เดินหน้าชน : ศักราชใหม่ปิโตรฯ

ทิ้งบอมบ์ใส่ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ ส่งท้ายปีเก่า เมื่อ “หม่อมอุ๋ย-ม.ร.ว.ปรีดิยาธร     เทวกุล” อดีตรองนายกฯ ยก 8 ข้อที่ไม่สนับสนุนให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯต่อ

หนึ่งในนั้นคือกล่าวหาว่า “บิ๊กตู่” และเพื่อนร่วมรุ่น 6-7คน มีพฤติกรรมแอบเพิ่มบทบัญญัติตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (เอ็นโอซี) ลงในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในวาระที่ 2 ทั้งที่วาระที่ 1 ไม่มีหลักการส่วนนี้อยู่

แม้ร่างกฎหมายนี้จะผ่าน สนช.มาแล้ว โดยตัดมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้ง “เอ็นโอซี” ออก และบันทึกไว้เป็นข้อสังเกตแทน แต่ทว่ายังมีเชื้อไฟให้คนบางกลุ่มเคลื่อนไหวจะตั้ง “เอ็นโอซี”ให้ได้ พร้อมคัดค้านการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม “เอราวัณ” และ “บงกช” ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การประมูลต้องล่าช้า และทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงกับวิกฤตพลังงาน

ด้วยเพราะแหล่ง “เอราวัณ” และ “บงกช” เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตถึง 76% ของกำลังการผลิตก๊าซในประเทศ หากไม่สามารถสำรวจและผลิตได้ทันก่อนหมดอายุสัมปทานเดิมในปี 2565 และปี 2566 จะทำให้ประเทศเสียหายมาก

Advertisement

คนไทยทั้งประเทศต้องอยู่บนเส้นด้ายที่ก๊าซธรรมชาติจะขาดแคลน อาจส่งผลให้ไฟดับเพราะเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ หากนำเข้ามาทดแทนก็ต้องจ่ายค่าไฟแพง

แต่กระทรวงพลังงานและรัฐบาลก็เดินหน้าเปิดประมูลจนได้ โดยเปิดให้ยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายสนใจ

หลังตรวจสอบเอกสารการประมูล 4 ซอง คือ 1.ด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการ 2.ข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน 3.ข้อเสนอด้านเทคนิค และ 4.ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย

Advertisement

ปรากฏว่าแหล่ง “เอราวัณ” ผู้ได้รับสิทธิสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่        ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนแหล่ง “บงกช” ก็เป็นบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯ

ทั้งนี้ ครม.อนุมัติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า นับจากนี้ไปอีก 10 ปี โครงการนี้จะเกิดการลงทุนกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

สำหรับ “ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯ” ที่คว้าสัมปทานเดิมในแหล่ง “บงกช” แถมยังได้แหล่ง “เอราวัณ” ของบริษัท เชฟรอนฯด้วยเพราะเสนอเงื่อนไขดีกว่าคู่แข่ง

ทั้งนี้ แหล่ง “เอราวัณ” เสนอราคาคงที่ก๊าซธรรมชาติที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู จากปัจจุบันที่ “เชฟรอน” คิดราคา 165 บาท/ล้านบีทียู

นอกจากนี้ขอรับส่วนแบ่งกำไรแค่ 32% เท่านั้น อีก 68% ให้กับรัฐ รวมทั้งยังมีเงินโบนัสลงนาม โบนัสการผลิต และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ รวมแล้วสูงถึง 2,667 ล้านบาท ขณะที่การจ้างพนักงานไทยก็มีสัดส่วนสูงตั้งแต่ปีแรกถึง 98%

ส่วนแหล่ง “บงกช” ก็เสนอราคาคงที่ก๊าซธรรมชาติที่ 116 ล้านบาท/ล้านบีทียู เช่นกัน โดยขอรับส่วนแบ่งกำไรเพียง 30% อีก 70% ให้รัฐ ส่วนเงินโบนัสลงนาม โบนัสการผลิต และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ รวม 3,717 ล้านบาท โดยใช้พนักงานคนไทยตั้งแต่ปีแรก 99%

เมื่อมาดูราคาขายก๊าซปัจจุบันอยู่ที่ 214 บาท/ล้านบีทียู แต่ราคาใหม่อยู่ที่ 116 บาท/ล้านบีทียู ต่ำกว่าเดิมถึง 98 บาท นั่นหมายความว่าการซื้อก๊าซราคาถูกลงตั้งแต่ปี 2565 จนถึงช่วง 10 ปีข้างหน้าคิดเป็นเงิน 5.5 แสนล้านบาท หรือประหยัดปีละ 5.5 หมื่นล้านบาท ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ถึงหน่วยละ 29 สตางค์

นอกจากนี้ “ปตท.สผ.” เสนอส่วนแบ่งให้รัฐสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้ช่วง 10 ปีข้างหน้า รัฐจะได้รับส่วนแบ่งในรูปแบบค่าภาคหลวง การแบ่งปันผลผลิต เพิ่มขึ้นอีกถึง 1 แสนล้านบาท รวมแล้วภาครัฐและสังคมได้ประโยชน์รวมกว่า 6.5 แสนล้านบาท

จากนี้ไป การสำรวจและผลิตก๊าซในช่วงรอยต่อระหว่างสัมปทานเก่ากับใหม่จะต้องมีความต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดชะงักอีก หลังจากเสียเวลาไปมากแล้ว

เริ่มปี 2562 ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ ที่จะเดินหน้าสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image