ประชาธิปไตยท่ามกลางควันไฟและเปลวเพลิง

มิตรสหายท่านหนึ่งให้โจทย์มาเขียนว่า การประท้วงและจลาจลของมวลชน Les Gilets jaunes ที่ปารีส จนลุกลามไปทั่วประเทศฝรั่งเศส แตกต่างอย่างไรกับการชุมนุมประท้วงในวิกฤตการเมืองไทยครั้งสุดท้ายก่อนรัฐประหาร โดยกลุ่ม กปปส.หรือจะย้อนอดีตไปกว่านั้นก็ได้ตามชอบ

คำถามง่ายๆ คือ “เสื้อ (กั๊ก) เหลือง” บ้านเขา ต่างจาก “เสื้อเหลือง” (และรวมถึงเสื้อหลากสี) ของบ้านเราอย่างไร

ทั้งนี้ ใครที่รู้จักประเทศและผู้คนจากแผ่นดินหกเหลี่ยมที่มีชื่อในภาษาไทยว่าฝรั่งเศสนี้ คงจะนึกออกถึงนิสัยอย่างหนึ่งของชาวฝรั่งเศสว่าเป็นพวกช่างประท้วง โดยเฉพาะการนัดหยุดงาน ซึ่งใครที่แจ๊กพ็อตไปฝรั่งเศสในช่วงนั้นพอดีคงจะพบกับความเจ็บปวดว่ารถไฟหรือรถไฟฟ้าที่ควรจะวิ่งตามแผนการท่องเที่ยวที่อุตส่าห์เซตมาดิบดีก็ยกเลิกหรือลดเที่ยววิ่ง ทั้งใครที่มีเหตุต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเกินกว่าสามเดือน ก็น่าจะได้สัมผัสกับการประท้วงหรือการนัดหยุดงานเข้าบ้างสักครั้งสองครั้ง เรียกว่าถ้าบอกใครว่าเคยมาอยู่ฝรั่งเศสแล้ว ไม่รู้จักคำว่า La grève ถ้าไม่ใช่โชคดีมหาเฮง ก็อาจจะแปลว่ายังมาไม่ถึง

สำหรับประเทศซึ่ง “สิทธิในการรวมตัวและนัดหยุดงาน” เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่สี่ ปี 1946 และได้รับการรับรองโดยคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในปี 1971 ว่ามีคุณค่าในทางรัฐธรรมนูญ เคยคุยกับคนฝรั่งเศสว่า รู้สึกอย่างไรกับการที่ได้รับความไม่สะดวกไปจนถึงเดือดร้อนเพราะการนัดหยุดงาน ก็ได้รับคำตอบว่า ไอ้เรื่องที่ไม่สะดวกหรือเดือดร้อนนั้นก็เป็นเรื่องที่แย่จริงอยู่ แต่ก็ยินดีอดทนด้วยเหตุผลว่า ในตอนที่ตัวเรามีปัญหาที่จะยื่นข้อเรียกร้องด้วยการนัดหยุดงานบ้าง คนอื่นจะได้ยอมรับและเป็นฝ่ายอดทนบ้าง

Advertisement

ส่วนการประท้วงแรงๆ ถึงขั้นจลาจลนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องธรรมดาขนาดการนัดหยุดงาน แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แบบที่ไม่ใช่วิกฤตขนาดจะสิ้นชาติก็หาไม่ ช่วงเวลาร่วมสมัยกับวิกฤตการเมืองไทย ก็มีการประท้วงใหญ่ที่เกิดความรุนแรงมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกคือการจลาจลในย่านชานกรุงปารีสและเมืองใหญ่ ในปี 2005 (2548 อันเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยเริ่มมีการรวมตัวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) และการประท้วงของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยช่วงปี 2007-2009
การเผารถหรือทุบทำลายสิ่งของนั้นก็เป็นธรรมเนียมปกติอย่างหนึ่งของการประท้วงในระดับนั้น เช้าวันหนึ่งในช่วงที่อยู่ที่นั่น ตื่นมาเดินไปเรียนหนังสือก็พบว่ารถยนต์คันหนึ่งที่เห็นจอดไว้ริมถนนจนคุ้นตา เหมือนจุดเช็กพอยต์ เช้ามากลายเป็นโครงรถถูกเผาวอดไปทั้งคันก็มี ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงหรือการผสมโรงเผาเล่นของคนคะนอง ก็เหมือนการผสมโรงปล้นร้านค้าในระหว่างการประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองนั่นแหละ

หากสิ่งที่รู้สึกว่าชวนแปลกใจอยู่บ้างก็คือ โดยปกติแล้ว การประท้วงหรือหยุดงานในประเทศฝรั่งเศสนั้นจะเป็นการประท้วงต่อ “ประเด็น” คือนโยบายหรือกฎหมาย แต่ไม่ใช่การประท้วงต่อ “ตัวบุคคล” ไม่ว่าจะเชิงสถาบันการเมืองได้แก่รัฐบาล หรือต่อตัวคนผู้ดำรงตำแหน่ง

หากการประท้วงและลามไปสู่การจลาจลของมวลชนเสื้อ (กั๊ก) เหลือง อาจจะเริ่มจากการต่อสู้เพื่อคัดค้านเรื่องภาษีน้ำมัน แต่ในภายหลังประเด็นก็ลามไปสู่การขับไล่นายเอ็มมานูแอล มาครง ประธานาธิบดี ซึ่งคะแนนนิยมลดต่ำลงเรื่อยๆ จากคนรุ่นใหม่ความหวังที่จะมาแก้วิกฤตและปฏิรูประบบเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ซึ่งนอกจากจะไม่มีอะไรแสดงให้เห็นผลแล้ว ยังถูกมองว่ามาตรการและนโยบายต่างๆ เป็นไปเพื่อการอุ้มเอื้อคนรวยและผู้ประกอบการอีกต่างหาก

Advertisement

อีกทั้งท่าทีส่วนบุคคลของเขาซึ่งมีภาพลักษณ์ออกมาหลายครั้งว่าเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ราวกับคิดว่าตนเองเป็นสมเด็จพระเจ้าเอ็มมานูแอลที่เท่าไรสักพระองค์อวตารมา ที่ครั้งหนึ่งเคยแหวใส่เด็กนักเรียนที่บังอาจเรียกชื่อเล่นของเขา กับอีกครั้งที่แสดงท่าทีดูหมิ่นคนว่างงานว่าเป็นเพราะขี้เกียจไม่ดิ้นรนเอง (ประมาณว่าตกงานเหรอ ข้ามถนนไปสิ ฉันเห็นร้านกาแฟฝั่งตรงข้ามเขารับสมัครคนอยู่) นั่นก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยเสริมให้การประท้วงครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่การขับไล่ตัวบุคคล

ณ ถึงขณะนี้ การประท้วงก็ยังคงดำเนินอยู่ สถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นหมุดหมายของการเยือนมหานครปารีสต้องปิดตัวลงอย่างน่าสงสารนักท่องเที่ยวที่อาจจะจองโปรแกรมทัวร์ไว้ล่วงหน้าเพื่อสัมผัสบรรยากาศก่อนคริสต์มาส และไม่สามารถคืนตั๋วหรือเลื่อนโปรแกรมได้

ในทรรศนะส่วนตัวแล้วเห็นว่า แม้ในที่สุดการประท้วงนั้นพุ่งเป้าไปเป็นการขับไล่ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าจะคล้ายกับการชุมนุมขับไล่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ทักษิณ หรือแม้แต่อภิสิทธิ์ แต่ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ว่า การชุมนุมของคนฝรั่งเศสนั้นเป็นเหมือนกับการ “เรียกคืน” อำนาจอธิปไตยที่เคยมอบให้แก่ตัวแทนไว้ผ่านการเลือกตั้งกลับคืน ด้วยเหตุว่าตัวแทนผู้นั้นไม่ได้ใช้อำนาจของตนให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้

ในท่อนนี้ อาจจะยังเหมือนกับการประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีของกลุ่ม กปปส.อยู่ แต่จุดที่แตกต่างกันก็คือว่า เท่าที่ติดตามข่าว ประชาชนชาวฝรั่งเศสเขาประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีเพื่อให้ลาออกจากตำแหน่ง และดำเนินการตามกลไกของรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีผู้รักษาการและเลือกตั้งประธานาธิบดีต่อไป ไม่ใช่การ “เว้นวรรค” ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ให้มีการเลือกตั้งจนกว่าจะมีการปฏิรูปอันเหลวไหลเลื่อนเปื้อนอันใดเหมือนเช่นกรณีของเรา

ความแตกต่างอีกประการหนึ่ง แม้ว่าการใช้ “ประชาธิปไตย” หรือสิทธิเสรีภาพของราษฎรชาวฝรั่งเศสนั้นจะเกิดการเผาจลาจลปล้นสะดม (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดี) และถือเป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่การจลาจลดังกล่าวก็ไม่ได้มุ่งพุ่งเป้าไปยัง “ผู้คน” อีกฝ่ายฝั่ง เว้นแต่การปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้สวมหัวโขนเป็นตัวแทนของรัฐบาลคู่ขัดแย้ง แต่กระนั้น อาวุธของฝ่ายรัฐก็ได้แก่ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และปืนใหญ่แรงดันน้ำ จำนวนผู้บาดเจ็บนั้นแม้จะเป็นจำนวนหลักร้อยต้นๆ แต่จากรายงานนั้นก็ใช่กรณีบาดเจ็บร้ายแรง มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต ก็เกิดจากอุบัติเหตุมิใช่ความจงใจของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น คุณยายคนหนึ่งแถวมาร์เซยเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนแก๊สน้ำตายิงเข้าตรงที่ใบหน้า ขณะออกมาปิดหน้าต่างอพาร์ตเมนต์ของเธอบนถนนสายหนึ่งที่เกิดการจลาจล

ไม่มีการใช้กระสุนจริง และก็ไม่ต้องพูดถึงความอาจหาญที่จะประกาศว่าจะมีเขตที่ใช้กระสุนจริงยิงใส่ประชาชนผู้ประท้วง

ข้อสังเกตประการต่อมา คือแม้ว่าจะอยู่ในภาวะจลาจลเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป แต่ “กฎหมาย” ของเขาก็ยังสามารถทำงานอยู่ได้ เช่น ผู้ประท้วงส่วนหนึ่งก็ถูกจับและส่งฟ้องต่อศาลในความผิดฐานใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วยความรุนแรงซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่างจากขณะที่ไม่ว่าจะในช่วงการยึดทำเนียบรัฐบาลและท่าอากาศยานของมวลชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือการชัตดาวน์กรุงเทพมหานคร กฎหมายนั้นทำงานอยู่หรือไม่

ใครยังจำได้ว่ามีการเอาหมายคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งไปปิดเพื่อให้ผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบ และหมายนั้นได้รับการปฏิบัติตามหรือไม่ หรือในช่วงวันเลือกตั้งในช่วงที่กลุ่ม กปปส.ยึดกุมกรุงเทพมหานคร ขัดขวางไม่ให้ผู้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น “กฎหมาย” สามารถห้ามปรามพฤติกรรมอันธพาลละเมิดกฎหมายนั้นได้บ้างหรือไม่
ข้อสังเกตประการสุดท้าย คือเมื่อมีการพูดถึงอำนาจพิเศษของหัวหน้าคณะรัฐประหารตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 จะต้องมีนักกฎหมายของคณะรัฐประหารออกมาแก้ต่างว่า มาตรานี้ตกทอดมาแต่นานนมสมกัลป์ ที่ได้แบบอย่างมาจากรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส มาตรา 16 ไม่ได้คิดขึ้นมาเอง นัยว่าหนึ่งในประเทศต้นตำรับประชาธิปไตยเขาก็มี ว่าอย่างนั้น

มาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส อาจจะมีอำนาจยกเว้น “คล้ายๆ” มาตรา 44 ที่ว่านั้นจริง คือบัญญัติไว้ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ในกรณีที่สถาบันแห่งสาธารณรัฐ ความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดนหรือการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศถูกคุกคามอย่างร้ายแรงและปัจจุบันทันด่วน และการดำเนินการตามปกติของสถาบันทางการเมืองแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญหยุดชะงักลง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐมีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรี ประธานสภาทั้งสองและคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว…”

และตามด้วยมาตรการต่างๆ ที่มีไว้เพื่อรับรองป้องกันให้ประธานาธิบดีใช้อำนาจยกเว้นที่เหลือล้นนี้เท่าที่จำเป็นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ กำหนดเงื่อนเวลาให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบได้ (ส่วนหลังนี้แก้ไขภายหลังในปี 2008) ซึ่งมาตรานี้ในประวัติศาสตร์ถูกใช้เพียงหนึ่งครั้งในวิกฤตการณ์กบฏในแอลจีเรีย เพื่อป้องกันการกระทำรัฐประหารที่มีการวางแผนมาจากต่างประเทศ

แม้ว่าใครจะมองว่าปารีสลุกเป็นไฟ สถานการณ์ดูเหมือนจะควบคุมไม่ได้ แต่กระนั้น จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีท่าทีว่าประธานาธิบดีมาครง จะประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 16 ที่ว่านั้นแต่ประการใด

แต่ลองดูการใช้มาตรา 44 ของไทย ก็จะเห็นว่าเราสามารถใช้ได้ในสารพัดเรื่อง ตั้งแต่การควบคุมตัวคนไปขังเพื่อรอรวบรวมหลักฐานว่ากระทำผิดหรือไม่ได้ถึง 7 วัน เพิ่มเติมขยายรายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิในการศึกษา ปราบปรามการขายหวยเกินราคา หรือการปราบปรามรถซิ่งและเด็กแว้น รวมถึงห้ามนั่งกระบะหลังรถปิกอัพ

หากคำตอบที่ผู้เขียนยังคิดไม่ตกนั้นมีว่า “ประชาธิปไตย” แบบที่ผู้คนออกมาเผาทำลายรถยนต์ของคนอื่นราวกับเป็นของกงเต๊ก หรือการฉวยโอกาสทุบทำลายปล้นชิงทรัพย์สินร้านค้า ซึ่งจะแถไถให้เป็นเรื่องของ “การใช้เสรีภาพ” ในการประท้วงก็ออกจะฟังยากพอๆ กับข้ออ้างว่าบัตรเลือกตั้งไม่ต้องมีตราสัญลักษณ์พรรคการเมืองก็ดี คนจะได้ไม่สับสน

“ประชาธิปไตย” ที่บานปลายโกลาหลเช่นนั้น เมื่อเทียบกับความสงบเรียบร้อยราบคาบ เพราะมีผู้หนึ่งผู้เดียวที่ถืออาวุธและกำลังอำนาจอยู่นั้น บังคับผู้คนไม่ให้หืออือ ใครทำท่าที่จะลุกขึ้นมาคัดค้านต่อต้านก็จะถูกจัดการด้วยอำนาจรัฐหนักบ้างเบาบ้างตามแต่กรณี ความวุ่นวายเพราะต้านนโยบายที่มีผลกระทบต่อตนเองและประเทศชาติ โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กับความสงบเรียบร้อยที่ผู้ใช้อำนาจรัฐที่มาจากอำนาจอาวุธนั้นสามารถออกกฎหมายหรือดำเนินนโยบายอะไรได้ตามใจชอบแทบจะปราศจากการตรวจสอบ

สองขั้วสุดโต่งนี้ แบบไหนเช่นไรจะส่งผลบั่นทอนเซาะกร่อนประเทศชาติให้เสียหายยับเยินลงได้ยิ่งไปกว่ากัน

คำตอบนั้นผู้เขียนไม่อาจหยั่งรู้ ก็ต่อเมื่อประวัติศาสตร์คลายตัวให้บทเรียน ในอีกกี่สิบปีข้างหน้าก็ไม่แน่ใจ ได้เพียงหวังว่าจะเป็นสักวันที่เราทั้งหลายยังมีลมหายใจอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image