กรีนโคน : ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

ตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง สำหรับขยะชุมชนซึ่งเวลานี้ท้องถิ่นได้ดำเนินงานตามแผนที่นำทางหรือ Roadmap ที่ให้ท้องถิ่นรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (มองในแง่ความคุ้มค่าในการลงทุน) กลุ่มไหนมีขยะมากพอก็ทำระบบกำจัดที่ใช้เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากขยะ หรือ waste to energy

ส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ขนาดกลางอาจใช้วิธีคัดแยกขยะและผลิตเชื้อเพลิงขยะเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าขยะ แต่หลังจากที่รัฐบาล คสช.ประกาศให้ Roadmap เป็นแนวทางการจัดการขยะของประเทศปลายปี 2557

ท้องถิ่นหลายแห่งได้รับงบประมาณเพื่อติดตั้งเครื่องจักรคัดแยกขยะและผลิตเชื้อเพลิง บางแห่งได้รับงบในการก่อสร้างจัดซื้อเครื่องจักรพร้อมงบประมาณเพื่อเดินระบบเป็นระยะเวลา 1 ปี

เมื่องบประมาณดังกล่าวหมดลง ระบบดังกล่าวเริ่มถูกทิ้งร้างด้วยเหตุผลเดิมคือขาดงบประมาณเดินระบบและซ่อมแซม บำรุงรักษา

Advertisement

นี่ก็เป็นปัญหาเดิมๆ ที่มีมาแล้ว เช่น เครื่องผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก เครื่องผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว เตาเผาขยะขนาดเล็กที่ถูกทิ้งไร้ประโยชน์ นับเป็นการสูญเสียงบประมาณของประเทศไม่น้อย แต่ก็ยังจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

สำหรับตอนนี้ อยากคุยเรื่องกรีนโคน จากที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนดูงานของชุมชนหลายแห่งในภาคเหนือและอีสาน ไปเจอถังพลาสติกฝังดิน โผล่แต่ฝาปิดด้านบน ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าทางจังหวัดมาอบรมเรื่องการคัดแยกขยะ แล้วให้ถังพลาสติกตัดก้นถัง เขาเรียกว่า “กรีนโคน” ใช้สำหรับทิ้งเศษอาหารประจำวัน น้ำจากเศษอาหารจะค่อยๆ ซึมลงดิน ส่วนเศษอาหารก็จะย่อยสลาย และเป็นปุ๋ยเอาไปใช้กับต้นไม้ได้ เป็นกิจกรรมหนึ่งของ “โครงการชุมชนไร้ขยะ” รณรงค์ลดและคัดแยกขยะจากต้นทาง หลายชุมชนติดตั้งกรีนโคนกันเกือบทุกบ้าน ไม่เว้นที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียน ชาวบ้านบอกว่า ถ้าชุมชนไหนติดตั้งกรีนโคนครบทุกบ้านจะได้รับรางวัล

ทำงานเรื่องขยะมานาน ก็เพิ่งได้เห็นความพร้อมเพรียงของท้องถิ่นและของชาวบ้าน ก่อนนี้งานขยะขึ้นกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมรณรงค์ลดและคัดแยกขยะขึ้นกับการมีส่วนร่วมของชุมชนแบบอาสาสมัคร กว่าจะได้สักเรื่องต้องใช้เวลาอบรมสัมมนา ทำแล้วทำอีก ผลที่ได้ก็แค่กิจกรรมต้นแบบหรือนำร่อง ได้เห็นกิจกรรมภายใต้โครงการชุมชนไร้ขยะมหาดไทยที่พร้อมเพรียงแบบนี้น่าดีใจ เพียงแต่ว่า ทำแล้วมันจะได้ผล ทำแล้วจะยั่งยืนอย่างไร คงต้องติดตาม

Advertisement

ตระเวนดูกรีนโคนที่ติดตั้งตามบ้าน ที่ทำการท้องถิ่นและในโรงเรียน พบว่าเมื่อเปิดฝาจะมีกลิ่นรุนแรง บางแห่งมีน้ำขัง มีหนอน สภาพเศษอาหารไม่ย่อยสลายในรูปแบบของปุ๋ยหมักตามแนวคิดของต้นแบบ “กรีนโคน”

ต้นแบบ “กรีนโคน” คืออะไร มันทำงานอย่างไร

กรีนโคน เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นในประเทศแคนาดาตั้งแต่ปี 2531 มีลักษณะเป็นภาชนะรูปทรงกรวยหรือโคนไอศกรีม 2 ชิ้นประกบกัน ชิ้นบนมีผนังพลาสติกทึบ 2 ชั้น ทำหน้าที่รับความร้อนจากแสงแดดโดยช่องว่างระหว่างผนัง 2 ชั้น ทำหน้าที่ให้อากาศไหลวนลงด้านล่างเพื่อให้เศษอาหารที่อยู่ในตะแกรงรูปกรวยชิ้นล่างสัมผัสอากาศ เพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานย่อยสลายเศษอาหารเหล่านั้นจนกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เช่นเดียวกับวิธีการหมักปุ๋ยทั่วไป

กรีนโคนได้รับการออกแบบให้ผนังโคนส่วนบนรับความร้อนจากแสงแดดเพื่อปรับอุณหภูมิภายในให้เหมาะสมกับการทำงานของจุลินทรีย์ เนื่องจากแคนาดาเป็นเมืองหนาวมีอุณหภูมิต่ำตลอดทั้งปี ไม่เหมาะสำหรับการทำงานของจุลินทรีย์ประเภทย่อยสลายที่ใช้อากาศ ขณะที่โคนชิ้นล่างเป็นตะแกรงด้านรองรับเศษอาหารช่วยให้น้ำและความชื้นไหลออกซึมลงดิน

จะเห็นได้ว่า “กรีนโคน” เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานตามหลักการหมักปุ๋ยหรือ Aerobic Compost นั่นเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นในกรีนโคนในโครงการชุมชนไร้ขยะ แตกต่างจากต้นแบบ สิ่งที่เกิดขึ้นในถังตัดก้นฝังดินเป็นเพียงการเน่าเปื่อยของเศษอาหารไม่ใช่การเกิดปุ๋ยหมักจึงมีกลิ่นรุนแรง มีหนอน เพราะถังที่ถูกฝังดินไม่มีอากาศหมุนเวียนเพียงพอ มีความชื้นสูงหรือมีน้ำขัง ทำให้จุลินทรีย์ที่ย่อยสลายแบบใช้อากาศอยู่ไม่ได้ ผลที่ได้ไม่ใช่ปุ๋ยหมักแต่เป็นเศษอาหารที่เน่าเปื่อย

ลองมาดูสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่ใช้กันมาดั้งเดิมโดยเฉพาะในภาคเหนือ ชาวบ้านใช้ย่อยสลายใบไม้กิ่งไม้ เศษอาหารและขยะอินทรีย์อื่นๆ แล้วใช้เป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ โดยเฉพาะต้นลำไย ชาวเหนือเรียกว่า “เสวียน” ชาวบ้านเอาไม้ไผ่หรือเศษไม้มาสานเป็นคอกล้อมต้นไม้ หรือทำเป็นคอกแยกออกมาต่างหาก

“เสวียน” มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับการทำปุ๋ยหมัก อาศัยจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายแบบใช้อากาศย่อยสลายกิ่งไม้ ใบไม้ และเศษอาหาร ไม้ไผ่ที่สานเป็นคอกมีลักษณะโปร่งทำให้อากาศไหลหมุนเวียนได้ ช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากเสวียนแล้ว ยังมีถังหมักปุ๋ยที่ใช้จัดการกับเศษอาหาร กิ่งไม้ ใบไม้ในครัวเรือน เทศบาลนครภูเก็ต ประดิษฐ์ถังหมักปุ๋ยเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดด้วยเตาเผา ถังหมักปุ๋ยนี้ทำโดยการดัดแปลงถังพลาสติกสีฟ้าที่หลายท้องถิ่นใช้เป็นถังขยะ เอามาเจาะรูและใส่ท่อพีวีซีเพื่อให้อากาศไหลหมุนเวียนภายในถังที่รองรับเศษอาหารและใบไม้ กิ่งไม้ ทำให้แปรรูปเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น

ตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ด้วยภูมิปัญญาของไทยทั้งสองแบบ เป็นวิธีการจัดการกับเศษอาหารและขยะอินทรีย์ที่ได้ผลดี มีหลักการทำงานที่ถูกต้อง มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและลักษณะของขยะอินทรีย์ของไทย ควรได้รับการพัฒนาและนำไปเผยแพร่

การเผยแพร่ “กรีนโคน” ที่ไม่เหมือนกัน “กรีนโคนต้นแบบ” ใช้งานโดยไม่เข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร สุดท้าย ผลที่ได้ก็ไม่เป็นไปตามที่หวัง เป็นห่วงว่าการติดตั้งกรีนโคนทุกครัวเรือนทั่วประเทศจะกลายเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สูญเสียเงินทองที่ต้องไปซื้อถังมาตัดก้นฝังดิน

“กรีนโคน” กับ “เครื่องจักรผลิตเชื้อเพลิงขยะ” จะมีชะตากรรมแบบเดียวกันหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป แต่ทั้งสองเรื่องทำให้นึกถึงเพลง “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม”

…….สุกรนั่นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา……

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image