ความจริงที่เราไม่ควรปฏิเสธ กับ การตั้งครรภ์ของ‘น.ร.วัยรุ่นวัยใส’ : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

“อยากให้เด็กวัยรุ่นยึดถือวัฒนธรรมของไทย อย่าเอาวัฒนธรรมอื่นมา ผู้หญิงควรรักนวลสงวนตัวและผู้ชายต้องเป็นสุภาพบุรุษ” รัฐบาลพยายามช่วยเหลือโดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยที่พ่อแม่อาจจะไม่มีเวลาดูแล กลายเป็นปัญหาสังคม เด็กเหล่านี้ไม่ใช่คนเลว ต้องช่วยกันดูแลให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและมีงานทำ เป็นคำกล่าวเชิงห่วงใยต่อวัยรุ่นวัยใสรุ่นใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากเราย้อนไปดูตัวเลขวัยรุ่นวัยใสของไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศจนถึงคลอดลูก หรือตั้งครรภ์ก่อนวัย

ข้อมูลตัวเลขปี 2543 สถิติวัยรุ่นไปโรงพยาบาลคลอดลูกวันละ 4 คน ปี 2556 พุ่งขึ้นมาเป็นวันละ 9 คน ยอดรวมประมาณปีละ 1.3 แสนคน ล่าสุดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดเผยผลการสำรวจว่า วัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 15-19 ปีตั้งท้องแบบไม่ตั้งใจถึงร้อยละ 80 และร้อยละ 30 เลือกทำแท้ง โดยร้อยละ 10 ทิ้งลูกไว้ในโรงพยาบาลที่คลอด

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าแม่วัยรุ่นเสี่ยงโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย แม้แต่งงานกันแล้วสุดท้ายก็หย่าร้าง เกือบทุกรัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจได้ออกกฎหมายเพื่อช่วยหยุดตัวเลขไม่ให้สูงมากไปกว่านี้และในที่สุดวัยรุ่นไทยก็ได้กฎหมายของตัวเองเพิ่มอีก 1 ฉบับ ได้แก่ “พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังหลังจากนี้ไป 120 วัน หรือประมาณเดือนกรกฎาคม

เนื้อหาสาระสำคัญกฎหมายฉบับนี้ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “พ.ร.บ.แม่วัยรุ่น” โดยกำหนดให้วัยรุ่นหมายถึงบุคคลอายุ 10-20 ปี นอกจากนี้ยังให้ “สถานศึกษา” ต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน และจัดหาผู้สอนให้เหมาะสมด้วย ไม่ใช่ครูวิชาไหนมาสอนก็ได้ แต่ควรเป็นครูที่ผ่านการอบรมหรือมีประสบการณ์ในการสอนเพศวิถีโดยตรง พร้อมสร้างระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็กตั้งครรภ์ ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสม

Advertisement

ส่วนสถานที่ทำงานนั้น หากพบแม่วัยรุ่นเป็นลูกจ้างตั้งครรภ์ ต้องสนับสนุนให้เข้าถึงคำปรึกษาและบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับหน่วยงานรัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดและระดับอำเภอ สร้างเครือข่ายเด็กเยาวชนในพื้นที่เพื่อเป็นแกนนำป้องกัน แก้ไขและเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จัดฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัดแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนหรือหลังคลอด และประสานเพื่อจัดหางานให้ได้ประกอบอาชีพตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคน

เมื่อสัปดาห์ก่อน (3 ต.ค.60) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎหมายกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษา และการดำเนินการของสถานศึกษาในการดำเนินการป้องกัน แก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

เนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งคือ ให้นักเรียนที่ตั้งครรภ์สามารถเรียนต่อจนจบได้

Advertisement

เรื่องนี้อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับบางคน แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องเก่า มันสะท้อนปัญหาความล่าช้าของกระบวนการการบัญญัติกฎหมายของประเทศไทย และด้วยขนบธรรมเนียมของประเพณีมีผู้ใหญ่และนักการศึกษาของไทยหลายกลุ่มไม่ยอมรับความเป็นจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นไทย สังคมไทยมีปัญหาเด็กนักเรียนตั้งครรภ์ และปัญหาการแท้งเถื่อนกันมาก

ปัญหานักเรียนตั้งครรภ์ในวัยเรียนนั้น ประเทศไทยถึงกับเคยครองอันดับสูงสุดในเอเชีย และเป็นอันดับสองในโลก กระทรวงสาธารณสุขพยายามจะแก้ไขมานานแล้ว ได้ผลักดันจนกระทั่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2553 เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียนคือ ให้ น.ร.-น.ศ. ที่ท้องสามารถเรียนต่อ หรือขอหยุดไปคลอดลูกแล้วเข้ามาเรียนใหม่ได้ หากหญิงท้องไม่พร้อมไร้ที่อยู่ให้ พม.ช่วยจัดการ รวมถึงการหาพ่อ-แม่บุญธรรม กรณีที่แม่ป่วยไม่สามารถเลี้ยงดูได้เอง

จากการรับหลักการใน พ.ศ.2553 สำเร็จเป็น พ.ร.บ. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาใน พ.ศ.2559 ใช้เวลา 7 ปี ซึ่งถ้าดูแล้วช้ามากกับปัญหาของสังคมที่เสื่อมถอยอย่างรุนแรงและรวดเร็ว พ.ร.บ.นั้นคือ “พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559” เนื้อหาที่เกี่ยวกับเด็กนักเรียนคือ มาตรา 6 ให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังต่อไปนี้

1.จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนหรือนักศึกษา
2.จัดหาและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาและให้คำปรึกษาในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแก่นักเรียนหรือนักศึกษา
3.จัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัย การเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม การกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาแต่ละประเภทให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขกำหนดในกฎกระทรวง

พ.ร.บ.ข้างต้นยังต้องมีกฎหมายลูกของกระทรวงศึกษาธิการออกมารองรับการปฏิบัติอีก ซึ่งว่าที่กฎหมายลูกจะได้รับการอนุมัติหลักการจาก ครม. ก็ต้องรออีกปีหนึ่ง คือ ครม. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา

ร่างกฎหมายกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการดำเนินการป้องกัน แก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงนี้คือ กำหนดประเภทของสถานศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐาน คือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ต้องจัดให้มีการดูแล ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา คุ้มครองนักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้เรียน รวมถึงความลับและความเป็นส่วนตัวของผู้เรียน จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ โดยต้องให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์จะต้องได้เรียนจนจบหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ หรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการยืดหยุ่นในวิธีการจัดการเรียนรู้ หลีกเลี่ยงการลงโทษและไม่ตำหนิ กรณีนักเรียนหรือนักศึกษาประสงค์จะหยุดพักการเรียนในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดเพื่อดูแลบุตร สถานศึกษาต้องอนุญาตและให้นักเรียนหรือนักศึกษามีสิทธิในการศึกษาต่อ

และต้องสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคม กรณีที่นักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ต้องการย้ายที่เรียนใหม่ ให้สถานศึกษาเดิมประสานจัดหาที่เรียนใหม่ตามความเหมาะสม

ครับ การที่รัฐบาลนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ให้ความสำคัญและผลักดันกฎกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการแก้ปัญหานักเรียนท้องในวัยเรียนนับเป็นความกล้าหาญและท้าทายยิ่ง กล้ายอมรับความจริงในสังคมที่เปลี่ยนไป และยอมรับการที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกล้ายืดอกออกมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้

สิ่งที่เป็นคุณูปการคือ เด็กที่เขาผิดพลาดในการวางตัว ประพฤติผิดจนตั้งท้องก่อนวัยอันควรเราต้องยอมรับว่า ปัจจุบันนี้นักเรียน นักศึกษาในมหาวิทยาลัยอยู่ด้วยกันเป็นคู่ๆ เหมือนผัวเมียกันทั่วบ้านทั่วเมือง อันนี้สังคมไทยต้องยอมรับและไม่ควรตั้งข้อรังเกียจและปฏิเสธ เราควรหาหนทางชี้แนะชี้นำให้นักเรียน นักศึกษาเหล่านี้เรียนรู้ที่จะช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน ครอบครัวและโรงเรียนจะต้องสอนและให้คำปรึกษา ชี้แนะถึงขนบธรรมเนียมประเพณีไทยไม่ชิงสุกก่อนห่าม

ตรงข้ามการที่นักเรียนเกิดท้องในขณะที่กำลังเรียนอยู่ ถ้าเรามองในแง่ดีนักเรียนที่ท้องจะได้เป็นบทเรียนให้แก่เพื่อนๆ ในห้องเรียน เช่น การดูแลตัวเองในขณะที่กำลังท้อง การแก้ปัญหาในการมีอาการแพ้ท้อง การปรับตัวของนักเรียนที่ท้องกับการเรียนไปพร้อมกัน การมีน้ำใจของเพื่อนๆ ในห้องเรียนที่ช่วยกันดูแล กับที่ขณะเพื่อนท้องและเมื่อวันใดคลอดลูกมาลูกก็จะเป็นขวัญใจเพื่อนๆ ของพ่อแม่เด็ก เพื่อนในห้องก็จะได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูบุตรไปในตัว เด็กตัวน้อยคงมีความสุข ถ้าเราคิดเชิงบวกเช่นนี้ มั่นใจว่าคุณค่าของนักเรียนที่เขาผิดพลาดจนถึงกับท้อง ยังมีความหวังในชีวิตของนักเรียนวัยเรียนวัยท้องจะไม่ถูกทอดทิ้งอีกต่อไป

ต้องขอบคุณและชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มองไกลและกล้าพอที่จะไม่ทอดทิ้งนักเรียน วัยรุ่นวัยใสอีกต่อไป

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ร.ร.นวมินทราชูทิศทักษิณ และ ร.ร.ดาวนายร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image