ค่าปรับน.ศ.แพทย์ผู้ผิดสัญญา เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม : โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

วันที่ 16 ตุลาคม 2561 กระทรวงสาธารณสุขเสนอคณะรัฐมนตรีทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 เมษายน 2516 ขอเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ผู้ผิดสัญญาการเป็นนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่ต้องชดใช้ทุนในโรงพยาบาลรัฐ จากจำนวนเงิน 400,000 บาท เป็น 2,500,000 บาท โดยใช้หลักการคิดอัตราเงินเฟ้อ และค่าปรับ จากการลงทุนโครงการ CPIRD/โครงการปกติ ปีละ 300,000 บาทต่อคน และงบลงทุนสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ 700,000 บาทต่อคน

แพทย์เป็นวิชาชีพที่ขาดแคลน รัฐบาลลงทุนในงบประมาณที่สูง จากความจำเป็นที่ต้องมีแพทย์คงอยู่ในระบบราชการเพื่อรับใช้ประชาชนทั้งประเทศ ทั้งเขตเมืองและชนบท มติคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2515 ให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนทำสัญญาผูกพันว่าจบแล้วต้องปฏิบัติงานในทางราชการนาน 3 ปี ไม่มีสิทธิเลือกสถานที่ การคัดเลือกบุคคลที่จะมาเรียนแพทย์เพราะความรักในวิชาชีพ จึงมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

สัญญาใช้ทุน เริ่มจากมติคณะรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2510 ให้นักศึกษาแพทย์ผู้ไม่ประสงค์จ่ายค่าบำรุงการศึกษาปีละ 10,000 บาท ทำสัญญาทำงานในระบบราชการใช้ทุนโดยสมัครใจ หากฝ่าฝืนสัญญาปรับ 120,000 บาท ค่าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 บาท ในปี พ.ศ.2514 ส่วนในปี พ.ศ.2516 มติคณะรัฐมนตรีบังคับใช้ทุนทุกราย หากฝ่าฝืนปรับ 400,000 บาท

ในปีนี้ จำนวนค่าปรับที่เสนอให้เพิ่มขึ้นเป็น 2,500,000 บาท เหมาะสมหรือไม่ ?

Advertisement

ผู้เขียนมีความเห็นว่า สัญญาใช้ทุนเดิม คำนวณเงินจากค่าบำรุงการศึกษา ไม่ได้รวมงบลงทุนที่รัฐต้องดำเนินการ แพทย์ที่ต้องชดใช้ทุน คือแพทย์ที่ไม่ต้องจ่ายค่าบำรุงการศึกษา ปัจจุบันนักศึกษาแพทย์โครงการ CPIRD/โครงการปกติ ไม่ได้เรียนฟรี ต้องจ่ายค่าบำรุงการศึกษา ค่าหน่วยกิต ค่าหอพัก เทอมละ 20,000-30,000 บาท ค่าปรับจึงไม่ควรรวมงบลงทุน อาจใช้ค่าใช้จ่ายต่อหัว 300,000 บาท คูณจำนวน 6 ปี ค่าปรับไม่ควรเกิน 1.8 ล้านบาท จึงจะเป็นธรรม โดยแพทย์ CPIRD/โครงการปกติ สัญญาชดใช้ทุนนาน 3 ปี ส่วนแพทย์ ODOD ซึ่งรัฐลงทุนมากกว่า สัญญาชดใช้ทุน 12 ปี

ขณะนี้มีแพทย์จบใหม่ประมาณ 3,000 คนต่อปี แพทย์ใช้ทุนลาออกจากระบบรัฐ ประมาณปีละ 600-800 คน การเพิ่มจำนวนค่าปรับให้สูงมากๆ แม้จะสามารถลดปัญหาแพทย์ใช้ทุนสมองไหลจากโรงพยาบาลของรัฐได้ส่วนหนึ่ง แต่มีข้อเสียคือ โรงพยาบาลรัฐต้องรับแพทย์ใช้ทุนผู้ไม่ประสงค์จะทำงานใช้ทุนอีกต่อไป จากปัญหา เครียด ซึมเศร้า ทุกข์ในการปฏิบัติงาน ไม่ชอบการทำงานในฐานะแพทย์ ไม่ชอบระบบการทำงาน บุคลิกก้าวร้าว ฯลฯ แต่ไม่มีเงินชดใช้ทุน จึงต้องทนอยู่ในระบบราชการต่อไป ซึ่งเกิดผลกระทบทางลบทั้งต่อส่วนตัว และส่วนรวม

เพื่อให้แพทย์ใช้ทุนคงอยู่ในระบบราชการได้อย่างยั่งยืน การเพิ่มจำนวนค่าปรับอาจแก้ปัญหาการลาออกได้จำนวนหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่า รัฐควรจะดูแลแพทย์ใช้ทุนในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.ภาระงาน นโยบายไม่จำเป็นมากมายในภาครัฐที่เป็นภาระต่อแพทย์ ควรได้รับการทบทวน แพทย์ควรมีเวลาทำงานและเวลาพักตามสิทธิกฎหมายแรงงาน ในปี พ.ศ.2560 แพทยสภาออกประกาศกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (แพทย์ใช้ทุนปี 1) ให้ชั่วโมงทำงานนอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เวรอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงต่อกัน โรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะขาดอัตรากำลัง

2.อัตรากำลัง ควรมีการปฏิรูปโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังตามภารกิจที่เป็นจริง

3.ความเสี่ยง แพทย์ใช้ทุนมีข้อจำกัดในองค์ความรู้และประสบการณ์ ควรได้รับการดูแล ช่วยเหลือ เมื่อเกิดความขัดแย้ง ถูกฟ้องร้อง เกิดความรุนแรง ได้รับอันตราย เจ็บป่วยจากการทำงาน ฯลฯ

4.ด้านวิชาการ ไม่ว่าจะทำงานใช้ทุนที่ไหน ควรมีที่ปรึกษาทางวิชาการที่ช่วยเหลือได้

5.การส่งต่อ แพทย์ใช้ทุนลาออกเพราะเครียดหรือถูกฟ้องร้อง เรื่องการส่งต่อเป็นสาเหตุหนึ่ง การส่งต่อจากโรงพยาบาลขนาดเล็กสู่ขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ต้องไม่จำกัดข้อบ่งชี้

6.การศึกษาต่อ แพทย์ใช้ทุนส่วนหนึ่งต้องการเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางซึ่งมีเพียง 1,500 ตำแหน่งต่อปี โดยอาศัยทุนจากโรงพยาบาลรัฐ อัตราการแข่งขันสูง หากไม่ได้เรียนต่อ ส่วนหนึ่งก็ลาออก

7.การพิจารณาความดีความชอบ เลื่อนขั้นเงินเดือน ต้องยุติธรรม ปราศจากอคติ ไม่เลือกปฏิบัติ

8.ค่าตอบแทน ควรจะสมน้ำสมเนื้อกับภาระงาน ปัจจุบัน คลินิก โรงพยาบาลเอกชน ค่าจ้างสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ 2-5 เท่า ขณะภาระงานมีน้อยกว่า 5-10 เท่า

9.การค้างจ่าย ควรยุติการค้างจ่าย ปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐขาดสภาพคล่องจำนวนมาก จึงค้างจ่ายค่าตอบแทนต่างๆ โดยเฉพาะค่า P4P บางแห่งค้างจ่ายนานถึง 8 เดือน

10.การมีส่วนร่วม ระบบราชการต้องเป็นประชาธิปไตย ไม่เผด็จการ โปร่งใส ฟังเสียงผู้น้อย ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในการทำงาน รักและผูกพันองค์กร

11.สถานที่ใช้ทุน ไม่ควรบังคับใช้ทุนในสถานที่ที่แพทย์ใช้ทุนและผู้ปกครองรู้สึกไม่ปลอดภัย ควรใช้วิธีสมัครใจ สร้างแรงจูงใจ ให้สวัสดิการ ที่ให้ได้จริง

12.สิ่งแวดล้อม แพทย์ใช้ทุน ควรได้ทำงานในสถานที่ปลอดภัยต่อชีวิตทรัพย์สิน แพทย์และเพื่อนร่วมงานเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีน้ำใจ

13.ไม่เอาเปรียบ แพทย์ใช้ทุนบางคนทนไม่ได้จากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากแพทย์ที่ทำงานด้วยกันหรือผู้บริหารชั้นต้น ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องจึงควรดูแลสอดส่อง แบ่งงานอย่างเป็นธรรม

14.ปัญหาส่วนตัว ในบางกรณีแพทย์ใช้ทุนเกิดปัญหา บุพการีเจ็บป่วย ตนเองมีปัญหาสุขภาพกายสุขภาพจิต ผิดพลาดไม่ตั้งใจ ผู้บริหารควรดูแลแบบพี่น้อง ใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์

สรุป จำนวนเงินชดใช้ทุนราคาสูง อาจลดปัญหาแพทย์ใช้ทุนสมองไหลจากโรงพยาบาลของรัฐได้ชั่วขณะ แต่การแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม จะช่วยแก้ไขการลาออกของแพทย์ใช้ทุนได้อย่างยั่งยืน

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image