รธน.นี้เพื่อพวกเรา โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

วรรคทอง “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาเพื่อพวกเรา” กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันที เมื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดประตูบ้านต้อนรับอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. ว่าที่ ส.ส.หลายสิบชีวิตจากกลุ่มสามมิตรเข้าสู่อ้อมกอดอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

จนแกนนำกลุ่มสามมิตรประกาศความมั่นใจว่ามีโอกาสได้เป็นรัฐบาลอย่างแน่นอน ไม่ต้องห่วงเพราะ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา”

แทนที่จะใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาอย่างนี้ เป็นประโยชน์กับพวกเรา” ความร้อนแรงของปฏิกิริยาโต้กลับคงไม่ถึงขนาดนี้ แต่เมื่อใช้คำว่า “เพื่อพวกเรา” เท่านั้นเอง กลายเป็นวรรคทอง ถูกจองกฐิน สวนกลับยังไม่จบสิ้นถึงวันนี้

เพื่อนพรรคการเมืองหลายพรรคศอกกลับทันควันเหมือนกันว่า “อย่างนี้มันเอาเปรียบกันนี่หว่า”

Advertisement

ครับ จะเป็นเพราะเจ้าของวรรคทองพูดเพราะกลอนพาไป คะนองปาก หรือปากพาจนก็แล้วแต่ สะท้อนความคิดที่ดำรงอยู่อย่างชัดเจน

ฝ่ายที่พลอยถูกกระทบไปด้วยก็คือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง หรือต่อท่ออำนาจ ก็แล้วแต่จะมองมุมไหน จะแก้ตัว อธิบายความต่อสังคมอย่างไรว่าไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นรัฐธรรมนูญของทุกคน เพื่อทุกคน ทุกฝ่าย เป็นกลาง ไม่ใช่เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือพรรคการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อธิบายความทำนองนี้แล้วผู้คนจะเชื่อหรือไม่ก็สุดแท้แต่ความคิดของแต่ละ
คนไป

แต่ที่แน่ๆ การที่แกนนำกลุ่มสามมิตรคิดเช่นนั้น ล้วนมีที่มาที่ไปจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั่นเอง

Advertisement

ตรงจุดไหน มาตราอะไร ถึงทำให้มองเห็นว่า “ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” คอการเมืองรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นเล็ก อนาคตเก่า อนาคตใหม่ ล้วนมองออกด้วยกันทั้งสิ้น

จุดที่ชัดสุดก็คือ การวางโครงสร้างอำนาจให้วุฒิสมาชิก เป็นฐานรองรับการเกิดขึ้นและเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 250 คน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็น
ผู้ตัดสินว่าจะเสนอรายชื่อผู้ใด

วุฒิสมาชิกจำนวนนี้ จึงเป็นกำไรที่มีอยู่ในมือ เป็นแต้มต่ออีกฝ่าย ทำให้กลุ่มที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา มั่นใจว่าจะส่งคนในบัญชีรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลเป็นผลสำเร็จอย่างแน่นอน

การออกแบบให้วุฒิสมาชิกมีที่มาสองทาง ทางแรกจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ จากระดับอำเภอ มาสู่ระดับจังหวัด มาสู่ระดับประเทศ 200 คน ส่งให้ คสช.เลือกเหลือ 50 คน สำรอง 50 คน ทางที่สองมีกรรมการสรรหาให้ได้จำนวน 400 คน ส่งให้ คสช.เลือกเหลือ 194 คน

การที่วุฒิสมาชิกมาได้สองทาง ทั้งเลือกตั้งกันเองและสรรหา ก็เพื่อให้เกิดความหลากหลาย แต่เมื่อจำนวนไม่เท่ากัน สะท้อนชัดว่าให้น้ำหนักไปที่วุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหามากกว่า เป็นปัจจัยทำให้ผู้วาดหวังว่าจะเข้าสู่สนามการเมืองในเวทีวุฒิสภาย่อมคิดวิเคราะห์แล้วว่า ระหว่างสมัครเพื่อเลือกกันเอง กับเข้าช่องกรรมการสรรหา หนทางใดจะทำให้ตนมีโอกาสมากกว่า ย่อมเลือกเส้นทางนั้นมากกว่าเป็นธรรมดา

ปัญหาการวิ่งเต้น เส้นสาย ใช้ความสนิทสนมส่วนตัว ความผูกพันต่างๆ นานาที่่มีมากับศูนย์อำนาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอด

เมื่อผู้มีอำนาจ ที่ควรจะเป็นกรรมการกลาง คอยควบคุมกำกับ กลายมาเป็นผู้เล่นเสียเอง และมีอำนาจในการเลือกว่าที่วุฒิสมาชิกจากบัญชีรายชื่อทั้งหมด ควรจะเสนอใคร จึงเข้าข่ายมีประโยชน์ทับซ้อน มีส่วนได้เสียโดยตรง

ความเป็นกลางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้มีตั้งแต่กรรมการสรรหาวุฒิสมาชิก จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ในเมื่อผู้เล่นฝ่ายหนึ่งพูดออกมาเต็มปากเต็มคำว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา

เมื่อตัวแม่บทใหญ่เป็นไปภายใต้ทิศทาง “เพื่อพวกเรา” กลไก กรรมการย่อยต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาย่อมถูกแนวทางหลักชี้นำไปทางนั้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

การแข่งขันภายใต้กติกาที่ออกแบบมาเช่นนี้ จากคำพูดของแกนนำที่ประกาศออกมา ศักดิ์ศรี ความสง่างามของผู้ชนะอยู่ตรงไหน เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเมืองที่ไม่แฟร์

ในขณะที่พยายามชูแนวทางปฏิรูป แก้จน แก้โกง แก้เหลื่อมล้ำ สร้างไทยไปด้วยกัน ซึ่งมุ่งเน้นมิติทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่มิติทางการเมือง การเมืองเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น พรรคฝ่ายหนึ่งกำลังอาศัยความได้เปรียบจากความเหลื่อมล้ำนี้เพื่อบรรลุชัยชนะ

โฆษกของพรรคพลังประชารัฐต้องตอบต่อสังคมอย่างตรงไปตรงมา จะแก้ปัญหาหรือขจัดความเหลื่อมล้ำทางการเมืองนี้อย่างไร เพื่่อไม่ให้ใครต่อใครว่าได้ว่า พูดอย่าง ทำอีกอย่าง นั่นไง

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image