ธนาคารเวลา : โดย เฉลิมพล พลมุข

คนหรือมนุษย์มีพฤติกรรมหนึ่งที่มีมายาวนานตั้งแต่ครั้งบรรพกาล นั่นก็คือการเก็บสั่งสม แสวงหา กักตุน หรืออาจจะเรียกในสมัยใหม่ว่าการออมในวัตถุสิ่งของ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเอาไว้ใช้ในวันเวลาข้างหน้า ซึ่งในปัจจุบันมีในหลากหลายรูปแบบ ในการออมหนึ่งในนั้นที่เรียกว่า ธนาคาร

นิยามในความหมายของธนาคารก็คือ เป็นสถาบันการเงินที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายในนามบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด เพื่อให้บริการเกี่ยวกับการฝากเงิน ถอนเงิน แลกเงิน สินเชื่อ บัตรเครดิต รับฝากทรัพย์สิน ฝากขายสินทรัพย์หรือการทำธุรกรรมอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ในปัจจุบันบทบาทสถานภาพของธนาคารมีการเปลี่ยนบริบทไปจากอดีตอย่างมากมาย

ธนาคารเวลาเป็นแนวคิดหนึ่งที่กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้กับสังคมไทย โดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้สูงอายุ คนแก่คนชราในเมืองไทยเราที่นับวันจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยยะสำคัญ โดยจะเป็นสังคมผู้อายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 จะมีจำนวนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 เมื่อ 3 ปีที่แล้วกระทรวงสาธารณสุขมีตัวเลขผู้สูงอายุประมาณ 1.3 ล้านคน หรือร้อยละ 21 ของผู้สูงอายุที่พบปัญหาในเรื่องสุขภาพที่ต้องเจ็บป่วยอยู่กับเตียงและอยู่กับบ้านตนเอง หรือที่เรียกว่าติดบ้าน…(มติชนรายวัน 16 พ.ย. 2561 หน้า 18)

ธนาคารเวลาเริ่มจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Elizabeth Jill Miller ใน Australian National University ในปี ค.ศ.2008 โดยงานดังกล่าวมีการริเริ่มครั้งแรกในโลกเมื่อปี ค.ศ.1973 ที่นำโดยเทรุโกะ มิซุชิมะ ได้สร้างสกุลเงินเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในชุมชน โดยการทำงานทุกอย่างถือว่ามีความเท่าเทียมกันและคิดตามจำนวนเวลาที่กระทำทั้งหมด ซึ่งเวลาที่สะสมไว้ทั้งหมดสามารถนำมาใช้หรืออาจจะสะสมไว้ในเวลาอนาคต ด้วยเหตุผลเพื่อช่วยคนมีงานทำ มีสัมพันธภาพกับสังคม ได้รับการยอมรับด้วยสภาพปัญหาจากบ้านเมืองก็คือผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเรียกหลักการดังกล่าวว่า Time Bank หรือ Taimu Banku (ไทมุ บางขุ) (bangkok biznews.com)

Advertisement

ผลกระทบจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ประเทศญี่ปุ่นถูกประกาศในระดับโลกว่าเป็นประเทศผู้ที่แพ้สงคราม ขณะเดียวกันผู้คนส่วนหนึ่งถูกฆ่าตายไปด้วยระเบิดปรมาณู ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ผู้คนตกงาน มีผู้สูงอายุต้องอยู่แบบโดดเดี่ยวมากขึ้น การเริ่มหลักการของธนาคารเวลาจะมีในคนอายุช่วงกลางคนถึงอายุ 60 ปี และจะเสียสละวันเวลาสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงเพื่อไปเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่รอการช่วยเหลือ

ในปี ค.ศ.1979 กลุ่มของธนาคารเวลาได้มีอยู่ในทุกๆ จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับหลักการแนวคิดดังกล่าวจึงให้การสนับสนุนหรืออาจจะเรียกว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของโลกที่มีระบบธนาคารเวลาในการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์อย่างเป็นระบบ ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายหลักการระบบการทำงานไปในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จีน ฮ่องกง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา จะใช้ในระบบของ Time Credit โดยนำไปแลกเปลี่ยนเป็นบริการหรือสินค้า ทริป
การพักผ่อนท่องเที่ยวหรือบริการอื่นๆ กับผู้สูงอายุ

สังคมไทยเราได้นำหลักการดังกล่าวมาจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อมาปรับใช้ในกรมกิจการผู้สูงอายุและคาดหวังว่าจะขยายไปสู่หน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับงานสังคมสงเคราะห์ที่มิใช่เฉพาะกับงานคนแก่ คนชราเท่านั้น อาจจะขยายไปถึงสถานดูแลเด็กกำพร้า คนพิการแขนขา ตาหู สติปัญญา ผู้ป่วยมะเร็ง เอดส์ หรือผู้ป่วยด้วยโรคอย่างอื่นที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือไร้ญาติขาดคนดูแล ซึ่งในสังคมไทยเรายังมีผู้ที่ประสบชะตากรรมทั้งการเจ็บป่วยทางร่างกาย จิตใจ สังคมในภาพรวมอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะมีคำถามหนึ่งที่ว่าหลักการแนวคิดดังกล่าวที่มีความพยายามผลักดันเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมในสังคมไทยจะใช้ระยะเวลานานเท่าใด

Advertisement

และคนไทยเราบางคนโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น วัยเรียน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติในวันหน้าได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในธนาคารเวลาจริงหรือไม่…

ข้อเท็จจริงหนึ่งในสังคมไทยเราขณะนี้เป็นสังคมแห่งบริโภคนิยม วัตถุนิยม ทุนนิยมและเงินนิยม การแข่งขันทั้งการศึกษาเล่าเรียน หน้าที่การงาน หรืออื่นใด เพื่อให้ตนเองและครอบครัวอยู่รอดจากภาวะเศรษฐกิจรายได้ที่น้อยนิด ขณะเดียวกันอาหารการกิน สินค้าอุปโภคบริโภค ต่างก็มีราคาแพง ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องกู้เงินนอกระบบมาใช้ คดีฉ้อโกงที่ผิดทั้ง
ศีลธรรมและกฎหมายยังคงมีอยู่ในตัวเลขที่สูงทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่รัฐบาลถือว่าเป็นวาระแห่งชาติยังคงเป็นข้อสงสัยจากประชาชนชาวบ้านทั่วไป

ในอดีตของสังคมไทยเมื่อย้อนไป 40 หรือ 50 ปีที่แล้ว เกษตรกรหรือชาวนายังมีการลงแรงหรือแลกเปลี่ยนแรงงานในการทำนาหว่านข้าว เก็บเกี่ยวข้าว บ้านใดมีงานบุญพิธีของศาสนา อาทิ การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานศพ ชาวบ้านก็จะไปช่วยงานกันอย่างมิต้องมีค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงิน การพัฒนาระบบสิ่งที่เป็นสาธารณะชุมชน อาทิ ถนนหนทาง วัด โรงเรียน ชาวบ้านต่างก็ไปช่วยกันด้วยความเต็มใจ…

ผู้เขียนขอย้อนไปในสมัยของครูบาศรีวิชัยหรือตนบุญแห่งล้านนาของ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 140 ปีที่แล้ว ครูบาศรีวิชัยเป็นพระทั้งนักการศึกษา วัตรปฏิบัติและงานสังคมสงเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรมที่เราท่านได้พบเห็นมาถึงปัจจุบันก็คือ ท่านนำชาวบ้านในการสร้างถนนเพื่อขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ โดยชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจเสียสละหน้าที่การงาน ทรัพย์เงินทองโดยกำลังของชาวบ้าน มิได้พึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลในระยะทาง 11.53 กิโลเมตร เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และเสร็จสิ้น
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2478 ช่วงนั้นเป็นรัฐบาลของพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นอกจากนั้นความศรัทธาของท่านจากประชาชนยังเผื่อแผ่ไปบูรณะกุฏิ วิหาร ศาลา โบสถ์ สร้างวัดอื่นๆ อีก อาทิ วัดจอมศะหรีทรายมูลบุญเรือง หรือวัดบ้านปาง วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน วัดเชียงยืน วัดพระพุทธบาทตากผ้า วัดจามเทวี วัดพระสิงห์ วัดสวนดอก วัดศรีโสดา วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง ศรัทธาความเชื่อมั่นของชาวบ้านที่มีต่อท่านในขณะนั้นก็ถูกกล่าวหาจากคณะสงฆ์และทางบ้านเมืองที่ว่า “เป็นผีบุญ” อวดอิทธิฤทธิ์ ซ่องสุมกำลัง คนรวมไปถึงคิดกบฏต่อบ้านเมืองจนกระทั่งถูก
คุมขัง ในที่สุดก็ได้มีการตั้งกรรมการชำระคดีความไต่สวน พบว่ามิได้เป็นการกระทำความผิดและถูกปล่อยตัวให้กลับภูมิลำเนาในสมัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พระสงฆ์ในสังคมไทยเรามีอยู่หลากหลายรูปที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ด้วยความศรัทธาเชื่อมั่นจากชาวบ้านที่ว่าเงินทองของเขาที่ได้มอบถวายทำบุญให้แด่พระรูปนั้นแล้วจะเป็นเนื้อนาบุญแผ่ไปยังส่วนอื่นๆ ที่สังคมต้องการความช่วยเหลือ อาทิ หลวงพ่อคูณ แห่งวัดบ้านไร่ พระคุณท่านได้มอบเงินจำนวนมากในการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือวัดต่างๆ แม้กระทั่งชีวิตก็ได้มอบให้เป็นอาจารย์ใหญ่เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ผ่าเรียนรู้ศาสตร์สาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้นยังมีพระภิกษุที่ช่วยเหลือสังคมทั้งเปิดวัดดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง คนยากจนอนาถา ไร้บ้าน เด็กกำพร้า สร้างงานสร้างอาชีพ เปิดบ้านดูแลคนชรารวมถึงผู้ป่วยโรคเอดส์

ข้อมูลหนึ่งจากกรมกิจการผู้สูงอายุก็คือ ได้มีการเปิดรับบุคคลเพื่อสมัครเป็นจิตอาสามีจำนวน 120 คน เป็นผู้ชาย 17 คน ผู้หญิง 103 คน และกำลังจะขยายงานใน 42 พื้นที่ 28 จังหวัดในเมืองไทยเรา โดยมีหลักการที่ว่า ทำความดี 1 ชั่วโมง รับ 1 คะแนน และแลก 1 คะแนนกับการได้รับการดูแลใน 1 ชั่วโมง โดยมีกิจกรรม อาทิ การอ่านหนังสือให้ฟัง เป็นเพื่อนพูดคุย หรือกิจกรรมอื่นใดนอกบ้าน

ผู้เขียนและท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะตั้งข้อสังเกตว่า งานสังคมสงเคราะห์ในสังคมไทยเราโดยข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร นอกจากหน่วยงานในภาครัฐจะต้องจัดทำตามภารกิจหน้าที่ หรืองบประมาณที่มีอยู่แล้ว จำนวนบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มิอาจจะรวมไปถึงอุดมการณ์หลักที่จะต้องไปให้ถึงต้องใช้ทรัพยากรในจำนวนมากและการสนับสนุนโดยเฉพาะจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และทุนสนับสนุนภาคเอกชนที่ต้องให้ความสำคัญ สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ ความมีจิตใจดีงามที่จะทำงานเพื่อผู้อื่นและสังคมอย่างแท้จริงยังคงอยู่ในความเป็นคนไทยมากน้อยอย่างไร

ในสถานศึกษาโดยเฉพาะผู้ที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะมีคะแนนหรือแต้มสะสมที่เกี่ยวเนื่องกับนักศึกษาเพื่อให้เขาได้ทำงานจิตอาสาหรือสังคมสงเคราะห์ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งตนเองและประเทศชาติ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตได้ว่ากิจกรรมหรือคะแนนที่นักศึกษา หรือความคาดหวังของภารกิจมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยท้องถิ่นหรือชุมชนที่มีบทบาทหน้าที่ถึงการให้การบริการชุมชน พัฒนาท้องถิ่นให้มีความยั่งยืน ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยได้ให้ความใส่ใจในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงใจหรือไม่ หรือว่าคงจะลังเลสงสัยในเรื่องของอำนาจ ผลประโยชน์ ทั้งการเกษียณอายุแล้วเป็นอธิการบดี รวมถึงการให้ต้องรายงานทรัพย์สินรายได้ที่มาต่อ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)

ระบบงานสังคมสงเคราะห์ที่จะดำเนินไปได้ดีและต่อเนื่องเราท่านอาจจะได้ติดตามในบริบทหนึ่งก็คือความเชื่อมั่นศรัทธาต่อผู้นำองค์กร หรืองานด้านศาสนาที่ประยุกต์หลักคำสอนนำไปปรับใช้ สิ่งสำคัญหนึ่งก็คือการบริหารจัดการองค์กรที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ไม่มีเรื่องหม่นหมองในองค์กร ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง อาทิ แม่ชีเทเรซาที่เป็นนักบวชหญิงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่ได้ช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อคนยากจนยากไร้จนได้รับนามว่าเป็น “ผู้ให้” และได้รับรางวัล
โนเบลในเวลาต่อมา

มูลนิธิฉือจี้ หรือมูลนิธิเมตตาสงเคราะห์ (ฉือหมายถึงเมตตา จี้คือการสงเคราะห์) แห่งเมืองฮวาเหลียน ในไต้หวัน ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่นำโดย ธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน มีอาสาสมัครมากกว่า 6 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรประเทศ ที่เป็นผู้นำจิตอาสาเก็บกวาดบ้าน ขยะรีไซเคิล มอบทุนการศึกษา บริการชุมชน รักษาพยาบาลฟรี โดยมีหลักการที่ว่าความเป็นมนุษย์มีศักยภาพและความสามารถที่จะช่วยเหลือแบ่งปันเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความทุกข์ร้อนอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด มีโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยในระดับมาตรฐานโลก มีมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ในปัจจุบันมีการขยายแนวคิดการทำงานดังกล่าวไปมากกว่า 47 ประเทศทั่วโลกรวมถึงในเมืองไทยเราด้วย ซึ่งได้เปิดทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538

งานสังคมสงเคราะห์หรืองานจิตอาสา เป็นลักษณะที่พึงประสงค์หนึ่งของคนในสังคมเพื่อให้เกื้อกูลช่วยเหลือจากใจสู่ใจอย่างไร้ผลตอบแทนด้วยทรัพย์สินเงินทอง สิ่งหนึ่งของความเป็นอาสาสมัครที่จะได้รับก็คือความอิ่มใจ ภูมิใจ หรือการกระทำของตนที่ได้ให้แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือที่เรียกว่าทำบุญด้วยชีวิ9

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image