เดินหน้าชน : เกรงใจขาใหญ่? : โดย สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้

เป็นการพิจารณาตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว

หลังจากที่ประชุม สนช.ได้เห็นชอบให้ กมธ.วิสามัญขยายการพิจารณามาแล้วถึง 9 ครั้ง

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ มีการแก้ไขหลายจุด

Advertisement

เริ่มจากเดิมกำหนดให้บังคับใช้ในปี 2562 แต่เปลี่ยนมาเป็นใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

ส่วนรายละเอียดฐานภาษีและอัตราภาษี มีดังนี้คือ

1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี จากเดิม 0.2% ของฐานภาษี

Advertisement

2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.3% ของฐานภาษี จากเดิม 0.5% ของฐานภาษี

3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์นอกจากการประกอบเกษตรกรรมหรือเป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี จากเดิม 2% ของฐานภาษี

และ 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี จากเดิมไม่เกิน 2% ของฐานภาษี

กรณีการขยับระยะเวลาบังคับใช้ออกไปเป็น 1 มกราคม 2563

อาจจะพอเข้าใจได้บ้าง หากคิดว่ายังไม่พร้อม สำหรับการจัดทำข้อมูลการประเมินราคาที่ดิน

หรืออาจทำเพื่อให้บรรดาเจ้าของที่ดินมีโอกาสเตรียมตัว ปลูกพืช หาทำประโยชน์บนที่ดิน ก็สุดจะคาดเดาได้

แต่สิ่งที่น่ากังขาสุดสุดคือ ใช้เหตุผลอะไรในการปรับลดอัตราภาษีลง

สำหรับร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ ผ่านวาระแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560

ต่อมาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ได้ใช้เวลากว่า 1 ปี ในการพิจารณา

เดิมทีคิดว่าอาจจะไม่ทันการพิจารณาในรัฐบาลชุดนี้แล้ว

เพราะดูเหมือน สนช. ไม่ค่อยมีท่าทีกระตือรือร้นตอบรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่าไหร่นัก

จนกระทั่งมีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายอย่างหนัก ในที่สุดจึงออกมาแบบที่เห็น

คงได้แต่สงสัยกันไปต่างๆ นานา ว่า

อาจเป็นเพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อบรรดาแลนด์ลอร์ด เจ้าของที่ดิน ผู้ร่ำรวยมีอันจะกินไม่กี่กลุ่มหรือไม่

เพราะตาม พ.ร.บ.ระบุว่า บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ จะต้องเสียภาษี

ส่วนมูลค่าที่ดินขั้นต่ำเดิมตั้งไว้ที่ 50 ล้านบาท คงต้องมารอลุ้นกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกหรือไม่

สำหรับทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คงไม่ใช่เฉพาะที่ดินที่อยู่ในข่ายต้องโดนเก็บภาษีเพิ่ม

แต่ยังรวมถึงสิ่งปลูกสร้าง คฤหาสน์ ห้องชุด สนามกอล์ฟ ที่อยู่ในมือประชาชนส่วนน้อยของประเทศ

นอกจากนี้ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน และที่ต้องเสียภาษี ได้แก่

1.เกษตรกรรม หมายถึง การใช้ที่ดินในการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีจะประกาศกำหนด อาจต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร

2.บ้านพักอาศัย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

บ้านพักอาศัยหลังหลัก โดยดูจากเจ้าของต้องมีชื่ออยู่ในโฉนด เจ้าของใช้เป็นที่อยู่อาศัย และเจ้าของต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้นๆ

ส่วนบ้านพักอาศัยหลังอื่นๆ หมายถึงกรณีเจ้าของมีชื่อในโฉนดเฉยๆ ไม่ได้มีชื่อในทะเบียนบ้าน

3.พาณิชยกรรม หมายถึง การใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตรกรรมหรือการอยู่อาศัย เช่น ใช้เพื่อพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม เป็นต้น

4.ที่รกร้างว่างเปล่า หมายถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ หรือทิ้งไว้ว่างเปล่า

คงต้องมารอลุ้นว่า ในวันที่ สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

ในที่สุดแล้วเนื้อหาสาระจะออกมาในรูปแบบเกรงใจขาใหญ่ที่ไหนหรือไม่

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image