เลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐ

และแล้วก็ไม่เกินความคาดหมาย การเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐ เมื่อ 6 พฤศจิกายน พรรคเดโมแครตได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้การบริหารราชการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความลำบากมากขึ้น

แม้เดโมแครตได้ครองเสียงข้างมาก แต่ “กระแสสีน้ำเงิน” (สีพรรค) มิได้ปรากฏตามที่หวังไว้

ส่วนวุฒิสภายังเป็นพื้นที่ของพรรครีพับลิกัน

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามที่คาดหมายคือ ทั้งสองพรรคต่างมีได้มีเสีย

Advertisement

ทั้ง “โดนัลด์ ทรัมป์” และเดโมแครตต่างหาเหตุผลอ้างว่า ตนเป็นผู้ชนะ

โดยหลักสัจธรรม ชัยชนะที่แท้จริงคือ “ลัทธิประชานิยม”

ที่ประจักษ์ในการเลือกตั้งคือ รีพับลิกันได้ชูธง “ประชานิยม” ขวาจัดของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

Advertisement

ว่ากันว่า จาก “พรรครีพับลิกัน” กลายเป็น “พรรคโดนัลด์ ทรัมป์”

ส่วนการหาเสียงของเดโมแครตก็ได้โน้มเอียงไปทาง “ลัทธิเศรษฐกิจประชานิยม”

เด่นชัดยิ่งว่า สภาพการเมืองของสหรัฐเกิดการเปลี่ยนแปลง

ก็เพราะนโยบายเศรษฐกิจประชานิยม จึงเป็นเหตุให้รีพับลิกันต้องพ่ายแพ้ ส่งผลให้เดโมแครตได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นถึง 8 เปอร์เซ็นต์ และได้ครองอำนาจในสภาผู้แทนราษฎร

เวลา 2 ปีที่ผ่านมา รีพับลิกันได้ครองอำนาจทั้งในรัฐสภาและรัฐบาล

บัดนี้ ได้สิ้นสุดลงแล้ว

การเลือกตั้งมิดเทอมได้ดำเนินท่ามกลางสงครามการค้า ดูจากผลเลือกตั้งในรัฐเกษตรกรรมคือ ไอโอวา เนื่องเพราะประเทศจีนใช้มาตรการตอบโต้เรียกเก็บภาษีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐนั้น ดูเหมือนมีผลกระทบต่อรีพับลิกัน กล่าวคือ 3 เขตเลือกตั้งจาก 4 ในมือได้ตกมาเป็นของเดโมแครต และ 2 ใน 3 ได้เปลี่ยนสีจาก “ชมพูเป็นน้ำเงิน”

ทั้งสองพรรคต่างได้หาเสียงด้วยประเด็นเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชน

ถือเป็น “จุดขาย” ของทั้ง 2 พรรค และทำให้มีชนะมีแพ้

การเลือกตั้งยังถูกมองว่าเป็นการทำประชามติอันเกี่ยวกับการทำงานของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

การครองอำนาจของรัฐสภาเป็นเป้าหมายหลักของเดโมแครต ได้บรรลุความประสงค์แล้ว

แม้มิได้ชนะด้วย “กระแสสีน้ำเงิน” แต่การมีผู้แทนราษฎรหญิงเข้าสภาได้หลายคน เสมือนเป็นการตบหน้าทรัมป์ อันเกี่ยวกับที่เขาดูหมิ่นถิ่นแคลนสตรีเพศอย่างชัดเจนยิ่ง

การหาเสียงคราวนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ช่วยผู้สมัครวุฒิสมาชิกในรัฐที่เคยให้การสนับสนุนเขาเมื่อคราวสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดี ปรากฏว่ากลยุทธ์ของเขาได้ประโยชน์ ช่วยให้รีพับลิกันเบียดผู้สมัครเดโมแครตตกไป 2 ที่นั่งในวุฒิสภา

หากมองอีกมุมหนึ่ง เวลา 1 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐแข็งตัว อัตราคนตกงานต่ำมาก อันถือเป็นผลงานประเสริฐสุด รีพับลิกันก็ยังไม่สามารถรักษาที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้ ผลกลับปรากฏว่า เดโมแครตได้รับชัยชนะ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ “ทรัมป์”

2016 การเลือกตั้งประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ชูธง “อเมริกาเฟิร์สต์” ลัทธิอนุรักษ์การค้า และต่อต้านผู้อพยพลี้ภัย ชนะใจบรรดาคนผิวขาวและบลูคอลลาร์ จึงได้รับการสนับสนุน เข้านั่งทำเนียบขาว เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า “ลัทธิประชานิยม” มาเยือนแล้ว

วันนี้ กระแสประชานิยมมิเพียงไม่ลดลง กลับเป็นที่นิยมและระบาดไปทั่ว เสมือนพืชพันธุ์ที่รากกำลังเดิน และยังมองไม่เห็นว่าในอนาคตจะมีแนวโน้มลดน้อยถอยลง

รีพับลิกันที่มีผลงานในวุฒิสภา ก็เพราะรากกำลังเดิน เดินเพราะบัตรลงคะแนนของคนผิวขาวที่สนับสนุน เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าฐานเสียงหลักของเขายังมั่นคงในระดับหนึ่ง

เนื่องจากมีผู้สมัครผู้แทนราษฎรของพรรครีพับลิกันที่เดินสายกลางหลายคน “สอบตก” ฉะนั้น พวกเขาจึงเริ่มเห็นประโยชน์ของ “ลัทธิประชานิยม”

ฉะนั้น พรรคจึงแพ้ ทรัมป์จึงชนะ กระแสทรัมป์นับวันแรงขึ้น

แรงจนกระทั่ง “พรรครีพับลิกัน” กลายพันธุ์เป็น “พรรคโดนัลด์ ทรัมป์”

ส่วนเดโมแครต ก็มีผู้สมัครจำนวนไม่น้อยที่มีอุดมการณ์ซ้ายจัดนั้น เริ่มมีความเลื่อมใส “ลัทธิประชานิยม” เช่น สนับสนุนการรักษาพยาบาลของประชาชน ความปลอดภัยของสังคมโดยรวม ปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ตลอดจนการลดค่าเล่าเรียนระดับอุดมศึกษา เป็นต้น

เดโมแครตจึงได้รับคะแนนสนับสนุนมากทีเดียวในย่าน “เมืองสนิมเกาะ” (Rust Belt) ซึ่งได้แก่รัฐมิชิแกน เพนซิลเวเนีย วิสคอนซิน ซึ่งมีคนผิวขาวจำนวนมากที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ทั้ง 3 รัฐนี้เป็นย่านอุตสาหกรรมที่มีโรงงานจำนวนมากถูกทิ้งร้างจนสนิมเกาะ

เมืองสนิมเกาะ คือฐานเสียงที่ถือว่าอยู่ยงคงกระพันของ “ทรัมป์” ที่เขาใช้กลยุทธ์หาเสียงสมัยรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี โดยให้คำมั่นว่า จะย้ายฐานการผลิตไปที่จีน เม็กซิโก ซึ่งมีค่าแรงถูก เพื่อฟื้นฟูความเจริญให้กลับมาอีกวาระหนึ่ง จึงมีส่วนช่วยให้เขาได้เข้าทำเนียบขาว

การหาเสียงของผู้สมัครเดโมแครตหลายคน ได้ชูนโยบาย “เศรษฐกิจประชานิยม” และเน้นย้ำว่า เป็นผู้สมัครฝ่ายก้าวหน้า ในที่สุดก็ได้รับชัยชนะที่ “เมืองสนิมเกาะ”

พฤติการณ์ต่างๆ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า กระแสประชานิยมในสหรัฐกำลังเฟื่องฟู

กลุ่มก้าวหน้าในเดโมแครตส่วนหนึ่งเห็นว่าหนทางที่จะเอาชนะได้จำเป็นจะต้องใช้การหาเสียงระบอบ “ประชานิยม” จึงมีโอกาสจะเอาชนะได้

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจประชานิยมมาแข่งขันกับประชานิยมขวาจัดของทรัมป์ จึงจะมีโอกาส ลำพัง “คะแนนสะสม” ของบรรดาสุภาพสตรีผู้ใช้สิทธิยังไม่เพียงพอ

อันลัทธิประชานิยมคือการช่วยลดความยุ่งยาก แต่เข้าใจกันว่าผู้ใดสามารถโค่นล้ม “ศัตรูประชาชน” ก็คือทางออก แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะอุปมาเหมือนกับแพทย์จ่ายยาผิดโรค แทนที่จะหายกลับกำเริบ ในทางสังคมก็เท่ากับเพิ่มความสับสนปั่นป่วนที่มีอยู่ให้มากขึ้น

ตั้งแต่กาลอดีต เดโมแครตคัดค้านต่อต้านลัทธิสังคมนิยมหรือประชานิยม เดี๋ยวนี้คงกินยาผิด

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็พอจะคาดเดาได้ว่า ในอนาคตปัญหาความขัดแย้งภายในหรือการแย่งชิงอำนาจในเดโมแครตคงต้องนับวันดุเดือด เพราะมุ้งเดียวกันแต่ฝันคนละเรื่อง

อย่างไรก็ตาม การโจมตี “โดนัลด์ ทรัมป์” คืองานหลักของพรรคที่จะต้องร่วมมือกัน

และที่ขาดมิได้ก็คือประเด็น “ข่าวฉาวรัสเซีย” อาจเล่นถึงการถอดถอนออกจากตำแหน่ง

สําหรับ “ทรัมป์” ถ้าเดโมแครตเล่นเรื่องนี้ ก็สมดังใจ สมที่เป็นการสร้างโอกาสให้เขาปลุกระดมผู้ที่สนับสนุนเกิดความเดือดดาลไม่พอใจเดโมแครต เป็นการรักษาฐานเสียงโดยปริยาย

กรณีพอจะอนุมานได้ว่า ต่อไปนี้สังคมอเมริกาจะต้องประสบปัญหาทางการเมืองที่ยุ่งเหยิง

อันเกี่ยวกับความประสงค์ของพรรคเดโมแครต ที่จะต้องเช็กบิลกับพรรครีพับลิกันในประเด็นปรับลดภาษี ปัญหาผู้อพยพลี้ภัย และเรียกร้องให้ปรับนโยบายต่างประเทศโดยใช้มาตรการที่แข็งกร้าวต่อรัสเซีย และเกาหลีเหนือ เป็นต้น

ส่วนปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐนั้น ทั้งสองพรรคมีจุดยืนใกล้เคียงกัน นโยบายที่มีต่อประเทศจีนไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

จากนี้ไปการทำงานของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในรัฐสภา คงจะต้องพบกับความลำบากมากขึ้น

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image