ไทยพบพม่า : ‘อู ถั่น’ในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติ ชาวเอเชียคนแรก (2)

ภายหลังเข้ารับตำแหน่งในสหประชาชาติ อู ถั่นย้ายไปอยู่นิวยอร์กและตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกากับภรรยาและลูกๆ อีก 3 คน แม้นหลังอู ถั่นหมดวาระในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาติในปี 1971 (พ.ศ.2514) เมื่อนายพลเน วินรัฐประหารรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอูนุในปี 1962 (พ.ศ.2505) เน วินสถาปนาระบอบการปกครองที่เรียกว่า “วิถีพม่าสู่สังคมนิยม” (Burmese Way to Socialism) สำหรับเน วิน การบริหารพม่าให้อยู่รอดในสภาพที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทั้งในหมู่นักการเมืองเองและกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ คือการปิดประเทศ ซึ่งหมายถึงการยกเลิกการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและห้ามการส่งออกสินค้าของพม่าออกไปยังต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ชาวต่างชาติที่อาศัยในพม่ามาก่อน ทั้งที่เป็นชาวอินเดีย ชาวจีนและชาวตะวันตกยังถูกกีดกันออกไปจากสังคมและระบบเศรษฐกิจพม่า นักการเมืองและนักวิชาการที่อยู่คนละขั้วการเมืองก็ไร้ที่ยืนในพม่าและถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศในที่สุด

สภาพของอู ถั่นก็ไม่ต่างจากนักการเมืองและนักวิชาการเหล่านั้น นอกจากอู ถั่นจะเป็นที่รู้จักในฐานะสหายสนิทของอู นุแล้ว หน้าที่การงานในฐานะประมุขขององค์การที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยังทำให้อู ถั่นถูกมองว่าเป็น “วีรบุรุษ” คนหนึ่งโดยประชาคมโลกและชาวพม่าเอง ในขณะที่เน วินเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยและถูกมองว่าเป็นนายทหารที่ขึ้นสู่อำนาจจากการรัฐประหาร อีกทั้งยังปราบปรามผู้ที่เห็นต่างกับตนอย่างรุนแรง อู ถั่นคืออดีตเลขาธิการสหประชาชาติอันทรงเกียรติและเป็นบุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับพม่า ในปี 1974 (พ.ศ.2514) เมื่ออู ถั่นในเสียชีวิตที่นิวยอร์กด้วยโรคมะเร็งปอดในวัย 65 ปี ศพของอู ถั่นถูกนำกลับไปทำพิธีทางศาสนา ณ กรุงย่างกุ้ง แต่เน วินยืนกรานไม่อนุญาตให้จัดพิธีศพของอู ถั่นเป็นรัฐพิธี สร้างความคั่งแค้นให้กับประชาชนพม่าโดยเฉพาะนักศึกษาเป็นอย่างมาก ความไม่พอใจที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่ครั้นเน วินทำรัฐประหารก่อตัวเป็นการจลาจลครั้งใหญ่ที่นำไปสู่การปราบปรามอย่างหนักจนทำให้มีนักศึกษาเสียชีวิตภายในรั้วมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเป็นจำนวนมาก

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าอู ถั่นเป็นที่รำลึกในฐานะผู้รักษาสันติภาพของโลก และเป็นผู้ที่แม้แต่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ก็กล่าวถึงด้วยความชื่นชมว่า “โลกเป็นหนี้บุญคุณอันใหญ่หลวงของอู ถั่น” เหตุการณ์ที่ทำให้ทั่วทั้งโลกจดจำอู ถั่นได้เป็นอย่างดีมีอยู่ 2 เหตุการณ์หลักๆ ได้แก่ วิกฤตการณ์ในคิวบา (ค.ศ.1962) และวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง หรือความขัดแย้งระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล (ค.ศ.1967/พ.ศ.2510) แต่ที่น่าจะโดดเด่นที่สุดคือบทบาทของเลขาธิการสหประชาชาติผู้นี้กับวิกฤตการณ์คิวบา

วิกฤตการณ์ขีปนาวุธในคิวบา (Cuban Missile Crisis) มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายชื่อ เช่น วิกฤตการณ์เดือนตุลาคม (October Crisis) และวิกฤตการณ์ในคาริบเบียน (Caribbean Crisis) เป็นการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามเย็น วิกฤตการณ์คิวบาเริ่มขึ้นในปลายปี 1962 เมื่อสหภาพโซเวียตเข้าไปติดตั้งขีปนาวุธในคิวบา ประเทศเล็กๆ ในอเมริกากลางที่มีพรมแดนทางน้ำติดกับสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นาน สหรัฐอเมริกานำกองกำลังทหารบุกคิวบาโดยมีจุดประสงค์เพื่อโค่นล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของนายกรัฐมนตรีฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) แต่ล้มเหลว ความไม่มั่นใจและการเกรงภัยจากสหรัฐอเมริกาทำให้คาสโตรหันไปพึ่งสหภาพโซเวียต

Advertisement

การที่สหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธนิวเคลียร์วิสัยใกล้และวิสัยกลางที่มีวิถีทำลายล้าง 2,000 ไมล์เข้าไปติดตั้งในคิวบาซึ่งอยู่ห่างจากสหรัฐอเมริกาเพียง 90 ไมล์ได้สร้างความตื่นตระหนกให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีเคนเนดี้ จนนำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งสองเป็นเวลา 13 วัน ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์การเผชิญหน้าที่สุ่มเสี่ยงต่อการปะทุเป็นสงครามเต็มรูปแบบครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ความตึงเครียดเกือบนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบเมื่อสหรัฐใช้วิธีตอบโต้โดยการใช้เรือรบของตนไปล้อมปิดกั้นคิวบา (เพื่อไม่ให้มีเรือสินค้าลำใดเข้าหรือออกจากน่านน้ำคิวบาได้) นโยบายสกัดกั้นถูกตีความโดยชาวอเมริกาบางกลุ่มและนานาชาติว่าเป็นการประกาศสงครามของสหรัฐ สุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีเคนเนดี้ที่มีเนื้อความส่วนหนึ่งว่า “นโยบายของสหรัฐอเมริกามองว่าหากมีขีปนาวุธนิวเคลียร์ใดๆ จากคิวบาเข้าไปยังชาติตะวันตกชาติใดชาติหนึ่ง นั่นคือการโจมตีของสหภาพโซเวียตต่อสหรัฐอเมริกา และสหรัฐจะตอบโต้อย่างถึงที่สุด”

ภายในสหประชาชาติ ผู้แทนจากสหรัฐและโซเวียตต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าอีกฝ่ายได้ละเมิดข้อตกลงของสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนตัวแทนจากคิวบาก็นำเรื่องที่กองทัพสหรัฐนำเรือรบไปปิดประเทศตนว่าเป็นการข่มขู่และคุกคาม ในฐานะคนกลาง สหประชาชาติมีส่วนสำคัญที่จะคลายปมความขัดแย้งนี้โดยใช้วิธีการทางการทูตและการเจรจา มติจากชาติสมาชิกทั้ง 45 ประเทศเป็นกลางเห็นว่าว่าอู ถั่น ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นเพียงรักษาการเลขาธิการสหประชาชาติอยู่ควรออกมาแทรกแซงและเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเคนเนดี้และนิกิต้า ครุชชอฟ ผู้นำโซเวียต “พบกันครึ่งทาง” อู ถั่นเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเหตุผลหลักที่ทำให้ชาติมหาอำนาจทั้งสองไม่ยอมถอนตัวออกจากคิวบาเพราะเกรงฝ่ายตนจะเสียหน้า ในสุนทรพจน์ครั้งสำคัญที่กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) อู ถั่นเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตยกเลิกการส่งอาวุธทุกชนิดเข้าไปในคิวบา และเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกายกเลิกปฏิบัติการล้อมคิวบา

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องนี้มิได้เป็นการบีบบังคับและขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย โดยอู ถั่นเชื่อว่าการขอความร่วมมือแทนการบีบบังคับนั้นจะช่วยลดความตึงเครียดของทั้งสองชาติลงได้

ในส่วนของคิวบา เอกอัครราชทูตคิวบาประจำสหประชาชาติให้คำมั่นกับอู ถั่นว่าหากสหรัฐอเมริกายกเลิกการปิดล้อมคิวบา รัฐบาลคิวบาก็จะไม่ใช้กำลังโต้ตอบสหรัฐอเมริกาโดยเด็ดขาด นายกรัฐมนตรีคาสโตรเองก็ได้ส่งสาร กลับไปให้อู ถั่นหลังได้รับข้อเรียกร้องให้ทุกชาติร่วมมือกันลดสถานการณ์ตึงเครียดในคิวบา คาสโตรกล่าวว่า

“ข้าพเจ้ายินยอมที่จะพิจารณาข้อเสนอใดๆ ก็ตามของสหประชาชาติ และหากท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างสันติภาพแล้ว รัฐบาลของข้าพเจ้าซึ่งมีเป้าประสงค์ร่วมในการปลดปล่อยมวลมนุษยชาติจากภัยสงคราม ยังมีความยินดีต้อนรับท่านในประเทศของเราในฐานะที่ท่านเป็นเลขาธิการสหประชาติให้เข้ามาจัดการกับวิกฤตการณ์นี้โดยตรง”

ข้อเรียกร้องของอู ถั่นทำให้สถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลาย แม้แต่ครุชชอฟเองก็ได้ส่งสารถึงอู ถั่นเพื่อแสดงความชื่นชมความพยายามรักษาสันติภาพของเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ ตัวแทนสหรัฐอเมริกาแจ้งอู ถั่นว่ารัฐบาลสหรัฐยินยอมยกเลิกมาตรการปิดล้อมคิวบาและให้คำมั่นว่าจะไม่บุกรุกคิวบาอีก แต่คาสโตร
มองว่าสหรัฐไม่จริงใจเพราะสหรัฐยังใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อตอบโต้คิวบาทางอ้อมอยู่ เช่น กีดกันคิวบาทางเศรษฐกิจ และรุกน่านฟ้าของคิวบา ความไม่พอใจของคิวบาทำให้อู ถั่นต้องเดินทางไปคิวบาเพื่อเข้าพบนายกรัฐมนตรีคาสโตรทันที การไปเยือนคิวบามีนัยสำคัญอยู่ที่การเข้าไปสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำของคิวบาให้ยอมรับข้อเสนอของสหประชาชาติในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในคิวบา และเกลี้ยกล่อมให้นายกรัฐมนตรีคาสโตรยอมให้มีตัวแทนจากสหประชาชาติเข้าไปสังเกตการณ์ในกระบวนการถอนขีปนาวุธออกจากคิวบา แต่คาสโตรปฏิเสธ แม้ความตึงเครียดระหว่างคิวบากับสหรัฐอเมริกายังคงมีอยู่ต่อไป แต่ด้วยการเจรจาของเลขาธิการสหประชาชาติกับทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และคิวบา ทำให้ในที่สุดโซเวียตยอมถอนขีปนาวุธนิวเคลียร์และระเบิดอีกจำนวนมากออกจากคิวบา และสหรัฐเองก็ยอมยกเลิกการปิดล้อมคิวบาในวันที่ 20 พฤศจิกายน

จากวิกฤตการณ์ในคิวบา อู ถั่นได้รับการยกย่องอย่างสูงในบทบาทการเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างชาติมหาอำนาจจนมีผู้กล่าวไว้ว่าตลอดเวลาหนึ่งทศวรรษในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ บทบาทการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติในวิกฤตการณ์คิวบาคือภารกิจที่โดดเด่นที่สุดของอู ถั่น ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในผู้ชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีเดียวกันนั้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image