การเสริมสร้างวัฒนธรรมและความมั่นคงของชาติ

สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ปัญหาความเสื่อมถอยในด้านคุณธรรม จริยธรรมของคน เกิดจากประชาชนส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจวัฒนธรรมของชาติที่ดีงาม รับเอาแต่วัฒนธรรมใหม่ๆ จนลืมรากเง้าที่แท้จริงของคนไทย คนไทยเป็นชาติที่มีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งถูกปลูกฝัง สืบทอดจากปู่ย่า ตายาย จะเห็นได้จากทุกครั้งที่เกิดวิกฤตภัยธรรมชาติ จะเห็นความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน วัฒนธรรมจึงเป็นความมั่นคงของชาติหากประเทศชาติมีวัฒนธรรมที่ดีงามก็นำพาประเทศชาติให้มั่นคงดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ตอนหนึ่งว่า

“…ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”

(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2512)

หมายความว่า การที่มีคนดีหนึ่งคนมาปกครองบ้านเมือง เราก็จะได้แบบอย่างที่ดีในการสืบทอดวัฒนธรรมที่ดีต่อๆ กันไปทำให้ชาติบ้านเมืองมีแต่คนดี มีคุณธรรม จริยธรรม เช่นเดียวกับที่เราได้คนไม่ดีมาปกครองบ้านเมืองวัฒนธรรมของชาติก็จะเสื่อมถอยตามไปด้วย วัฒนธรรมจึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ วัฒนธรรม หมายถึง แบบอย่างหรือวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนแต่ละกลุ่มเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคม วัฒนธรรมแต่ละสังคมจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรต่างๆ ลักษณะอีกประการหนึ่งของวัฒนธรรมคือเป็นการสั่งสมความคิด ความเชื่อ วิธีการ จากสังคมรุ่นก่อนๆ ให้มีการเรียนรู้และสามารถถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อๆ ไป จนได้วัฒนธรรมที่มีรูปแบบหรือแนวความคิดที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะเลือนหายไป

Advertisement

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประชาชนชาวไทยควรนำมาวิเคราะห์ และนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สาเหตุของความเดือดร้อนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เกิดจากมนุษย์ยังขาดความเข้าใจคำว่า “วัฒนธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมไทย จึงขอหยิบยกสาระสำคัญของคำว่า “วัฒนธรรม” โดยศาสตราจารย์ระพี สาคริก ประธานที่ปรึกษามูลนิธิ ระพี-กัลยา สาคริก และอาจารย์พะนอม แก้วกำเนิด อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (คนแรก) ได้กล่าวไว้ ในการเสวนาเรื่อง “วัฒนธรรม : พื้นฐานในการเสริมสร้างความมั่นคงและความสมานฉันท์ของชาติ” เมื่อวันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2557 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคำจัดความที่ควรมีการถ่ายทอดให้ผู้อ่านบทความนี้ได้เกิดความเข้าใจคำว่า “วัฒนธรรม”

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้พูดถึงวัฒนธรรมว่าเป็นวงจรชีวิตที่มีความหมาย มีที่มา มีแก่นสาร ภายในวงจรชีวิตมีเกิดแก่ เจ็บ ตาย เหมือนกันทั้งมนุษย์และสัตว์ ความคิดของมนุษย์คือวัฒนธรรม เริ่มจากวงจรชีวิตประจำวัน มนุษย์ตื่นนอนเช้าแปรงฟัน หาอาหารกิน เมื่อเจอภัยอันตรายหาทางต่อสู้เพื่อการอยู่รอด มีการรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วย มีการพักผ่อน มีการสืบเผ่าพันธุ์ วงจรชีวิตของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตเป็นไปตามยุคสมัย แต่สัตว์ไม่พัฒนาเปลี่ยนแปลงเหมือนคน

Advertisement

ในสมัยก่อนคนและสัตว์ไม่ใส่เสื้อผ้า แต่ปัจจุบันคนพัฒนาให้มีเสื้อผ้าใส่ มีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สัตว์ยังไม่รู้จักการใส่เสื้อผ้า

ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ เคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น เพราะมนุษย์ต่างกับสัตว์ตรงที่มนุษย์มีความนึกคิด วัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลงในทางที่พัฒนาได้อยู่ที่ความคิดของมนุษย์ทั้งสิ้น วัฒนธรรมจะพัฒนาได้ต้องเกิดจากปัจเจกชุมชนที่จะทำให้วัฒนธรรมดีขึ้น เจริญขึ้น สะดวกขึ้น แสดงให้คนอื่นเห็นแล้วทำตาม สืบสานต่อๆ กันจนเป็นวิถีชีวิต

ในปัจจุบันนี้ปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นรูปแบบสร้างจากปัจจัยของความเป็นชาติของตัวเอง ความเชื่อของตัวเองเป็นฐานในการพัฒนาให้ดีขึ้น

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญของการใช้วัฒนธรรมมาเสริมสร้างความปรองดองของคนในชาติ คือเราต้องปลูกฝังให้คนไทยทั้งชาติรักแผ่นดินถิ่นกำเนิด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นแบบอย่างของการ รักชาติ รักแผ่นดินจนเป็นที่ประจักษ์ เห็นได้จากที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ราษฎร ได้อยู่ดีกินดี และสอนให้ประชาชนได้ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ดังนั้น หากคนไทยทุกคนปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ก็จะทำให้ชีวิตมีความสุข ส่วนการที่ทุกฝ่ายช่วยกันหาวิถีทางสู่ความปรองดองและปฏิรูปประเทศนั้น ถือเป็นเรื่องดีแต่ก่อนที่เราจะปฏิรูปประเทศได้ เราต้องปฏิรูปใจให้มีคุณธรรมและจริยธรรมให้ได้ก่อน

อาจารย์พะนอม แก้วกำเนิด ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมมีเรื่องสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ ประการแรกหลักการหรือประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรม ประการที่สอง ความหมายของวัฒนธรรม อันได้แก่คุณค่า คุณประโยชน์ คุณงามความดีต่อชีวิตและสังคม ประการที่สาม แก่นวัฒนธรรมหรือแนวทางปฏิบัติให้เกิดคุณค่าคุณความดีงามนั้น

ท่านอาจารย์บอกว่าในแต่ละวัฒนธรรมต้องมองให้ครบทั้งสามอย่าง แต่ที่ผ่านมามักเป็นวัฒนธรรมเลียนแบบ คือทำตามๆ กันมา โดยไม่ศึกษาประวัติความเป็นมา ไม่เรียนรู้รากเหง้าของวัฒนธรรมนั้นๆ ทำให้ไม่วิเคราะห์สาระสำคัญของวัฒนธรรมไทย คุณธรรม ภูมิธรรม ชาตินิยม การรู้จักการกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีเป็นคุณงามความดีที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง ต้องรู้ว่าแนวทางการปฏิบัติต้องเน้นให้เด่นชัดจนเกิดขึ้นในจิตวิญญาณหรือวัฒนธรรมทางจิตที่ทำให้เกิดคุณธรรม จริยธรรม

กล่าวคือ วัฒนธรรมเกิดได้อย่างไร แนวปฏิบัติด้านคุณธรรมให้เห็นความสำคัญ โดยให้มีการศึกษาอบรมวัฒนธรรม และส่งเสริมเผยแพร่เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย

สรุปวัฒนธรรมประกอบด้วย คุณธรรม อัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ของชาติ ความมีศักดิ์ศรี ความภูมิใจในความเป็นชาติ ความสามัคคี ความมั่นคง และการพัฒนาสถาพร ซึ่งทั้ง 6 ประการนี้จะต้องมีการสืบสานวัฒนธรรม คนรุ่นหลังต้องไม่เบี่ยงเบนวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยศึกษาประวัติวัฒนธรรมในแต่ละแขนง ปลูกฝังให้เกิดความรัก หวงแหน เกิดการปฏิบัติ พัฒนาและสืบสาน

อาจารย์พะนอมกล่าวต่อไปว่า หากคนไทยสามารถนำองค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้น มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีคิดใหม่ โดยยึดถือปฏิบัติด้านคุณธรรมและจริยธรรมอย่างชัดเจนจนเกิดวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณ

ขณะเดียวกันอยากเห็นชุมชนได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง โดยจะต้องหาแนวปฏิบัติด้านคุณธรรมจริยธรรมขึ้นมาสำหรับการเผยแพร่ให้เด็กและเยาวชนได้ทราบและนำไปสู่การปฏิบัติได้

สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดรากฐานพลังแห่งการขับเคลื่อนความสามัคคี และช่วยสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นกับคนในชาติต่อไป

กฤษณา พันธุ์มวานิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image