ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมื่อวันนั้น…สยาม เชิดหน้า ลืมตา อ้าปากได้ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

11 พฤศจิกายน 2561 รัฐบาลฝรั่งเศสจัดพิธีรำลึก ณ กรุงปารีส ในโอกาสครบรอบ 100 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เรียกเป็นทางการว่า World War 1 Armistice Day ประธานาธิบดีหนุ่มของฝรั่งเศส เชิญผู้นำประเทศต่างๆ กว่า 70 ประเทศเข้าร่วมพิธีที่เรียบง่าย สง่างามสมเกียรติ และมีความหมายสอนใจคน
ทั่วโลก

ในประวัติศาสตร์ไทย น้อยคนนักที่จะรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของโลกครั้งนี้ สยามประเทศสร้างความ “สง่างาม เท่าเทียม” ในเวทีโลก เพราะกองทหารอาสาจากสยามเดินทางไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงคราม และเป็นส่วนหนึ่งของการยุติสงคราม

แทบไม่ค่อยมีใครทราบว่า กองทหารอาสาจากสยาม 1,250 นาย สมัครใจขอไปร่วมรบในยุโรปในสงครามโลกครั้งที่ 1

ผลของการ “เลือกฝ่าย” ที่แสนจะสุ่มเสี่ยง แต่รอบคอบ ทำให้สยามประเทศได้รับ “ไมตรีจิต” จากประเทศมหาอำนาจ ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของสยามที่เคยเป็น “ไก่รองบ่อน” ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ได้เงยหน้า อ้าปาก เป็นประเทศที่ออกมายืนแถวหน้าและได้อธิปไตยคืนมา

Advertisement

วิกฤตการณ์ ทาง 2 แพร่งในเวลานั้น การดำเนินวิเทโศบายแบบรอบคอบ ถ้าไม่นำมาบอกเล่าเก้าสิบ ลูกหลานไทยจะไม่มีวันทราบ

ผมรวบรัดตัดตอน เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ครับ

นับร้อยปีมาแล้ว ฝรั่งในทวีปยุโรปก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการ ล้ำสมัยเรื่องของวิทยาศาสตร์ การเมือง การปกครอง สร้างหลักเกณฑ์ กติกาเหนือกว่าชนชาติใดในโลก บางส่วน ยังสุกๆ ดิบๆ มีการรวมตัวกันเป็นชนเผ่า ปกป้องเผ่าพันธุ์ของตนเอง รุกรานชนเผ่า ชาติพันธุ์อื่นๆ พยายามที่จะก่อตั้งอาณาเขต แว่นแคว้นของตัวเอง รบราฆ่าฟันกันดุเดือด แผ่นดินยุโรปแทบไม่เคยร้างราจากสงคราม

Advertisement

ชาวยุโรปห้ำหั่นกันเพื่อแย่งชิงดินแดน แย่งชิงความเป็นใหญ่ แข่งขันกันสุดฤทธิ์ สุดเดช เรื่องการค้า

28 มิถุนายน พ.ศ.2457 อาร์ช ดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์แห่งออสเตรีย รัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี ถูกลอบปลงประชนม์โดย กัฟรีโล ปรินซีป นักศึกษาชาวบอสเนียเซิร์บ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นส่งผลให้ออสเตรีย-ฮังการี ยื่นคำขาดให้แก่เซอร์เบียเป็นข้อเรียกร้อง 10 ประการ เมื่อเซอร์เบียยอมรับได้เพียง 8 ประการ ออสเตรีย-ฮังการี ก็ได้ประกาศสงครามขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2457

การแบ่งฝ่ายเพื่อเข้าสู่สงคราม 2 ฝ่าย คือ

ฝ่ายสัมพันธมิตร คือ อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซีย

ฝ่ายมหาอำนาจกลาง คือ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ออตโตมันและบัลแกเรีย

ทวีปยุโรปเกือบทุกตารางนิ้วกลายเป็นสนามรบ ประวัติศาสตร์บันทึกว่า นี่คือ First World War มีทหารกว่า 70 ล้านนาย ซึ่งเป็นทหารยุโรปเสีย 60 ล้านนาย ถูกระดมเข้าสู่สงคราม

สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นความขัดแย้งวงกว้างภายในทวีปยุโรปที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สงครามนโปเลียน

สยามประเทศที่อยู่ห่างไกลจากสงคราม ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะในสยามมีชาวต่างชาติที่เป็น “คู่สงคราม” เข้ามาพำนักอาศัย มาลงทุนค้าขาย วิศวกรชาวเยอรมันกำลังทำหน้าที่ขุดเจาะถ้ำขุนตาน มีเรือสินค้าเยอรมัน มีชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส มีทูตประเทศต่างๆ ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศของตน เมื่อประกาศสงครามกันย่อมต้อง “คบกันต่อไปไม่ได้” ไมตรีสิ้นสุดลง

ในช่วงเวลาแห่งสงคราม ทูตจะต้องทำหน้าที่ “หาประเทศพันธมิตร” จากทั่วโลกเพื่อให้การสนับสนุนชาติของตน ในหลักการทั่วๆ ไป ประเทศต่างๆ มีทางเลือก คือ เลือกข้างที่จะสนับสนุน หรือวางตัวเป็นกลาง

ในหลวงรัชกาลที่ 6 ก่อนขึ้นครองราชย์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย และสถาบันการทหารจากประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาใช้เวลาในอังกฤษราว 9 ปี

ในขณะที่ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ต้องทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะสยามมกุฎราชกุมารควบคู่ไปด้วยระหว่างการศึกษา เช่น เสด็จฯแทนพระองค์ ในหลวง ร.5 ไปทรงร่วมในพระราชพิธีต่างๆ ในราชสำนักของยุโรป

พ.ศ.2440 เสด็จฯไปร่วมงานฉลองพระชนมายุครบ 60 พรรษาของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งอังกฤษ

พ.ศ.2441 เสด็จฯไปในงานพระราชพิธี ฝังพระศพพระนางหลุยซาแห่งเดนมาร์ก
พ.ศ.2445 ทรงร่วมงานพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าอัลฟองโซแห่งสเปน
พระราชพิธีในราชสำนักยุโรป และการเสด็จประพาสเยือนประเทศต่างๆ ก่อเกิดพระวิสัยทัศน์ให้สยามมกุฎราชกุมารฯ ต่อสภาพความเป็นไปในยุโรปอย่างมีคุณค่า

สยามมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่างๆ ในยุโรป นายทหาร พระราชวงศ์หลายพระองค์ที่รับราชการในขณะนั้นล้วนสำเร็จการศึกษาจากยุโรปทั้งสิ้น

“จะให้อาณาประชาชน คนในบังคับสยามมีความศุข และได้มีความศุขสืบไปในความสงบเรียบร้อย อันเปนคุณหาที่สุดมิได้นั้น…จึงได้ตั้งพระราชหฤทัยที่จะเปนกลาง ไม่เข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการสงคราม…โดยแน่นอนและโดยชอบธรรม…” คือ พระราชปณิธาน
สงครามในยุโรปดำเนินไปอย่างดุเดือด สยามต้องแสดงท่าที เพื่อ “ความอยู่รอดอย่างสง่างาม” ภายใต้การเพ่งเล็งของทูตต่างๆ

6 สิงหาคม พ.ศ.2457 ในหลวง ร.6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ “…ประกาศว่าด้วยกรุงสยามเปนกลางในระหว่างสงครามที่เปนอยู่ในยุโรป…”

ส่วนผู้ที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะนักเรียนทหารนั้น ในหลวง ร.6 ทรงมีพระบรมราชโองการให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงมีพระโทรเลขเป็นคำสั่งถึงสถานทูตไทย ควบคุมทหารไทยให้ตั้งตนเป็นกลางอย่างแท้จริง ซึ่งปรากฏต่อมาภายหลังว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เพราะมีนักเรียนทหารของสยามสมัครเข้าร่วมรบกับกองทัพเยอรมัน

มหาอำนาจในยุโรปยังคงระแวงท่าทีของสยาม เพราะ ม.จ.ไตรทศประพันธ์ อัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลินยังคงประจำอยู่ ณ กรุงเบอร์ลินตามปกติ และที่สำคัญคือ ท่านทรงเป็นพระโอรสของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ

การจับจ้องมองท่าทีของสยาม เป็นแรงกดดันไม่น้อย ซึ่งต่อมามีรายงานว่า รัฐบาลเยอรมันออกคำสั่งให้นักเรียนทหารชาวสยามทั้งหมดเข้าประจำการในกองทัพเยอรมัน

ประชาชนในสยามมีความคิด 3 รูปแบบ คือ ให้วางตัวเป็นกลาง ให้สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร หรือให้สนับสนุนมหาอำนาจกลาง

สิ่งที่เป็นพระราชภาระหนักพระทัยของในหลวง ร.6 ในขณะนั้น คือ พระองค์ทรงต้องการบรรลุพระราชปณิธานที่ว่า “…หวังว่าจะมีชีวิตอยู่นานพอที่จะได้เห็นสยามประเทศได้เข้าร่วมในหมู่ชาติต่างๆ โดยได้รับเกียรติยศและความเสมอภาคอย่างจริงๆ …”

ในหลวง ร.6 ทรงตั้งพระทัยที่จะปลดพันธะแห่งสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ผูกมัดประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2398 ให้หมดสิ้นไป ตราบใดที่มีการผูกมัดสยามประเทศด้วยสนธิสัญญานี้ รัฐบาลสยามก็จะไม่สามารถปรับปรุงประเทศในด้านต่างๆ ให้สัมฤทธิผลได้

ขอเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพย้อนไป เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2398 ในรัชสมัยในหลวง ร.4 เซอร์ จอห์น เบาริง ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียของอังกฤษให้เข้ามาเจรจา เปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม สยามต้องปรับเปลี่ยนกฎการค้าระหว่างประเทศ สยามต้องอนุมัติให้มีสถานกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ และสยามต้องรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษถือครองที่ดินในสยามได้

สนธิสัญญานี่เรียกกันว่า สนธิสัญญาเบาริง (Bowring Treaty) ที่ถือว่าเป็นเครื่องพันธนาการสยามประเทศมานานแสนนาน และมหาอำนาจอีก 12 ประเทศก็ตามเข้ามาบังคับให้สยามตกลงตามแบบที่ให้สิทธิกับอังกฤษ

ในหลวง ร.6 ทรงติดตามสถานการณ์ด้วยพระองค์เอง ใช้ความสุขุมคัมภีรภาพวิเคราะห์ผลลัพธ์ของสงครามโลก และผลประโยชน์ของราชอาณาจักรสยามเป็นที่ตั้ง

สงครามโลกดำเนินไปราว 3 ปี สถานการณ์กระจ่างชัดขึ้น เนื่องจากมหาอำนาจสหรัฐอเมริกากระโดดเข้าช่วยฝ่ายพันธมิตร คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย พลังอำนาจของกองทัพสหรัฐรุกไล่ฝ่ายเยอรมันแบบตั้งตัวไม่ติด

หลังจากสถานการณ์พลิกผัน ประกอบกับการดำเนินการทางการทูตอย่างเฉียบแหลมของทูตสยามในยุโรป และทูตยุโรปในสยาม

21 กรกฎาคม พ.ศ.2460 เวลา 24.00 น. ในหลวง ร.6 ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศสงครามกับ เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี

กระทรวงกลาโหมประกาศรับสมัคร “กองทหารอาสา” เพื่อจัดส่งไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป ชายชาวสยามแห่กันมาสมัครเป็นทหารจำนวนมหาศาล จึงต้องมีการคัดกรองและทำการฝึก

กองทหารอาสาจากสยาม ประกอบด้วย หน่วยขนส่งยานยนต์ บุคลากรทางการแพทย์ และนักบิน โดยก่อนหน้าที่จะส่งทหารอาสาไปในหลวง ร.6 ได้ทรงส่งคณะทูตทหารซึ่งนำโดย นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้บัญชาการ กองพลที่ 4 ไปประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรปไปก่อนแล้ว

หน่วยทหารที่พร้อมที่สุด คือ หน่วยบินของกองทัพบก นำโดย พันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุนี สุวรรณประทีป) ที่เคยเข้าฝึกที่โรงเรียนการบิน วิลลาคูเบลย์ ประเทศฝรั่งเศส มาก่อนแล้วเป็นผู้บังคับบัญชาเดินทางไป ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่เข้าศึกษาวิชาการบิน โดยเริ่มฝึกบินเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2455 โดยฝึกกับเครื่องบินแบบเบรเกต์ ปีกสองชั้น

30 กรกฎาคม พ.ศ.2460 เรือเอ็มไพร์นำกองทหารอาสาเทียบท่าที่ท่าเรือมาร์แซย์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส

สิงหาคม พ.ศ.2460 กองบินของกองทหารอาสาสยามเดินทางไปฝึกที่โรงเรียนการบินที่เมืองอิสทร์ แม้ว่าหน่วยบินของสยามจะไม่ได้เข้าต่อสู้ในสงครามแต่นักบินทั้งหลายได้กลายเป็นแกนหลักในการก่อตั้งกองทัพอากาศไทยในเวลาต่อมา

ส่วนกองทหารบกรถยนต์ได้ถูกส่งไปโรงเรียนฝึกอบรมที่เมืองลียง และเมืองดูร์ดอง วันที่ 24 กันยายน กองทหารบกรถยนต์ได้ถูกส่งไปที่เขตวิลมัวแย็น ซึ่งตั้งอยู่ประมาณ 50 กิโลเมตรจากแนวหน้า

17 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2461 กองทหารบกของสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 ขนส่งทหารจำนวน 3,600 นาย รวมทั้งเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์จำนวนมากถึง 3 พันตันไปที่แนวหน้าสู้รบ จากนั้นกองทหารบกรถยนต์ได้ย้ายที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองแวร์ดัง

กองทหารสยามปฏิบัติภารกิจเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารชาติอื่นๆ ในยุโรป รวมทั้งได้รับการฝึกเพิ่มเติม มีกำลังพลเสียชีวิต 19 นาย

เยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี แพ้สงครามยับเยิน

11 พฤศจิกายน 2461 เยอรมนีลงนามในสัญญาสงบศึก พิธีลงนามจัดขึ้นบนรถไฟที่เมืองแคมเปญ ประเทศฝรั่งเศส

18 มกราคม 2462 ฝ่ายสัมพันธมิตร ในฐานะผู้ชนะสงคราม จัดการประชุมทำสนธิสัญญาสันติภาพ ณ พระราชวังแวร์ซายส์

รัฐบาลสยามได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในพิธีประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของโลกอย่างสง่างาม ในหลวง ร.6 โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ม.จ.ไตรทศประพันธ์ และพระยาพิพัฒโกษา เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม

ประวัติศาสตร์ของสยามที่เคยเป็น “ผู้ถูกกระทำ” เสียเปรียบชาติตะวันตกจากสนธิสัญญาเบาริง เริ่มพลิกโฉม เปลี่ยนไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในหลวง ร.6 พระราชทานแนวทางให้คณะทูตจากสยามเริ่มเจรจาเพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาเบาริงกับชาติตะวันตก เพราะที่ผ่านมา คนอังกฤษและคนในบังคับของอังกฤษทำผิดกฎหมายจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นศาลสยาม แต่กงสุลอังกฤษจะลงโทษตามกฎหมายอังกฤษ อังกฤษกำหนดให้สยามเก็บภาษีร้อยละสาม ชาติตะวันตกมีสิทธิพิเศษเรื่องการค้าฝิ่น และสิทธิอื่นๆ ที่กดขี่ เอาเปรียบสยามในทุกด้าน

เมื่ออังกฤษได้สิทธิดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ.2369 อเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์กและโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี สเปน ญี่ปุ่น แห่กันมารุมกินโต๊ะสยามประเทศ เพื่อขอสิทธิแบบที่สยามให้กับอังกฤษตามสนธิสัญญาเบาริง

รัสเซียก็ไม่พลาดโอกาสทอง ขอเพียงทำสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือ

นี่คือเครื่องพันธนาการ ที่มัดมือมัดเท้าชาวสยามไว้ตลอดมา สร้างความขมขื่น กดขี่ เอาเปรียบสยามทุกลมหายใจด้วยข้อกล่าวหาจากชาติตะวันตกว่าสยามยังเป็นสังคมที่ไม่พัฒนา ล้าหลังและอ่อนด้อย

เหตุปัจจัยดังกล่าว ในหลวง ร.5 ตัดสินพระทัยเดินทางประพาสยุโรป 2 ครั้ง เพื่อเร่งสร้างชาติให้ทันสมัย ศิวิไลซ์ตามแบบตะวันตก โดยปฏิรูปการศาลและระบบกฎหมาย ทรงจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น ในหลวง ร.5 ทรงว่าจ้างนักกฎหมายจากอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม และลังกา เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสยาม

คณะผู้แทนจากสยามใช้เวทีการประชุมสันติภาพในกรุงปารีส ในฐานะประเทศร่วมรบชนะสงคราม สยามกล่าวถ้อยแถลง เพื่อขอขจัดความอยุติธรรม ขอความเป็นอิสระ และเสมอภาคจากชาติตะวันตก

ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ของสหรัฐ สนับสนุนคำร้องขอของคณะผู้แทนจากสยาม สร้างพลังมหาศาลต่อข้อเสนอของสยาม

“…สหรัฐอเมริกาจะให้สัญญาใหม่แก่ไทยเพื่อแก้ไขลบล้างสิทธิสภาพนอกอาณาเขตดั้งเดิมและจะให้ไว้เพื่อเป็นการกระทำแห่งความยุติธรรมอย่างอิสระ โดยปราศจากราคาค่างวดใดๆ …”

สหรัฐอเมริกา คือประเทศมหาอำนาจที่ส่งกำลังทหารเข้าช่วยอังกฤษ ฝรั่งเศส “เป็นตัวช่วย” พลิกสถานการณ์ให้ฝ่ายพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงคราม เมื่อมหาอำนาจสหรัฐกล่าวเช่นนี้ จึงเป็นสัญญาณเข้มไปยังประเทศตะวันตกให้คล้อยตามอย่างไม่ต้องสงสัย

ฟ้าใสหลังฝนตกหนักมานาน …โอกาสทองของสยามที่เฝ้ารอคอยมาถึง ในหลวง ร.6 โปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการเพื่อขอแก้สนธิสัญญากับสหรัฐเป็นประเทศแรก โดยทรงแต่งตั้งให้ พระยาประภากรวงศ์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงวอชิงตันเป็นผู้มีอำนาจเต็มการแก้ไขสนธิสัญญากับสหรัฐ ก็มิได้ราบรื่นไปซะหมด เพราะจะต้องผ่านการอนุมัติจากสภาของสหรัฐและมีขั้นตอนมาก ที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องระบบงานยุติธรรมของสยาม ยังไม่เป็นที่ยอมรับ

ในหลวง ร.6 โปรดเกล้าฯ ให้จ้าง ดร.ฟรานซิส บี แซร์ (Francis Bowes Sayre) อาจารย์นักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชาวอเมริกัน เข้ามาทำงานเพื่อการขอแก้สนธิสัญญา ต่อมาพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น พระยากัลยาณไมตรี

หลังจากความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวง วันที่ 27 เมษายน 2464 สภาสูงของสหรัฐให้สัตยาบันสนธิสัญญาโดยประธานาธิบดีฮาร์ดิง (ต่อจากประธานาธิบดีวิลสัน) ในหลวง ร.6 พระราชทานสัตยาบัน

1 กันยายน 2464 ทั้ง 2 ฝ่ายแลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณ กรุงเทพฯ

คณะทำงานของสยามตระเวนไปในทวีปยุโรปเพื่อขอแก้สนธิสัญญากับอีก 12 ชาติ ใช้เวลาราว 7 ปี โดยมีอิตาลี เป็นชาติสุดท้ายที่ยอมแก้สนธิสัญญา

การดำเนินพระบรมราโชบายนำสยามประเทศเข้าร่วมสงครามโดยสนับสนุนฝ่ายพันธมิตร เป็นพระปรีชาญาณและพระวิจารณญาณอันล้ำลึก กว้างไกลของในหลวง ร.6 อันก่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ สร้างเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์มาสู่ประชาชนอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์

เมื่อจบภารกิจสุดท้าย ณ ประเทศอิตาลี พระยากัลยาณไมตรีกราบบังคมทูลต่อในหลวง ร.6 ความว่า

“…เมื่อจัดทำสนธิสัญญากับอิตาลีเสร็จลงแล้ว ก็เป็นอันว่ามหาอำนาจคู่สัญญาทั้งมวลได้ยอมมอบคืนสิทธิแห่งสภาพนอกอาณาเขตให้หมด ประเทศสยามได้รับอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์คืน ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเป็นบุคคลแรกที่แสดงความยินดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและขอแสดงความชื่นชมโสมนัส อย่างยิ่งที่ประเทศสยามได้กลับมาเป็นตัวของตัวเองอีกวาระหนึ่ง…”

เหตุฉะนี้วันที่ 11 พฤศจิกายน 2461 นับเป็นเวลา 100 ปีผ่านไป ประเทศไทยจึงได้รับเกียรติให้ไปร่วมพิธีอันทรงเกียรติ ณ นครปารีส ร่วมกับผู้นำประเทศต่างๆ 70 ชาติ อย่างโอ่อ่า สง่างาม

เอกสารอ้างอิง : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image