เดินหน้าชน : ช่วยเต่าทะเลพิการ : สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

ทรัพยากรทางทะเลของไทยสวยงามไม่แพ้ชาติใด แถมยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และราคาถูก ทำให้ต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวกันมากมาย นำรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ

แต่ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวที่ขยายตัวก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลไทยไม่น้อย โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล ที่ทำให้สัตว์ทะเลหลายตัวต้องตายเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป อย่างที่เป็นข่าวให้เห็นกันบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ยังมีสัตว์ทะเลอีกไม่น้อยที่ถูกใบพัดเรือท่องเที่ยว รวมถึงเรือประมง ต้องล้มตาย หรือบาดเจ็บ ไม่สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติตามปกติได้

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่าระหว่างปี 2558-2560 มีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 419 ตัว เป็นเต่าทะเล 57% โลมาและวาฬ 38% และพะยูน 5%

Advertisement

ทั้งนี้ สัตว์ทะเลมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ระบบนิเวศทางทะเลมีความสมบูรณ์ แต่เมื่อมีสัตว์ทะเลจำนวนมากต้องตาย หรือพิการ ทำให้อัตราการขยายพันธุ์ลดลง และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ผลที่ตามมาคือระบบนิเวศทางทะเลของไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปในด้านลบ แล้วยังเกิดผลเป็นลูกโซ่ต่อการท่องเที่ยวทางทะเลของไทย และรายได้ของประเทศที่จะลดลง

ดังนั้น นอกจากจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลทั้งหลายถูกทำร้ายจนถึงล้มตายและบาดเจ็บแล้ว หากมีสัตว์ทะเลที่บาดเจ็บเพราะสูญเสียอวัยวะ ก็ควรมีมาตรการช่วยเหลือให้สัตว์ทะเลที่พิการเหล่านั้น ให้สามารถดำเนินชีวิตในธรรมชาติได้ตามปกติให้มากที่สุด มีโอกาสที่จะขยายพันธุ์ต่อไปได้

Advertisement

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในโครงการ “การวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ” ของ 4 พันธมิตร คือ ทช.-บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)-บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยตอบโจทย์นี้ให้แก่ระบบนิเวศทางทะเลของไทย

พันธมิตรทั้ง 4 องค์กรจะร่วมมือกันสนับสนุนในด้านต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ เพื่อวิจัยและพัฒนา รวมทั้งออกแบบกายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ

ทั้งนี้ จะนำหลักชีวกลศาสตร์ร่วมกับการใช้วัสดุที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผสานนวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติมาประยุกต์ใช้ในงานชีวการแพทย์ เพื่อช่วยให้สัตว์ทะเลพิการสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง

นำร่องด้วยโครงการ “พัฒนานวัตกรรมรยางค์เทียมสำหรับเต่าทะเลที่พิการ” ก่อนจะพัฒนาต่อยอดไปช่วยสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่พิการ

เริ่มแรกด้วยการสร้างอุปกรณ์เทียมให้เต่าทะเลพิการ 3 ตัว โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต จะคัดเลือกเต่าทะเลพิการที่อนุบาลไว้นำมาเข้าโครงการ แล้วออกแบบและผลิตรยางค์เทียม เพื่อทดสอบกับเต่าพิการ

ส่วน จุฬาฯ โดยศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จะสนับสนุนด้านบุคลากร ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญการออกแบบอวัยวะเทียม

ขณะที่ “ปตท.” และ “จีซี” ร่วมสนับสนุนงบประมาณและนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวัสดุพลาสติก เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ พร้อมนำวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในทะเลเพื่อผลิตอุปกรณ์เทียมให้กับเต่าทะเลพิการ กลับมาว่ายน้ำได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ “จีซี” หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมโลกของเรา ไม่เพียงเฉพาะเต่าทะเลพิการแต่รวมถึงสัตว์ทะเลพิการอื่นๆ ให้กลับมาใช้ชีวิตตามวิถีของตัวเองตามธรรมชาติ เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนต่อไป

เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือดีๆ ที่ช่วยกันดูแลรักษาสัตว์(เต่า)ทะเล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในทรัพยากรทางทะเลของไทยให้งดงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image