ผมผิด แต่ก็ยังอยากรู้ : โดย วีระเชษฐ์ จรรยากูล

เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อปกป้องสิทธิของตน และหน่วยงานแสดงความโปร่งใสในการพิจารณาความผิดของผู้ขอ ด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา

นายดาบตำรวจท่านหนึ่งใช้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการต่อ อ.ก.ตร. อุทธรณ์ ซึ่งมีมติให้ยกอุทธรณ์ จึงมีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประมวลเสนอความเห็นของเจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่อง และความเห็นของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นก่อนที่จะนำเสนอ อ.ก.ตร. วินัย และ อ.ก.ตร. อุทธรณ์ เพื่อพิจารณาทุกแผ่น แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งปฏิเสธการเปิดเผยว่าคณะกรรมการบริหารข้อมูลข่าวสาร กองอุทธรณ์ พิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่าข้อมูลข่าวสารตามที่ขอนั้นเป็นความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด ตามมาตรา 15 (3) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และอาจกระทบต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการเสนอความเห็นเบื้องต้น นายดาบจึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมาธิการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

ในการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ กองอุทธรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ถึงเหตุผลในการพิจารณาปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้นายดาบด้วยเหตุผลเดียวกับที่แจ้งนายดาบไปแล้ว

คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารตามที่นายดาบได้มีคำขอต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นตามอำนาจหน้าที่เพื่อเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นเสนอให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามปกติ และเมื่อเรื่องยุติแล้วการเปิดเผยจึงไม่กระทบต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ แต่การเปิดเผยจะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของหน่วยงาน ประกอบกับข้อมูลข่าวสารดังกล่าวกระทบสิทธิของนายดาบซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์ จึงควรได้รับทราบเพื่อปกป้องสิทธิของตน จึงวินิจฉัยให้กองอุทธรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยข้อมูลข่าวสารการประมวลเสนอความเห็นของเจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่อง และความเห็นของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นก่อนที่จะนำเสนอ อ.ก.ตร. วินัย และ อ.ก.ตร.อุทธรณ์ เพื่อพิจารณาทุกแผ่น พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องให้นายดาบต่อไป

Advertisement

ผมได้รับคำถามจากนายตำรวจท่านหนึ่งว่า ในเบื้องต้นหากเราแจ้งปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้ว ต่อมากรรมการวินิจฉัยฯ พิจารณาให้เปิดเผย เราจะมีความผิดหรือไม่ เป็นคำถามที่ดีครับไม่มีความผิดครับ เพราะกฎหมายให้สิทธิท่านที่จะใช้ดุลพินิจว่าข้อมูลข่าวสารนั้นเปิดเผยได้หรือไม่ ขอให้แจ้งผู้ขอโดยเร็วหรือภายใน 15 วันก็พอ

มีข้อสงสัยการปฏิบัติหรือจะใช้สิทธิตามกฎหมายนี้หารือไปได้ครับ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ติดต่อได้ที่ 0-2283-4678 www.oic.go.th

วีระเชษฐ์ จรรยากูล
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image