถือเชื่อฟังคำสั่งต้องเป็นผู้ที่รักษาสัจจะ นักการเมืองจะให้ประชาชนศรัทธาจะต้องมีสัจจะ

ฉะนั้น การปฏิรูปของประเทศจีนในเชิงลึกจะต้องมีขึ้นแน่ในขอบเขตที่กว้างใหญ่ไพศาล สมดังปณิธานของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ที่ว่า “วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่า” ( 明天會更好 )

เป็นวลีเด็ดที่เป็นไปได้ มิใช่ “น้ำยาบ้วนปาก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image