เร่งรัดพัฒนาและแก้ไขปัญหา คือทางรอดของการอาชีวศึกษา โดย รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์

ประเทศที่พัฒนาแล้วประกอบไปด้วยประชาชนที่มีคุณภาพและการบริหารงานของผู้ปกครองประเทศที่อยู่ในระดับดีเยี่ยม ประชาชนจะมีคุณภาพได้ก็ต่อเมื่อได้รับการศึกษาอย่างดีต่อเนื่องมาตามลำดับ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา หรืออาชีวศึกษา และควรให้การศึกษากับประชาชนไปจนตลอดชีวิต

การเปลี่ยนแปลงประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ผู้บริหารประเทศได้ตรวจสอบข้อมูลและพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการศึกษาของชาติประการหนึ่งซึ่งสำคัญมากคือในช่วงเวลาที่ผ่านมานโยบายการศึกษาของประเทศในส่วนของประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้ความสำคัญกับการศึกษาสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ ทำให้นักเรียนสนใจศึกษาต่อด้านอุดมศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนกำลังคนสายอาชีวศึกษาทุกสาขาวิชา ในขณะที่ผู้จบอุดมศึกษาหลายสาขาวิชาไม่มีงานทำ

รัฐบาลจึงมีความพยายามอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการอาชีวศึกษา โดยมีนโยบายสนับสนุนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในการพัฒนาประเทศ ด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยวและบริการ

คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในสายวิชาชีพ จึงตั้งคณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา โดยมีหน้าที่ศึกษา ติดตาม การจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในด้านต่างๆ วิเคราะห์ข้อมูล สภาพปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการแก้ไขปัญหา เสนอต่อคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาลตามลำดับ โดยได้เริ่มภารกิจตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2558 ในชื่อ “คณะทำงานศึกษาแนวทางการปฏิรูปการศึกษา” ต่อมายกฐานะเป็น “คณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางปฏิรูปการอาชีวศึกษา” และเปลี่ยนแปลงเป็น “คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559

Advertisement

และได้เสนอรายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งส่งต่อไปยังรัฐบาลแล้ว 10 เรื่อง และกำลังดำเนินการเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีก 2 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 12 เรื่อง โดยแบ่งประเด็นในการพิจารณาตามจุดเน้นออกเป็น 3 ส่วน คือ

1) การแก้ปัญหาวิกฤต
เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอาชีวศึกษาเกษตร

2) การแก้ปัญหาด้านคุณภาพ ประกอบด้วย
2.1) เรื่อง แนวทางในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี
2.2) เรื่อง ครูอาชีวศึกษา : การผลิต การพัฒนา และมาตรฐานครูวิชาชีพ
2.3) เรื่อง เงื่อนไขหลักของความสำเร็จในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี
2.4) เรื่อง การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เน้นฐานสมรรถนะ ที่ทำให้อาชีวศึกษาไทยมีคุณภาพ
2.5) เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการอาชีวศึกษา
2.6) เรื่อง แนวทางประยุกต์รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิด Monozukuri ในระบบ KOSEN ของญี่ปุ่น ให้สอดคล้องกับระบบอาชีวศึกษาของไทย
2.7) เรื่อง แนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการสถาบันการอาชีวศึกษา
2.8) เรื่อง ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการอาชีวศึกษา

Advertisement

3) การแก้ปัญหาด้านบริมาณ ประกอบด้วย
3.1) เรื่อง การสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนเรียนอาชีวศึกษา
3.2) เรื่อง แนวทางการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย
(ทวิศึกษา)
3.3) เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกำลังคนอาชีวศึกษา
(www.v-cop.net)
สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 มาตรา 6 ซึ่งกำหนดว่า “การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ต้องเป็นการจัดการศึกษาในด้านวิชาชีพที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยีรวมทั้งเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาชีพให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยนำความรู้ในทางทฤษฎีอันเป็นสากลและภูมิปัญญาไทยมาพัฒนาผู้รับการศึกษา ให้มีความรู้ความสามารถในทางปฏิบัติ และมีสมรรถนะจนสามารถนำไปประกอบอาชีพในลักษณะผู้ปฏิบัติหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระได้” และได้กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในระยะ 15 ปี (พ.ศ.2555-2569) ดังนี้

นโยบายที่ 1 : มุ่งสร้าง/ผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน
นโยบายที่ 2 : พัฒนาปริมาณและคุณภาพของครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาด้านอาชีวศึกษา
นโยบายที่ 3 : พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่
นโยบายที่ 4 : การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่
ตลอดจนได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสถาบันการอาชีวศึกษา 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 9 ประการ คือ
1.สร้างภาพลักษณ์สถาบันการอาชีวศึกษาสู่ความเป็นสากล
2.การผลิตและการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่เป็นมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
3.วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม บริการวิชาการ และวิชาชีพเพื่อยกระดับการอาชีวศึกษาสู่มาตรฐานสากล
4.บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
5.ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อความเป็นเลิศ ให้มีความมั่นคง และก้าวหน้าในอาชีพ
6.บูรณาการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ด้วยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
7.ส่งเสริมภาพลักษณ์ ขยายโอกาสการอาชีวศึกษาให้เป็นที่ยอมรับต่อสังคม
8.ทำนุบำรุงศาสนา ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
9.ส่งเสริม สนับสนุน ให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอน

สอศ.ได้ดำเนินการตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หลายเรื่อง เช่น โครงการอาชีวะพรีเมียม โครงการอาชีวะพันธุ์ใหม่ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ต่อเนื่อง 5 ปี) มาตรฐานโคเซ็น และโครงการนำหลักสูตรอาชีวศึกษาของประเทศอังกฤษ (BTEC) มาใช้สอนคู่ขนานไปกับหลักสูตรอาชีวศึกษาพรีเมียม แต่เป็นโครงการเชิงรุก เพื่อพัฒนาในระยะเริ่มต้น ครอบคลุมสถานศึกษาจำนวนน้อย และส่วนใหญ่เป็นอาชีวศึกษาทางด้านอุตสาหกรรม
ส่วนการอาชีวศึกษาทางด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยวและการบริการ ยังไม่ได้รับความสนใจในการพัฒนาเท่าที่ควรจะเป็น และที่สำคัญคือปัญหา ข้อบกพร่อง ที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งสามารถสรุปรวมเป็นข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาประเด็นหลัก ดังนี้

•ครูและบุคลากรอาชีวศึกษา
ดำเนินการขออัตรากำลังที่ขาดแคลน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอาชีวศึกษาเกษตร) ตลอดจนรักษาอัตรากำลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน (โดยขออัตราผู้เกษียณอายุคืนในปีงบประมาณถัดไป) โดยต้องเป็นการดำเนินการโดยเร่งด่วน
จัดทำแผนและสำรวจจำนวนครูอาชีวศึกษาในสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งหมดทุกประเภทที่จะเกษียณอายุราชการในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2562-2566) เพื่อวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูอาชีวศึกษาทั้งระบบให้มีความต่อเนื่อง รวมทั้งกำหนดให้ครูทำหน้าที่สอน วิจัยและบริการทางวิชาการเท่านั้น
จัดตั้งหน่วยงานที่มีระดับและอำนาจหน้าที่เหมือนกับคุรุสภา แต่รับผิดชอบการบริหารงานบุคคลของการศึกษาสายวิชาชีพ (อาชีวศึกษา) พร้อมทั้งปรับปรุง แก้ไข พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งต่างๆ ของคุรุสภาให้สอคคล้องกับการนำนโยบายไปปฏิบัติ

•งบประมาณ
ควรสนับสนุนงบประมาณให้สถานศึกษาอย่างเพียงพอสำหรับการปรับปรุงสภาพแวดล้อม อาคารเรียนและปฏิบัติการ บ้านพักครู และหอพักนักศึกษา ตลอดจนจัดซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอนที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ปกครองมีความมั่นใจว่าบุตรหลานจะได้รับการศึกษาและมีความเป็นอยู่ที่ดีภายในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อบรรยากาศการศึกษา

•การบริหาร
ยกระดับการบริหารการศึกษาของ สอศ.ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้สถาบันการอาชีวศึกษาทุกแห่งมีขีดความสามารถในการจัดการศึกษาได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551
ควรกำหนดให้แรงงานทุกระดับการศึกษาได้รับค่าตอบแทนที่แปรผันตามสมรรถนะสำหรับอาชีพต่างๆ ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ
โดยในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย ควรกำหนดค่าตอบแทน ดังนี้
ผู้จบ ปวช. ได้รับเดือนละ 12,000 บาท
ผู้จบ ปวส. ได้รับเดือนละ 13,000 บาท
ผู้จบปริญญาตรีได้รับเดือนละ 15,000 บาท

•การประชาสัมพันธ์
จัดให้มีกระบวนการให้ความรู้เกี่ยวกับการอาชีวศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษา (รวมถึงผู้ปกครอง) เป็นช่วงๆ คือ ป.1-ป.3 ป.4-ป.6 ม.1-ม.3 ม.4-ม.6 ปวช.1-ปวช.3 และ ปวส.1-ปวส.2 เพื่อให้เยาวชนในทุกระดับการศึกษาได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการอาชีวศึกษาของประเทศอย่างสมบูรณ์
ควรดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ภารกิจของสถานศึกษา ข้อมูลการมีงานทำของผู้จบการศึกษาในระดับต่างๆ ตลอดจนความสำเร็จในการประกอบอาชีพของศิษย์เก่า
สอศ.ควรจะดำเนินการพัฒนาในเชิงรุกรวมทั้งแก้ไขปัญหา (ที่มีอยู่เดิม) ควบคู่กันไป ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทุกส่วนขององค์กร รวมถึงเร่งรัดให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนด จึงจะทำให้การอาชีวศึกษามีส่วนช่วยให้ประเทศพัฒนาไปสู่ประเทศไทย 4.0 ได้ตามที่มุ่งหวัง

รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์
คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา
คณะกรรมาธิการศึกษาและการกีฬา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image