มิใช่ฤดูฝนก็ฝนตก มาตรการคนจน รับช่วงเลือกตั้ง

ฝนนอกฤดูตกต้องลงมาได้ถูกเวลายิ่ง

20 พฤศจิกายน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐ ข้าราชการบำนาญ และผู้มีรายได้ที่ต้องการบ้านอยู่อาศัย เป็นวงเงินที่ใช้ในมาตรการทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านบาท

คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.07%

Advertisement

ประกอบด้วย ช่วยค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน

ค่าน้ำประปา 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน เริ่มเดือน ธ.ค.2561-ก.ย.2562 จำนวน 8.2 ล้านครอบครัว

ใช้เงิน 2.7 หมื่นล้านบาท

Advertisement

มาตรการเติมเงินให้กับผู้ถือบัตรคนจน 14.5 ล้านคน คนละ 500 บาท เพียงครั้งเดียว

โดยจะเติมเงินให้ระหว่างเดือน ธ.ค.2561-ม.ค.2562 เพื่อใช้จ่ายเพิ่มเติม

วงเงิน 7,250 ล้านบาท

มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้มีรายได้น้อยสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 3.5 ล้านคน จำนวน 1,000 บาท

จ่ายครั้งเดียว เป็นวงเงิน 3,500 ล้านบาท

มาตรการสนับสนุนค่าเช่าบ้านผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 400 บาทต่อเดือน ตั้งแต่ ธ.ค. 2561-ก.ย.2562 จำนวน 2.3 แสนคน

วงเงิน 920 ล้านบาท

มาตรการช่วยเหลือข้าราชการเกษียณที่รับบำนาญแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ

ให้ข้าราชการบำนาญสามารถนำบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของเงินเดือน มาใช้เป็นบำเหน็จดำรงชีพได้เป็นครั้งที่ 3 ได้อีก 1 แสนบาท มีผู้ได้สิทธิ 6.59 แสนคน เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท

เติมเงินข้าราชบำนาญที่ได้บำเหน็จน้อยต่ำกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ให้เป็น 1 หมื่นบาท จำนวน 5.27 หมื่นคน

ใช้เงิน 558 ล้านบาท

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่า

ถ้ามองในฐานะที่เป็นประชาชน หลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่จำเป็น

ยกตัวอย่างผู้สูงอายุที่ต้องมีงบลงไปดูแล เพราะสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การที่เราดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่วันนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี

“กระบวนการทั้งหมดต้องใช้เวลาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการตั้งโครงการต่างๆ ต้องดำเนินการมาร่วมปีกว่าจะถึงวันนี้

ผมไม่คิดว่าคิดนโยบายเมื่อวานแล้วออกวันนี้ มันเป็นไปไม่ได้ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลด้วย

และพอดีมาออกช่วงเวลานี้ ถือว่าเหมาะสมในช่วงเวลาที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อน และต้องยอมรับอีกเรื่องใกล้สิ้นปีขึ้นปีใหม่ ต้องมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นทุกครอบครัว รัฐบาลจึงพยายามช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ให้ประชาชน”

เมื่อถามว่า คิดว่าเลี่ยงไม่ได้หรือไม่ที่พรรคพลังประชารัฐจะถูกมองได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ทางการเมือง

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ให้มองว่าประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ เพราะไม่ได้หมายความว่าการได้ประโยชน์แล้วจะไปเลือกพรรคไหน

สุดท้ายเขาก็ต้องมาตัดสินใจอีกที ว่าใครคือคนที่ให้ประโยชน์และให้โอกาสกับเขา

กลับด้านกัน

นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า

เป็นการใช้งบประมาณของประเทศเพื่อหาเสียงล่วงหน้า เนื่องจากรัฐมนตรี 4 คนในรัฐบาล คสช.เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรง และเป็นแกนนำของพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังอยู่ในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง

เป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น

แม้มาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือประชาชน แต่ถือเป็นการช่วยเหลือแค่ในระยะสั้น ไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังสร้างภาระทางการคลังให้กับรัฐบาล ผูกพันภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต อันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

หากจริงใจในการแก้ไขปัญหาความยากจน ควรจะหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างอื่นที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และไม่มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงน่าจะเหมาะสมกว่า

ด้านหนึ่ง

นี่คือกรณีสองคนยลตามช่อง

ด้านหนึ่ง

นี่คือความเป็นจริงของการเมือง

ที่ผู้ถืออำนาจและเงิน ย่อมต้องใช้ปัจจัยนี้ให้เกิดผลทางบวกแก่คนจนและพรรคมากที่สุด

จะงดงามหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ บวกลบอย่างไร

ให้กลับไปดูข้อแรก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image