ใน‘รุก’มี‘รับ’ ของโหมด‘เลือกตั้ง’ แข็งก็มีอ่อน

ไม่ว่าจะเป็น “นักการทหาร” ไม่ว่าจะเป็น “นักธุรกิจ” ไม่ว่าจะเป็น “นักการเมือง” ย่อมตระหนักในลักษณะ 2 ด้านของสรรพสิ่ง

นั่นก็คือ ภายใน “จุดแข็ง” ก็มี “จุดอ่อน”

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ภายในจุดแข็งที่ “รัฐธรรมนูญ” สร้างความได้เปรียบให้กับ คสช.และรัฐบาล แต่ก็จะค่อยๆ ปรากฏจุดอ่อนตามมาระลอกแล้วระลอกเล่า

อย่าคิดว่าจะมีแต่พรรคตระกูล “พลัง” อย่างเดียว

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังท้องถิ่นไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังธรรมใหม่

เพราะต่อมาก็คึกคักด้วยพรรคตระกูล “เพื่อ” และพันธมิตรตามมา

เริ่มจากพรรคเพื่อไทยก็แตกแขนงเป็นพรรคเพื่อธรรม และแตกแขนงเป็นพรรคเพื่อชาติ ทั้งยังมีพรรคไทยรักษาชาติ ตีคู่กันไปกับพรรคประชาชาติ

Advertisement

ที่คิดว่าเป็นฝ่าย “รุก” ก็อาจจะไม่ใช่

ถามว่าการคงอยู่ของประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ประสานเข้ากับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561

คือ จุดแข็งอย่างยิ่งยวด

อย่างน้อยก็ทำให้การขยับขับเคลื่อนของพรรคการเมืองอื่นอันอยู่นอกเหนือจากพรรคตระกูล “พลัง” ไม่คล่องแคล่ว ปราดเปรียว

แต่ยิ่งใกล้วันที่ 26 พฤศจิกายน ยิ่งจะกลายเป็นจุดอ่อน

เหมือนกับที่ คสช.และรัฐบาลรู้สึกว่า การใช้อำนาจแข็งของตนผ่านรัฐธรรมนูญ ผ่านมาตรา 44 คือ การสร้างความสงบให้กับบ้านเมือง

แต่ก็อาจจะเหมาะสมเฉพาะ 1-2 ปีแรก

ขณะที่เมื่อผ่านเดือนพฤษภาคม 2560 และผ่านเดือนพฤษภาคม 2561 หลายๆ ฝ่ายก็เริ่มรู้สึกว่าอำนาจแข็งในแบบนั้นอาจไม่ใช่ อาจไม่เหมาะสม

เห็นได้จากเสียงอันดังมาจาก “ประเทศกูมี”

เช่นเดียวกับ หากสดับตรับฟังจากบรรดารัฐมนตรีอันเป็นแก่นแกนของพรรคพลังประชารัฐ จะสัมผัสได้ถึงผลงานและความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจ

ไม่ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าการเพิ่มของจีดีพี

หากฟังแต่การประชาสัมพันธ์ทางด้าน “การตลาด” ก็อาจจะอบอุ่นไปกับคำว่า “ฟื้น” แล้ว “รุ่งโรจน์” แล้ว

กระนั้น เมื่อประสบกับเสียงร้องจากหลายๆ ภาคส่วน

ไม่ว่าจะมาจากเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่ว่าจะมาจากเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ไม่ว่าจะมาจากเกษตรกรชาวไร่อ้อย ชาวสวนมะพร้าว เป็นต้น

ก็จะสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับการปั่นในเรื่อง “การตลาด”

สิ่งเหล่านี้หากมีการ “ปลดล็อก” เพื่อเข้าสู่โหมดแห่งการเลือกตั้งในทางเป็นจริง ก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

แล้วปราสาท “ทราย” ก็จะพังครืนเมื่อปะกับคลื่นลมที่ซัดสาดเข้ามา

การเลือกตั้งจึงเป็นสภาพที่แทบทุกพรรคการเมืองที่มิได้อยู่ในเครือข่ายพรรคตระกูล “พลัง” ต่างรอคอย ขณะที่กล่าวสำหรับ คสช.และรัฐบาลอาจไม่แฮปปี้เท่าใดนัก

การยื้อ ถ่วง หน่วง จึงเกิดขึ้นตลอด 2 รายทาง

เพราะหากปี่กลองการเลือกตั้งเริ่มประโคมขึ้นมาเมื่อใด สภาพที่คิดว่าเป็น “จุดแข็ง” อาจกลับกลายเป็น “จุดอ่อน” ขึ้นมา

ที่คิดว่าเป็นฝ่าย “รุก” ก็อาจกลายเป็นฝ่าย “ตั้งรับ” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image