มวยไทย : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ข่าวสลด ช็อกวงการ “มวยไทย” เมื่อนักชกมวยไทยวัยเด็กอายุเพียง 13 ปีเสียชีวิตคาเวทีด้วยอุบัติเหตุจากการต่อสู้บนสังเวียนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในการชกมวยการกุศลโครงการต้านภัยยาเสพติดครั้งที่ 1 ณ เวทีมวยชั่วคราวโรงเรียนวัดคลองมอญ จ.สมุทรปราการ ของเด็กชายอนุชา ทาสะโก หรือน้องเล็ก อายุ 13 ปี เป็นนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนมัธยมวัดใหม่พระสมุทรกิจวิทยาคม จ.สมุทรปราการ ซึ่งจบชีวิตในระหว่างการชกดังกล่าว

อ่านข่าวระคนความเศร้าใจ ผู้เขียนจึงขอแบ่งปันประวัติศาสตร์ของวงการมวยไทยตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน ว่ากันยาวถึงอนาคต

“มวยไทย” เป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่ผู้เขียนชอบ และคิดว่าคงคล้ายกับเพื่อนผู้อ่านหลายๆ คน รวมถึงคนต่างชาติที่ให้ความสนใจมวยไทย ในฐานะศิลปะการต่อสู้ในเชิงวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีมาช้านาน เรามาดู “แก่นแท้” ของมวยไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ปรัชญา ความเชื่อ ความจริงต่างๆ ตามที่ผู้เขียนพอสืบเสาะค้นหามาเล่าสู่กันฟังให้พอรู้ เข้าใจและช่วยกันส่งเสริม “ศิลปะมวยไทย” ของเรา

“มวยไทยกับคนไทย” จากการจำแนกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ คนไทยมีเชื้อชาติอยู่ในกลุ่มของมองโกเลีย ลักษณะร่างกายทั่วไปตัวเล็กกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตหนาว (ยุโรป อเมริกา เป็นต้น) ความสูงโดยเฉลี่ย 5 ฟุต 3 นิ้ว ร่างกายล่ำสัน สมส่วน ทะมัดทะแมง น้ำหนักตัวน้อยมีความคล่องตัว และยืดหยุ่นสูง ลักษณะภูมิประเทศอยู่ในเมืองร้อน ใกล้เส้นศูนย์สูตร ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ใช้เรือเป็นพาหนะ จึงทำให้คนไทยใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น ไม่รวมหมวกและรองเท้าสามารถใช้อวัยวะหมัด เท้า เข่า ศอก ได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว จึงนำไปผสมผสานกับการใช้อาวุธ เช่น มีด ดาบ หอก เพื่อป้องกันตนเอง และป้องกันประเทศ ตั้งแต่อดีตกาลเรื่อยมา

Advertisement

“มวยไทย” นั้นมีมาพร้อมกับคนไทย เป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” ของชาติไทยมาช้านาน ในสมัยโบราณประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น พม่า ลาว เขมร ฯลฯ เป็นต้น จึงมีการสู้รบกันอยู่เสมอๆ ดังนั้น ชาวไทยจึงนิยมสนใจ “ฝึกมวยไทย” ควบคู่กับการฝึกอาวุธ ต่อมาได้วิวัฒนาการตลอดมาจนกลายเป็น “ศิลปะการต่อสู้” ที่มี “เอกลักษณ์” เฉพาะตัวมากขึ้นๆ มีลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงามแฝงไปด้วยความแข็งแกร่งดุดัน สามารถฝึกเพื่อป้องกันตนเองเพื่อความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจ และเพื่อเป็นอาชีพด้านศิลปะการต่อสู้ในเชิงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมไทย สู่การท่องเที่ยวของไทย รวมถึงการเป็นมวยไทยสมัยนี้เป็นมวยไทยอาชีพ รวมถึงการถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้เผยแพร่ด้วยการตั้งเป็น “โรงเรียน” ส่งเสริมอาชีพคนไทยและเป็นต้นแบบที่ดีของกีฬาที่แสดงถึงความอ่อนโยน อ่อนน้อม รู้แพ้รู้ชนะให้อภัยกัน ให้เกียรติกัน บนเวทีมวยไทยทั้งราชดำเนิน ลุมพินี และอื่นๆ ในต่างจังหวัดมีให้เห็นบนเวทีรู้ดูได้จากที่เกิดขึ้นบนสังเวียนบนผืนผ้าใบของนักมวยไทย แสดงให้เห็นด้วยกิริยามารยาทที่ดีงามอีกด้วย

มวยไทยสมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงสุโขทัยเริ่มประมาณ พ.ศ.1781-1951 รวมระยะเวลา 140 ปี หลักฐานจากศิลาจารึก กล่าวไว้ชัดเจนว่า กรุงสุโขทัยทำศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านรอบด้าน จึงมีการฝึกทหารให้มีความรู้ความชำนาญการใช้อวัยวะร่างกายเข้าช่วยในการรบระยะประชิดตัว เช่น ถีบ เตะ เข่า ศอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรบ หลังเสร็จศึกสงครามแล้วชายหนุ่มในสมัยกรุงสุโขทัยจะฝึกมวยไทยเพื่อเสริมลักษณะชายชาตรี เพื่อเป็นศิลปะป้องกันตัว เพื่อเตรียมเข้ารับราชการทหาร และถือเป็นประเพณีอันดีงาม ในสมัยนั้นมีสำนักฝึกที่มีชื่อ เช่น สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี ครูมวยใช้กลอุบายฝึกร่างกาย เช่น ตักน้ำ ตำข้าว ผ่าฟืน ว่ายน้ำ ห้อยโหน เตะต้นกล้วย ชกกับคู่ซ้อม ปล้ำกับคู่ซ้อม จบลงด้วยว่ายน้ำ รวมทั้งจะอบรมศีลธรรมจรรยาบรรณ ทบทวนทักษะมวยไทยท่าต่างๆ

สมัยกรุงสุโขทัยมวยไทยถือว่าเป็นศาสตร์ชั้นสูง ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์ เพื่อฝึกให้เป็นนักรบที่มีความกล้าหาญ มีสมรรถภาพร่างกายดีเยี่ยม อาจปรากฏในพงศาวดารว่า…พ่อขุนศรีอินทราทิตย์กษัตริย์กรุงสุโขทัยพระองค์แรกทรงเห็นการณ์ไกล ส่งเจ้าชายรององค์ที่ 2 พระชนมายุ 13 พรรษา ไปฝึกมวยไทยที่สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี เพื่อฝึกให้เป็นกษัตริย์ที่แกร่งกล้าในอนาคต และในปี 1818-1860 พ่อขุนรามคำแหง ได้เขียนตำราพิชัยสงคราม ข้อความบางตอนได้กล่าวถึงมวยไทยด้วย นอกจากนี้ พระเจ้าลิไต เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ นอกจากการศึกษาจากสำนักพระราชบัณฑิตแล้ว พระองค์ก็ต้องฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าแบบมวยไทย และการใช้อาวุธ คือ ดาบ หอก มีด โล่ ธนู เป็นต้น

Advertisement

มวยไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มปี พ.ศ.1988-2310 เป็นเวลา 417 ปี บางสมัยก็มีศึกสงครามกับประเทศข้างเคียง เช่น พม่า เขมร เป็นต้น ดังนั้น ชายหนุ่มสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงต้องฝึกอบรมความชำนาญในการต่อสู้ด้วยอาวุธและศิลปะการป้องกันตัวด้วยมือเปล่าโดยมีครูผู้เชี่ยวชาญการฝึกสอน การฝึกเริ่มจาก “วัง” ไปสู่ “ประชาชน” สำนักดาบ “พุทไธศวรรย์” เป็นสำนักดาบที่มีชื่อเรื่องสมัยกรุงศรีอยุธยามีผู้นิยมไปเรียนกันมาก ซึ่งในการฝึกจะใช้อาวุธจำลอง คือ ดาบหลาย เรียกว่า กระบี่กระบอง นอกจากนี้ ยังต้องฝึกการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เรียกว่า “มวยไทย” ควบคู่กันไปด้วย ในสมัยนี้วัดยังคงเป็นสถานที่ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญและวิชาปฏิบัติ ในเชิงอาวุธสงครามคู่ไปกับมวยได้อีกด้วย

สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133-2147) พระองค์เลือกคนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระองค์มาทรงฝึกด้วยพระองค์เอง โดยฝึกความกล้าหาญ มีความเชื่อมั่นตนเอง ใช้อาวุธได้ทุกชนิดอย่างชำนาญ มีความสามารถในศิลปะการต่อสู้มวยไทยดีเยี่ยมและพระองค์ทรงตั้งกองเสือป่าแมงมองเป็นหน่อยรบแบบกองโจร ซึ่งทหารกองนี้เองมีบทบาทมากในการกอบกู้เอกราชจากพม่าในปี พ.ศ.2127

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2147-2333) สภาพบ้านเมืองร่มเย็นมีความเจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์ได้ทรงให้การส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมวยไทยนั้นนิยมจนกลายเป็นกีฬาอาชีพ มีค่ายมวยเกิดขึ้นมากมาย สมัยนั้นมวยไทยใช้ลานดิน โดยใช้เชือกเส้นเดียวกั้นบริเวณเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสนักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินจนแข็ง พันมือ เรียกว่า “คาดเชือก” หรือ “มวยคาดเชือก” นิยมสวมมงคลไว้ที่ศีรษะและผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขนตลอดการแข่งขัน การเปรียบคู่ชกความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ไม่คำนึงถึงขนาดร่างกาย น้ำหนัก อายุ กติกา การชกง่ายๆ คือ…ชกกันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้ ในงานเทศกาลต่างๆ ไม่ว่างานวัด งานบ้าน ขึ้นบ้านใหม่ งานบุญ งานบวช ต้องมีการจัดการแข่งขันมวยไทยเสมอ มีการพนันขันต่อระหว่างนักมวยที่เก่งจากหมู่บ้านหนึ่งกับนักมวยที่เก่งจากอีกหมู่บ้านหนึ่ง

สมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ.2240-2252) สมัยพระเจ้าเสือหรือขุนหลวงสุรศักดิ์ พระองค์ทรงโปรดการชกมวยไทยมาก ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปที่ตำบลหาดกรวดพร้อมด้วยมหาดเล็กอีก 4 คน แต่งกายแบบชาวบ้านไทยเที่ยวงาน แล้วเข้าร่วมเปรียบคู่ชก ทางสนามมวย รู้เพียงว่าพระองค์เป็นนักมวยจากเมืองกรุงจึงจัดให้ชกกับนักมวยฝีมือดีจากสำนักมวยเมืองวิเศษชัยชาญ ได้แก่ นายเล็กหมัดตาย นายใหญ่หมัดเหล็ก และนายเล็กหมัดหนัก ซึ่งพระองค์ชกชนะทั้งสามคนรวด นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงฝึกฝนให้เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร พระราชโอรสมีความสามารถในด้านมวยไทย กระบี่กระบอง และมวยปล้ำอีกด้วย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนนี้ โดยภาพรวมพระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้มีกรมมวยหลวงขึ้น โดยคัดเลือกชายฉกรรจ์มาฝึกฝีมือในการชกมวยไทย ให้เป็นทหารรักษาพระองค์ เรียกว่า “ทนายเลือก” สังกัดกรมมวยหลวง มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในพระราชวัง หรือตามเสด็จในงานต่างๆ ทั้งยังเป็นครูฝึกมวยไทยในทหารและพระราชโอรสอีกด้วย

สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังจากพ่ายแพ้แก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 มีนักมวยที่มีชื่อเสียง 2 คน ดังนี้

1.นายขนมต้ม เป็นเชลยไทยที่ถูก กวาดต้อนไปครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2310 ต่อมาในปี พ.ศ.2317 พระเจ้ากรุงอังวะ กษัตริย์พม่า ได้โปรดให้จัดงานพิธีสมโภชมหาเจดีย์ใหญ่ ณ เมืองย่างกุ้ง ทรงตรัสให้หานักมวยไทยฝีมือดี มาเปรียบกับนักมวยพม่าแล้วให้ชกกันที่หน้าพระที่นั่ง ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2317 ซึ่งนายขนมต้มชกชนะมวยพม่าถึง 10 คน โดยไม่มีการพักเลย การชกชนะครั้งนี้เป็นการยกย่อง เป็นการเผยแพร่ศิลปะมวยไทยในต่างแดนเป็นครั้งแรก ดังนั้น นายขนมต้มจึงเปรียบเสมือนเป็น “บิดามวยไทย” และวันที่ 17 มีนาคมของทุกปีถือเป็น “วันมวยไทย”

2.พระยาพิชัยดาบหัก (พ.ศ.2284-2325) เดิมชื่อ จ้อย เป็นคนเมืองพิชัย จ.อุตรดิตถ์ มีความรู้ความสามารถในเชิงกีฬามวยไทยมาก ได้ฝึกมวยไทยจากสำนักครูเที่ยง และใช้ความรู้ชกมวยไทยหาเลี้ยงตัวเองมาจนได้อายุ 16 ปี แล้วจึงฝึกดาบ กายกรรมและมวยจีนจากคนจีน ด้วยฝีมืออันเป็นเลิศในเชิงมวยไทย และดาบเป็นที่ปรากฏแก่สายตาของพระยาตาก จึงนำเข้าไปรับราชการได้บรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิชัยอาสา” หลังจาพระเจ้าตากสินได้กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ก็ให้พระยาพิชัยไปครองเมืองพิชัย บ้านเมืองเดิมของตนเองในปี พ.ศ.2314 พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่แล้วเลยมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยทำการออกมาสู้รบถึงขั้นตะลุมบอน จนดาบหักทั้งสองข้าง จึงได้นามว่า…“พระยาพิชัยดาบหัก”

กีฬามวยสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.3210-2324) ระยะเวลา 14 ปี บ้านเมืองอยู่กับการฟื้นฟูประเทศ หลังจากกอบกู้อิสรภาพคืนมาได้ การฝึกมวยไทยสมัยนี้เพื่อการสงครามและการฝึกทหารอย่างแท้จริง ในยุคนี้ที่มีนักมวยฝีมือดีมากมาย เช่น “นายเม” บ้านทำเลานายเพียง บ้านแก่ง เป็นต้น มวยยังชกกันแบบคาดเชือก สวมมงคลและผูกประเจียดที่ต้นแขน บนลานดินเป็นสั งเวียนชก

กีฬามวยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กีฬามวยไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2325-2411) ระยะเวลา 86 ปี กีฬามวยไทยยังเป็นศิลปะประจำชาติ มีการจัดแข่งขันในงานเทศกาลประจำปี กติกาเริ่มมีการกำหนดเวลาการแข่งขัน โดยใช้กะลามะพร้าวที่มีรูลอยน้ำกะลามะพร้าวจะจมถึงก้นอ่าง ก็จะตีกลองเป็นสัญญาณหมดเวลา การแข่งขันไม่กำหนดยก ชกกันจนกว่าอีกฝ่ายจะยอมแพ้ ตำรามวยไทยโบราณที่เก่าแก่ที่สุด ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ.2367-2394 ซึ่งพระยาหลักเมืองตบะของแม่ไม้มวยไทย คือ ทุ่ม-ทับ-จับ-หัก

สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411-2453) พระองค์ทรงฝึกมวยไทยจากสำนักมวยหลวง ซึ่งมีปรมาจารย์หลวงพหลโยธานุโยค ครูมวยหลวงถวายการสอนให้ พระองค์โปรดกีฬามวยไทยมาก เสด็จทอดพระเนตรการชกมวยหน้าพระที่นั่ง ทรงโปรดให้ข้าหลวงหัวเมือง คัดนักมวยฝีมือดีๆ มาชกกันหน้าพระที่นั่งเพื่อหานักมวยที่เก่งที่สุดเข้าเป็น “ทหารรักษาพระองค์” สังกัดกรมมวยหลวง พระองค์ทรงเห็นคุณค่าของกีฬาประจำชาติจึงตรัสให้มีการแข่งขันมวยไทยขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความนิยมกีฬามวยไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าให้มี “มวยหลวง” ตามหัวเมืองเพื่อนำมาฝึกสอน จัดการแข่งขันควบคุมการแข่งขันกีฬามวยไทย

สมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2353-2468) ประเทศไทยได้ส่งการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ เมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส โดยมีพลโทพระยาเทพหัสดินเป็นแม่ทัพคุมทหารไทยไปร่วมรบในครั้งนี้ ท่านเป็นผู้สนใจมาก ได้จัดมวยไทย ชกมวยไทยโชว์ให้ทหารและประชาชนชาวยุโรปชม สร้างความชื่นชอบประทับใจอย่างยิ่งเป็นครั้งแรกมวยไทยเริ่มเผยแพร่ในยุโรป ปี พ.ศ.2464 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สนามมวยสวนกุหลาบเป็นสนามมวยถาวรแห่งแรกที่จัดการแข่งขันเป็นประจำ บนสนามกีฬาฟุตบอลภายในโรงเรียนสวนกุหลาบ ระยะเริ่มแรก ผู้ชมจะนั่งและยืนรอบสังเวียนซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้าน 26 เมตร ขีดเส้นกันบริเวณห้ามผู้ชมล้ำเขตสังเวียน นักมวยคาดเชือกเหมือนยุคกรุงศรีอยุธยา

สมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2468-2477) พลโทพระยาพหลเทพหัสดิน ได้สร้างสนามมวยหลักเมืองท่าช้าง ขึ้นบริเวณโรงละครแห่งชาติปัจจุบัน เวทีเชือกกั้นเส้นใหญ่ เชือกแต่ละเส้นขึงตึงเป็นเส้นเดียวไม่เปิดช่องตรงมุมสำหรับขึ้นลงเหมือนยุคเก่า เพื่อป้องกันนักมวยตกเวที ตรงช่องนี้และจัดการแข่งประจำทุกปี ปี 2472 รัฐบาลมีคำสั่งให้มีการแข่งขันชกมวยไทยทั่วประเทศสวมนวมได้

สมัยรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (พ.ศ.2477-2489) วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2488 สนามมวยเวทีราชดำเนินได้เปิดสนามทำการแข่งขันครั้งแรก มีนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร เป็นนายกสมาคมมวยคนแรก พระยาจินดารักษ์ เป็นกรรมการบริหารเวที ครูจิต อัมพลสิน เป็นโปรโมเตอร์ ได้จัดประจำในวันอาทิตย์ เวลา 16.00-17.00 น. ใช้กติกาของกรมพลศึกษา ปี พ.ศ.2480 ชก 5 ยก ยกละ 3 นาที พักระหว่างยก 2 นาที

รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 2489 เป็นต้นมา วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2496 สนามมวยเวทีลุมพินีได้เปิดการแข่งขันมวยไทยเป็นครั้งแรก มีเสธ.เอิบ แสงฤทธิ์ เป็นนายสนาม ตายเขต ศรียาภัย เป็นผู้จัดการ ปี พ.ศ.2498 บริษัทเวทีมวยราชดำเนิน ได้จัดทำกติกามวยไทยอาชีพฉบับแรกขึ้น โดยได้ปรับปรุงจากกติกามวยไทยฉบับปี พ.ศ.2480 ของกรมพลศึกษา ปี พ.ศ.2508 บริษัทเวทีราชดำเนิน จำกัด ได้ปรับปรุงกติกามวยไทยอาชีพให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ให้ชื่อว่า “กติกามวยไทยอาชีพของเวทีราชดำเนิน พ.ศ.2508”

ธันวาคม พ.ศ.2527 เวทีมวยราชดำเนินจัดอันดับ 10 ยอดมวยไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนี้ คนที่ 1 ผล พระประแดง คนที่ 2 สุข ปราสาทหินพิมาย คนที่ 3 ชูชัย พระขรรค์ชัย คนที่ 4 ประยุทธ์ อุดมศักดิ์ คนที่ 5 อดุลย์ ศรีโสธร คนที่ 6 อภิเดช ศิษย์หิรัญ คนที่ 7 วิชาญน้อย พรทวี คนที่ 8 พุฒ ล้อเหล็ก คนที่ 9 ผุดผาดน้อย วรวุฒิ คนที่ 10 ดีเซลน้อย ช.ธนสุกาญจน์

จะเห็นได้ว่า “มวยไทย” จากอดีตถึงปัจจุบันจัดว่าเป็นศิลปะมวยไทย เป็นศาสตร์ต่อสู้ที่รวมทั้งศาสตร์และศิลป์ไว้ด้วยกัน มีทั้งเรื่องความเชื่อ คุณธรรมจริยธรรมและสัญชาตญาณของการต่อสู้ของมวลมนุษยชาติ ในลีลาท่าทาง ประยุกต์ใช้ มีศิลปะที่ดีงามของการต่อสู้ด้วยอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เกือบทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นเท้า หมัด ศอก เข่า ไม่ใช่มีแต่การใช้พละกำลังเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีการใช้เทคนิค ด้วยศาสตร์การกีฬา รวมถึงจำเป็นอย่างยิ่งการแพ้ชนะเป็นเรื่องของ “กีฬา” แต่สิ่งสำคัญที่สุด กีฬาแม่ไม้มวยไทยยังต้องใช้จริยธรรมจรรยาบรรณผนวกกับพลังจิตใจ รวมถึงการมีและใช้วิจารณญาณ สติ ปัญญา ในการชกแต่ละครั้ง หล่อหลอมบูรณการให้เป็นหนึ่งเดียว และมีโอกาสเดียวเสี้ยววินาทีเดียวในการที่จะชนะหรือแพ้คู่ต่อสู้ นั่นคือ เกมกีฬาเท่านั้น

สมกับคำที่บอกว่า “แม่ไม้มวยไทย” เป็นศิลปะและศาสตร์ที่ทรงคุณค่าควรแก่การยกย่องเป็นกีฬา “มรดกโลก” อย่างยิ่งครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image