ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ : ทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงผูกขาดในภาคใต้?

ภาคใต้เป็นพื้นที่ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ จนเกิดความรู้สึกกันทั่วว่าพรรคการเมืองอื่นๆ หมดสิทธิที่จะเบียดแทรกเข้าไปแย่งที่นั่งได้ อย่างไรก็ตาม ความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองนี้จนผูกขาดทางการเมืองในทุกจังหวัด (ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนยังคงมีความผูกพันกับพรรคการเมืองต่ำ) เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งที่ 17 ในวันที่ 13 กันยายน 2535 หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า เลือกตั้ง 2535/2 ในขณะที่การเลือกตั้งในแต่ละครั้งก่อนหน้านั้น พรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวใต้ที่โดดเด่นเหนือพรรคประชาธิปัตย์คือ พรรคกิจสังคม

การที่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเบียดแทรกพรรคกิจสังคมจนกลายเป็นพรรคการเมืองขวัญใจชาวใต้ตราบจนถึงปัจจุบันนั้น เมื่อพิจารณาในแง่ของการสร้างความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นในตัวผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อพรรคการเมืองหรือการสร้างความผูกพันของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีต่อพรรคการเมือง (party identification) พบว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความสามารถในการสร้างสูงกว่าพรรคกิจสังคมในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก

และลักษณะเช่นนี้ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยผ่านวิธีการต่างๆ ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ผูกขาดความนิยมในพื้นที่ภาคใต้ก็คือ ความจงรักภักดีหรือความผูกพันของคนใต้ที่มีต่อพรรคหรือ party identification รายละเอียดมีดังนี้

Advertisement

ตำแหน่งรัฐมนตรีกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ดังเช่นการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 พรรคกิจสังคมชนะเลือกตั้งสูงสุดในภาคใต้คือ 17 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งสิ้น 38 ที่นั่ง และยังครองที่นั่งสูงสุดทั่วประเทศ 82 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 13 ที่นั่งในภาคใต้และ 34 ที่นั่งทั้งประเทศ แม้กระทั่งในจังหวัดตรังก็มีเพียง นายชวน หลีกภัย ที่ได้รับการเลือกตั้ง ส่วนผู้ชนะเลือกตั้งอีก 2 คน เป็นผู้สมัครจากพรรคกิจสังคม

อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเมืองไทยเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เนื่องจากมีบทบัญญัติและบทเฉพาะกาลหลายมาตราให้อำนาจข้าราชการเข้ามามีอำนาจทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ข้าราชการประจำสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองควบคู่กันได้ แต่หลังการเลือกตั้งพรรคกิจสังคมไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องตกเป็นฝ่ายค้านภายใต้รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

กว่าจะได้ร่วมรัฐบาลก็เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2523 หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ประกาศลาออกกลางสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

รัฐบาลเปรม 1 พรรคกิจสังคมจึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคการเมืองที่ครองที่นั่งสูงสุด แต่พรรคกิจสังคมกลับไม่ฉกฉวยโอกาสนี้ในการสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาการเมืองในแง่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power relations) ทำให้แม้ว่ามี ส.ส.จำนวนมากที่สุดในภาคใต้แต่กลับจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับ ส.ส.ภาคใต้เพียงแค่ 1 ที่นั่ง

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีจำนวน ส.ส.ภาคใต้น้อยกว่ากลับได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 2 ที่นั่ง แต่ประเด็นเรื่องจำนวนรัฐมนตรีมากหรือน้อยยังไม่สำคัญเท่ากับกระทรวงที่รับผิดชอบ เมื่อพิจารณาในมิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจ พรรคกิจสังคมได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงที่ไม่สามารถสร้างและขยายฐานทางการเมืองได้คือ นายบรม ตันเถียร ส.ส.พังงา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นกระทรวงที่ไม่อาจสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับประชาชนในพื้นที่

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และโดยเฉพาะนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่ควบคุม ดูแลข้าราชการฝ่ายปกครองที่มีอำนาจมากในยุคสมัยนั้นเพราะแม้กระทั่งอัยการยังสังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อเปรียบเทียบถึงตำแหน่งรัฐมนตรีในสายตาของชาวบ้านโดยทั่วไปย่อมเห็นว่าตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์มีความเหนือกว่าและเป็นกระทรวงที่มีอำนาจใกล้ชิดสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของคนธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปมากกว่า สามารถสร้างบารมีและอิทธิพลทางการเมืองให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ได้ดีกว่าพรรคกิจสังคม

การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีที่แตกต่างระหว่างพรรคกิจสังคมกับพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว น่าจะเป็นสาเหตุที่สำคัญต่อผลการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ครั้งต่อมา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526 เมื่อปรากฏว่า พรรคกิจสังคมประสบความสำเร็จสามารถชนะเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส.ทั้งประเทศมากที่สุดคือ 92 ที่นั่ง มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนที่ได้ 82 ที่นั่ง แต่กลับสวนทางกับจำนวน ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ที่ลดลงเหลือเพียง 9 ที่นั่ง จากเดิมเมื่อปี 2522 ที่มีจำนวนมากถึง 17 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กลับได้รับความนิยมมากขึ้น ได้รับการเลือกตั้งมากถึง 25 ที่นั่ง จากเดิมที่มีเพียง 13 ที่นั่ง

ภายหลังการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง มีพรรคกิจสังคมและพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลเช่นเดียวกับรัฐบาลเปรม 1 การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีของทั้ง 2 พรรคก็ซ้ำรอยเดิมในอดีต ยิ่งเมื่อพรรคกิจสังคมชนะเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงมีรัฐมนตรีจาก ส.ส.ภาคใต้เพียง 1 เดียวและเป็นคนเดิมคือ นายบรม ตันเถียร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีถึง 4 คน และเป็นกระทรวงที่สามารถใช้กลไกของระบบราชการสร้างฐานคะแนนเสียงและความนิยมในระยะยาวได้เป็นอย่างดี คือ นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

การพึ่งพิงบารมีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

รัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวสงขลาและชาวใต้และได้รับการเคารพยกย่องด้วยการเรียกขานว่า “ป๋า” ซึ่งหมายถึงการให้ความเคารพแก่บุคคลผู้นั้นไม่ต่างจากพ่อคนหนึ่งของลูก นับว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงมากภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลให้ความร่วมมือด้วยดี ประกอบกับบุคลิก ลักษณะนิสัยของนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ทำให้ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนสูง

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ของพรรคในพื้นที่ภาคใต้เป็นจำนวนมาก ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถสร้างความนิยมในพื้นที่ภาคใต้อย่างแนบแน่นในฐานะพรรคที่ได้รับความไว้วางใจให้ร่วมรัฐบาลกับนายกรัฐมนตรีที่เป็นที่เคารพนับถือของคนภาคใต้

การเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หลังการเลือกตั้ง 2 ครั้ง ทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งในภาคใต้อย่างถล่มทลายถึง 36 ที่นั่ง เกือบทำให้ทั้งภาคเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด

เหลือที่นั่งให้กับพรรคอื่นๆ อีก 4 พรรค พรรคละ 1 ที่นั่งเท่านั้น คือ พรรคก้าวหน้า พรรคพลังใหม่ พรรคกิจประชาคม และพรรคกิจสังคม

ชวน หลีกภัย: ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค

การได้เป็นนายกรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย “นายกฯ คนใต้” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถสร้าง party identification ในหมู่ชาวใต้ เขามีคุณสมบัติที่โดดเด่นเหนือนักการเมืองรายอื่นๆ ที่วงการเมืองไทยขาดแคลนและตกอยู่ในสภาพของการทุจริต คอร์รัปชั่น มาอย่างยาวนาน เป็นนักการเมืองที่ประชาชนโดยส่วนใหญ่เชื่อว่ามีความซื่อสัตย์ สุจริต อ่อนน้อมถ่อมตนและยึดมั่นในหลักการ

ชวน หลีกภัย ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากนายพิชัย รัตตกุล ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 เมื่อมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ในปี 2534 สมาชิกพรรคให้ความไว้วางใจเลือกนายชวน หลีกภัย อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่นายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคือ วันที่ 22 มีนาคม 2535 หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า เลือกตั้ง 2535/1 พรรคที่ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.จำนวนมากที่สุดคือพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งภายหลังไม่นานนักก็เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของประชาชนต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่มีประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

เมื่อมีการเลือกตั้ง 2535/2 พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งทำให้นายชวน หลีกภัย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการรณรงค์หาเสียงชูประเด็น “นายกฯ คนใต้” หลังจากเคยภาคภูมิใจกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากภาคใต้และสงขลาที่ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาแล้ว นับตั้งแต่นั้นมานายชวน หลีกภัย ก็ได้สร้างความนิยมให้เกิดขึ้นแก่พรรคประชาธิปัตย์ในหมู่คนภาคใต้ตราบจนถึงปัจจุบัน แม้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปนานแล้วผู้คนก็ยังคงให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างสูง

ความศรัทธาที่มีต่อนายชวน หลีกภัย ในหลายพื้นที่ถึงขนาดมีการนำร่มมากางให้กับรูปภาพโปสเตอร์ของเขาที่ติดตั้งกลางแจ้งเพื่อไม่ให้เปียกฝนหรือโดนแดดเผา ราวกับว่าภาพโปสเตอร์นั้นมีชีวิต ไม่นับเวลานายชวน หลีกภัย ลงพื้นที่ให้กับผู้สมัครของพรรค ผู้สมัครที่มีคะแนนนิยมสูงแล้วจะยิ่งมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนผู้สมัครที่มีคะแนนเป็นรองกว่าคู่แข่งก็จะสามารถมีคะแนนนำพลิกกลับทันทีอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ จากคะแนนความสงสารที่มีต่อหัวหน้าพรรค จนกลายเป็นความเชื่อโดยทั่วไปในพื้นที่ว่า คู่แข่งจะมีคะแนนนำเพียงใดก็ตาม

หากสัปดาห์สุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว นายชวน หลีกภัย มาขึ้นเวทีหาเสียง หรือเดินเยี่ยมเยียนชาวบ้าน คะแนนที่ตกเป็นรองจะพลิกกลับและนำไปสู่ชัยชนะในที่สุด

แม้กระทั่งเมื่อพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปแล้ว การหาเสียงเลือกตั้งทุกครั้งภาพโปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ต้องมีรูปของนายชวน หลีกภัย อยู่เคียงข้างประกบกับรูปของผู้สมัครและรูปหัวหน้าพรรค เพราะหากมีแต่รูปผู้สมัครประกบกับรูปหัวหน้าพรรคคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจจะยังไม่สามารถสร้างคะแนนนิยมได้เท่ากับการมีรูปของนายชวน หลีกภัย อยู่ในโปสเตอร์ด้วย

ซึ่งย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า นายชวน หลีกภัย เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคประชาธิปัตย์

“พรรคของเรา คนของเรา” กับวลีเด็ด “ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัคร คนปักษ์ใต้ก็เลือก”

นับตั้งแต่การเลือกตั้ง 2535/2 ที่มีหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีเป็นคนใต้ ตลอดจนกรรมการบริหารพรรคจำนวนมากเป็น ส.ส. ภาคใต้ ก่อให้เกิดปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถผูกขาดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในพื้นที่ภาคใต้ก็คือ การสร้างความรู้สึกให้เกิดขึ้นกับประชาชนว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นพรรคของตนเอง

การเลือกผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์เป็น ส.ส. ก็เท่ากับเลือกคนของตนเองนั่นเอง โดยผ่านประโยคที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงว่า “พรรคของเรา คนของเรา”

แม้ว่าตัวผู้สมัครบางคนจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีคุณสมบัติที่ไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่พรรคคู่แข่งส่งผู้สมัครที่มีคุณสมบัติโดดเด่นกว่า แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยอมรับเนื่องจากเชื่อมั่นและศรัทธาต่อกระบวนการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคที่ว่า “พรรคเลือกคน ประชาชนจึงเลือกพรรค”

แม้พรรคจะส่งผู้สมัครที่มีคุณสมบัติด้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับพรรคคู่แข่ง หรือถึงขนาดส่ง “เสาไฟฟ้า” ซึ่งเดิมเป็นคำกล่าวของนายวีระ มุสิกพงศ์ ในเวทีหาเสียงเมื่อครั้งสมัครรับเลือกตั้งที่ จ.พัทลุง ในนามพรรคความหวังใหม่ โดยมีความหมายถึงเสาไฟฟ้าจริงๆ ก็ตาม แต่ประชาชนก็จะยังคงให้การสนับสนุนพรรคต่อไป “พรรคของเรา คนของเรา” จึงกลายเป็นวาทกรรมที่มีผลต่อ party identification ในหมู่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

ท่ามกลางวาทกรรม “พรรคของเรา คนของเรา” พรรคการเมืองและนักการเมืองพรรคอื่นๆ กลับขาดความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง มักจะสนใจทำกิจกรรมทางการเมืองเฉพาะช่วงเลือกตั้ง สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ค้ำฟ้าคู่กับชาวใต้ไม่เสื่อมคลาย บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ครองความนิยมมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย พ.ศ.2475 ทั้งๆ ที่การผูกขาดความนิยมในภาคใต้เกิดขึ้นเมื่อนายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 2535/2 ดังที่ได้กล่าวมา

ด้วยเหตุนี้จึงขาดความเชื่อมั่น ขาดความเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะขาดความอดทนในการทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ดังที่มีผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์รายหนึ่งเคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “พรรคอื่นเหมือนนกกุลา พอหน้าข้าวสุกก็มาเต็มนา พรรคประชาธิปัตย์เหมือนนกกรงหัวจุกมันอยู่กับเราตลอด”

ดังนั้น พรรคการเมืองอื่นๆ ที่หวังจะเข้ามาเบียดแทรกหรือถึงขั้นทลายความนิยมที่คนใต้มีต่อพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น แล้วหาวิธีการทำให้คนใต้มี party identification ต่อพรรคการเมืองของตนเองแทนที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image