การแบ่งฝ่ายรอบใหม่ : วีรพงษ์ รามางกูร

ทันทีที่หัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ แสดงท่าทีว่าจะต่อท่ออำนาจต่อไปหลังจากจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีคนเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างว่าหัวหน้ารัฐบาลเผด็จการจะยอมลงจากอำนาจง่ายๆ และวิธีที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างง่ายๆ ก็คือ สัญญากับประชาชนว่าจะมีการเลือกตั้ง แล้วก็ทำสถานการณ์ให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ

ตราบใดที่ประชาชนยังไม่สามารถรวมกันติดในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการปกครองตัวเอง ไม่ออกมาต่อต้านการลิดรอนเสรีภาพของตน การจะให้เผด็จการหยิบยื่นประชาธิปไตยให้ประชาชนแล้วลงจากอำนาจเฉยๆ ไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้ แม้ว่ากำหนดการเลือกตั้งเข้าใกล้ขนาดนี้ หลายคนก็ยังไม่เชื่อว่าจะมี

เมื่อนักข่าวเอาข้อกังขานี้ไปถามรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ก็แสดงความโมโหโกรธา ไม่ให้มาถามกันอีก ไม่อยากตอบแล้ว แต่ถ้าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปกันจริงๆ รัฐบาลได้ตระเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองฝ่ายตน โดยสงวนท่าทียังไม่เข้าสังกัดพรรคใด รองหัวหน้าพรรคฝ่ายพลเรือนก็เช่นกัน ยังไม่ประกาศเข้าร่วมพรรคใด โดยอ้างว่า “ยังไม่ถึงเวลา” เพราะยังไม่ได้ปลดคำสั่งห้ามการตั้งพรรคการเมือง ห้ามมิให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน

แม้กระนั้นก็ตาม การแบ่งฝ่ายทางการเมืองรอบใหม่ก็เริ่มขึ้น ขนานนามแต่ละฝ่ายเพื่อสื่อความหมายในทางการเมือง เป็นฝ่ายที่ไม่เอาเผด็จการกับฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ ฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ ฝ่ายทายาทอสูรกับฝ่ายประชาธิปไตย พรรคฝ่ายเทพและพรรคฝ่ายมาร ซึ่งเป็นของที่เกิดขึ้นเสมอ เป็นปกติหลังจากเปิดเวทีประชาธิปไตย หลังจากประเทศถูกครอบคลุมด้วยบรรยากาศการเมืองแบบเผด็จการ สังคมเป็นสังคมปิด จะพูดจาอะไรก็ต้องป้องปาก ซุบซิบกันไปกับการที่ไม่สามารถตำหนิติเตียนรัฐบาลได้อย่างเปิดเผย

Advertisement

เมื่อมีการเปิดประเด็น แม้จะยังไม่ได้เปิดให้มีบรรยากาศเสรีแต่ความรู้สึกของการแบ่งฝ่ายก็ปรากฏขึ้นทันที การแบ่งฝ่ายคราวนี้ไม่ใช่การแบ่งฝ่ายเป็นสีเหลืองสีแดงอย่างเดิม แต่ประเด็นการแบ่งฝ่ายกลับเป็นฝ่ายสนับสนุนการปกครองระบอบเผด็จการ ซึ่งจำแลงตนมาในคราบพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ฝ่ายเผด็จการจะได้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คนไว้รอท่าอยู่แล้ว แค่ได้คะแนนจากสภาล่างเพียง 125 คน จาก 500 คน ก็จะได้เสียงข้างมากในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จึงเป็นเพียงพิธีกรรมของเผด็จการเท่านั้นเอง

การเลือกตั้งจึงไม่ใช่ประเด็นเรื่องนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา หรือประเด็นสำคัญๆ ของประเทศอย่างที่ประเทศที่เขาเจริญแล้วเขาทำกัน แต่เราคนไทยยังมะงุมมะงาหรากับประเด็นว่าจะเอาระบอบเผด็จการหรือระบอบประชาธิปไตย ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะยากจนล้าหลังเพียงใด ในละตินอเมริกาหรือแอฟริกาเขาได้ผ่านจุดนี้มาแล้ว ไม่นับเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและพม่าที่เคยล้าหลังทางการเมืองอย่างเรา

การสร้างประเด็นการเมืองเพื่อสร้างกระแส เพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง ที่เห็นได้ชัดก็คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของมหาจำลอง ศรีเมือง ที่ใช้กระแส “ไม่เลือกเราเขามาแน่” หรือการสร้างกระแสของพรรคเก่าแก่เล่นงานพรรคพลังใหม่สมัยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าพรรคพลังใหม่เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นภาพที่มีคนหนุ่มรุ่นใหม่ เหมือนกับคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในพรรคต่างๆ ขณะนี้ที่มีความคิดค่อนข้างก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในขณะนั้นที่กระแสลมทางทิศตะวันออกพัดแรงมาจากปักกิ่งและฮานอย สหรัฐอเมริกากำลังเพลี่ยงพล้ำต่อมมติมหาชนในบ้านตนเอง เมื่อถูกกระแสว่าเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ พรรคพลังใหม่ที่กำลังก่อตั้งเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ก็เป็นอันพับฐาน เพราะกระแสปลุกปั้นว่าพรรคการเมืองมี 2 ฝ่าย คือฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับฝ่ายสังคมนิยม และในที่สุดฝ่ายสังคมนิยมก็ถูกทำลายด้วยการปฏิวัติรัฐประหารหลังกรณี 6 ตุลาคม 2519

Advertisement

เมื่อมีการเลือกตั้งหลังกรณีพฤษภาทมิฬ เป็นการปะทะกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคความหวังใหม่ซึ่งมีกระแสแรงมาก การสร้างวาทกรรมเพื่อแบ่งคนออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายเทพกับฝ่ายมาร ทำโดยหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น จนกลายเป็นประเด็นการเมืองก่อนการเลือกตั้ง กลายเป็น
กระแสที่คนกรุงเทพฯเชื่อว่ามี 2 ฝ่าย คือฝ่ายเทพและฝ่ายมารจริงๆ

การสร้างประเด็นแบ่งฝ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องธรรมดา โดยปกติก็ทำผ่านหนังสือพิมพ์ โดยที่ประชาชนก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายตั้งรัฐบาลกับฝ่ายต้องการล้มรัฐบาล ที่ผ่านมาประชาชนในกรุงเทพฯ ภาคใต้และปริมณฑล มักจะเลือกผู้แทนราษฎรที่มาจากฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันประชาชนในต่างจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานจะเลือกพรรคที่มีแนวโน้มที่จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

เคยได้คุยหาเหตุผลที่ราษฎรมีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงต่างกัน ประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานนั้น มักจะมีแนวโน้มที่จะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกพรรคที่เคยปฏิบัติตามสัญญา เช่น การนำโครงการพัฒนาเข้ามาในหมู่บ้านหรือตำบล แม้กฎหมายจะห้ามมิให้สมาชิกสภาผู้แทนกระทำเช่นนั้น แต่ถ้าพรรคที่เป็นแกนนำของรัฐบาลหรือรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องสามารถทำให้มีโครงการพัฒนา เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา การประกันราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น โครงการประกันราคาข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยทั้งสิ้น แม้ว่าจะเคยมีโครงการเหล่านี้มาก่อน แต่ก็ไม่ได้ทำอย่างทั่วถึงและลงไปไม่ถึงชาวบ้าน ผู้รับผลประโยชน์เป็นเพียงกลุ่มหัวคะแนนและมีการฉ้อราษฎร์
บังหลวงกัน

ส่วนประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ซึ่งส่วนใหญ่มิได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าคนกลาง นักธุรกิจ พนักงานบริษัท องค์กรของรัฐและข้าราชการทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ถือตนว่าเป็นคนละชนชั้นกับราษฎรที่เป็นชาวไร่ชาวนา แม้ว่าช่องว่างฐานะทางเศรษฐกิจจะแคบลงอย่างมากแล้วก็ตาม แต่ความรู้สึกก็ยังเหมือนเดิม

เมื่อมีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้น ประชาชนผู้ที่สังกัดอยู่ในชนชั้นบน มีความรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายที่ควรจะมีอำนาจทางการเมือง แต่โดยที่ฝ่ายค้านมีอำนาจน้อยกว่าฝ่ายตรงกันข้าม ผลการเลือกตั้งที่ออกมาปรากฏว่าพรรคการเมืองที่คนกรุงเทพฯและปริมณฑลรวมทั้งภาคใต้จึงแพ้การเลือกตั้งที่เลือกโดยคนชนบทในภาคเหนือและภาคอีสาน ขณะเดียวกันเสียงของคนภาคกลางและภาคตะวันออกกลับไปเลือกพรรคเล็ก พรรคการเมืองใหญ่ไม่อาจจะชนะการเลือกตั้งได้

เมื่อพรรคของคนกรุงเทพฯและภาคใต้ รู้ตัวว่าตนไม่อาจจะเอาชนะการเลือกตั้งได้ จึงหันไปร่วมมือกับทหารและชนชั้นสูง ลงมือขัดขวางการเลือกตั้ง คว่ำบาตรการเลือกตั้ง เท่ากับปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยไปโดยปริยาย

เมื่อพรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่อาจจะคว่ำรัฐบาลได้ผ่านระบบรัฐสภา เพราะตนและพันธมิตรเป็นเสียงข้างน้อย จึงออกมาเล่นการเมืองนอกสภาผู้แทนราษฎร สร้างวาทกรรมว่าเป็น “การเมืองภาคประชาชน” ซึ่งไม่มีในระบอบการเมืองใดในโลก นอกจากการเมืองฝ่ายเผด็จการ ในขั้นตอนเตรียมการทำปฏิวัติรัฐประหาร เพื่อสถาปนารัฐเผด็จการ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นปกครองและชนชั้นสูง และอาจจะรวมทั้งคนชั้นกลางระดับสูงด้วย ซึ่งสื่อมวลชนไทยก็สังกัดอยู่ในชนชั้นนี้ กลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ไม่ต้องการประชาธิปไตยในการปล่อยข่าวอกุศล ทำลายรัฐบาลที่มาจากฝ่ายที่โหยหาประชาธิปไตยด้วย

การแบ่งฝ่ายระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้ฝ่ายเผด็จการสามารถต่อท่ออยู่ต่อไป แต่ต้องอยู่ในเสื้อคลุมประชาธิปไตยเพราะแรงกดดันจากกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งในทางเศรษฐกิจการค้าและการเมือง ซึ่งฝ่ายตะวันตกผูกรัดเข้าด้วยกันจนสามารถเอาชนะฝ่ายสังคมนิยมในสงครามเย็นได้ อีกฝ่ายคือ ฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตย ต้องการการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมหรือ “free and fair” อย่างที่ฝรั่งเขาเรียกร้องกันเมื่อศตวรรษที่ 19-20 รวมทั้งประเทศในเอเชียซึ่งเขาได้ผ่านพ้นขั้นตอนนั้นมาแล้ว

การแบ่งฝ่ายดังกล่าวไม่มีทางหมดไปจากสังคมไทยได้ เพราะเป็นการแบ่งโดยโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ยืนยันจากความเป็นไปทางประวัติศาสตร์และเป็นโครงสร้างที่คนส่วนใหญ่รับได้โดยไม่นำไปสู่ความรุนแรง ตราบใดที่ยังคงเคารพกติกา จัดให้ประชาชนชั้นล่างมีช่องว่างได้หายใจและยอมรับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง แม้ว่าช่องว่างดังกล่าวจะกว้างขึ้น

แต่ถ้าหากมีพรรคการเมืองใดที่แม้จะเป็นพรรคการเมืองของคนชนบท แต่เข้าใจพัฒนาการของสังคมและเสนอแนวทาง “รัฐบริการ” หรือ “service state” แม้จะไปไม่ถึง “รัฐสวัสดิการ” หรือ “welfare state” อย่างยุโรปก็ย่อมจะได้รับความนิยม ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีความคิดอะไรที่จะหยิบยื่นให้สังคมเลย นอกจากความเกรงกลัวว่าตนเองจะสูญเสียสถานะพร้อมกับความรู้สึกดูถูกและเกลียดชัง ซึ่งสะท้อนออกมาในคำพูดเมื่อเกิดความขัดแย้ง

การแบ่งฝ่ายยังคงมีแต่เปลี่ยนวาทกรรมใหม่

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image