ภาพเก่าเล่าตำนาน : กองทหารจากสยาม สวนสนามใน 3 เมืองหลวง 26พ.ย61 โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ท่านผู้อ่านที่ติดตาม ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนที่แล้ว ขอให้เล่าเรื่องแบบลงรายละเอียด เจาะลึกว่า ก่อน-ระหว่าง-หลัง สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ยุติไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว (11 พ.ย.2461) มีอะไรเป็นมรดกตกทอดที่ดีงาม ที่จะนำมาบอกลูกหลานได้บ้าง..ผมยินดีครับ..

28 กรกฎาคม 2457 สงครามโลกครั้งที่ 1 ระเบิดขึ้นในทวีปยุโรป ฝรั่งแบ่งเป็น 2 ฝ่าย นำกำลังทหารราว 70 ล้านคน เข้าประหัตประหาร ฆ่าฟันกัน มีการนำก๊าซพิษมาเป็นอาวุธ

สยามประเทศ เฝ้าสังเกตการณ์ ประเมินสถานการณ์ ทูตสยามส่งโทรเลขจากยุโรปกลับมารายงานกรุงเทพฯ แบบไม่ขาดระยะตลอดระยะเวลาราว 3 ปี

Advertisement

ช่วงแรกของสงคราม สยามประกาศเป็นกลาง ต่อมาเมื่อ 7 พฤษภาคม 2458 เรือดำน้ำของเยอรมันปล่อยตอร์ปิโดมหาประลัยจมเรือโดยสารลูซิตาเนีย (RMS Lusitania) ของอังกฤษ ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตทั้งหมด 1,198 คน จุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในอเมริกา เนื่องจากผู้เสียชีวิต 128 คน เป็นชาวอเมริกัน มหาอำนาจสหรัฐกระโจนเข้าสู่สงคราม โดยเข้าไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย) บดขยี้กองทัพเยอรมัน

21 กรกฎาคม 2460 ในหลวง ร.6 ทรงปรึกษากับเสนาบดีทั้งปวง ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งทูตมาร้องขอให้ประกาศสงครามเพื่อสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร ในที่สุดสยามตัดสินใจประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการี โดยลงพระปรมาภิไธยประกาศสงครามเมื่อ 24.00 น. ของวันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม 2460

เที่ยงคืน..หลังจากในหลวง ร.6 ลงพระปรมาภิไธยประกาศสงคราม ทรงประทับอยู่ถึงเวลาเช้า ครั้นได้เวลาพระฤกษ์ เสด็จลงจากพระที่นั่ง แต่งฉลองพระองค์ที่ทรงขนานนามว่า “พระมหาพิชัยยุทธ” เสด็จโดยขบวนพยุหยาตราจากพระที่นั่งบรมพิมาน ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและทรงสักการะพระบรมมณฑลทั้ง 5 รัชกาล ในพระอุโบสถ เสร็จแล้วพระราชทานพระบรมราโชวาทปลุกใจเสือป่าเสนาหลวงรักษาพระองค์ซึ่งชุมนุมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ที่นั้น

Advertisement

ฉลองพระองค์ “พระมหาพิชัยยุทธ” ประกอบด้วยพระภูษาไหม โจงกระเบนสีแดงเลือดนก ด้านในเป็นฉลองพระองค์ชั้นในแบบนักรบไทยโบราณไม่มีแขน สีแดง มีอักขระเลขยันต์ทั่วทั้งองค์ เป็นฉลองพระองค์ที่รัชกาลที่ 1 เคยทรงออกศึกสงครามมาแล้ว

ชั้นนอกทรงสวมฉลองพระองค์แพร (Spun Silk) สีแดง ลงอักขระเลขยันต์ทั้งองค์ ทรงคาดพระภูษาสมรดพื้นแดงตาดไหมทองแล่ง ถุงพระบาทและฉลองพระบาทสีแดง พระหัตถ์ซ้ายถือพระแสงดาบคาบค่าย ซึ่งเป็นพระแสงดาบองค์จริงที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้ปราบศึกพม่า พระหัตถ์ขวาถือยอดชัยพฤกษ์ ทรงทัดใบมะตูมที่พระกรรณซ้าย

วันที่ 22 กรฎาคม 2460 เป็นวันอาทิตย์ เครื่องทรงที่ถูกต้องตามตำรามหาพิชัยยุทธนาการโบราณราชประเพณี และตามหลักสวัสดิรักษาคือ สีแดง

หลังจากพระราชพิธีในพระอุโบสถ มีพระราชดำรัสแก่บรรดาทหารบกที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ที่นั้น ทรงชมเชยการทำงานอันได้ผลและความจงรักภักดีที่ทหารบกมีต่อพระองค์

การประกาศสงครามเป็น “จุดเปลี่ยนเรื่องธงชาติ” ของสยาม

ในหลวง ร.6 ทรงมีพระราชดำริว่า “…การประกาศสงครามครั้งนี้นับเป็นความเจริญก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของประเทศ สมควรจะมีสิ่งเตือนใจสำหรับวาระนี้ในภายหน้า สิ่งนั้นควรได้แก่ธงชาติไทย..”

สยามเคยเปลี่ยนธงชาติจาก ธงช้าง เป็นแถบสีริ้วขาว-แดง

ในหลวง ร.6 ทรงพระกรุณาฯ ให้เพิ่มแถบ “สีน้ำเงิน” ขึ้นอีกสีหนึ่ง ซึ่งเป็นสีธงชาติที่ประเทศมหาอำนาจใช้อยู่ 3 สี คือ แดง ขาว น้ำเงิน

สีน้ำเงิน เป็นสีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ การที่มีสีของพระมหากษัตริย์ในธงชาติ ก็จะเป็นเครื่องเตือนใจถึงพระองค์ในวาระที่ประเทศไทยในเหตุการณ์สำคัญ เมื่อทดลองวาดภาพลงสีแล้ว เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงเห็นชอบ เมื่อทรงนำเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดี ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ

ในหลวง ร.6 ทรงให้ตรา พระราชบัญญัติธง พ.ศ.2460 ออกประกาศเมื่อ 28 กันยายน 2460 มีผลบังคับใช้ภายหลังออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 30 วัน

20 มิถุนายน 2461 ธงไตรรงค์ปลิวไสวบนเสาธงเรือ เอ็มไพร์ ที่บรรทุกกองทหารอาสาจากสยามสู่น่านน้ำฝรั่งเศสเพื่อเข้าสู่สงคราม

ในหลวงรัชกาลที่ 6 ตรัสว่า “ธงไตรรงค์คือสัญลักษณ์ของการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของไทย”

ลองมาย้อนอดีตเรื่องของ “กองทหารอาสา” จากสยาม ครับ

หลังจากประกาศสงคราม สยามแจ้งแก่อัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ในหลวง ร.6 รับสั่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหมออกประกาศให้ประชาชนและทหารบกทราบเพื่อรับสมัครทหารไปร่วมรบ

ข่าวการรับสมัครทหารแพร่กระจายออกไป มีชายชาวสยามทั่วทุกสารทิศมาสมัครกันเนืองแน่นเกินความต้องการ

ปรากฏว่า 1 ในบรรดาผู้สมัครไปร่วมรบในกองทหารอาสา คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ องค์เสนาธิการทหารบกในขณะนั้น หากแต่ในหลวง ร.6 ทรงทัดทานไว้

สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นต้นราชสกุล “จักรพงษ์” เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง และทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Corps de Pages ประเทศรัสเซีย

ลูกชาวบ้าน หลานชาวนา ชาวสยามแห่กันไปสมัครเป็นทหาร

ในหลวง ร.6 ทรงไม่สบายพระทัยที่ผู้สมัครจำนวนมากจะต้องผิดหวังเพราะไม่ได้รับการคัดเลือก จึงทรงมีพระราชกระแสขอบใจ ความว่า..

“…บัดนี้ปรากฏว่าได้มีผู้อาสาจะไปฉลองพระเดชพระคุณในงานพระราชสงครามมากมายเหลือล้นจนเกินกว่าจำนวนที่ต้องการจริงหลายเท่า..จึงจะต้องมีการคัดเลือกแล้วจัดให้ไปเท่าจำนวนที่ต้องการ แต่ให้เข้าใจว่าผู้ที่เจ้าหน้าที่มิได้คัดเลือกส่งตัวไปนั้น จะเป็นความบกพร่องเสียหายอย่างใดในส่วนตัวก็หามิได้เลย เปนเพราะเกินจำนวนเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขอบใจผู้ที่ได้อาสาแล้วนั้นเสมอเหมือนกันจงทุกคน…”

จะเห็นได้ว่าพระองค์ ทรงมีน้ำพระทัย ห่วงใยชายชาวสยามที่จะต้องเสียใจที่ไม่ได้ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกและประการสำคัญ จำนวนชายสยามที่มาสมัครเกินจำนวนมากมาย คือ เครื่องบ่งชี้ “จิตใจที่กล้าหาญ” ของสังคมสยามในเวลานั้น

โชคดีที่สุดสำหรับสยามประเทศ เพราะนายทหารหนุ่ม 3 ท่านจากสยามที่เคยไปฝึกเป็นนักบินรบมาจากฝรั่งเศสก่อนหน้านี้แล้ว คือ พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุนี สุรรณประทีป) ร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข) และร้อยโททิพย์ เกตุทัต ผู้มีความคุ้นเคยกับกองทัพฝรั่งเศสเป็นอย่างดี จึงทำหน้าที่เป็นมันสมองวางแผนการส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบในฝรั่งเศส โดยเฉพาะ “หน่วยบิน” ที่จะเดินทางไป

11 มกราคม พ.ศ.2460 พลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้บัญชาการกองพลที่ 4 ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นหัวหน้าทูตทหารออกเดินทางเป็นส่วนล่วงหน้าไปฝรั่งเศสเพื่อเตรียมการ พันโทพระทรงสุรเดช
พันโทหม่อมเจ้าฉัตรมงคล พันตรีหม่อมเจ้าอมรทัต เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทูตทหาร

กองทหารอาสาจัดเป็น 3 หน่วย คือ กองทหารขนส่ง กองบิน และหน่วยเสนารักษ์ มีกำลังพลนายทหาร นายสิบ พลทหาร รวม 1,284 นาย (จำนวนกำลังพลมีข้อมูลไม่ตรงกันจากบันทึกหลายสำนัก)

ระหว่างการฝึกของทหารอาสาก่อนเดินทาง หลวงรามฤทธิรงค์ ผบ.หน่วยกองทหารบกรถยนต์ มีคำสั่งให้ทหารทุกคนแต่งเครื่องแบบสีกากีสำหรับใส่ไปในงานพระราชสงครามเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ในหลวง ร.6 พระราชทานเสมาเงิน ด้านหนึ่งมีพระบรมนามาภิไธยย่ออักษร “ร” อยู่ในพระมหามงกุฎมีเศวตฉัตรเคียงข้าง อีกด้านหนึ่งจารึกว่า “พระราชทานสำหรับงานพระราชสงคราม ๒๔๖๑” แก่ทหารทุกนาย

ก่อนทหารอาสาออกเดินทางไปร่วมสงคราม ในหลวง ร.6 พระราชทานเลี้ยงที่พระบรมมหาราชวัง หลังทานอาหารมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง Britain Prepared เป็นหนังที่กองทัพอังกฤษทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ศักยภาพทางทหารของอังกฤษ ในตอนท้ายภาพยนตร์ชุดนั้นมีโคลงของ Rudyard Kipling อยู่ 2 ประโยค

Who dies if England lives? และ Who lives if England dies?

ผู้เขียนขอเปิดเผยข้อมูลที่แทบไม่มีใครทราบมาก่อนว่า สมุดขนาดใหญ่ที่กองทหารอาสาใช้รายงานตัวก่อนเดินทางไปสงคราม เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ พลเอก ชัชวาลย์ ขำเกษม เจ้ากรมเสมียนตรา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ค้นพบและนำมาซ่อมแซมจนมีสภาพดี ซึ่งปัจจุบันแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์ในศาลาว่าการกลาโหม (ดูภาพ)

มีรายชื่อ ที่อยู่ ของทหารอาสา ซึ่งไม่สมบูรณ์นัก เพราะในยุคสมัยโน้น ส่วนใหญ่ยังไม่ใช้นามสกุล ถ้ามีโอกาสก็ลองไปตรวจสอบนะครับ บรรพบุรุษของใคร ท่านเหล่านี้ คือ บรรพชนที่สร้างความดีงามให้กับแผ่นดินสยามที่น่ายกย่อง ทุกท่านเป็นทหารด้วยกายและใจ

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เสนาธิการทหารบกทรงขอให้ในหลวง ร.6 พระราชทานคำเตือนใจแก่ทหารและพลเรือนเช่นนั้นบ้าง ซึ่งในวันรุ่งขึ้นพระองค์ก็พระราชทานโคลงที่มีชื่อว่า สยามานุสสติ

หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย

หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤๅ เราก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นสกุลไทย

ตี 4 ของวันที่ 19 มีนาคม 2461 เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จสู่ที่ประชุมแถวทหารในสนามหน้าศาลาว่าการกลาโหม ทรงอ่านพระราชโทรเลขอวยพรของในหลวง ร.6 ซึ่งพระราชทานมาจากที่ประทับหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี

ทรงพระราชทานโอวาทให้ทหารทั้งหลาย รักษาเกียรติยศของชาติไทยให้ยิ่งกว่าอย่างอื่น จากนั้นพระองค์ก็เสด็จลงเรือไปกับกองทหารอาสาจากท่าราชวรดิฐ จนถึงเกาะสีชัง

20 มิถุนายน 2561 กองทหารอาสาเดินทางออกจากอาณาจักรสยามด้วยเรือ เอ็มไพร์ (Empire) มุ่งตรงไปฝรั่งเศส

30 กรกฎาคม 2461 คณะข้าราชการสถานทูตไทย และกองทูตทหารมาต้อนรับกองทหารอาสาสยาม ที่ท่าเรือมาร์เซย์ (Marseilles) ฝรั่งเศส กองทหารอาสาทั้งหมด ต้องเข้ารับการฝึกเพื่อปรับสภาพ กองทหารขนส่ง ใช้เวลาฝึกสั้นกว่า จึงได้ไปปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบก่อนหน่วยบินและหน่วยเสนารักษ์

ผู้เขียนต้องขอยกย่องบรรพบุรุษในอดีต… นี่เป็นการจัดหน่วยทหารเพื่อไปทำสงครามนอกประเทศเป็นครั้งแรกของสยาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องของกำลังพล การข่าว ยุทธวิธี การส่งกำลังบำรุง การบังคับบัญชาและติดต่อสื่อสาร เครื่องสนาม (หมวก เข็มขัด อาวุธ กระสุน รองเท้า ฯลฯ) การขนส่ง ที่พัก และภาษาสำหรับการปฏิบัติการร่วม (Joint Operations)

ทหารจากสยามที่ต้องไปเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวยะเยือกในยุโรป เป็นการทำงานที่ประณีต ยอดเยี่ยมแบบทหารอาชีพ

สงครามโลกครั้งที่ 1 เข่นฆ่ากันเองตายไปราว 40 ล้านคน ยุติลงโดยเยอรมันยอมลงนามในสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2461 เวลา 11.00 น. มีการลงนามการสงบศึกกับเยอรมันขึ้นในตู้โดยสารรถไฟในกองเปียญ

กองทหารอาสาจากทหารสยามได้รับเกียรติให้เข้าร่วมสวนสนามใน 3 เมืองหลวงของยุโรป ฐานะฝ่ายชนะสงคราม และทยอยเดินทางกลับมาตุภูมิอย่างสง่างาม

ในหลวง ร.6 ทรงพระเมตตาต่อกองทหารอาสาผู้เสียสละหน่วยนี้เป็นล้นพ้น กองทหารสยามลงเรือจากเมืองท่ามาร์เซย์ฝรั่งเศส ทหารหน่วยนี้ได้ไปสร้างเกียรติประวัติ สร้างคุณูปการแก่ชาติบ้านเมือง เสียชีวิตไป 19 นาย บางส่วนฌาปนกิจในดินแดนเยอรมัน นำอัฐิบรรจุใส่ปลอกกระสุนปืนใหญ่กลับมาสยาม

เมื่อกลับมาครบแล้ว ในหลวง ร.6 พระราชทานเลี้ยงทหารที่กลับจากสงครามในพระบรมมหาราชวัง

“หน่วยเสือป่า” มอบกลักบุหรี่พร้อมลงชื่อให้ทหารอาสาแต่ละคนเป็นที่ระลึก มีบันทึกที่น่าสนใจว่า ก่อนเข้าสู่พระราชวัง ทหารทุกคนถือโคมรูปดอกบัวสีเขียว ขาว แดง และน้ำเงิน สลับสีกันเป็นสีธงชาติ เดินขบวนมาตั้งแถวที่ถนนสนามไชย (หน้ากระทรวงกลาโหม)

เมื่อตั้งแถวพร้อม ทหารในกองทหารบกรถยนต์ที่ไปสร้างชื่อในดินแดนเยอรมันได้ร้องเพลงตำนานย่อของกองทหารนั้น และเพลงถวายพระพรชัยมงคล ร้องทั้งหมด 5 เพลง นี่คือตัวอย่างเพลง ฝรั่งรำเท้า เป็นเพลงที่ 3

นำธงชาติ ออกประกาศ สมความคิด ในท่ามกลาง สัมพันธมิตร์ อยู่ครบถ้วน ทหารไทย ได้ไปเข้าขบวน ในการสวนสนาม สามนคร

คือที่กรุง ปารีส แรกเริ่มต้น ทวยราษฎร์ หลากล้น สลับสลอน

ถัดมา ข้ามทะเล ไปลอนดอน พระนคร หลวงอังกฤษ มิตรสำคัญ

ต่อจากนี้ ไปบรัสเซลส์ กรุงเบลเยียม แล้วก็เตรียม ตัวกลับ ยังเขตร์ขัณฑ์ นับว่าหมด ราชกิจ ที่สำคัญ ต่างปรีเปรม เกษมสันต์ ด้วยพอใจ พระเดชา นุภาพ ปกเกล้าฯ คุ้มครอง ข้าเจ้า ไม่ตักษัย

นำเกียรติ กลับมา สู่ชาติไทย น้อมเกล้าฯ ถวายไชย ในวันนี้…

ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงคราม รวมทั้งทหารเหล่าขนส่งและหน่วยบินของสยาม ได้รับเกียรติไปเดินสวนสนามเท่ระเบิดที่ปารีส ลอนดอน และบรัสเซลส์ พร้อมธงชัยเฉลิมพล หลังเสร็จพิธีอวดธงไทยใน 3 ประเทศ กองทหารอาสาจากสยามเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2462

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอตบท้ายด้วยข้อมูลของ วงเวียน 22 กรกฎาคม ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1

ในหลวง ร.6 โปรดให้ตัดถนน 3 สาย และสร้างวงเวียนแห่งแรกของประเทศ เริ่มต้นสร้างเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2461 พระราชทานนามว่า “22 กรกฎาคม” และพระราชทานชื่อถนนทั้ง 3 สายว่า ไมตรีจิตต์ มิตรพันธ์ สันติภาพ

ท่านผู้อ่านที่มีบรรพบุรุษรุ่นคุณปู่ คุณทวด ที่เคยไปราชการสงครามโลกครั้งที่ 1 ลองค้นหาภาพถ่าย ของที่ระลึกที่ได้รับพระราชทานจากในหลวง ร.6 จดหมายหรือเอกสารทั้งปวง ฯลฯ กรุณานำมาโพสต์ลงในสื่อสังคมเพื่อเผยแพร่ให้ลูกหลานไทยได้ภาคภูมิใจทั่วกันนะครับ.. 100 ปีแล้ว มีคุณค่ามหาศาล

ทางราชการควรรวบรวมเอกสาร ชำระประวัติศาสตร์ จัดทำพิพิธภัณฑ์ เพื่อยกย่องกองทหารอาสาจากสยามที่ไปราชการสงครามในยุโรปในฐานะ “ยอดทหาร”

ข้อมูลและภาพจาก – นิทรรศการ 100 ปี สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อ 22 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2560 หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image