ธนาคารขยะ (คัดแยกขยะประกันชีวิต) : โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

ธนาคารขยะเป็นกิจกรรมที่ริเริ่มและเผยแพร่ในโรงเรียนเพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ในการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะ วัสดุรีไซเคิลหรือของขายได้จะถูกตีมูลค่าตามราคาซื้อขายทั่วไปแล้วลงเป็นเงินสะสมในบัญชีออมทรัพย์เช่นเดียวกับการฝากเงินในธนาคาร กิจกรรมธนาคารขยะทำหน้าที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ในการคัดแยกขยะได้อย่างดี ต่อมากิจกรรมนี้ได้ขยายไปสู่ชุมชน แต่แม้ว่าธนาคารขยะจะแพร่หลายมากขึ้นแต่กลับมีบทบาทในการแก้ปัญหาขยะของท้องถิ่นไม่มากนัก เพราะเป็นกิจกรรมที่เน้นเพียงการคัดแยกของที่ขายได้ซึ่งปกติก็มีการคัดแยกกันอยู่แล้วโดยชาวบ้านต้นทาง คนคุ้ยขยะและคนงานเก็บขน ยังคงมีขยะส่วนที่เหลืออีกจำนวนมากที่ต้องจัดการ ซึ่งกลายเป็นปัญหาและภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ธนาคารขยะมีพัฒนาการรูปแบบอย่างหลากหลาย จากการบันทึกเงินออมในสมุดบัญชีเงินฝากแบบง่ายๆ มีการนำทักษะด้านคอมพิวเตอร์มาใช้ในการบันทึกข้อมูล จนไปสู่การเชื่อมต่อกับโครงการธนาคารโรงเรียนของธนาคารออมสิน แม้ว่าจะมีพัฒนาการเพื่อให้สามารถขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น แต่เท่าที่ผ่านมา ธนาคารขยะในโรงเรียนหรือในชุมชนก็มีข้อจำกัด มีจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอไม่มากนัก จากข้อจำกัดเรื่องเวลาในการทำกิจกรรม เรื่องราคารับซื้อวัสดุรีไซเคิลที่อาจทำให้สมาชิกบางส่วนเลือกความสะดวกที่จะนำไปขายตรงกับร้านรับซื้อของเก่า แทนการเข้าร่วมกิจกรรมธนาคารขยะที่มีกำหนดเวลา

ไม่นานมานี้ มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการธนาคารขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จากที่ได้รับข้อมูลมาว่าธนาคารขยะที่นี่ได้เชื่อมโยงกับโปรแกรมประกันชีวิต แตกต่างไปจากธนาคารขยะทั่วไป

อบต.บางบัวทอง เป็นท้องถิ่นในเขตปริมณฑลประกอบด้วยชุมชน 11 หมู่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่พักอาศัย มีหมู่บ้านจัดสรรถึง 51 แห่ง จำนวนประชากรมากกว่า 5 หมื่นคน อบต.บางบัวทอง ต้องรับภาระเก็บขนขยะเพื่อนำไปกำจัดที่สถานที่ฝังกลบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีวันละมากกว่า 50 ตัน อบต.บางบัวทอง จึงจัดทำแผนการลดปริมาณขยะ เริ่มจากการคัดแยกวัสดุที่ไม่ควรทิ้งเป็นขยะจากแหล่งกำเนิด นำตัวแทนชุมชนทั้ง 11 หมู่อบรม ดูงานการคัดแยกขยะและโครงการธนาคารขยะจากท้องถิ่นอื่น ก่อนจะร่วมกันตัดสินใจที่จะทำโครงการธนาคารขยะในชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่ของ อบต.ให้ความสนับสนุนและเพื่อให้ธนาคารขยะนี้มีความแตกต่างและสอดคล้องกับสภาพสังคมเมืองของ อบต.บางบัวทอง จึงได้นำเอาโปรแกรมการประกันชีวิตมาเชื่อมต่อกับการออมทรัพย์ของสมาชิกที่ได้จากการขายขยะรีไซเคิล

Advertisement

โปรแกรมประกันชีวิตที่นำมาเชื่อมต่อกับธนาคารขยะเป็นการกำหนดวงเงินช่วยเหลือหรือเงินสงเคราะห์เมื่อสมาชิกเสียชีวิต โดยครอบครัวของสมาชิกที่เสียชีวิตจะได้รับเงินที่หักจากบัญชีเงินฝากของสมาชิกทุกราย รายละ 40 บาท หมายความว่าหากธนาคารขยะมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 1,000 คน ครอบครัวของสมาชิกที่เสียชีวิตจะได้รับเงินสงเคราะห์จากโครงการธนาคารขยะ 40,000 บาท คณะกรรมการบริหารเงินกองทุนได้กำหนดระเบียบให้สมาชิกต้องมีเงินในบัญชีไม่น้อยกว่า 300 บาท

กติกาแบบนี้ทำให้สมาชิกต้องเข้ามาร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ คณะกรรมการบริหารเงินกองทุนประกอบด้วยตัวแทนจาก อบต.และตัวแทนจากชุมชนทุกหมู่ทำหน้าที่ยกร่างระเบียบ กำหนดแนวทางการบริหารและกำหนดแผนหรือปฏิทินกิจกรรมธนาคารขยะในแต่ละชุมชน

เดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนที่ 5 ของกิจกรรมธนาคารขยะของ อบต.บางบัวทอง ในวันที่ไปเยี่ยมดูงานเป็นช่วงบ่าย มีกิจกรรม 2 ชุมชนตามปฏิทิน กิจกรรมทั้งสองแห่งมีสมาชิกจำนวนมากนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาขายแล้วนำเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ทุกคนมีเป้าหมายต้องมีเงินสะสมไว้ในบัญชีให้ได้ 300 บาทเป็นเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่าสมาชิกเข้าใจกติกาเป็นอย่างดี แต่ที่น่าชื่นชมที่สุดคือความรู้สึกยินดีของสมาชิกที่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะของ อบต. นั่นหมายความว่าการเข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้โน้มเอียงไปทางโปรแกรมประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว

Advertisement

ในเดือนแรกเมื่อเริ่มกิจกรรม ธนาคารขยะมีสมาชิกประมาณ 100 กว่าคน เมื่อเข้าเดือนที่ 5 จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเกือบ 2,000 คนแล้ว นั่นหมายความว่า
จำนวนเงินสงเคราะห์สำหรับครอบครัวของสมาชิกที่เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่ถูกรวบรวมโดยกลไกธนาคารขยะ
ก็เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะเร็วเกินไปที่จะประเมินผลปริมาณขยะที่ลดลงจากกิจกรรมนี้ แต่ที่เห็นได้ชัดคือกระบวนการเรียนรู้การคัดแยกขยะของชุมชน
อบต.บางบัวทองขยายวงไปอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นับได้ว่ากลยุทธ์การผนวกกิจกรรมธนาคารขยะกับโปรแกรมประกันชีวิตทำให้กิจกรรมธนาคารขยะที่ระยะหลังกลายเป็นกิจกรรมพื้นๆ ไปแล้วกลับมาคึกคักอีกครั้ง

สำหรับ อบต.บางบัวทองแล้ว ธนาคารขยะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อลดและคัดแยกขยะด้วยความเชื่อมั่นว่ากลยุทธ์นี้จะทำให้ปริมาณขยะลดลง การผนวกสองสิ่งเข้าด้วยกัน ธนาคารขยะทำหน้าที่พัฒนาการมีส่วนร่วม พัฒนากระบวนการเรียนรู้ กับโปรแกรมประกันชีวิตที่เปรียบเสมือนเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม ตรงข้ามกับ “Polluter Pay Principle” ที่เน้นการให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือมาตรการลงโทษผู้ก่อมลพิษ

อาจมีคำถามถึงความยั่งยืนของกิจกรรมธนาคารขยะนี้ รวมทั้งคำถามถึงผลว่าจะสามารถลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดได้จริงหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แต่การผนวกธนาคารขยะกับโปรแกรมประกันชีวิตของ อบต.บางบัวทอง ได้สะท้อนให้เห็นการสร้างสรรค์เครื่องมือหรือนวัตกรรมของท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาของท้องถิ่นเองโดยไม่รอให้ส่วนกลางหยิบยื่นชุดเครื่องมือแบบเหมาโหลให้ท้องถิ่นดำเนินการในรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ

ใครสนใจจะไปดูการทำงานของธนาคารขยะกับโปรแกรมประกันชีวิต ลองติดต่อไปที่ ดร.วิเชียร เจริญนนทสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image