ที่มาของกองกำลังติดอาวุธในพม่า : กรณีของกะเหรี่ยง : โดย ลลิตา หาญวงษ์

อดีตประธานาธิบดีเตง เส่งกับผู้นำ KNU คนปัจจุบัน ซอ มูตู เซ โป (Saw Mutu Say Poe), ภาพจากปี 2013 (พ.ศ.2556)

อาจกล่าวได้ว่าความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับชาวกะเหรี่ยงเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากระบอบอาณานิคมในพม่า ชาวกะเหรี่ยงแบ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอีกหลายกลุ่ม แต่สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามการนับถือศาสนาได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ ชาวกะเหรี่ยงพุทธ และกะเหรี่ยงคริสต์ ข้อมูลจากสำมะโนประชากรล่าสุดของรัฐบาลพม่าที่ทำขึ้นในปี 2014 ให้ตัวเลขของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพม่าที่ราว 1.5 ล้านคน กล่าวโดยรวม ทั้งชาวกะเหรี่ยงพุทธและคริสต์ต่างต้องการสิทธิในการปกครองตนเอง และพยายามต่อสู้กับกองทัพและรัฐบาลพม่าเพื่อสิทธินี้มาตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 1948 (พ.ศ.2491) กองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ได้แก่ KNU (Karen National Union) และ KNLA (Karen National Liberation Army)

ความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ย้อนกลับไปตั้งแต่ในยุคอาณานิคม ชาวอังกฤษที่เข้าไปในพม่าว่าจ้างชาวกะเหรี่ยงให้เป็นทหารและตำรวจ ทั้งยังแสดงทีท่าเป็นมิตรกับชาวกะเหรี่ยงมากกว่าชาวพม่า ทั้งนี้ เพราะชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ตั้งแต่หลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 1 ในต้นศตวรรษที่ 19 มีความสัมพันธ์อันดีกับมิชชันนารีชาวอเมริกัน และรู้สึกเป็นมิตรกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษมากกว่าชาวพม่าอื่น ๆ ทหารกะเหรี่ยงช่วยกองทัพอังกฤษรบกับกองทัพพม่า และได้รับชัยชนะ ทำให้อังกฤษไว้เนื้อเชื่อใจชาวกะเหรี่ยงมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นใด คล้ายกับทัศนคติที่อังกฤษมีต่อกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในอินเดีย เช่น ชาวซิกข์ และชาวกุรข่าจากเนปาล การเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ของชาวกะเหรี่ยงยังทำให้พวกเขามีสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าชาวพม่าทั่วไป

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้ชาวพม่ายิ่งต่อต้านระบอบอาณานิคม และต่อต้านผู้คนที่ระบอบอาณานิคมในพม่าสร้างขึ้นมา รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงที่อังกฤษมองว่าเหนือกว่าและมีทัศนคติที่ดีกว่าชาวพม่า ในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 2 และ 3 ชาวกะเหรี่ยงก็ยังเป็นกองกำลังที่ร่วมกับอังกฤษรบกับราชสำนักพม่า ทำให้ชาวพม่าโดยเฉพาะนักชาตินิยมมีทัศนคติเชิงลบกับชาวกะเหรี่ยงมาโดยตลอด

ความไม่ลงรอยกันของชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่าทำให้ชาวกะเหรี่ยงรู้สึกว่าตนเป็น “คนอื่น” และได้ตั้งองค์กรทางการเมืองขึ้นมาเป็นกลุ่มแรกๆ ในพม่า เริ่มจากองค์กรทางศาสนาคริสต์ ก่อนที่จะกลายเป็นองค์กรทางการเมืองในปลายศตวรรษที่ 19 เรื่อยมา KNA (Karen National Organization) ตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยง ไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยงจากเผ่าใด หรือนับถือศาสนาใด องค์กรในช่วงแรกมักเป็นองค์กรทางการเมืองและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงคริสต์ องค์กรของกะเหรี่ยงพุทธในนาม BKNA (Buddhist Karen National Association) เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นก่อนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษไม่นาน

Advertisement

ในช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดขบวนการชาตินิยมในหมู่ชาวพม่า ชาวกะเหรี่ยงก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางการเมืองของตนเอง และเริ่มเรียกร้องให้มีการตั้งประเทศของชาวกะเหรี่ยงแยกจากพม่า เริ่มมีการออกแบบธงชาติและเพลงชาติกะเหรี่ยง ความสัมพันธ์ระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับชาวพม่าพุทธถึงจุดแตกหักในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวทางการเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมกะเหรี่ยงแตกต่างจากนักชาตินิยมพม่าอย่างชัดเจน ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงมิได้เป็นปฏิปักษ์กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ นักชาตินิยมพม่าประกาศตนเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบอาณานิคมชัดเจน ในระหว่างสงคราม ผู้นำชาตินิยมพม่า ภายใต้การนำของออง ซาน ก่อตั้ง BIA หรือกองทัพเพื่อเอกราชพม่าขึ้นเพื่อเป็นหน่วยหน้าในการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ

BIA ก่อตั้งขึ้นเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นแล้ว พร้อมกับการเข้ามาของญี่ปุ่นในปี 1942 (พ.ศ.2485)

ในระหว่างสงคราม อังกฤษก่อตั้งกองพลกะเหรี่ยงขึ้นเพื่อช่วยอังกฤษร่วมรบกับญี่ปุ่น และต่อสู้กับญี่ปุ่นในนามของอังกฤษอย่างกล้าหาญ สร้างความเสียหายให้กองทัพญี่ปุ่นครั้งใหญ่ การเข้าร่วมกับอังกฤษและการเคลื่อนไหวของผู้นำกะเหรี่ยงเป็นอิสระจากกองกำลังฝั่งพม่าทำให้ผู้นำกะเหรี่ยงหวังว่าหลังอังกฤษมอบเอกราชให้กับพม่าแล้ว พวกเขาจะได้รับสิทธิปกครองตนเองและแยกตัวออกจากการปกครองของรัฐบาลพม่า

Advertisement

กองทัพ BIA มีทัศนคติในเชิงลบกับชาวกะเหรี่ยง เพราะมองว่าฝ่ายหลังช่วยศัตรูของตนรบในสงครามโลก เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงและ BIA ในช่วงต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพาในพม่า ชาวบ้านกะเหรี่ยงหลายร้อยคนถูกสังหารโดยกองกำลังพม่าฝั่ง BIA

คาดการณ์กันว่าในปี 1942 อาจมีชาวกะเหรี่ยงทั้งที่เป็นทหารในกองทัพกะเหรี่ยงและชาวบ้านธรรมดาๆ ถูกสังหารไปเกือบ 2,000 คน นับเป็นการสร้างบาดแผลทางประวัติศาสตร์ระหว่างชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่าที่จะอยู่ในความทรงจำของคนทั้ง 2 ฝั่งต่อมาอีกนานแสนนาน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออังกฤษกลับเข้ามาในพม่า ประเด็นเรื่องการมอบเอกราชให้พม่าเป็นประเด็นหลักในการหารือระหว่างฝ่ายพม่าของออง ซาน อังกฤษ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ด้วย ชนกลุ่มน้อยประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของชาวพม่าภายหลังพม่าได้รับเอกราชแล้ว กลุ่มชาตินิยมกะเหรี่ยง ไม่ยินยอมเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาหากพม่ายังเป็นหัวหอกในการเจรจากับอังกฤษอยู่

แม้จะมีการประนีประนอมและการประชุมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อหาข้อตกลงร่วมและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ดังจะเห็นได้จากการประชุมที่ปางหลวงในปี 1947 แต่ชาวกะเหรี่ยงมิได้ส่งตัวแทนของตนเข้าร่วมการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนั้นด้วย เพราะไม่เห็นด้วยกับบทบาทนำของพม่า

กะเหรี่ยงกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มิยอมปรองดองกับรัฐบาลพม่าของออง ซาน และตั้ง KNU ขึ้น เพื่อผลักดันข้อเรียกร้องของชาวกะเหรี่ยงทั้งผอง เพื่อให้กะเหรี่ยงเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลพม่าเมื่อพม่าได้รับเอกราชไปแล้ว

เมื่อพม่าได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม 1948 เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลพม่า จากทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์ และกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวกะเหรี่ยงยังคงเรียกร้องเอกราชจากพม่าเรื่อยมา ข้อเรียกร้องของกะเหรี่ยงถูกตีความว่าเป็นความพยายามจะแบ่งแยกและทำลายสหภาพพม่า ทำให้ทัศนคติของคนในกองทัพและรัฐบาลพม่าภายใต้ AFPFL ที่มีต่อชาวกะเหรี่ยงแย่ลงตามลำดับ ในปี 1949 KNU ประกาศสงครามกับรัฐบาลพม่าของอู นุ ผู้นำของ KNU ในเวลานั้น ซอ บา อู จี (Saw Ba U Gyi) ประกาศหลักการ 4 ข้อของกองกำลัง KNU ได้แก่ การไม่มีวันยอมแพ้ การเรียกร้องให้ก่อตั้งรัฐกะเหรี่ยง ข้อเรียกร้องขอเก็บอาวุธไว้กับตนเอง และการตัดสินอนาคตของชาวกะเหรี่ยงด้วยชาวกะเหรี่ยงเอง

แน่นอนว่าจุดประสงค์ของ KNU ทั้ง 4 ข้อล้วนขัดกับหลักการของกองทัพพม่า ที่ต้องการรักษาความเป็นสหภาพ อำนาจอธิปไตยของชาติ และไม่สนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวออกไปเป็นอิสระ (แม้ในข้อตกลงปางหลวงจะกำหนดให้ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มแยกตัวออกเป็นอิสระได้หลังพม่าได้รับเอกราชไปแล้ว 10 ปี) ทั้งกองทัพกะเหรี่ยงภายใต้ KNU และกองทัพพม่าไม่ต้องการประนีประนอมและไม่หันหน้าเข้าหากัน จึงทำให้มีการปะทะกันอยู่ตลอดทศวรรษ 50 และ 60 การสู้รบระหว่างสองฝั่งเกิดขึ้นในบริเวณชายแดนไทย-พม่าเป็นหลัก การต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงเริ่มมีระบบแบบแผนขึ้นพร้อมๆ กับการมีผู้นำคนใหม่นามว่านายพล โบ เมียะ (Bo Mya) ในปี 1976 (พ.ศ.2519) กลุ่มผู้นำกะเหรี่ยงเริ่มมีอิทธิพลอย่างสูงในแถบชายแดนและเป็นผู้ควบคุมการค้าในตลาดมืดและยาเสพติดในบริเวณชายแดนไทย-พม่าในแถบรัฐกะเหรี่ยงทั้งหมด

ข้อเรียกร้องของ KNU ภายใต้ผู้นำคนก่อนๆ จากการเรียกร้องรัฐอิสระ กลายมาเป็นข้อเรียกร้องให้ชาวกะเหรี่ยงมีสิทธิปกครองตนเองในระดับหนึ่ง

กองทัพพม่ามีความพยายามเจรจาหยุดยิงกับ KNU ของนายพลโบ เมียะ มาตลอดทศวรรษ 1970 และ 1980 แต่ไม่เป็นผล จนถึงทศวรรษ 1990 นายพล โบ เมียะ ก็ยังปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงของรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งขัน ในขณะเดียวกันภายในกองกำลังของกะเหรี่ยงเองก็แตกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีจุดยืนที่แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น การแยกตัวของกะเหรี่ยงพุทธจาก KNU ที่ผู้นำส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงคริสต์ นอกจากนี้ ยังมีกองทัพอื่นๆ ที่แยกออกไป เช่น กองกำลัง God’s Army ที่ได้รับการสนับสนุนจากอดีตกองกำลังของ KNLA และทหารจาก KNU อีกบางส่วน ความแตกแยกของกองกำลังกะเหรี่ยงทำให้ความเข้มแข็งของ KNU ลดน้อยลงและไม่ได้เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงของรัฐบาลทหารพม่าอีกต่อไป

ในปี 2004 (พ.ศ.2547) ภายหลังรัฐบาลพม่าออกแผนการ 7 ขั้นสู่ประชาธิปไตย นายพล ขิ่น ยุ้น ร่วมหารือกับนายพล โบ เมียะ เพื่อหาทางเจรจาสันติภาพ แต่กระบวนการนี้สิ้นสุดลงไปพร้อมๆ กับการจับกุมขิ่น ยุ้น ในปีเดียวกันนั้น ประกอบกับนายพล โบ เมียะ ก็เสียชีวิตในเวลาใกล้เคียงกัน KNU และรัฐบาลพม่าจึงยังมิได้มีการเจรจาสันติภาพกันอย่างจริงจัง

จนกระทั่งปี 2012 (พ.ศ.2555) เมื่อ KNU และรัฐบาลพลเรือนพม่าภายใต้ประธานาธิบดีเตง เส่ง ประสบความสำเร็จในการเจรจาสันติภาพ และการต่อสู้อย่างเป็นทางการตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่าก็เริ่มสงบลง แม้จะยังมีการปะทะกันอยู่เป็นระยะก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image