ทองไม่รู้ร้อน : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ออกประกาศเรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 ฉบับที่ 2 วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 สาระสำคัญ เป็นการเลื่อนเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เป็นกรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ อาทิ กองทุนต่างๆ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัยในสังกัดและในกำกับของรัฐ จากภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2561 เป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

แม้ออกประกาศขยายเวลาแล้ว แต่เลือดยังไหลไม่หยุด มีประธาน กรรมการ องค์การมหาชน กองทุน และมหาวิทยาลัย คงทยอยยื่นใบลาออกและแสดงเจตนาจะลาออกจากตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดสภาวะกระอักกระอ่วน กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและผู้ถูกกฎหมายบังคับให้ต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอำนาจ ป.ป.ช. รัฐบาล จนถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จะหาทางออกเพื่อหยุดเลือด ยุติปัญหาอย่างไร

Advertisement

ภายใต้ทางเลือก 1.ให้ยื่นบัญชี มีการตรวจสอบ และเปิดเผยผลการตรวจสอบ 2.ให้ยื่นบัญชี มีการตรวจสอบ แต่ไม่เปิดเผยผลการตรวจสอบ 3.ยกเว้นบางกลุ่ม ไม่เข้าข่ายต้องยื่นบัญชี

ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใดก็ตามล้วนเกิดประเด็นข้อโต้แย้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายคัดค้านทั้งสิ้น

การกล่าวโทษกันไปมาว่าสาเหตุเกิดขึ้นเพราะฝ่ายบัญญัติกฎหมายไม่เขียนกฎหมายให้รอบคอบ รัดกุม กำหนดกรอบให้ชัดเจนว่ามาตรการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบ ควรลงลึกถึงระดับใดบ้าง

หรือเพราะฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายไม่คิดให้ละเอียดถี่ถ้วนในการกำหนดตำแหน่งผู้ที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช.2561 มาตรา 102, 103 และมาตรา 130 จึงทำให้เรื่องราวเลยบานปลาย กลายเป็นปัญหายังหาทางออกไม่ได้ ก็มีแต่จะขยายความขัดแย้งต่อไป

ทางออกที่ควรปฏิบัติทั้งฝ่ายสนับสนุน คัดค้าน และเป็นกลางๆ คือตั้งสติ ร่วมกันทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อหาบทสรุปว่าเป็นปัญหาของส่วนรวมหรือไม่

หากเห็นว่าไม่ใช่ปัญหาของส่วนรวม เกิดผลกระทบไม่มากมายนักก็ปล่อยให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ใครจะลาออกไปเป็นเรื่องส่วนตัวด้วยเหตุผลต่างๆ นานาแตกต่างกันไป

แต่หากเห็นว่าเป็นปัญหาของสังคมส่วนรวม ก็นำเอาข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าองค์กรใด ผู้ที่ยื่นใบลาออกและประกาศจะยื่นต่อไปเป็นใคร มาประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าเกิดผลกระทบอย่างไร รุนแรงแค่ไหน

ผมไม่แน่ใจว่า องค์กรตรวจสอบ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง มีการประมวลข้อเท็จจริงในภาพรวมนี้ได้ทันสมัย เป็นเรื่องเป็นราว มากน้อยเพียงใด นอกจากข่าวสารในสื่อสารมวลชน

เพื่อเป็นข้อมูลให้พิจารณาประกอบการตัดสินใจของ ป.ป.ช. รัฐบาล และ คสช. ซึ่งกำลังเผชิญกับเสียงวิจารณ์โต้แย้งว่า อาจเข้าข่ายแทรกแซงองค์กรอิสระ

ทางออกในเรื่องนี้ จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง โดยมีเงื่อนเวลาเป็นต้นทุนที่ต้องเสียไปแต่ละวัน เป็นความเสี่ยงอยู่ตลอดจนกว่าจะถึงเวลาเส้นตายอีกครั้ง

หน้าที่ยากที่สุดของคนเป็นผู้นำ คือการตัดสินใจ ตัดสินใจอย่างไรให้ผลที่เกิดเป็นบวกมากกว่าลบ หรือจะคิดว่า การตัดสินใจที่จะไม่ตัดสินใจก็เป็นการตัดสินใจอย่างหนึ่ง อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ไม่ใช่ความรับผิดชอบของข้าแต่ผู้เดียวก็แล้วแต่ หากคิดว่าผลกระทบไม่มากนัก ยังมีคนดี คนเก่งอีกมากมายในประเทศนี้ที่พร้อมเสียสละ

ผลการตัดสินใจจะออกมาอย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีประเด็นที่น่าคิดและหาทางออกร่วมกันคือ จะมีกระบวนการกำกับ ถ่วงดุลการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ องค์กรอำนาจที่มีหน้าที่บัญญัติกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างไร ไม่ให้เกิดผลกระทบดังที่เกิดขึ้นขณะนี้

สภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะองค์กรผู้บัญญัติกฎหมาย เมื่อเกิดปัญหาอันสืบเนื่องมาจากกฎหมาย ต้องไม่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่รู้ไม่ชี้ โยนเผือกร้อนไปให้กับผู้บังคับใช้กฎหมายฝ่ายเดียว เพราะเป็นกรณีที่สะท้อนถึงการปฏิบัติตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยตรงทีเดียว

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ของกฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรแสดงจุดยืน มีส่วนร่วมรับผิดชอบ ร่วมคิดหาทางแก้ไขปัญหา เสนอทางออกที่ทำให้เกิดผลเสียหายน้อยที่สุดต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องและสังคม เป็นการแสดงบทบาทหน้าที่ถ่วงดุลการใช้อำนาจขององค์กรอิสระให้เกิดความพอดี โดยตรงอีกเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image