100 บท : 100 พรรษา สมเด็จพระญาณสังวรฯ(4) โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้กล่าวถึง “100 บท พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ให้แฟนๆ มติชนได้ติดตามจนถึงบทพระนิพนธ์ที่ 55 และขอกล่าวเพิ่มเติมถึงพระนิพนธ์ต่อไปอย่างต่อเนื่องจนครบ 100 บท ความว่า…

พระนิพนธ์ 56 : การทำอะไรทุกๆ อย่างที่อำนวยประโยชน์ก็จะต้องมีการเสียสละบ้าง ไม่มากก็น้อย ดังเช่นจะทำงานก็ต้องเสียสละทรัพย์ ทั้งนี้ก็เพราะเห็นว่า บุญข้อนี้มีค่าสูงกว่าทรัพย์ที่สละไป การทำประโยชน์อื่นๆ ทุกอย่างก็เป็นเช่นเดียวกัน

การรักษาเกียรติเป็นการรักษาธรรมอย่างหนึ่ง จะก้าวหน้าหรือถอยหลังด้วยเกียรติหรือเพื่อเกียรติ ก็เป็นสิ่งที่พึงสรรเสริญเท่ากัน ดังเรื่องราชสีห์ถอยหลังให้แก่สุกรตัวเปื้อนคูถ (อุจจาระ) ไม่ยอมต่อสู้ด้วย ในนิทาน
สุภาษิต

พระนิพนธ์ 57 : ความเคารพในธรรม คือ หน้าที่ที่รู้อยู่แล้ว เป็นหลักสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่เป็นที่เคารพของผู้น้อยได้โดยทั่วไป อีกอย่างหนึ่ง ธรรม คือ คุณความดี ตรงกันข้ามกับอธรรม คือ ความชั่ว ซึ่งโดยมากก็รู้กันอยู่ ฉะนั้น เมื่อเคารพในความรู้หมายความว่าเมื่อรู้ว่าไม่ดีก็ตั้งใจเว้น เมื่อรู้ว่าดีก็ตั้งใจทำ ดังนี้ เรียกว่าเคารพในธรรมที่รู้โดยตรง ซึ่งทำคนให้เป็นคน (เป็นมนุษย์โดยธรรม)

Advertisement

พระนิพนธ์ 58 : มีคนไม่ใช่น้อย ที่เรียนรู้มากมาย อะไรดี อะไรชั่ว รู้ทั้งนั้นแต่ไม่ทำดี หรือทำก็ทำสิ่งไม่ดี เรียกว่าใช้ความรู้นั้นช่วยตัวเองไม่ได้ ก็เพราะขาดความเคารพในธรรมที่รู้ คือ ไม่ปฏิบัติให้สมควรแก่ความรู้นั่นเอง

พระพุทธศาสนาสอนให้คนเข้าใจในกรรมนั้น ไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสของกรรม หรืออยู่ใต้อำนาจกรรม แต่สอนให้รู้จักกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน กรรม คือ การอะไรทุกอย่างที่คนทำอยู่ทุกวันทุกเวลา ประกอบด้วยเจตนา คือ ความจงใจ

พระนิพนธ์ 59 : ผู้ประพฤติทุจริต แม้จะพูดว่ารักตนก็ไม่ชื่อว่ารักตน เพราะตนเองทำความทุกข์ให้แก่ตน เหมือนอย่างคนเกลียดกันทำให้แก่กัน ส่วนผู้ประพฤติสุจริต แม้จะไม่พูดว่ารักตนก็ชื่อว่ารักตน เพราะตนเองทำความสุขให้แก่ตน เหมือนอย่างคนที่ชอบกันทำให้แก่กัน อีกอย่างหนึ่ง คนที่ประพฤติทุจริต แม้จะมีพลเสนารักษาก็ไม่ชื่อว่ารักษาตน เพราะเป็นการรักษาชั้นนอก ไม่ใช่ชั้นใน ส่วนผู้ประพฤติสุจริต แม้จะไม่มีพลเสนารักษา ก็ชื่อว่ารักษาตน เพราะเป็นการรักษาชั้นใน แม้จะไม่มีการรักษาชั้นนอก

Advertisement

พระนิพนธ์ 60 : วิธีปฏิบัติถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะนั้น ให้ตั้งใจระลึกถึงพระพุทธคุณข้อใดข้อหนึ่ง หรือระลึกถึงโดยสรุปว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้จริง ทรงบริสุทธิ์จริง ทรงมีพระกรุณาจริง พระพุทธเจ้าก็ปรากฏขึ้นในพระคุณ ความว้าเหว่หวาดกลัวทุกอย่างจะหมดสิ้นไปจากจิตใจ หรือถ้ามีความหม่นหมองอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะหายไปสิ้น จะหายจากความอัดอั้นตันใจ จะเห็นทางออกอย่างดีที่สุด นี้เป็นพุทธานุภาพที่มีจริง ข้อสำคัญให้ตั้งใจถึงพระองค์ให้เป็นสรณะของตนให้จริงพระองค์ก็จะมาเป็นสรณะได้จริง

พระนิพนธ์ 61 : ทุกคนในโลกต่างต้องถ้อยที ต้องพึ่งพาอาศัยกันในทางใดทางหนึ่งทั้งนั้น จึงควรปฏิบัติตนในทางที่จะชื่อว่ารักษาไว้ทั้งตนทั้งผู้อื่น คือด้วยวิธีที่แต่ละคนตั้งใจปฏิบัติกรณียะคือกิจของตน ควรทำหน้าที่เป็นต้นให้ดี และด้วยความมีน้ำใจที่อดทน ไม่คิดเบียดเบียนใคร มีจิตเมตตา
เอ็นดูอนุเคราะห์ เมื่อตั้งใจปฏิบัติกรณียะ กอปรด้วยมีน้ำใจดังกล่าว ก็ชื่อว่ารักษาตนทั้งผู้อื่น เป็นผู้รักษาไว้ได้ทั้งหมด

พระนิพนธ์ 62 : คนมีอำนาจเหนือกรรม อาจควบคุมกรรมของตนได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า จะต้องควบคุมจิตเจตนาของตนได้ด้วย โดยตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในธรรม เช่น เมตตา สติ ปัญญา สัจจาธิษฐาน เป็นต้น อันเป็นส่วนจิต และศีลอันหมายถึงตั้งเจตนา เว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ควรทำ ในขอบเขตอันควร ผู้ที่ทำกรรมดีอยู่มากเสมอๆ จึงไม่ต้องกลัวกรรมชั่วในอดีตหากจะมี กุศลของตนก็จะชูช่วยให้มีความสุขความเจริญสืบต่อไป และถ้าได้แผ่นเมตตาจิตอยู่เนืองๆ ก็จะระงับคู่เวรอดีตได้อีกด้วย ระงับได้ตลอดถึงปัจจุบัน

พระนิพนธ์ 63 : สิ่งที่ทำให้จิตใจคนมืดนั้น ก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภ โกรธ หลง ทำจิตใจให้เร่าร้อนอยู่ในกาม (สิ่งที่ใครปรารถนาพอใจทั้งหลาย) ด้วยความหวัง ทำให้ประพฤติผิดศีลหรือคลองธรรมที่ชอบ โอสถที่จะแก้ความมีใจมืดมิดของคนได้ ก็คือธรรมเท่านั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงพยายามให้คนบริโภคธรรมด้วยวิธีต่างๆ แต่คนมักจะไม่บริโภคยาธรรม เพราะเห็นว่าขมเฝื่อนไม่อร่อย

พระนิพนธ์ 64 : ที่ว่าถ้ามัวถือศีลธรรม จะอยู่ในหมู่คนไม่ได้ จะต้องหลบไปอยู่คนเดียวนั้น จึงผิดไปเสียแล้ว เพราะเมื่อพิเคราะห์ดูตามเป็นจริงแล้ว กลับเห็นว่าจะต้องหลบไปอยู่คนเดียว เพราะไม่ถือศีลธรรมมากกว่า คนที่อยู่ด้วยกันได้ เพราะถือศีลธรรมต่อกัน แม้หมู่โจรจะปล้นคนอื่นก็ต้องไม่ปล้นกันเอง จึงคุมกันเป็นหมู่อยู่ด้วยกันได้ แปลว่าต้องมีศีลธรรมต่อกันนั่นเอง

พระนิพนธ์ 65 : คนโง่นั้น เมื่อยังยอมอาศัยปัญญาของคนฉลาดอยู่ แต่เมื่อโง่เกิดอวดฉลาดขึ้นมาเมื่อใด ก็เกิดวิบัติเมื่อนั้น และเมื่อถึงคราวคับขันซึ่งจะต้องแสดงวิชาเอง คนโง่ก็จะต้องแสดงโง่ออกมาจนได้ ฉะนั้น ถึงอย่างไรก็สู้หาวิชาใส่ตนให้เป็นคนฉลาดขึ้นเองไม่ได้ ทั้งคนดีมีวิชา ถึงจะมีรูปร่างไม่ดี ก็จะต้องได้ดีในที่สุด
พระนิพนธ์ 66 : เรื่องว่าอะไรสมควร อะไรไม่สมควรนั้น ถ้าคนเรามีสติรู้จักตนตามเป็นจริง ไม่หลงตน ไม่ลำเอียงอีกแล้ว ก็รู้ได้โดยไม่ยาก บางทีหลอกคนอื่นได้ แต่หลอกตัวเองหาได้ไม่ เช่น คนที่รู้อยู่ว่าตนเองเป็นอย่างไร แต่เที่ยวพูดโอ้อวดคนอื่นว่าวิเศษต่างๆ แต่บางทีหลอกตนเองให้หลงไปสนิท แต่หลอกคนอื่นไม่ได้ เช่น คนที่หาได้มีความวิเศษอันใดไม่ แต่เข้าใจตนเองว่าวิเศษ แล้วแสดงตนเช่นนั้น ส่วนคนอื่นเขารู้ว่าเป็นอย่างไร จึงหัวเราะเอา

หากได้มองดูความเป็นไปต่างๆ กันของคนในทางที่น่าหัวเราะดังนี้ ก็น่าจะมีความทุกข์น้อยลง แต่การมองดูคนอื่นนั้นสู้มองตนเองไม่ได้ เพราะตนเองต้องรับผิดชอบต่อตนเองโดยตรง

พระนิพนธ์ 67 : คนที่อ่อนแอย่อมแพ้อุปสรรคง่ายๆ ส่วนคนที่เข้มแข็งย่อมไม่ยอมแพ้ เมื่อพบอุปสรรคก็แก้ไขไป รักษาการงานหรือสิ่งมุ่งจะทำไว้ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ถืออุปสรรคเหมือนอย่างสัญญาณไฟแดง ที่จะต้องพบเป็นระยะ ถ้ากลัวจะต้องพบสัญญาณไฟแดงตามถนนซึ่งจะต้องหยุดรถ ก็จะไปข้างไหนไม่ได้ แม้การดำเนินชีวิตก็ฉันนั้น ถ้ากลัวจะต้องพบอุปสรรค ก็ทำอะไรไม่ได้

พระนิพนธ์ 68 : ความดิ้นรนเพื่อให้ได้สมดังความปรารถนาต้องการ มิใช่ความสุข มิใช่ความสงบ แต่เป็นความทุกข์ เป็นความร้อน เป็นความวุ่นวาย มีคนเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ทั้งชีวิตไม่ได้พบความสุขความสงบเลย เพราะมัวปล่อยใจให้เป็นทาสของความโลภ ไม่รู้จักทำสติพิจารณาให้เห็นโทษของความโลภ แล้วพยายามละมันเสีย ดับเสีย

พระนิพนธ์ 69 : สมัยนี้มีผู้ชอบกล่าวว่า เงินไม่มี เกียรติไม่มี นั่นไม่ใช่ความถูกต้อง เป็นความรู้สึกของคนบางคนเท่านั้น คนบางคนที่มีความเห็นผิดเป็นชอบเท่านั้น ที่จะมีความรู้สึกว่า คนไม่มีเงินเป็นคนไม่มีเกียรติ เงินกับเกียรติมิใช่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิใช่เป็นสิ่งที่แยกจากกันมิได้ คนไม่มีเงิน แต่มีเกียรติก็มีอยู่ ความสำคัญอยู่ที่ว่า เงินที่มีหรือที่ได้มานั้นเป็นเงินที่จะทำให้เกียรติยศชื่อเสียงสิ้นไปหมดไปหรือไม่ ควรจะพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้ที่คำนึงถึงชื่อเสียงเกียรติยศของตนและของวงศ์
ตระกูล

พระนิพนธ์ 70 : ผู้มีธรรมถือเหตุผลเป็นสำคัญเสมอ ไม่ว่าใครจะทำผิดมาแล้วมากน้อยเพียงไหน หากเห็นเหตุผลที่กระทำไปเช่นนั้น จักอภัยให้ได้อย่างง่ายดาย การตั้งใจจริงที่จะไม่โกรธพร้อมกับใช้ปัญญาหาเหตุผลมาประกอบเพื่อไม่ให้เกิดความโกรธ ก็คือ การตั้งใจจริงที่จะเข้าใจเหตุผลความจำเป็นของคนอื่นที่ทำสิ่งอันชวนให้โกรธ และเมื่อเห็นเหตุผลความจำเป็นของเขาแล้ว ก็จะอภัยให้ได้ ไม่โกรธ การฝึกใจไม่ให้โกรธ จึงเท่ากับเป็นการฝึกให้อภัยในความผิดของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม

พระนิพนธ์ 71 : การเพ่งดูผู้อื่นทำให้ตนเองไม่เป็นสุข แต่การเพ่งใจดูตนเองทำให้เป็นสุขได้ แม้กำลังโกรธมาก หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นว่ากำลังโกรธมาก ความโกรธก็จะลดลง เมื่อความโกรธน้อย หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นว่ากำลังโกรธน้อย ความโกรธก็จะหมดไป จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะมีอารมณ์ใดก็ตาม โลภหรือโกรธหรือหลงก็ตาม หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นอารมณ์นั้นแล้ว อารมณ์นั้นจะหมดไป ได้ความสุขมาแทนที่ ทำให้มีใจสบาย

พระนิพนธ์ 72 : เมตตากรุณาเป็นความรู้สึกตรงกันข้ามกับความโกรธ การเจริญเมตตา จึงเป็นการแก้ความโกรธที่ได้ผล ผู้เจริญเมตตาอยู่เสมอ เป็นผู้ไม่โกรธง่าย ทั้งยังมีจิตใจเยือกเย็นเป็นสุขด้วยอำนาจของเมตตาอีกด้วย

พระนิพนธ์ 73 : กิเลสเป็นโรคร้ายทางใจที่มิได้ร้ายน้อยไปกว่าโรคร้ายทางกายที่ร้ายที่สุด จะกล่าวว่าโรคร้ายทางใจ มีโทษร้ายแรงยิ่งกว่าโรคร้ายทางกายก็ไม่ผิด เพราะผู้ตายไม่มีจริงๆ ด้วยโรคร้ายทางกายนั้นดีกว่าผู้ที่ตายแล้ว ในทางชื่อเสียงและคุณงามความดี ด้วยโรคร้ายทางใจ ความคิด ไม่ว่าความคิดดีหรือความคิดชั่ว เมื่อคิดขึ้นแล้วจะไม่ลบหายไปจากจิตใจ ความคิดดีก็จะฝังลงเป็นพื้นฐานที่ดี ความคิดชั่วก็จะฝังเป็นพื้นฐานที่ชั่ว คิดดีนานก็จะฝังลงเป็นฐานที่ดีมาก คิดชั่วนานก็จะฝังลงเป็นพื้นฐานที่ชั่วมาก การพยายามควบคุมความคิดให้ถูกต้องไว้เสมอ เป็นสิ่งที่ควรทำด้วยกันทุกคน

พระนิพนธ์ 74 : การแก้โทสะได้ ก็เท่ากับแก้ความผูกโกรธหรือผูกเวรได้เป็นการสร้างอภัยทานขึ้นแทน อภัยทานก็คือการยกโทษให้ คือการไม่ถือเอาความผิดหรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ อันอภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ

พระนิพนธ์ 75 : เมตตา มีความหมายว่า ปรารถนาให้เป็นสุข เป็นความหมายใกล้เคียงทำนองเดียวกับสงสารที่ไม่อยากให้เป็นทุกข์ เมื่อใดเกิดความรู้สึกสงสารจริงใจ ไม่อยากเห็นความทุกข์ของใครก็ตามก็เข้าใจได้ว่า เมื่อนั้นเมตตาได้เกิดขึ้นแล้ว กรุณา มีความหมายว่า พยายามช่วยด้วยใจจริงให้พ้นทุกข์ให้เป็นสุข และไม่ว่าเมื่อพยายามช่วยแล้ว จะเกิดผลขึ้นแก่ผู้รับความกรุณาเพียงใดหรือไม่ ก็เป็นกรุณาจริง อันเกิดแต่เมตตาจริง

พระนิพนธ์ 76 : ความมีอายุยืน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ย่อมเกิดแต่ความไม่เบียดเบียน ความมีอายุยืน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เป็นผลที่ตรงกับกรรมที่เป็นเหตุคือความเบียดเบียนกัน ความไม่เบียดเบียน เป็นการทำให้มีความสุข ความเจริญในอายุ ความมีอายุยืน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เป็นความสุข ความเจริญอายุ ผู้ทำเหตุคือความไม่เบียดเบียน ก็ย่อมได้รับผลเป็นผู้มีอายุยืน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ผลย่อมตรงต่อเหตุดังนี้

พระนิพนธ์ 77 : ความมีปัญญา ย่อมเกิดแต่การปฏิบัติอบรมจิตให้สงบ จิตสงบเพียงไร ปัญญาย่อมยิ่งเพียงนั้น และเมื่อจิตวุ่นวายเพียงไร ปัญญาหย่อนเพียงนั้น ปัญญาเป็นความฉลาดที่เกิดแต่เรียนและคิด จิตใจสงบจะทำให้ใช้ความคิดได้อย่างดี ต้องการจะคิดเรื่องใดให้แตกฉานรู้จริงด้วยตนเองมิใช่เป็นเพียงความรู้ของคนอื่น จิตที่สงบก็จะทำให้เป็นปัญญาขึ้นมาได้ แต่จิตที่ไม่สงบวุ่นวายจะทำไม่ได้ ผู้มีปัญญาจึงเป็นผู้มีจิตสงบ แม้ปรารถนาจะเป็นผู้มีปัญญา พึงทำใจให้สงบ คือ สงบจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ปรารถนาเป็นผู้มีปัญญาเพียงไร พึงทำใจให้สงบเพียงนั้น

พระนิพนธ์ 78 : ปัญญาเกิดแต่การเรียนและคิด เรียนนั้น หมายได้ทั้งเรียนด้วยหู เรียนด้วยตา คือฟังที่มีผู้สอนก็ได้ อ่านที่มีผู้เขียนก็ได้ เห็นที่ปรากฏให้เห็นก็ได้ เรียนดังกล่าวทุกอย่างต้องเรียนและคิดจนเป็นปัญญา จึงจะได้ประโยชน์จริงจากการเรียน อะไรๆ มากมายที่ได้พบ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังอยู่ไม่ว่างเว้น แม้ใช้ความคิดประกอบความรู้ทางพระพุทธศาสนา ที่ได้ศึกษาแล้วย่อมได้ปัญญาเห็นจริงได้ แม้ทำให้เนืองๆ

พระนิพนธ์ 79 : ความปลงใจเชื่อให้จริงในเรื่อง กรรม และการให้ผลของกรรมมีผลใหญ่ยิ่ง จะทำให้กลัวการทำกรรมไม่ดี เมื่อไม่ทำกรรมไม่ดีผลไม่ดีย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ตน ความสบายทั้งปวงย่อมมีมา ความไม่เข้าใจในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรม มีโทษสถานเดียวไม่มีคุณเลย ไม่ว่าจะเป็นกรรมของตัวเอง หรือกรรมของผู้อื่นก็ตาม

ผู้มีปัญญาแม้พอสมควร จึงพยายามทำความเข้าใจในเรื่องของกรรม หรือแม้ไม่เข้าใจจริงก็ใช้วิธีเชื่อไว้ก่อน ซึ่งก็เป็นการแสดงความเป็นผู้มีปัญญา ยิ่งกว่าผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมเชื่อเลย นะครับ

นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image