เหาะเหินเกินลงกา : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ.2561 ยังออกฤทธิ์ไม่จบ แม้ ป.ป.ช.จะแถลงเป็นทางการว่ากรรมการมีมติให้ขยายเวลาการยื่นบัญชีออกไปอีก 60 วัน สิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2562 ก็ตาม
ยังปรากฏข่าวนายกสภาฯ อุปนายกฯ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ หลายมหาวิทยาลัย ประกาศจะลาออกจากตำแหน่งก่อนถึงวันสุดท้ายที่เป็นเส้นตายอย่างแน่นอน หาก ป.ป.ช.ยังยืนยันจะให้ปฏิบัติตามประกาศที่ออกมาต่อไปเช่นเดิม

สิ่งที่น่าคิดคือ แม้คนเหล่านี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ยอมรับหลักการตรวจสอบเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ก็ยังคงยืนยันจะลาออกอยู่เช่นเดิม

ประเด็นหลักจึงไม่ใช่ เพราะไม่ยอมรับ ไม่เคารพหลักการความเปิดเผย โปร่งใส และกลัวการตรวจสอบ บุคคลเหล่านี้จำนวนมากเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงของทางราชการ และทางการเมืองกันมาแล้ว ผ่านประสบการณ์ยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินแล้วทั้งสิ้น ล้วนเห็นด้วยในหลักการ แต่คัดค้านวิธีการปฏิบัติ

การใช้ดุลพินิจของ ป.ป.ช.ในการบังคับใช้กฎหมายเกินเลยความเหมาะสม ความพอเหมาะพอดี ไปกวาดต้อนเอากลุ่มคนที่ไม่ควรอยู่ภายใต้มาตรการนี้เข้ามารวมอยู่ด้วย

Advertisement

ไม่ใช่แค่ประเด็น ความหยุมหยิม จุกจิก น่ารำคาญ แต่เป็นการละเมิดหลักการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล นอกจากยื่นบัญชีให้ตรวจสอบแล้วยังให้เปิดเผยผลการตรวจสอบอีกด้วย ซึ่ง ป.ป.ช.คำนึงถึงผลกระทบน้อยเกินไป

ป.ป.ช.อ้างถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 234(3) ให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และเปิดเผยผลการตรวจสอบ

เลยเห็นว่าการเปิดเผยเป็นภาคบังคับตามรัฐธรรมนูญ เป็นไม้เด็ดของการแก้ปัญหาการทุจริต ว่างั้นเถอะ

Advertisement

นั่นหมายความว่า ต่อไปนี้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สินของกลุ่มคนทั้งหมดที่ ป.ป.ช.กำหนด ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลจะกลายเป็นข้อมูลสาธารณะทันที

กฎหมายไทยยังไม่ได้กำหนดเส้นแบ่งระหว่างการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับข้อมูลสาธารณะไว้อย่างชัดเจน จึงทำให้เกิดปัญหาขอบเขตการใช้อำนาจขององค์กรตรวจสอบ ไม่รู้ว่าจุดของความพอดีควรอยู่ตรงไหน

ทั้งนี้เป็นผลจากมาตรา 106 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2561 เกี่ยวกับการเปิดเผยผลการตรวจสอบ นอกจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิกแล้ว ต่อไปนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง อยู่ในข่ายเดียวกันด้วย แต่กลับไม่มีตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 234(3) รวมอยู่ด้วย

เหตุที่ ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่ง “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ครอบคลุมถึงองค์กร และกลุ่มคนจำนวนมาก รวมถึงสถาบันการศึกษา ทั้งผู้บริหาร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ว่าจะเคยเป็นหรือไม่ได้มาจากภาครัฐ ถูกเหมาเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปด้วย

ปัญหาเกิดขึ้นตรงการใช้อำนาจ ดุลพินิจ ในการกำหนดตำแหน่งนี่เอง

เมื่อถูกกำหนดให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกรรมการองค์กรอิสระ จึงพากันประกาศลาออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน เพราะหากแจ้งไม่ครบถ้วน ผิดพลาด มีโอกาสถูกลงโทษทางอาญา เป็นการได้ไม่คุ้มเสีย และขัดหลักความเป็นจริงในทางปฏิบัติ

ตัวอย่าง ภาคเอกชนที่มีฐานะ ทรัพย์สินมากมาย มีรายการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงบ่อย อาทิ หุ้นสามัญบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือนอกตลาด ซื้อขายวันละหลายรอบ หลายระดับราคา ต้องแจ้งวันที่ได้มาด้วย จะถือปฏิบัติอย่างไร ตรงจุดไหน

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้ดาบ เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา แต่คนใช้ดาบ กวัดแกว่งแบบเหวี่ยงแห นำปัญหาของคนส่วนน้อยมาทำให้เกิดปัญหากับคนส่วนใหญ่ ผลจึงเกิดขึ้นดังที่ปรากฏ

ครับ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสแก่ทุกคนว่า กฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม แต่เป็นเครื่องมือเพื่ออำนวยให้เกิดความยุติธรรม ความยุติธรรมอยู่ที่คนใช้เครื่องมือ อยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

ความละเอียดรอบคอบของผู้ใช้เครื่องมือซึ่งเป็นดาบสองคม จึงเป็นเรื่องสำคัญ จะใช้ไปทางไหน ระหว่างเกิดประโยชน์หรือเกิดโทษมากกว่า

มีคำถามว่า ประกาศกำหนดตำแหน่งผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเปิดเผยผลการตรวจสอบ ไม่ปรากฏมีกรรมการ ป.ป.ช.รวมอยู่ด้วย คำตอบอยู่ในมาตรา 42 พ.ร.บ.ป.ป.ช. 2561 กรรมการ ป.ป.ช.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภา เพื่อตั้งกรรมการตรวจสอบ ส่วนการเปิดเผยให้ใช้เกณฑ์เดียวกันกับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อประชาชน

ประเด็นจึงอยู่ที่ประธานวุฒิสภาต้องทำตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยเสมอหน้า เท่าเทียมกัน เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ด้วยว่าผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ

ผู้อื่น แต่ละคนมีทรัพย์สิน หนี้สิน เพียงไร ได้มาอย่างไร เมื่อไหร่

เรื่องราวที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงความพอดีของการใช้อำนาจ เลยทำให้คิดถึงคำที่ว่า เหาะเหินเกินลงกา ขึ้นมาอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image