มหินทะ ราชปักษากับวิกฤตทางการเมืองของศรีลังกา : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ประเทศเกาะศรีลังกา

ประเทศศรีลังกาเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากตอนใต้ของอินเดียประมาณ 80 กิโลเมตร มีพื้นที่ 65,610 ตารางกิโลเมตร (ประมาณร้อยละ 12 ของประเทศไทย) มีกรุงโคลัมโบเป็นเมืองหลวง มีประชากรประมาณ 20.64 ล้านคน ประกอบด้วยชาวสิงหล ร้อยละ 74 ชาวทมิฬ ร้อยละ 18 ประชากรมุสลิม (แขกมัวร์และชาวมาเลย์) ร้อยละ 7 และอื่นๆ ร้อยละ 1 ภูมิอากาศ มีอากาศแบบร้อนชื้น ฝนตกชุกในช่วงฤดูมรสุม ศรีลังกามีภาษาราชการ 2 ภาษา คือ ภาษาสิงหลและภาษาทมิฬ โดยภาษาอังกฤษใช้ติดต่อสื่อสารทั่วไปในภาครัฐ และประชากรประมาณร้อยละ 10 สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ส่วนการนับถือศาสนานั้นชาวสิงหลร้อยละ 70.19 นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท (ร้อยละ 70.19) ส่วนชาวทมิฬนับถือศาสนาฮินดูร้อยละ 12.61 ส่วนที่เหลือก็นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬถึงขั้นรบราฆ่าฟันกันนั้นมีมาหลายร้อยปีแล้ว เนื่องจากความแตกต่างกันทางเชื้อชาติโดยชาวสิงหลเป็นพวกอินโด-ยุโรเปียนนับถือศาสนาพุทธอพยพเข้ามาที่เกาะลังกาทีหลังพวกทมิฬ แต่มีจำนวนมากกว่ามาก ส่วนชาวทมิฬที่อพยพมาจากอินเดียตอนใต้ (รัฐทมิฬนาฑู) นับถือศาสนาฮินดู จนกระทั่งศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ ตามลำดับ จนกระทั่งได้เอกราชเมื่อ พ.ศ.2491 และความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลและทมิฬก็ปะทุขึ้นอีกจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองนองเลือดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2526-2552 รวม 26 ปี

นายมหินทะ ราชปักษา(ซ้าย) กับประธานาธิบดีสิริเสนา

จนกระทั่งนายมหินทะ ราชปักษา ชาวสิงหล จากเมืองฮัมบันโตตา มณฑลภาคใต้ ของประเทศศรีลังกา ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกใน พ.ศ.2548 โดยนายมหินทะ ราชปักษา ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย และในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มหินทะ ราชปักษา ได้ทำการยุติสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมานานกว่าสองทศวรรษอย่างเด็ดขาด โดยยกเลิกข้อตกลงหยุดยิงและกระบวนการเจรจาสันติภาพ ที่ประเทศนอร์เวย์ในขั้นแรก เนื่องจากเห็นว่าเป็นข้อตกลงที่โอนอ่อนและให้ประโยชน์แก่ฝ่ายกบฏทมิฬมากเกินไป

ในขณะเดียวกันก็หันมาใช้กำลังทหารในการปราบปรามอย่างเด็ดขาดและต่อเนื่องโดยไม่ให้ฝ่ายกบฏทมิฬสามารถตั้งตัวได้ ส่งผลให้กองทัพรัฐบาลสามารถยึดครองพื้นที่ของฝ่ายดังกล่าวได้ทั้งหมดอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งฝ่ายกบฏทมิฬประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2552 ปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก (Global War on Terror) ทำให้ประธานาธิบดีมหินทะ ราชปักษา ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมนานาชาติอย่างหนักในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมีพลเรือนเสียชีวิตในปฏิบัติการครั้งนี้ถึง 40,000 คน ตามรายงานของสหประชาชาติ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีมหินทะ ราชปักษา ได้พยายามสร้างความปรองดองระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬโดยได้ประกาศให้ภาษาทมิฬเป็นภาษาประจำชาติของศรีลังกาควบคู่ไปกับภาษาสิงหล พร้อมกับได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ที่เคยอยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายกบฏทมิฬ อีกทั้งยังได้เชื้อเชิญให้ชาวทมิฬโพ้นทะเลกลับมาช่วยพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกับรัฐบาลอีกด้วย

ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2553 นายมหินทะ ราชปักษา ได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มอีก 3 ตำแหน่งให้แก่ตนเอง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่าเรือและการบิน และกระทรวงทางหลวง ทำให้เขาสามารถดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างมโหฬารโดยได้เพิ่มจำนวนทางหลวงแผ่นดินและโรงไฟฟ้าตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศ ขยายท่าเรือพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมและสร้างท่าเรือใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะท่าเรือนานาชาติปลอดภาษีฮัมบันโตตา บ้านเกิดของราชปักษานั่นเองซึ่งรองรับเรือเดินสมุทรบนเส้นทางการค้าทางทะเลสายตะวันออกตะวันตก และหากสร้างเสร็จก็จะกลายเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งด้วยเงินกู้จำนวนมหาศาลจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาดโลกมาก ซึ่งทำให้ศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของจีนไปในที่สุดเมื่อไม่สามารถชำระหนี้สินให้แก่ทางจีนได้ จนกระทั่งถูกจีนยึดเอาท่าเรือนานาชาติปลอดภาษีฮัมบันโตตาไปในปัจจุบันนี้ และยังเหลือหนี้สินอีกจำนวนมหึมาซึ่งศรีลังกาแทบจะไม่มีทางชำระได้เลย

นายกรัฐมนตรีวิกรมสิงเห

ดังนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ พ.ศ.2558 ประธานาธิบดีราชปักษาจึงพ่ายแพ้ต่อนายไมตรีพละ สิริเสนา อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขในรัฐบาลของประธานาธิบดีราชปักษานั่นเองที่ได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่และเขาได้แต่งตั้งนายรานิล วิกรมสิงเห เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดิมก็รักกันดีแต่ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ได้เริ่มหันเข้าหาอินเดียประเทศมหามิตรดั้งเดิมและสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศตะวันตกมากขึ้น และพยายามตีตัวออกห่างจากสาธารณรัฐประชาชนจีนผู้ที่ชาวศรีลังกาถือว่าเอารัดเอาเปรียบศรีลังกามากที่สุด ทำให้ประธานาธิบดีไมตรีพละ สิริเสนา ประกาศปลดนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมนี้เอง โดยแต่งตั้งนายราชปักษาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แถมปิดรัฐสภาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อให้โอกาสนายราชปักษารวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ได้เสียงข้างมากคือ 113 เสียง แต่นายราชปักษาไม่สามารถทำได้สำเร็จ

Advertisement

ในขณะที่นายวิกรมสิงเหได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคทมิฬซึ่งชิงชังนายราชปักษามากสนับสนุนได้เสียงข้างมากในรัฐสภา ประธานาธิบดีจึงประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 5 มกราคมปีหน้า ในขณะที่นายวิกรมสิงเหยืนกรานไม่ยอมรับคำสั่งปลดของประธานาธิบดี และปฏิเสธที่จะออกจากบ้านพักนายกรัฐมนตรีด้วย โดยอ้างว่าตนยังคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาแต่ก่อนที่จะลงนามในคำสั่งยุบสภาและประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ ในขณะที่ประธานาธิบดีสิริเสนาได้แต่งตั้งพันธมิตรของตนและนายราชปักษา เข้าดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีใหม่เรียบร้อยแล้ว

คงต้องยุ่งไปอีกนานละครับ !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image